พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๖. ปิณโฑลภารทวาชสูตร ว่าด้วยคําสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย

 
บ้านธัมมะ
วันที่  8 ส.ค. 2564
หมายเลข  35317
อ่าน  393

[เล่มที่ 44] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 441

๖. ปิณโฑลภารทวาชสูตร

ว่าด้วยคําสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 44]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 441

๖. ปิณโฑลภารทวาชสูตร

ว่าด้วยคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย

[๑๐๐] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้ :-

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ใกล้พระนครสาวัตถี ก็สมัยนั้นแล ท่านพระปิณโฑลภารทวาชะผู้ถือการอยู่ป่าเป็นวัตร ถือทรงผ้าบังสุกุลเป็นวัตร ถือทรงไตรจีวรเป็นวัตร มีความปรารถนาน้อย สันโดษ ชอบสงัด ไม่คลุกคลีด้วยหมู่ ปรารภความเพียร ผู้มีวาทะกำจัด หมั่นประกอบในอธิจิต นั่งคู้บัลลังก์ตั้งกายตรง อยู่ในที่ไม่ไกลพระผู้มีพระภาคเจ้า พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงเห็นท่านพระปิณโฑลภารทวาชะผู้ถือการอยู่ป่าเป็นวัตร... อยู่ในที่ไม่ไกล.

ลำดับนั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทราบเนื้อความนี้แล้ว จึงทรงเปล่งอุทานนี้ในเวลานั้นว่า

การไม่ว่าร้ายกัน ๑ การไม่เบียดเบียนกัน ๑ การสำรวมในพระปาติโมกข์ ๑ ความเป็นผู้รู้จักประมาณในภัต ๑ ที่นอนที่นั่งอันสงัด ๑ การประกอบความเพียรในอธิจิต ๑ นี้เป็นคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย.

จบปิณโฑลภารทวารสูตรที่ ๖

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 442

อรรถกถาปิณโฑลภารทวารสูตร

ปิณโฑลภารทวาชสูตรที่ ๖ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้ :-

บทว่า ปิณฺโฑลภารทฺวาโช ความว่า ชื่อว่าปิณโฑละ เพราะบวชเสาะแสวงหาก้อนข้าว.

ได้ยินว่า เขาเป็นพราหมณ์หมดสิ้นโภคะ เห็นลาภและสักการะเป็นอันมากของภิกษุสงฆ์ จึงออกบวชเพื่อต้องการก้อนข้าว. เขาถือกระเบื้องแผ่นใหญ่ เข้าใจว่าเป็นบาตร เที่ยวดื่มข้าวยาคูเต็มกระเบื้อง บริโภคภัต และกินขนมของเคี้ยว. ลำดับนั้น พวกภิกษุกราบทูลความที่ท่านกินจุแด่พระศาสดา. พระศาสดาจึงไม่ทรงอนุญาตให้เธอใช้ถลกบาตร. เธอจึงคว่ำบาตรวางไว้ใต้เตียง. เธอแม้เมื่อจะวาง เสือกผลักวางไว้. แม้เมื่อจะถือเอา ก็ลากคร่าถือเอามา. เมื่อกาลล่วงไป ล่วงไป กระเบื้องนั้นก็กร่อนไปเพราะการเสียดสี จุเพียงข้าวสุกทะนานเดียวเท่านั้น. ลำดับนั้น พวกภิกษุจึงกราบทูลแด่พระศาสดา. ต่อมาพระศาสดาจึงทรงอนุญาตให้เธอมีถลกบาตรได้. สมัยต่อมา พระเถระเจริญอินทรีย์ดำรงอยู่ในพระอรหัตผล. ดังนั้น เขาจึงเรียกท่านว่า ปิณโฑละ เพราะเมื่อก่อนท่านแสวงหาเศษอามิสเพื่อก้อนข้าว แต่โดยโคตรเรียกว่าภารทวาชะ เพราะรวมศัพท์ทั้ง ๒ ศัพท์เข้าด้วยกัน จึงเรียกว่า ปิณโฑลภารทวาชะ.

บทว่า อารญฺโก ความว่า ชื่อว่าอารัญญกะ เพราะท่านอยู่ในป่า โดยห้ามเสนาสนะชายบ้านเสีย.

บทว่า อารญฺโก นี้ เป็นชื่อของภิกษุผู้ประพฤติสมาทานอรัญญิกธุดงค์. อนึ่ง การตกลงแห่งก้อนอามิส คือ ภิกษาหาร ชื่อว่าบิณฑบาต. อธิบายว่า ก้อนข้าวที่คนอื่นให้ตกลงในบาตร. ภิกษุชื่อว่า ปิณฑปาติกะ เพราะแสวงหาบิณฑบาต คือ เข้าไป

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 443

แสวงหายังตระกูลนั้นๆ. อีกอย่างหนึ่ง ชื่อว่า ปิณฺฑปาตี เพราะมีอันตกไป คือ เที่ยวไปเพื่อบิณฑะเป็นวัตร. ปิณฺฑปาตี นั่นแหละเป็น ปิณฑปาติกะ.

ผ้าชื่อว่าปังสุกูละ เพราะเป็นดุจจะเกลือกกลัวด้วยฝุ่น เพราะอรรถว่า ฟุ้งขึ้น เหตุตั้งอยู่บนฝุ่นในที่มีกองหยากเยื่อเป็นต้น. อีกอย่างหนึ่ง ผ้าชื่อว่าปังสุกุละ เพราะไปคือถึงความเป็นของน่าเกลียดดุจฝุ่น. การทรงผ้าบังสุกุล ชื่อว่า ปังสุกุละ. การทรงผ้าบังสุกุลนั้นเป็นปกติของภิกษุนั้น เหตุนั้นภิกษุนั้นชื่อว่า ปังสุกูลิกะ. จีวร ๓ ผืน คือ สังฆาฏิ อุตราสงค์ และอันตรวาสก ชื่อว่าไตรจีวร. การทรงผ้าไตรจีวร ชื่อว่า ติจีวระ. การทรงผ้าไตรจีวรนั้น เป็นปกติของภิกษุนั้น เหตุนั้นภิกษุนั้นชื่อว่า เตจีวริกะ.

อรรถแห่งบทว่า อปฺปิจฺโฉ เป็นต้น ข้าพเจ้าได้กล่าวไว้แล้วในหนหลังแล.

บุคคลผู้กำจัดกิเลส ท่านเรียกว่า ธุตะ ในบทว่า ธุตวาโท . อีกอย่างหนึ่ง ธรรมเครื่องกำจัดกิเลส ท่านก็เรียกว่า ธุตะ. ในสองอย่างนั้น ภิกษุชื่อว่ามีธุตะ แต่ไม่มีธุตวาทก็มี ไม่มีธุตะ แต่มีธุตวาทก็มี ไม่มีทั้งธุตะ ไม่มีทั้งธุตวาทก็มี มีทั้งธุตะ มีทั้งธุตวาทก็มี พึงทราบหมวด ๔ แห่งธุตะดังว่ามานี้. ใน ๔ อย่างนั้น ภิกษุใดสมาทานประพฤติธุตธรรมด้วยตนเอง ไม่ชักชวนผู้อื่น เพราะการประพฤติสมาทานธุตธรรมนั้น นี้เป็นธุตะหมวดที่ ๑. ส่วนภิกษุใดไม่ประพฤติสมาทานธุตธรรมด้วยตนเอง แต่ชักชวนผู้อื่น นี้ชื่อว่าเป็นธุตธรรมที่ ๒. ภิกษุใดเว้นทั้งสอง นี้เป็นธุตะที่ ๓. ส่วนภิกษุใดสมบูรณ์ด้วยธุตะทั้ง ๒ นี้ชื่อว่าเป็นธุตะที่ ๔. ก็ท่านปิณโฑลภารทวาชะก็เป็นผู้เช่นนั้น. ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า ธุตวาทะ. ก็นี้เป็นนิเทศว่าด้วยสมาสที่ท่านย่อศัพท์หนึ่งเหลือไว้ศัพท์หนึ่ง

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 444

เหมือนอย่างว่า นามญฺจ รูปญฺจ นามรูปญฺจ นามรูปํ แปลว่า นาม ๑ รูป ๑ นามรูป ๑ เป็นนามรูป.

ในบทว่า อธิจิตฺตมนุยุตฺโต นี้ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้ พึงทราบความที่จิตเป็นอธิจิต เพราะประกอบด้วยสมาบัติ ๘ หรือประกอบด้วยอรหัตผลสมาบัติ. แต่ในที่นี้ พึงทราบว่า อรหัตผลจิต. สมาธิในในสมาบัตินั้นๆ นั่นแล ชื่อว่าอธิจิต. แต่ในที่นี้พึงทราบว่า อรหัตผลสมาธิ. แต่อาจารย์บางพวกกล่าวว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้หมั่นประกอบอธิจิต พึงมนสิการถึงนิมิต ๓ อย่างตามกาลเวลา เพราะฉะนั้น จิตที่ประกอบด้วยสมถะและวิปัสสนา ท่านประสงค์ในที่นี้ว่า อธิจิต เหมือนในอธิจิตตสูตรนี้. คำนั้นไม่ดี พึงถือเอาความในก่อนนั่นแล.

บทว่า เอตมตฺถํ วิหิตฺวา ความว่า ทรงทราบโดยประการทั้งปวงซึ่งอรรถนี้ กล่าวคือ การประกอบอธิจิตอันสมบูรณ์ด้วยการอธิษฐานบริขาร และการไม่บกพร่องของท่านปิณโฑลภารทวาชะ. เมื่อจะทรงแสดงว่าการประกอบอธิจิต ก็คือการดำรงมั่นแห่งพระศาสนาของเรา จึงทรงเปล่งอุทานนี้ ด้วยประการฉะนี้.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อนุปวาโท ได้แก่ ไม่เข้าไปว่าร้ายต่อใครๆ ด้วยวาจา.

บทว่า อนุปฆาโต ได้แก่ ไม่กระทำการกระทบกระทั่งต่อใครๆ.

อรรถแห่งบทว่าปาฏิโมกข์ ในบทว่า ปาฏิโมกฺเข นี้ ท่านกล่าวโดยประการต่างๆ ในหนหลัง. ธรรมอันมีการไม่ล่วงละเมิดกองอาบัติ ๗ ในพระปาฏิโมกข์นั้น เป็นลักษณะชื่อว่า สังวร ความรู้จักประมาณด้วยอำนาจการรับและการบริโภค ชื่อว่า มัตตัญญุตา.

 
  ข้อความที่ 5  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 445

บทว่า ปนฺตญฺจ สยนาสนํ ได้แก่ ที่นอนและที่นั่งอันสงัด คือ เว้นการติดต่อกัน

บทว่า อธิจิตฺเต จ อาโยโค ได้แก่ การประกอบภาวนา เพื่อบรรลุสมาบัติ ๘.

อีกนัยหนึ่ง บทว่า อนุปวาโท ได้แก่ ไม่กล่าวคำว่าร้ายแม้ต่อใครๆ. ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงสงเคราะห์ศีลที่เป็นไปทางวาจาแม้ทั้งหมด.

บทว่า อนุปฆาโต ได้แก่ ไม่กระทำการกระทบกระทั่งต่อใครๆ คือ การเบียดเบียนผู้อื่นด้วยกาย. ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงสงเคราะห์ศีลอันเป็นไปทางกายทั้งหมด ก็เพื่อจะทรงแสดงศีลทั้ง ๒ ที่หยั่งลงในภายในศาสนาของพระพุทธเจ้าทั้งหมด จึงตรัสว่า ปาฏิโมกฺเข จ สํวโร ดังนี้ ศัพท์ เป็นเพียงนิบาต.

บทว่า ปาฏิโมกฺเข จ สํวโร ความว่า การไม่ไปว่าร้าย และการไม่เข้าไปทำร้าย อันเป็นเหตุสำรวมในพระปาฏิโมกข์. อีกอย่างหนึ่ง บทว่า ปาฏิโมกฺเข เป็นสัตตมีวิภัตติ ใช้ในอรรถอธิกรณะ. สังวรเป็นที่อาศัยในปาฏิโมกข์.

ถามว่า ก็สังวรนั้นคืออะไร?

ตอบว่า คือ การไม่เข้าไปว่าร้าย การไม่ทำร้าย.

จริงอยู่ ในเวลาอุปสมบท เมื่อว่าโดยไม่แปลกกัน ปาฏิโมกขศีลเป็นอันชื่อว่าอันภิกษุสมาทานแล้ว. เมื่อภิกษุตั้งอยู่ในปาฏิโมกข์นั้น ต่อจากนั้น สังวรย่อมมีด้วยอำนาจการไม่ว่าร้ายและการไม่กระทำร้าย สังวรนั้นท่านเรียกว่า การไม่ว่าร้ายและการไม่ทำร้าย.

อีกอย่างหนึ่ง บทว่า ปาฏิโมกฺเข เป็นสัตตมีวิภัตติ ใช้ในอรรถว่า พึงให้สำเร็จ เหมือนคำว่า การไม่สงบแห่งใจ มีอโยนิโสมนสิการเป็นเหตุใกล้. อธิบายว่า การไม่ว่าร้าย การไม่ทำร้าย อันปาฏิโมกข์พึงให้สำเร็จ คือ การว่าร้ายและการทำร้ายสงเคราะห์เข้าในปาฏิโมกขสังวรเหมือนกัน. ก็ด้วยคำว่า สํวโร จ นี้ ศัพท์แห่งสังวร ๔ เหล่านี้ คือ สติสังวร ๑ ญาณสังวร ๑ ขันติสังวร ๑ วิริยสังวร ๑

 
  ข้อความที่ 6  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 446

สังวร ๔ หมวดนี้ มีการทำปาฏิโมกข์ให้สำเร็จ.

บทว่า มตฺตญฺญุตา จ ภตฺตสฺมึ ได้แก่ ความเป็นผู้รู้ประมาณในโภชนะ ด้วยอำนาจการแสวงหา การรับ การบริโภค และการสละ.

บทว่า ปนฺตญฺจ สยนาสนํ ได้แก่ ที่นอนและที่นั่งอันสงัด มีราวป่าและโคนไม้เป็นต้น อันอนุกูลแก่ภาวนา.

บทว่า จิตฺเต จ อาโยโค ความว่า เมื่อทำอรหัตผลจิต กล่าวคือ ชื่อว่าอธิจิต เพราะเป็นจิตยิ่ง คือ เพราะสูงสุดกว่าจิตทั้งปวงให้สำเร็จ ความพากเพียรย่อมมีด้วยอำนาจสมถภาวนาและวิปัสสนาภาวนา เพื่อทำอรหัตผลจิตนั้นให้สำเร็จ.

บทว่า เอตํ พุทฺธาน สาสนํ ความว่า การไม่ว่าร้ายผู้อื่น ๑ การไม่ทำร้ายผู้อื่น ๑ การสำรวมในพระปาฏิโมกข์ ๑ การรู้จักประมาณในการแสวงหาและการรับเป็นต้น ๑ การอยู่ในที่อันสงัด ๑ การประกอบเนืองๆ ซึ่งอธิจิตตามที่กล่าวแล้ว ๑ นี้เป็นคำสอน คือ เป็นโอวาท อธิบายว่า เป็นคำพร่ำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย สิกขา ๓ พึงทราบว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสแล้วด้วยพระคาถานี้ ด้วยประการฉะนี้.

จบอรรถกถาปิณโฑลภารทวารสูตรที่ ๖