พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๘. เรื่องภิกษุ ๕๐๐ รูป [๖๗]

 
บ้านธัมมะ
วันที่  25 ก.ค. 2564
หมายเลข  34851
อ่าน  570

[เล่มที่ 41] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้า 349

๘. เรื่องภิกษุ ๕๐๐ รูป [๖๗]


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 41]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้า 349

๙. เรื่องภิกษุ ๕๐๐ รูป [๖๗]

ข้อความเบื้องต้น

พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในพระเชตวัน ทรงปรารภภิกษุ ๕๐๐ รูป ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า "สพฺพตฺถ เว สปฺปุริสา วชนฺติ" เป็นต้น.

พระธรรมเทศนาตั้งขึ้นที่เมืองเวรัญชา.

พระศาสดาเสด็จเมืองเวรัญชา

ความพิสดารว่า ครั้งปฐมโพธิกาล พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จไปเมืองเวรัญชา อันพราหมณ์ชื่อว่า เวรัญชะ ทูลนิมนต์แล้ว จึงเสด็จจำพรรษาพร้อมด้วยภิกษุ ๕๐๐ รูป เวรัญชพราหมณ์ถูกมารดลใจ (๑) มิให้เกิดสติ ปรารภถึงพระศาสดาแม้สักวันหนึ่ง แม้เมืองเวรัญชาได้เป็นเมืองข้าวแพงแล้ว พวกภิกษุเที่ยวไปบิณฑบาตตลอดเมืองเวรัญชาทั้งภายในภายนอก เมื่อไม่ได้บิณฑบาต จึงลำบากมาก.

พวกพ่อค้าม้าจัดแจงภิกษา มีข้าวแดงราวแล่งหนึ่งๆ เพื่อภิกษุเหล่านั้น พระมหาโมคคัลลานเถระเห็นภิกษุเหล่านั้นลำบาก ได้มีความประสงค์จะให้ภิกษุฉันง้วนดิน และประสงค์จะให้พวกภิกษุเข้าไปสู่อุตตรกุรุทวีปเพื่อบิณฑบาต พระศาสดาได้ทรงห้ามท่านเสีย แม้ในวันหนึ่ง พวกภิกษุมิได้มีความสะดุ้งเพราะปรารภบิณฑบาต ภิกษุทั้งหลายเว้นความประพฤติด้วยอำนาจความอยากแล อยู่แล้ว.


(๑) มาราวฏฺฏเนน อาวฏฺโฏ อันเครื่องหมุนไปทั่วแห่งมารให้หมุนทั่วแล้ว.

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้า 350

พระศาสดาเสด็จไปกรุงสาวัตถี

พระศาสดาประทับอยู่ที่เมืองเวรัญชานั้นสิ้นไตรมาสแล้ว ทรงอำลาเวรัญชพราหมณ์ มีสักการะสัมมานะอันพราหมณ์นั้นกระทำแล้ว ทรงให้เขาตั้งอยู่ในสรณะแล้ว เสด็จออกจากเมืองเวรัญชานั้น เสด็จจาริกไปโดยลำดับ สมัยหนึ่ง เสด็จถึงกรุงสาวัตถี ประทับอยู่ในพระเชตวัน ชาวกรุงสาวัตถีกระทำอาคันตุกภัตแด่พระศาสดาแล้ว.

ก็ในกาลนั้น พวกกินเดนประมาณ ๕๐๐ คน อาศัยพวกภิกษุอยู่ภายในวิหารนั่นเอง พวกเขากินโภชนะอันประณีตที่เหลือจากภิกษุทั้งหลายฉันแล้ว ก็นอนหลับ ลุกขึ้นแล้ว ไปสู่ฝั่งแม่น้ำ แผดเสียงโห่ร้อง กระโดดโลดเต้น ซ้อมมวยปล้ำ เล่นกันอยู่ ประพฤติแต่อนาจารเท่านั้น ทั้งภายในวิหาร ทั้งภายนอกวิหาร.

พวกภิกษุสนทนากันในโรงธรรมว่า "ดูเถิด ผู้มีอายุทั้งหลาย ในเวลาเกิดทุพภิกขภัย พวกกินเดนเหล่านี้ มิได้แสดงวิการอะไรๆ ในเมืองเวรัญชา แต่บัดนี้ กินโภชนะอันประณีตเห็นปานนี้แล้ว เที่ยวแสดงอาการแปลกๆ เป็นอเนกประการ ส่วนพวกภิกษุ สงบอยู่ แม้ ในเมืองเวรัญชา ถึงในบัดนี้ ก็พากันอยู่อย่างเสงี่ยมเหมือนกัน".

พระศาสดาตรัสวาโลทกชาดก

พระศาสดาเสด็จไปสู่โรงธรรมแล้ว ตรัสถามว่า "ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอพูดอะไรกัน" เมื่อพวกภิกษุกราบทูล "เรื่องชื่อนี้" ดังนี้แล้ว ตรัสว่า "แม้ในกาลก่อน คนกินเดนเหล่านี้ เกิดในกำเนิดลา เป็นลา ๕๐๐

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้า 351

ได้ดื่มน้ำมีรสน้อยอันเลว ซึ่งถึงการนับว่า น้ำหาง เพราะความที่เขาเอาน้ำขยำกากอันเป็นเดนซึ่งเหลือจากน้ำลูกจันทน์มีรสชุ่ม ที่ม้าสินธพชาติอาชาไนย ๕๐๐ ดื่มแล้ว จึงกรองด้วยผ้าเปลือกปอเก่าๆ เป็นเหมือนเมาน้ำหวาน เที่ยวร้องเอ็ดอึงอยู่" เมื่อจะทรงแสดงกิริยาของลาเหล่านั้น อันพระโพธิสัตว์ผู้อันพระราชาทรงสดับเสียงของลาเหล่านั้น ตรัสถามแล้ว ได้กราบทูลแด่พระราชา ตรัสวาโลทกชาดก (๑) นี้โดยพิสดารว่า.

"ความเมาย่อมบังเกิดแก่พวกลา เพราะดื่มกินน้ำหางมีรสน้อยอันเลว แต่ความเมาย่อมไม่เกิดแก่ม้าสินธพ เพราะดื่มรสที่ประณีตนี้.

ข้าแต่พระราชาผู้เป็นจอมนรชน ลานั้นเป็นสัตว์มีชาติเลว ดื่มน้ำมีรสน้อย อันรสนั้นถูกต้องแล้ว ย่อมเมา ส่วนม้าอาชาไนย ผู้เอาธุระเสมอ เกิดในตระกูล (ที่ดี) ดื่มรสที่เลิศแล้ว หาเมาไม่".

แล้ว ตรัสว่า "ภิกษุทั้งหลาย สัตบุรุษเว้นธรรม คือความโลภแล้ว ย่อมเป็นผู้ไม่มีวิการเลย ทั้งในเวลาถึงสุข ทั้งในเวลาถึงทุกข์ อย่างนี้" เมื่อจะทรงสืบอนุสนธิแสดงธรรม ได้ตรัสพระคาถานี้ว่า.

๘. สพฺพตฺถ เว สปฺปุริสา วชนฺติ น กามกามา ลปยนฺติ สนฺโต สุเขน ผุฏฺา อถวา ทุกฺเขน น อุจฺจาวจํ ปณฺฑิตา ทสฺสยนฺติ.


(๑) ขุ. ชา. ๒๗/๖๕. อรรถกถา. ๓/๑๒๖.

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้า 352

"สัตบุรุษทั้งหลายย่อมเว้นในธรรมทั้งปวงแล สัตบุรุษทั้งหลาย หาใช่ผู้ปรารถนากามบ่นไม่ (๑) บัณฑิตทั้งหลาย อันสุขหรือทุกข์ถูกต้องแล้ว ย่อมไม่แสดงอาการขึ้นลง".

แก้อรรถ

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สพฺพตฺถ ได้แก่ ในธรรมทั้งหมด ต่างโดยธรรมมีขันธ์ (๒) เป็นต้น บุรุษดีชื่อว่า สปฺปุริสา.

บทว่า วชนฺติ ความว่า สัตบุรุษเมื่อคร่าฉันทราคะออกด้วยอรหัตมรรคญาณชื่อว่า ย่อมเว้นฉันทราคะ.

บทว่า น กามกามา ได้แก่ ผู้ใคร่กาม (อีกอย่างหนึ่ง) ได้แก่ เพราะเหตุแห่งกาม คือเพราะกามเป็นเหตุ.

สองบทว่า ลปยนฺติ สนฺโต ความว่า สัตบุรุษทั้งหลายมีพระพุทธเจ้าเป็นต้น ย่อมไม่บ่นเพ้อด้วยตนเองเลย (ทั้ง) ไม่ยังผู้อื่นให้บ่นเพ้อ เพราะเหตุแห่งกาม จริงอยู่ ภิกษุเหล่าใดเข้าไปเพื่อภิกษา ตั้งอยู่ในอิจฉาจาร ( * ) กล่าวคำเป็นต้นว่า "อุบาสก บุตรภรรยาของท่าน ยังสุขสบายดีหรือ อุปัทวะไรๆ ด้วยสามารถแห่งราชภัยและโจรภัยเป็นต้น มิได้มีในสัตว์ ๒ เท้าและสัตว์ ๔ เท้าดอกหรือ" ภิกษุเหล่านั้นชื่อว่า ย่อมบ่นเพ้อเอง ก็ครั้นกล่าวอย่างนั้นแล้ว (พูด) ให้เขานิมนต์ตนว่า "อย่างนั้น ขอรับ พวกผมทุกคนมีความสุขดี


(๑) อีกนัยหนึ่ง แปลว่า สัตบุรุษทั้งหลาย ย่อมไม่พร่ำเพ้อ เพราะความใคร่ในกาม.

(๒) ขันธ์ ๕ คือรูปขันธ์ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ วิญญาณขันธ์.

( * ) อิจฺฉา แปลว่า ความอยาก ความต้องการ ความปรารถนา.

 
  ข้อความที่ 5  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้า 353

อุปัทวะไรๆ มิได้มี บัดนี้ เรือนของพวกผมมีข้าวน้ำเหลือเฟือ นิมนต์ท่านอยู่ในที่นี้แหละ" ดังนี้ชื่อว่า ให้บุคคลอื่นบ่นเพ้อ ส่วนสัตบุรุษทั้งหลาย ย่อมไม่ทำการบ่นเพ้อแม้ทั้งสองอย่างนั้น.

คำว่า สุเขน ผุฏฺา อถวา ทุกฺเขน นี้ สักว่าเป็นเทศนา อธิบายว่า "บัณฑิตทั้งหลายผู้อันโลกธรรม (๑) ๘ ถูกต้องแล้ว ย่อมไม่แสดงอาการขึ้นลง ด้วยสามารถแห่งความเป็นผู้ยินดีและความเป็นผู้เก้อเขิน หรือด้วยสามารถแห่งการกล่าวคุณและกล่าวโทษ".

ในเวลาจบเทศนา ชนเป็นอันมากบรรลุอริยผลทั้งหลาย มีโสดาปัตติผลเป็นต้น ดังนี้แล.

เรื่องภิกษุ ๕๐๐ รูป จบ.


(๑) โลกธรรม ๘ คือลาภ เสื่อมลาภ ยศ เสื่อมยศ นินทา สรรเสริญ สุข ทุกข์.