พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๗. เรื่องมารดาของนางกาณา [๖๖]

 
บ้านธัมมะ
วันที่  25 ก.ค. 2564
หมายเลข  34850
อ่าน  529

[เล่มที่ 41] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้า 343

๗. เรื่องมารดาของนางกาณา [๖๖]


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 41]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้า 343

๗. เรื่องมารดาของนางกาณา [๖๖]

ข้อความเบื้องต้น

พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในพระเชตวัน ทรงปรารภมารดาของนางกาณา ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า "ยถาปิ รหโท คมฺภีโร" เป็นต้น.

เรื่องมาแล้วในวินัย (๑) แล.

นางกาณาด่าภิกษุ

ก็ครั้งนั้น ในกาลเมื่อมารดาของนางกาณาทอดขนมเพื่อส่งธิดาให้เป็นผู้ไม่มีมือเปล่าไปสู่ตระกูลผัว แล้วถวายแก่ภิกษุ ๔ รูปเสียถึง ๔ ครั้ง เมื่อพระศาสดาทรงบัญญัติสิกขาบทในเพราะเรื่องนั้น เมื่อสามีของนางกาณา นำภรรยาใหม่มาแล้ว นางกาณาได้ฟังเรื่องนั้น จึงด่า จึงบริภาษพวกภิกษุ ซึ่งตนได้เห็นแล้วและเห็นแล้วว่า "การครองเรือนของเรา อันภิกษุเหล่านี้ ให้ฉิบหายแล้ว" ภิกษุทั้งหลายไม่อาจเดินไปสู่ถนนนั้นได้.

นางกาณาบรรลุโสดาปัตติผล

พระศาสดาทรงทราบเรื่องนั้นแล้ว จึงได้เสด็จไปในที่นั้น มารดาของนางกาณา ถวายบังคมพระศาสดาแล้ว นิมนต์ให้ประทับนั่งบนอาสนะที่ตนตกแต่งไว้ ได้ถวายข้าวยาคูและของควรเคี้ยวแล้ว


(๑) มหาวิภงฺค ๒/๓๒๒. แต่ในคัมภีร์นั้น กล่าวถึงจำนวนภิกษุรับขนมเพียง ๓ องค์ และมารดาของนางกาณาก็ทอดขนมถวายภิกษุเพียง ๓ ครั้งเท่านั้น.

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้า 344

พระศาสดาเสวยพระกระยาหารเช้าแล้ว ตรัสถามว่า "กาณาไปไหน".

กาณมารดา. พระเจ้าข้า นางเห็นพระองค์แล้ว เป็นผู้เก้อ ยืนร้องไห้อยู่.

พระศาสดา. เพราะเหตุอะไรเล่า.

กาณมารดา. นางด่าบริภาษพวกภิกษุ เพราะฉะนั้น นางเห็นพระองค์แล้ว จึงเป็นผู้เก้อ ยืนร้องไห้อยู่ พระเจ้าข้า.

ลำดับนั้น พระศาสดาทรงมีรับสั่งให้เรียกนางกาณามาแล้ว ตรัสถามว่า "กาณา เจ้าเห็นเราแล้ว จึงเก้อเขิน แอบร้องไห้ทำไม" ครั้งนั้น มารดาของนางกราบทูลกิริยาที่นางกระทำแล้ว (ให้ทรงทราบ) ทีนั้น พระศาสดาตรัสกะมารดาของนางกาณาว่า "กาณมารดา ก็สาวกทั้งหลายของเรา ถือเอาสิ่งที่เธอให้แล้วหรือว่าที่ยังมิได้ให้เล่า".

กาณมารดา. ถือเอาสิ่งที่หม่อมฉันถวายแล้ว พระเจ้าข้า.

พระศาสดา. ถ้าสาวกของเราเที่ยวบิณฑบาต ถึงประตูเรือนของเธอแล้ว ถือเอาสิ่งที่เธอให้แล้ว จะมีโทษอะไรแก่สาวกเหล่านั้นเล่า.

กาณมารดา. โทษของพระผู้เป็นเจ้าไม่มี พระเจ้าข้า โทษของนางนี่เท่านั้น มีอยู่.

พระศาสดาตรัสกะนางกาณาว่า "กาณา ได้ยินว่า สาวกของเราเที่ยวบิณฑบาต มาถึงประตูเรือนนี้แล้ว เมื่อเป็นเช่นนี้ มารดาของเจ้าได้ถวายขนมแก่สาวกเหล่านั้น ในเรื่องนี้ ชื่อว่าโทษอะไรจักมีแก่พวกสาวกทั้งหลายของเราเล่า".

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้า 345

นางกาณา. โทษของพระผู้เป็นเจ้าไม่มี พระเจ้าข้า หม่อมฉันเท่านั้น มีโทษ.

นางถวายบังคมพระศาสดา ให้ทรงอดโทษแล้ว ครั้งนั้น พระศาสดาได้ตรัสอนุปุพพิกถาแก่นาง นางบรรลุโสดาปัตติผลแล้ว.

พระราชาทรงตั้งนางกาณาในตำแหน่งเชษฐธิดา

พระศาสดาเสด็จลุกจากอาสนะแล้ว เมื่อจะเสด็จไปสู่วิหาร ได้เสด็จไปทางพระลานหลวง พระราชาทอดพระเนตรเห็นแล้ว ตรัสถามว่า "พนาย นั่นดูเหมือนพระศาสดา" เมื่อราชบุรุษกราบทูลว่า "ถูกแล้ว พระเจ้าข้า" ดังนี้แล้ว จึงส่งไปด้วยพระดำรัสว่า "จงไป จงกราบทูล ความที่เราจะมาถวายบังคม" แล้วได้เข้าไปเฝ้าพระศาสดา ซึ่งประทับยืนอยู่ ณ พระลานหลวง ถวายบังคมด้วยเบญจางคประดิษฐ์แล้ว ทูลถามว่า "พระองค์จะเสด็จไปไหน พระเจ้าข้า".

พระศาสดา. มหาบพิตร อาตมภาพจะไปสู่เรือนมารดาของนางกาณา.

พระราชา. เพราะเหตุอะไร พระองค์จึงเสด็จไป พระเจ้าข้า.

พระศาสดา. ได้ข่าวว่า นางกาณาด่าบริภาษภิกษุ อาตมภาพไป เพราะเหตุนั้น.

พระราชา. ก็พระองค์ทรงทำความที่นางไม่ด่าแล้วหรือ พระเจ้าข้า.

พระศาสดา. ถวายพระพร มหาบพิตร อาตมภาพทำนางมิให้เป็นผู้ด่าภิกษุแล้ว และให้เป็นเจ้าของทรัพย์อันเป็นโลกุตระแล้ว.

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้า 346

พระราชา. พระองค์ทรงทำให้นางเป็นเจ้าของทรัพย์ที่เป็นโลกุตระแล้วก็ช่างเถิด พระเจ้าข้า ส่วนหม่อมฉัน จักทำนางให้เป็นเจ้าของทรัพย์ที่เป็นโลกีย์.

ดังนี้แล้ว ถวายบังคมพระศาสดาเสด็จกลับแล้ว ทรงส่งยานใหญ่ที่ปกปิดไป รับสั่งให้เรียกนางกาณามาแล้วประดับด้วยเครื่องอาภรณ์ทุกอย่าง ทรงตั้งไว้ในตำแหน่งพระธิดาผู้ใหญ่แล้ว ตรัสว่า "ผู้ใดสามารถเลี้ยงดูธิดาของเราได้ ผู้นั้นจงรับเอานางไป".

มหาอำมาตย์รับเลี้ยงนางกาณา

ครั้งนั้น มหาอำมาตย์ผู้สำเร็จราชกิจทุกอย่างคนหนึ่ง กราบทูลว่า "ข้าพระองค์จักเลี้ยงดูพระธิดาของฝ่าพระบาท" ดังนี้แล้ว นำนางไปยังเรือนของตน มอบความเป็นใหญ่ทุกอย่างให้แล้ว กล่าวว่า "เจ้าจงทำบุญตามชอบใจเถิด".

จำเดิมแต่วันนั้นมา นางกาณาตั้งบุรุษไว้ที่ประตูทั้ง ๔ ก็ยังไม่ได้ภิกษุและภิกษุณีที่ตนพึงบำรุง ของควรเคี้ยวและของควรบริโภคที่นางกาณาตระเตรียมตั้งไว้ที่ประตูเรือน ย่อมเป็นเหมือนห้วงน้ำใหญ่.

พวกภิกษุสนทนากันในโรงธรรมว่า "ผู้มีอายุ ในกาลก่อนพระเถระ ๔ รูป ทำความเดือดร้อนให้แก่นางกาณา นางแม้เป็นผู้เดือดร้อนอย่างนั้น อาศัยพระศาสดา ได้ความถึงพร้อมด้วยศรัทธาแล้ว พระศาสดาได้ทรงทำประตูเรือนของนาง ให้เป็นสถานที่ควรเข้าไปของพวกภิกษุอีก บัดนี้ นางแม้แสวงหาภิกษุหรือภิกษุณีทั้งหลายที่ตนจะพึงบำรุง ก็ยังไม่ได้ โอ ธรรมดาพระพุทธเจ้าทั้งหลาย มีคุณน่าอัศจรรย์จริง".

พระศาสดาเสด็จมาแล้ว ตรัสถามว่า "ภิกษุทั้งหลาย บัดนี้

 
  ข้อความที่ 5  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้า 347

พวกเธอนั่งประชุมกันด้วยกถาอะไรหนอ" เมื่อภิกษุเหล่านั้น กราบทูลว่า "ด้วยกถาชื่อนี้" จึงตรัสว่า "ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุแก่เหล่านั้น ทำความเดือดร้อนแก่นางกาณา มิใช่แต่บัดนี้เท่านั้น แม้ในกาลก่อน พวกเธอก็ทำแล้วเหมือนกัน อนึ่ง เราได้ทำให้นางกาณาทำตามถ้อยคำของเรา มิใช่แต่ในบัดนี้เท่านั้น ถึงในกาลก่อน เราก็ทำแล้วเหมือนกัน อันพวกภิกษุผู้ใคร่จะฟังเนื้อความนั้น ทูลวิงวอนแล้วจึงตรัสพัพพุชาดก (ว่าด้วยวิธีทำให้แมวตาย) นี้ (๑) โดยพิสดารว่า.

"แมวตัวที่หนึ่งได้หนูและเนื้อในที่ใด แมวตัวที่ ๒ ก็ย่อมเกิดในที่นั้น ตัวที่ ๓ และตัวที่ ๔ ก็ย่อมเกิดในที่นั้น แมวเหล่านั้นทำลายปล่องนี้ ( * ) แล้ว (ถึงแก่ความตาย) ".

แล้วทรงประชุมชาดกว่า "ภิกษุแก่ ๔ รูป (ในบัดนี้) ได้เป็นแมว ๔ ตัวในครั้งนั้น หนูได้เป็นนางกาณา นายช่างแก้ว คือเรานั่นเอง" ดังนี้แล้ว ตรัสว่า "ภิกษุทั้งหลาย แม้ในอดีตกาล นางกาณาได้เป็นผู้มีใจหม่นหมอง มีจิตขุ่นมัวอย่างนั้น (แต่) ได้เป็นผู้มีจิตผ่องใส เหมือนห้วงน้ำมีน้ำใส เพราะคำของเรา เมื่อจะทรงสืบอนุสนธิแสดงธรรม จึงตรัสพระคาถานี้ว่า.

๗. ยถาปิ รหโท คมฺภีโร วิปฺปสนฺโน อนาวิโล เอวํ ธมฺมานิ สุตฺวาน วิปฺปสีทนฺติ ปณฺฑิตา.

"บัณฑิตทั้งหลาย ฟังธรรมแล้ว ย่อมผ่องใส เหมือนห้วงน้ำลึก ใสแจ๋ว ไม่ขุ่นมัว ฉะนั้น".


(๑) ขุ. ชา. เอก. ๒๗/๔๔. อรรถกถา. ๒/๓๖๔.

( * ) ขยายความว่า แมวเหล่านั้นเอาอกกระแทกปล่องแก้วผลึกนี้แล้วสิ้นชีวิต.

 
  ข้อความที่ 6  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้า 348

แก้อรรถ

ห้วงน้ำใด แม้เมื่อเสนาทั้ง ๔ เหล่า (๑) ข้ามอยู่ ย่อมไม่กระเพื่อม ห้วงน้ำเห็นปานนี้ ชื่อว่า รหโท ในพระคาถานั้น.

ก็นีลมหาสมุทรซึ่งลึกถึง ๘ หมื่น ๔ พันโยชน์ โดยอาการทั้งปวง ชื่อว่า ห้วงน้ำ แท้จริง น้ำในที่มีประมาณ ๔ หมื่นโยชน์ภายใต้นีลมหาสมุทรนั้น ย่อมหวั่นไหวเพราะฝูงปลา น้ำในที่มีประมาณเท่านั้นเหมือนกัน ในเบื้องบน ย่อมหวั่นไหวเพราะลม (ส่วน) น้ำในที่มีประมาณ ๔ พันโยชน์ในท่ามกลาง (นีลมหาสมุทรนั้น) ไม่หวั่นไหว ตั้งอยู่ นี้ชื่อว่าห้วงน้ำลึก.

บทว่า ธมฺมานิ ได้แก่ เทศนาธรรมทั้งหลาย พระผู้มีพระภาคเจ้า ตรัสคำอธิบายนี้ไว้ว่า "ห้วงน้ำนั้น ชื่อว่า ใสแจ๋ว เพราะเป็นน้ำไม่อากูล (รกรุงรัง) ชื่อว่า ไม่ขุ่นมัว เพราะเป็นน้ำไม่หวั่นไหว ฉันใด บัณฑิตทั้งหลาย ฟังเทศนาธรรมของเราแล้ว ถึงความเป็นผู้มีจิตปราศจากอุปกิเลส ด้วยสามารถแห่งมรรคมีโสดาปัตติมรรคเป็นต้น ชื่อว่า ย่อมผ่องใส ฉันนั้น ส่วนท่านผู้บรรลุพระอรหัตแล้วย่อมเป็นผู้ผ่องใสโดยส่วนเดียวแล".

ในเวลาจบเทศนา ชนเป็นอันมากบรรลุอริยผลทั้งหลาย มีโสดาปัตติผลเป็นต้น ดังนี้แล.

เรื่องมาดาของนางกาณา จบ.


(๑) ได้แก่ จตุรงคเสนา คือพลช้าง พลม้า พลรถ และพลเดินเท้า.