พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๔. เรื่องพระมหากัปปินเถระ [๖๓]

 
บ้านธัมมะ
วันที่  25 ก.ค. 2564
หมายเลข  34847
อ่าน  419

[เล่มที่ 41] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้า 299

๔. เรื่องพระมหากัปปินเถระ [๖๓]


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 41]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้า 299

๔. เรื่องพระมหากัปปินเถระ [๖๓]

ข้อความเบื้องต้น

พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในพระเชตวัน ทรงปรารภพระมหากัปปินเถระ ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า "ธมฺมปีติ สุขํ เสติ" เป็นต้น ในเรื่องนั้นมีอนุบุพพีกถาดังต่อไปนี้.

พระปัจเจกพุทธเจ้าทูลขอหัตถกรรมทำเสนาสนะ

ได้ยินว่า ในอดีตกาล ท่านพระมหากัปปินะ มีอภินิหารได้ทำไว้แทบบาทมูลของพระพุทธเจ้าทรงพระนามว่า ปทุมุตตระ ท่องเที่ยวอยู่ในสงสาร เกิดเป็นนายช่างหูกผู้เป็นหัวหน้า ในบ้านช่างหูกแห่งหนึ่งในที่ไม่ไกลแต่กรุงพาราณสี ครั้งนั้น พระปัจเจกพุทธเจ้าประมาณพันองค์ อยู่ในหิมวันตประเทศ ๘ เดือน อยู่ในชนบท ๔ เดือนอันเป็นฤดูฝน คราวหนึ่ง พระปัจเจกพุทธเจ้าเหล่านั้น พักอยู่ในที่ไม่ไกลแต่กรุงพาราณสี แล้วส่งพระปัจเจกพุทธเจ้า ๒ รูป ไปยังสำนักพระราชาด้วยคำว่า "ท่านทั้งหลายจงทูลขอหัตถกรรมเพื่อประโยชน์แก่การทำเสนาสนะ" ก็ในกาลนั้น เป็นคราววัปปมงคลแรกนาขวัญของพระราชา ท้าวเธอทรงสดับว่า "ได้ยินว่า พระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลายมา" จึงเสด็จออกไปตรัสถามถึงเหตุที่มา แล้วตรัสว่า "ข้าแต่ท่านผู้เจริญ วันนี้ยังไม่มีโอกาส (เพราะ) พรุ่งนี้ ข้าพเจ้าทั้งหลายจะมีการมงคลแรกนาขวัญ ข้าพเจ้าจักทำในวันที่ ๓

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้า 300

ไม่ทรงอาราธนาพระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลายไว้เลย เสด็จเข้าไปแล้ว พระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลายคิดว่า เราทั้งหลายจักเข้าไปสู่บ้านอื่น หลีกไปแล้ว.

พวกบ้านช่างหูกทำบุญ

ในขณะนั้น ภรรยาของนายช่างหูกผู้หัวหน้า ไปสู่กรุงพาราณสี ด้วยกิจบางอย่าง เห็นพระปัจเจกพุทธเจ้าเหล่านั้น นมัสการแล้วถามว่า "ท่านผู้เจริญ พระผู้เป็นเจ้ามาในกาลมิใช่เวลา เพราะเหตุไร" ได้ทราบความเป็นไปนั้นตั้งแต่ต้น เป็นหญิงมีศรัทธา ถึงพร้อมด้วยปัญญา นิมนต์ว่า "ท่านผู้เจริญ ขอท่านทั้งหลายจงรับภิกษาของดิฉันทั้งหลาย ในวันพรุ่งนี้".

พระปัจเจก. น้องหญิง พวกเรามีมาก.

หญิง. มีประมาณเท่าไร เจ้าข้า.

พระปัจเจก. มีประมาณพันรูป น้องหญิง.

หญิงนั้นกล่าวว่า "ท่านผู้เจริญ พวกดิฉันมีประมาณพันคน อยู่ในบ้านนี้ คนหนึ่งๆ จักถวายภิกษาแด่พระผู้เป็นเจ้ารูปหนึ่งๆ ขอท่านทั้งหลาย จงรับภิกษาเถิด ดิฉันคนเดียวจักให้ทำแม้ที่อยู่แก่ท่านทั้งหลาย".

พระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลายรับ (อาราธนา) แล้ว นางเข้าไปสู่บ้าน ป่าวร้องว่า "เราเห็นพระปัจเจกพุทธเจ้าประมาณพันองค์ นิมนต์ไว้แล้ว ท่านทั้งหลายจงจัดแจงที่เป็นที่นั่งแด่พระผู้เป็นเจ้าทั้งหลาย จงจัดอาหาร วัตถุทั้งหลายมีข้าวต้มและข้าวสวยเป็นต้น แด่พระผู้เป็นเจ้าทั้งหลายเถิด" แล้วให้สร้างปะรำในท่ามกลางบ้าน ลาดอาสนะไว้ในวันรุ่งขึ้น

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้า 301

จึงให้นิมนต์พระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลายนั่ง อังคาสด้วยโภชนะอันประณีต ในเวลาเสร็จภัตกิจ จึงพาหญิงทั้งหมดในบ้านนั้น พร้อมกับหญิงเหล่านั้น นมัสการพระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลายแล้ว รับเอาปฏิญญาเพื่อประโยชน์แก่การอยู่ตลอดไตรมาส แล้วป่าวร้องชาวบ้านอีกว่า "แม่และพ่อทั้งหลาย บุรุษคนหนึ่งๆ แต่ตระกูลหนึ่งๆ จงถือเอาเครื่องมือมีมีดเป็นต้น เข้าไปสู่ป่า นำเอาทัพสัมภาระมา สร้างที่เป็นที่อยู่ของพระผู้เป็นเจ้าทั้งหลาย".

พวกชาวบ้านตั้งอยู่ในถ้อยคำของนางแล้ว คนหนึ่งๆ ทำที่แห่งหนึ่งๆ แล้วให้สร้างศาลามุงด้วยใบไม้พันหลัง พร้อมกับที่พักกลางคืนและกลางวัน แล้วอุปัฏฐากพระปัจเจกพุทธเจ้าผู้เข้าจำพรรษาในบรรณศาลาของตนๆ ด้วยตั้งใจว่า "เราจักอุปัฏฐากโดยเคารพ เราจักอุปัฏฐากโดยเคารพ".

ในเวลาออกพรรษาแล้ว นางชักชวนว่า "ท่านทั้งหลายจงตระเตรียมผ้าเพื่อจีวร (ถวาย) แด่พระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลายผู้อยู่จำพรรษาในบรรณศาลาของตนๆ เถิด" แล้วให้ถวายจีวรมีค่าพันหนึ่ง แด่พระปัจเจกพุทธเจ้าองค์หนึ่งๆ พระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลายออกพรรษาแล้ว ทำอนุโมทนาแล้วก็หลีกไป.

อานิสงส์ทานนำให้เกิดในดาวดึงส์

แม้พวกชาวบ้าน ครั้นทำบุญนี้แล้ว จุติจากอัตภาพนั้นแล้วเกิดในภพดาวดึงส์ ได้มีความว่าคณะเทวบุตรแล้ว เทวบุตรเหล่านั้น เสวยทิพยสมบัติในภพดาวดึงส์นั้น ในกาลแห่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงพระนามว่า กัสสปะ

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้า 302

(มา) เกิดในเรือนของกุฎุมพี ในกรุงพาราณสี หัวหน้าช่างหูกได้เป็นบุตรของกุฎุมพีผู้ใหญ่ ฝ่ายภรรยาของเขา ก็ได้เป็นธิดาของกุฎุมพีผู้ใหญ่เหมือนกัน หญิงเหล่านั้นแม้ทั้งหมด ถึงความเจริญวัยแล้ว เมื่อจะไปสู่ตระกูลสามี ก็ได้ไปสู่เรือนของบุรุษเหล่านั้นนั่นแล.

กุฎุมพีถวายมหาทาน

ต่อมาวันหนึ่ง เขาป่าวร้องการฟังธรรมในวิหาร กุฎุมพีเหล่านั้นแม้ทั้งหมด ได้ยินว่า "พระศาสดาจะทรงแสดงธรรม ปรึกษากันว่า "เราทั้งหลายจักฟังธรรม" แล้วได้ไปสู่วิหารกับภรรยา ในขณะที่ชนเหล่านั้น เข้าไปสู่ท่ามกลางวิหาร ฝนได้ตั้งเค้าแล้ว บรรพชิตทั้งหลาย มีสามเณรเป็นต้น ผู้เป็นกุลุปกะหรือเป็นญาติของชนเหล่าใดมีอยู่ ชนเหล่านั้นก็เข้าไปสู่บริเวณของบรรพชิตเหล่านั้น แต่กุฎุมพีเหล่านั้นไม่อาจจะเข้าไปในที่ไหนๆ ได้ เพราะความที่กุลุปกะหรือญาติเห็นปานนั้น ไม่มี ได้ยืนอยู่ท่ามกลางวิหารนั่นเอง.

ลำดับนั้น กุฎุมพีผู้เป็นหัวหน้า จึงกล่าวกะกุฎุมพีผู้บริวารเหล่านั้นว่า "ท่านทั้งหลาย จงดูอาการอันน่าเกลียดของพวกเรา ธรรมดากุลบุตรทั้งหลาย ละอายด้วยเหตุมีประมาณเท่านี้ สมควรแล้ว".

บริวาร. นาย พวกเราจะทำอย่างไรเล่า.

กุฎุมพี. พวกเราถึงอาการอันน่าเกลียดนี้ เพราะไม่มีสถานที่ซึ่งมีคนคุ้นเคยกัน เราทั้งหมดรวมทรัพย์กัน สร้างบริเวณเถอะ.

บริวาร. ดีละ นาย.

คนผู้หัวหน้า ได้ให้ทรัพย์พันหนึ่ง ชนที่เหลือให้คนละ ๕๐๐

 
  ข้อความที่ 5  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้า 303

พวกหญิงให้คนละ ๒๕๐ ชนเหล่านั้นรวบรวมทรัพย์นั้นแล้ว เริ่ม (สร้าง) ชื่อบริเวณใหญ่ เพื่อประโยชน์เป็นที่ประทับของพระศาสดาซึ่งมีเรือนยอดพันหลังเป็นบริวาร เมื่อทรัพย์ไม่เพียงพอ เพราะความที่นวกรรมเป็นงานใหญ่ จึงได้ออกอีกคนละกึ่ง จากทรัพย์ที่ตนให้แล้วในก่อน เมื่อบริเวณเสร็จแล้ว ชนเหล่านั้นเมื่อจะทำการฉลองวิหาร จึงถวายมหาทานแก่ภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุขตลอด ๗ วัน แล้วจัดจีวรเพื่อภิกษุสองหมื่นรูป.

ภรรยาของกุฎุมพีถวายดอกอังกาบ

ฝ่ายภรรยาของกุฎุมพีผู้เป็นหัวหน้า ไม่ทำให้มีส่วนเสมอด้วยชนทั้งหมด ตั้งอยู่ด้วยปัญญาของตน คิดว่า "เราจักบูชาพระศาสดาทำให้ ยิ่ง (กว่าเขา) " จึงถือเอาผอบดอกอังกาบ กับผ้าสาฎกมีสีดังดอกอังกาบ ราคาพันหนึ่ง ในเวลาอนุโมทนา บูชาพระศาสดาด้วยดอกอังกาบแล้ว วางผ้าสาฎกนั้นไว้แทบบาทมูลของพระศาสดา ตั้งความปรารถนาว่า "ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอสรีระของหม่อมฉันจงมีสีดุจดอกอังกาบนี้แหละ ในที่หม่อมฉันเกิดแล้วๆ และขอหม่อมฉันจงมีนามว่า อโนชา นั้นแล".

พระศาสดาได้ทรงทำอนุโมทนาว่า "จงสำเร็จอย่างนั้นเถิด".

กุฎุมพีภรรยาและบริวารเกิดในราชตระกูล

ชนเหล่านั้นแม้ทั้งหมด ดำรงอยู่จนตลอดอายุแล้ว จุติจากอัตภาพนั้นแล้วก็เกิดในเทวโลก ในพุทธุปบาทกาลนี้ จุติจากเทวโลกแล้ว กุฎุมพีผู้เป็นหัวหน้าเกิดในราชตระกูลในกุกกุฏวดีนคร ถึงความเจริญวัยแล้ว

 
  ข้อความที่ 6  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้า 304

ได้เป็นพระราชาพระนามว่า พระเจ้ามหากัปปินะ ชนที่เหลือเกิดในตระกูลอำมาตย์ ภรรยาของกุฎุมพีผู้เป็นหัวหน้าเกิดในราชตระกูลในสาคลนคร ในมัททรัฐ พระนางได้มีพระสรีระเช่นกับสีดอกอังกาบนั่นเทียว พระญาติขนานพระนามแก่พระนางว่า "อโนชา" นั่นแล พระนางทรงถึงความเจริญวัยแล้ว ก็ไปสู่พระราชมณเฑียรของพระเจ้ากัปปินะ ได้เป็นพระเทวีมีพระนามว่าอโนชาแล้ว แม้หญิงทั้งหลายที่เหลือ เกิดในตระกูลอำมาตย์ทั้งหลายถึงความเจริญวัยแล้ว ก็ได้ไปสู่เรือนแห่งบุตรอำมาตย์เหล่านั้นเหมือนกัน ชนเหล่านั้นแม้ทุกคน ได้เสวยสมบัติเช่นกับสมบัติของพระราชา ในกาลใด พระราชาทรงประดับเครื่องอลังการทั้งปวง ทรงช้างเที่ยวไป ในกาลนั้น แม้ชนเหล่านั้นก็เที่ยวไปเหมือน อย่างนั้น เมื่อพระราชาเสด็จเที่ยวไปด้วยม้าหรือด้วยรถ แม้ชนเหล่านั้น ก็เที่ยวไปเหมือนอย่างนั้น ชนเหล่านั้นเสวยสมบัติร่วมกัน ด้วยอานุภาพแห่งบุญที่ทำร่วมกัน ด้วยประการฉะนี้.

ก็ม้าของพระราชามีอยู่ ๕ ตัว คือ ม้าชื่อพละ ๑ พลวาหนะ ๑ ปุปผะ ๑ ปุปผวาหนะ ๑ สุปัตตะ ๑ บรรดาม้าเหล่านั้น ม้าชื่อ สุปัตตะ พระราชาทรงเอง ม้า ๔ ตัว นอกนี้ ได้พระราชทานแก่พวกม้าใช้ เพื่อประโยชน์นำข่าวสารมา.

พระราชาให้สืบข่าวพระรัตนตรัย

พระราชาให้ม้าใช้เหล่านั้น บริโภคแต่เช้าตรู่แล้ว ทรงส่งไปด้วยพระดำรัสว่า "พวกท่านไปเถิด เที่ยวไป ๒ หรือ ๓ โยชน์แล้วทราบว่า พระพุทธ พระธรรม หรือพระสงฆ์อุบัติแล้ว จงนำข่าวที่ให้เกิดสุขมาแก่เรา"

 
  ข้อความที่ 7  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้า 305

ม้าใช้เหล่านั้น ออกโดยประตูทั้ง ๔ เที่ยวไปได้ ๒ - ๓ โยชน์ ไม่ได้ข่าวแล้วก็กลับ.

พระราชาได้ข่าวพระรัตนตรัยจากพ่อค้าม้า

ต่อมาวันหนึ่ง พระราชาทรงม้าชื่อสุปัตตะ อันอำมาตย์พันหนึ่งแวดล้อม เสด็จไปพระราชอุทยาน ทอดพระเนตรเห็นพวกพ่อค้าประมาณ ๕๐๐ ผู้มีร่างกายอ่อนเพลียกำลังเข้าสู่พระนคร แล้วทรงดำริว่า ชนเหล่านี้ ลำบากในการเดินทางไกล เราจักได้ฟังข่าวดีอย่างหนึ่งจากสำนักแห่งชนเหล่านี้เป็นแน่ จึงรับสั่งให้เรียกพ่อค้าเหล่านั้นมาแล้ว ตรัสถามว่า "ท่านทั้งหลายมาจากเมืองไหน".

พ่อค้า. พระเจ้าข้า พวกข้าพระองค์มาจากนครชื่อสาวัตถี ซึ่งมีอยู่ในที่สุดประมาณ ๑๒๐ โยชน์ แต่พระนครนี้.

พระราชา. ก็ข่าวอะไรๆ อุบัติขึ้นในประเทศของพวกท่าน มีอยู่หรือ.

พ่อค้า. พระเจ้าข้า ข่าวอะไรๆ อย่างอื่นไม่มี แต่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงอุบัติขึ้นแล้ว.

พระราชามีพระสรีระอันปีติมีวรรณะ ๕ ถูกต้องแล้ว ในทันใดนั้นนั่นเอง ไม่อาจเพื่อจะกำหนดอะไรๆ ได้ ทรงยับยั้งอยู่ครู่หนึ่งแล้ว ตรัสถามว่า "พวกท่านกล่าวอะไร พ่อ" พวกพ่อค้ากราบทูลว่า "พระเจ้าข้า พระพุทธเจ้าทรงอุบัติขึ้นแล้ว" แม้ครั้งที่ ๒ แม้ครั้งที่ ๓ พระราชาก็ทรงยับยั้งอยู่เหมือนอย่างนั้น ในวาระที่ ๔ ตรัสถามว่า "พวก ท่านกล่าวอะไร พ่อ" เมื่อพ่อค้าเหล่านั้น กราบทูลว่า "พระเจ้าข้า

 
  ข้อความที่ 8  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้า 306

พระพุทธเจ้าทรงอุบัติขึ้นแล้ว" จึงตรัสว่า "พ่อทั้งหลาย เราให้ทรัพย์แก่พวกท่านแสนหนึ่ง" แล้วตรัสถามว่า "ข่าวอะไรๆ แม้อื่นอีก มีอยู่หรือ พ่อ" พวกพ่อค้ากราบทูลว่า "มีอยู่ พระเจ้าข้า พระธรรมอุบัติขึ้นแล้ว" พระราชาทรงสดับแม้คำนั้นแล้ว ทรงยับยั้งอยู่ตลอด ๓ วาระโดยนัยก่อนนั่นแล ในวาระที่ ๔ เมื่อพวกพ่อค้ากราบทูลบทว่า "ธมฺโม" จึงตรัสว่า "แม้ในเพราะบทนี้ เราให้ทรัพย์แก่พวกท่านแสนหนึ่ง" แล้วตรัสถามว่า "ข่าวแม้อื่นอีก มีอยู่หรือ พ่อ" พวกพ่อค้ากราบทูลว่า "พระเจ้าข้า มีอยู่ พระสังฆรัตนะอุบัติขึ้นแล้ว" พระราชาทรงสดับแม้คำนั้นแล้วทรงยับยั้งอยู่ตลอด ๓ วาระอย่างนั้นเหมือนกัน ในวาระที่ ๔ เมื่อพวกพ่อค้ากราบทูลบทว่า "สงฺโฆ" จึงตรัสว่า "แม้ในเพราะบทนี้ เราให้ทรัพย์แก่พวกท่านแสนหนึ่ง" แล้วทรงแลดูอำมาตย์พันหนึ่ง ตรัสถามว่า "พ่อทั้งหลาย พวกท่านจักทำอย่างไร".

อำมาตย์. พระเจ้าข้า พระองค์จักทรงทำอย่างไรเล่า.

พระราชา. พ่อทั้งหลาย เราได้สดับว่า "พระพุทธเจ้าทรงอุบัติขึ้นแล้ว พระธรรมอุบัติขึ้นแล้ว พระสงฆ์อุบัติขึ้นแล้ว จักไม่กลับอีก เราจักอุทิศต่อพระศาสดาไปบวชในสำนักของพระองค์.

อำมาตย์. แม้ข้าพระองค์ทั้งหลาย ก็จักบวชพร้อมด้วยพระองค์ พระเจ้าข้า.

พระราชาออกผนวชพร้อมกับอำมาตย์

พระราชารับสั่งให้เจ้าพนักงานอาลักษณ์จารึกอักษรลงในแผ่นทองแล้ว ตรัสกะพวกพ่อค้าว่า "พระเทวีพระนามว่า อโนชา จักพระราชทาน

 
  ข้อความที่ 9  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้า 307

ทรัพย์ ๓ แสนแก่พวกท่าน ก็แลพวกท่านพึงทูลอย่างนี้ว่า "ได้ยินว่า พระราชาทรงสละความเป็นใหญ่ถวายพระองค์แล้ว พระองค์จงเสวยสมบัติตามสบายเถิด ก็ถ้าพระเทวีจักตรัสถามพวกท่านว่า พระราชา เสด็จไปที่ไหน พวกท่านพึงทูลว่า พระราชาตรัสว่าจักบวชอุทิศพระศาสดา" แล้วก็เสด็จไป.

แม้อำมาตย์ทั้งหลายก็ส่งข่าวไปแก่ภรรยาของตนๆ อย่างนั้นเหมือนกัน พระราชาทรงส่งพวกพ่อค้าไปแล้ว อันอำมาตย์พันหนึ่งแวดล้อม เสด็จออกไปในขณะนั้นนั่นแล.

ในวันนั้น แม้พระศาสดาเมื่อทรงตรวจดูสัตวโลกในกาลใกล้รุ่ง ได้ทอดพระเนตรเห็นพระเจ้ามหากัปปินะพร้อมทั้งบริวาร ทรงดำริว่า พระเจ้ามหากัปปินะนี้ ได้ทรงสดับความที่รัตนะ ๓ อุบัติขึ้นแต่สำนักของพวกพ่อค้าแล้ว ทรงบูชาคำของพ่อค้าเหล่านั้นด้วยทรัพย์ ๓ แสน ทรงสละราชสมบัติ อันอำมาตย์พันหนึ่งแวดล้อม ทรงประสงค์เพื่อจะ ผนวชอุทิศเรา จักเสด็จออกไปในวันพรุ่งนี้ ท้าวเธอพร้อมทั้งบริวาร จักบรรลุพระอรหัตพร้อมด้วยปฏิสัมภิทาทั้งหลาย เราจักทำการต้อนรับท้าวเธอ ดังนี้แล้ว ในวันรุ่งขึ้น ทรงบาตรและจีวรด้วยพระองค์เองทีเดียว เสด็จต้อนรับสิ้นทาง ๑๒๐ โยชน์ ดุจพระเจ้าจักรพรรดิทรงต้อนรับกำนันฉะนั้น ประทับนั่งเปล่งพระรัศมี มีวรรณะ ๖ ภายใต้โคนต้นนิโครธริมฝั่งแม่น้ำจันทภาคานที.

ฝ่ายพระราชาเสด็จมาถึงแม่น้ำแห่งหนึ่งแล้ว ตรัสถามว่า "นี่ชื่อ แม่น้ำอะไร".

 
  ข้อความที่ 10  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้า 308

อำมาตย์. ชื่ออารวปัจฉานที พระเจ้าข้า.

พระราชา. พ่อทั้งหลาย แม่น้ำนี้ประมาณเท่าไร.

อำมาตย์. โดยลึก คาวุตหนึ่ง โดยกว้าง ๒ คาวุต พระเจ้าข้า.

พระราชา. ก็ในแม่น้ำนี้ เรือหรือแพมีไหม.

อำมาตย์. ไม่มี พระเจ้าข้า.

พระราชาตรัสว่า "เมื่อเราทั้งหลายมัวหายานมีเรือเป็นต้น ชาติย่อมนำไปสู่ชรา ชราย่อมนำไปสู่มรณะ เราไม่มีความสงสัย ออกบวชอุทิศพระรัตนตรัย ด้วยอานุภาพแห่งพระรัตนตรัยนั้น น้ำนี้ อย่าได้ เป็นเหมือนน้ำเลย" ดังนี้แล้ว ทรงระลึกถึงคุณพระรัตนตรัย ระลึกถึงพุทธานุสสติว่า "แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้นเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า" เป็นต้น พร้อมทั้งบริวารเสด็จไปบนหลังน้ำด้วยม้าพันหนึ่ง ม้าสินธพทั้งหลายก็วิ่งไป ดุจวิ่งไปบนหลังแผ่นหิน ปลายกีบก็ไม่เปียก (๑).

พระราชาเสด็จข้ามแม่น้ำแล้ว เสด็จไปข้างหน้า ทอดพระเนตรเห็นแม่น้ำอื่นอีก จึงตรัสถามว่า "แม่น้ำนี้ชื่ออะไร".

อำมาตย์. ชื่อนีลวาหนานที พระเจ้าข้า.

พระราชา. แม่น้ำนี้ประมาณเท่าไร.

อำมาตย์. ทั้งส่วนลึก ทั้งส่วนกว้าง ประมาณกึ่งโยชน์พระเจ้าข้า.

คำที่เหลือก็เช่นกับคำก่อนนั้นแล.

ก็พระราชา ทอดพระเนตรเห็นแม่น้ำนั้นแล้ว ทรงระลึกถึงธรรมานุสสติว่า "พระธรรมอันพระผู้มีพระภาคตรัสดีแล้ว" เป็นต้นเสด็จไปแล้ว.


(๑) ถ้าบาลีเป็น อคฺคาเนว เตมิํสุ ก็แปลว่า ปลายกีบเท่านั้น เปียกน้ำ.

 
  ข้อความที่ 11  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้า 309

ครั้นเสด็จข้ามแม่น้ำแม่นั้นไปได้แล้ว ทอดพระเนตรเห็นแม้แม่น้ำอื่นอีก จึงตรัสถามว่า "แม่น้ำนี้ชื่ออะไร".

อำมาตย์. แม่น้ำนี้ชื่อว่าจันทภาคานที พระเจ้าข้า.

พระราชา. แม่น้ำนี้ประมาณเท่าไร.

อำมาตย์. ทั้งส่วนลึก ทั้งส่วนกว้าง ประมาณโยชน์หนึ่ง พระเจ้าข้า.

คำที่เหลือก็เหมือนกับคำก่อนนั่นแล.

ส่วนพระราชาทอดพระเนตรเห็นแม่น้ำนี้แล้ว ทรงระลึกถึงสังฆานุสสติว่า "พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้า เป็นผู้ปฏิบัติดีแล้ว" เป็นต้น เสด็จไปแล้ว ก็เมื่อเสด็จข้ามแม่น้ำนั้นไป ได้ทอดพระเนตรเห็นพระรัศมีมีวรรณะ ๖ แต่พระสรีระของพระศาสดา กิ่งค่าคบและใบแห่งต้นนิโครธ ได้เป็นราวกะว่าสำเร็จด้วยทองคำ.

พระราชาและอำมาตย์ได้บรรลุคุณวิเศษ

พระราชาทรงดำริว่า แสงสว่างนี้ ไม่ใช่แสงจันทร์ ไม่ใช่แสงอาทิตย์ ไม่ใช่แสงสว่างแห่งเทวดา มาร พรหม นาค ครุฑเป็นต้นผู้ใดผู้หนึ่ง เราอุทิศพระศาสดามาอยู่ จักเป็นผู้อันพระมหาโคดมพุทธเจ้า ทรงเห็นแล้วโดยแน่แท้ ในทันใดนั้นนั่นแล ท้าวเธอเสด็จลงจากหลังม้าทรงน้อมพระสรีระ เข้าไปเฝ้าพระศาสดา ตามสายพระรัศมี เสด็จเข้าไปภายในแห่งพระพุทธรัศมี ราวกะว่าดำลงไปในมโนสิลารส ถวายบังคมพระศาสดาแล้ว ประทับนั่ง ณ ส่วนข้างหนึ่ง พร้อมกับอำมาตย์พันหนึ่ง.

 
  ข้อความที่ 12  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้า 310

พระศาสดาทรงแสดงอนุปุพพีกถาแล้ว ในเวลาจบเทศนาพระราชาพร้อมด้วยบริวาร ตั้งอยู่แล้วในโสดาปัตติผล ลำดับนั้นชนเหล่านั้นทั้งหมด ลุกขึ้นทูลขอบรรพชาแล้ว.

พระศาสดาทรงใคร่ครวญว่า บาตรจีวรสำเร็จแล้วด้วยฤทธิ์ของกุลบุตรเหล่านี้ จักมาหรือหนอแล ทรงทราบว่า กุลบุตรเหล่านี้ ได้ถวายจีวรพันผืน แด่พระปัจเจกพุทธเจ้าพันองค์ ในกาลแห่งพระพุทธเจ้าพระนามว่ากัสสป ได้ถวายจีวรสองหมื่น แม้แก่ภิกษุสองหมื่นรูป ความมาแห่งบาตรและจีวรอันสำเร็จแล้วด้วยฤทธิ์ของกุลบุตรเหล่านี้ ไม่น่าอัศจรรย์ ดังนี้แล้ว ทรงเหยียดพระหัตถ์ขวา ตรัสว่า "ท่านทั้งหลาย จงเป็นภิกษุมาเถิด ท่านทั้งหลาย จงประพฤติพรหมจรรย์ เพื่อทำที่สุดทุกข์โดยชอบเถิด" ทันใดนั้นนั่นเองกุลบุตรเหล่านั้นเป็นราวกะพระเถระ มีพรรษาตั้ง ๑๐๐ ทรงบริขาร ๘ เหาะขึ้นสู่เวหาส กลับลงมาถวายบังคมพระศาสดานั่งอยู่แล้ว.

พระนางอโนชาเทวีเสด็จออกผนวช

ฝ่ายพ่อค้าเหล่านั้นไปสู่ราชตระกูลแล้ว ให้เจ้าหน้าที่กราบทูลข่าวที่พระราชาทรงส่งไป เมื่อพระเทวีรับสั่งว่า "จงมาเถิด" เข้าไปถวายบังคมแล้ว ได้ยืนอยู่ ณ ส่วนข้างหนึ่ง ลำดับนั้น พระเทวีตรัสถามพ่อค้าเหล่านั้นว่า "พ่อทั้งหลาย พวกท่านมาเพราะเหตุอะไร".

พ่อค้า. พระราชาทรงส่งพวกข้าพระองค์มายังสำนักของพระองค์ นัยว่า ขอพระราชทานทรัพย์ ๓ แสนแก่พวกข้าพระองค์.

พระเทวี. พ่อทั้งหลาย พวกท่านพูดมากเกินไป พวกท่านทำอะไรแก่พระราชา

 
  ข้อความที่ 13  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้า 311

พระราชาทรงเลื่อมใสในอะไรของพวกท่าน จึงรับสั่งให้พระราชทานทรัพย์มีประมาณเท่านี้.

พ่อค้า. พระเจ้าข้า อะไรๆ อย่างอื่น พวกข้าพระองค์มิได้ทำ แต่พวกข้าพระองค์ได้กราบทูลข่าวแด่พระราชา.

พระเทวี. พ่อทั้งหลาย ก็พวกท่านสามารถบอกแก่เราบ้างได้ไหม.

พ่อค้า. ได้ พระเจ้าข้า.

พระเทวี. พ่อทั้งหลาย ถ้ากระนั้น พวกท่านจงบอก.

พ่อค้า. พระเจ้าข้า พระพุทธเจ้าทรงอุบัติขึ้นแล้วในโลก.

แม้พระเทวีทรงสดับคำนั้นแล้ว มีพระสรีระอันปีติถูกต้องแล้ว โดยนัยก่อนนั่นแล ทรงกำหนดอะไรๆ ไม่ได้ถึง ๓ ครั้ง ในวาระที่ ๔ ทรงสดับบทว่า "พุทฺโธ" แล้วจึงตรัสว่า "พ่อทั้งหลายในเพราะบทนี้ พระราชาพระราชานอะไร".

พ่อค้า. ทรัพย์แสนหนึ่ง พระเจ้าข้า.

พระเทวี. พ่อทั้งหลาย พระราชาทรงสดับข่าวเห็นปานนี้แล้วพระราชทานทรัพย์แสนหนึ่งแก่ท่านทั้งหลาย (ชื่อว่า) ทรงกระทำไม่สมกันเลย แต่เราจะให้แก่พวกท่าน ๓ แสน ในเพราะของกำนัลอันขัดสนของเรา ข่าวอะไรอีก ที่ท่านทั้งหลายกราบทูลแล้ว.

พ่อค้าเหล่านั้นกราบทูลข่าว ๒ อย่าง แม้อื่นอีกว่า "ข่าวอย่างนี้ แลอย่างนี้".

พระเทวีมีพระสรีระอันปีติถูกต้องแล้ว โดยนัยก่อนนั้นแล ทรงกำหนดอะไรๆ ไม่ได้ถึง ๓ ครั้ง ในครั้งที่ ๔ ทรงสดับอย่างนั้นเหมือนกันแล้ว รับสั่งให้พระราชทานทรัพย์ ครั้งละ ๓ แสน พ่อค้าเหล่านั้น

 
  ข้อความที่ 14  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้า 312

ได้ทรัพย์ทั้งหมดเป็น ๑๒ แสน ด้วยประการฉะนี้.

ลำดับนั้น พระเทวีตรัสถามพ่อค้าเหล่านั้นว่า "พ่อทั้งหลาย พระราชาเสด็จไปไหน".

พ่อค้า. พระเจ้าข้า พระราชารับสั่งว่า "เราจักบวชอุทิศพระศาสดา" แล้วก็เสด็จไป.

พระเทวี. ข่าวอะไร ที่พระองค์พระราชทานแก่เรา.

พ่อค้า. นัยว่า พระองค์ทรงสละความเป็นใหญ่ทั้งหมด ถวายพระองค์ นัยว่า พระองค์จงเสวยสมบัติตามพระประสงค์เถิด.

พระเทวี. ก็พวกอำมาตย์ไปไหน พ่อ.

พ่อค้า. แม้อำมาตย์เหล่านั้นกล่าวว่า "เราจักบวชกับพระราชา เหมือนกัน" แล้วก็ไป พระเจ้าข้า.

พระนางรับสั่งให้เรียกภรรยาของอำมาตย์เหล่านั้นมาและตรัสว่า "แม่ทั้งหลาย สามีของพวกเจ้า กล่าวว่า เราจักบวชกับพระราชา แล้วก็ไป พวกเจ้าจักทำอย่างไร".

หญิง. พระเจ้าข้า ก็ข่าวอะไร ที่พวกเขาส่งมาเพื่อพวกหม่อมฉัน.

พระเทวี. ได้ยินว่า อำมาตย์เหล่านั้น สละสมบัติของตนๆ แก่พวกเจ้าแล้ว ได้ยินว่า พวกเจ้าจงบริโภคสมบัตินั้นตามชอบใจเถิด.

หญิง. ก็พระองค์จักทรงทำอย่างไรเล่า พระเจ้าข้า.

พระเทวี. แม่ทั้งหลาย ทีแรก พระราชานั้นทรงสดับข่าวแล้ว ประทับยืนในหนทางเทียว ทรงบูชาพระรัตนตรัยด้วยทรัพย์ ๓ แสน ทรงสละสมบัติดุจก้อนน้ำลาย ตรัสว่า เราจักบวช แล้วเสด็จออกไป ส่วนเราได้ฟังข่าวพระรัตนตรัยแล้ว บูชาพระรัตนตรัยด้วยทรัพย์ ๙ แสน

 
  ข้อความที่ 15  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้า 313

ก็แล ชื่อว่าสมบัตินี้ มิได้นำทุกข์มาแต่พระราชาเท่านั้น ย่อมเป็นเหตุนำทุกข์มา แม้แก่เราเหมือนกัน ใครจักคุกเข่ารับเอาก้อนน้ำลายที่พระราชาทรงบ้วนทิ้งแล้วด้วยปากเล่า เราไม่ต้องการด้วยสมบัติ แม้เราก็จักไปบวชอุทิศพระศาสดา.

หญิง. พระเจ้าข้า แม้พวกหม่อมฉันก็จักบวชกับพระองค์เหมือนกัน.

พระเทวี. ถ้าพวกเจ้าอาจ ก็ดีละแม่.

หญิง. อาจ พระเจ้าข้า.

พระเทวี ตรัสว่า "ถ้ากระนั้น พวกเจ้าจงมา" ดังนี้แล้ว รับสั่งให้เทียมรถพันคัน เสด็จขึ้นรถออกไปกับหญิงเหล่านั้น ทอดพระเนตรเห็นแม่น้ำสายที่หนึ่งในระหว่างทาง ตรัสถามเหมือนพระราชาตรัสถาม แล้วเหมือนกัน ทรงสดับความเป็นไปทั้งหมดแล้ว ตรัสว่า "พวกเจ้า จงตรวจดูทางเสด็จไปของพระราชา" เมื่อหญิงเหล่านั้นกราบทูลว่า "พวกหม่อมฉันไม่เห็นรอยเท้าม้าสินธพ พระเจ้าข้า" ทรงดำริว่า พระราชาจักทรงทำสัจจกิริยาว่า เราออกบวชอุทิศพระรัตนตรัย แล้วเสด็จไป ถึงเราก็ออกบวชอุทิศพระรัตนตรัย ด้วยอานุภาพแห่งพระรัตนะเหล่านั้นนั่นแล ขอน้ำนี้อย่าได้เป็นเหมือนน้ำเลย ดังนี้แล้ว ทรงระลึกถึงคุณพระรัตนตรัย ทรงส่งรถพันคันไป น้ำได้เป็นเช่นกับหลังแผ่นหิน ปลายเพลาและเกลียวกงแห่งล้อก็ไม่เปียกเลย พระเทวีเสด็จข้ามแม่น้ำทั้งสองแม้นอกนี้ไปได้ โดยอุบายนั้นเหมือนกัน.

พระศาสดาทรงทราบความเสด็จมาของพระเทวี ได้ทรงทำโดยประการที่ภิกษุทั้งหลายผู้นั่งอยู่ในสำนักของพระองค์ ไม่ปรากฏได้ แม้พระเทวีเสด็จไปอยู่ๆ ทอดพระเนตรเห็นพระรัศมีพุ่งออกจากพระสรีระ

 
  ข้อความที่ 16  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้า 314

ของพระศาสดา ทรงดำริอย่างนั้นเหมือนกัน แล้วเสด็จเข้าไปเฝ้าพระศาสดา ถวายบังคมแล้ว ประทับยืนอยู่ ณ ส่วนข้างหนึ่ง ทูลถามว่า "ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระเจ้ามหากัปปินะเสด็จออกผนวชอุทิศพระองค์ ท้าวเธอชะรอยจะเสด็จมาในที่นี้แล้ว ท้าวเธอประทับอยู่ไหน พระองค์ไม่ทรงแสดงแม้แก่พวกหม่อมฉันบ้าง".

พระศาสดาตรัสว่า "ท่านทั้งหลายจงนั่งก่อน จักเห็นพระราชา ในที่นี้เอง" หญิงเหล่านั้นแม้ทุกคน มีจิตยินดี นั่งแล้ว ด้วยคิดว่า นัยว่า พวกเรานั่งในที่นี้แหละ จักเห็นพวกสามี.

พระศาสดาตรัสอนุปุพพีกถาแล้ว ในเวลาจบเทศนา พระนางอโนชาเทวีพร้อมทั้งบริวาร บรรลุโสดาปัตติผลแล้ว.

พระมหากัปปินเถระพร้อมทั้งบริวาร สดับพระธรรมเทศนาที่พระศาสดาทรงขยายแก่หญิงเหล่านั้นแล้ว ก็ได้บรรลุพระอรหัตพร้อมด้วยปฏิสัมภิทาทั้งหลาย ในขณะนั้น พระศาสดาทรงแสดงภิกษุเหล่านั้น ผู้บรรลุพระอรหัตแล้ว แก่หญิงเหล่านั้น.

ได้ยินว่า ในขณะที่หญิงเหล่านั้นมานั่นเทียว จิต (ของเขา) ไม่พึงมีอารมณ์เป็นหนึ่ง เพราะเห็นสามีของตนๆ ทรงผ้าย้อมน้ำฝาด มีศีรษะโล้น เพราะเหตุนั้น หญิงเหล่านั้นจึงไม่พึงอาจเพื่อบรรลุมรรคผลได้ เพราะฉะนั้น ในเวลาหญิงเหล่านั้นตั้งมั่นอยู่ในศรัทธาอันไม่หวั่นไหวแล้ว พระศาสดาจึงทรงแสดงภิกษุเหล่านั้นผู้บรรลุพระอรหัตแล้ว แก่หญิงเหล่านั้น แม้หญิงเหล่านั้น เห็นภิกษุเหล่านั้นแล้ว นมัสการด้วยเบญจางคประดิษฐ์แล้ว กล่าวว่า "ท่านผู้เจริญ กิจบรรพชิตของท่านทั้งหลาย ถึงที่สุดก่อน" ดังนี้แล้วถวายบังคมพระศาสดา ยืนอยู่ ณ ส่วนข้างหนึ่ง แล้วทูลขอบรรพชา.

 
  ข้อความที่ 17  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้า 315

อาจารย์บางพวก กล่าวว่า "ได้ยินว่า เมื่อหญิงเหล่านั้นกราบทูลอย่างนั้นแล้ว พระศาสดาทรงดำริการมาของพระอุบลวรรณาเถรี".

แต่พระศาสดาตรัสกะอุบาสิกาเหล่านั้นว่า "ท่านทั้งหลาย พึงไปสู่กรุงสาวัตถี บรรพชาในสำนักแห่งภิกษุณีเถิด" อุบาสิกาเหล่านั้น เที่ยวจาริกไปโดยลำดับ มีสักการะและสัมมานะอันมหาชนนำมาในระหว่างทาง เดินทางไปด้วยเท้าสิ้นหนทาง ๑๒๐ โยชน์ บวชในสำนักแห่งนางภิกษุณี ได้บรรลุพระอรหัตแล้ว แม้พระศาสดาก็ได้ทรงพาภิกษุพันรูป เสด็จไปสู่พระเชตวัน ทางอากาศนั่นแล.

ได้ยินว่า ในภิกษุเหล่านั้น ท่านพระมหากัปปินะเที่ยวเปล่งอุทาน ในที่ทั้งหลายมีที่พักกลางคืนและที่พักกลางวันว่า "สุขหนอ สุขหนอ" ภิกษุทั้งหลายกราบทูลแด่พระผู้มีพระภาคเจ้าว่า "ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระมหากัปปินะ เที่ยวเปล่งอุทานว่า สุขหนอ สุขหนอ ท่านเห็นจะกล่าวปรารภความสุขในราชสมบัติของตน".

พระศาสดารับสั่งให้เรียกพระมหากัปปินะนั้นมาแล้ว ตรัสถามว่า "กัปปินะ ได้ยินว่า เธอเปล่งอุทานปรารภสุขในกาม สุขในราชสมบัติ จริงหรือ".

พระมหากัปปินะทูลว่า "ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระผู้มีพระภาคเจ้าย่อมทรงทราบ การเปล่งหรือไม่เปล่งปรารภกามสุขและรัชสุขนั้นของข้าพระองค์".

พระศาสดาตรัสว่า "ภิกษุทั้งหลาย บุตรของเราย่อมเปล่งอุทาน ปรารภสุขในกาม สุขในราชสมบัติ หามิได้ ก็แต่ว่า ความเอิบอิ่มในธรรม ย่อมเกิดขึ้นแก่บุตรของเรา

 
  ข้อความที่ 18  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้า 316

บุตรของเรานั้นย่อมเปล่งอุทานอย่างนั้น เพราะปรารภอมตมหานิพพาน" ดังนี้แล้วเมื่อจะทรงสืบอนุสนธิแสดงธรรม จึงตรัสพระคาถานี้ว่า.

๔. ธมฺมปีติ สุขํ เสติ วิปฺปสนฺเนน เจตสา อริยปฺปเวทิเต ธมฺเม สทา รมติ ปณฺฑิโต.

"บุคคลผู้เอิบอิ่มในธรรม มีใจผ่องใส ย่อมอยู่เป็นสุข บัณฑิตย่อมยินดีในธรรมที่พระอริยเจ้าประกาศแล้วทุกเมื่อ".

แก้อรรถ

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ธมฺมปีติ ความว่า ผู้เอิบอิ่มในธรรม อธิบายว่า ผู้ดื่มธรรม ก็ชื่อพระธรรมนี่ อันใครๆ ไม่อาจเพื่อจะดื่มได้ เหมือนดื่มข้าวยาคูเป็นต้น ด้วยภาชนะฉะนั้น ก็บุคคลถูกต้องโลกุตรธรรม ๙ อย่าง ด้วยนามกาย ทำให้แจ้งโดยความเป็นอารมณ์ แทงตลอดอริยสัจมีทุกข์เป็นต้น ด้วยกิจมีการบรรลุธรรมด้วยความกำหนดรู้เป็นต้น ชื่อว่าย่อมดื่มธรรม.

คำว่า สุขํ เสติ นี้ สักว่าเป็นหัวข้อเทศนา อธิบายว่า ย่อมอยู่เป็นสุข แม้ด้วยอิริยาบถ ๔.

บทว่า วิปฺปสนฺเนน คือไม่ขุ่นมัว ได้แก่ ไม่มีอุปกิเลส.

บทว่า อริยปฺปเวทิเต ความว่า ในโพธิปักขิยธรรม อันต่างด้วยสติปัฏฐานเป็นต้น อันพระอริยเจ้าทั้งหลาย มีพระพุทธเจ้าเป็นต้น ประกาศแล้ว.

 
  ข้อความที่ 19  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้า 317

สองบทว่า สทา รมติ ความว่า บัณฑิตผู้เอิบอิ่มในธรรมเห็นปานนั้น มีใจผ่องใสอยู่ มาตามพร้อมแล้วด้วยความเป็นบัณฑิตย่อมยินดี คือย่อมชื่นชมทุกเมื่อ.

ในกาลจบเทศนา ชนเป็นอันมาก ได้เป็นพระอริยบุคคล มีพระโสดาบันเป็นต้นแล้ว ดังนี้แล.

เรื่องพระมหากัปปินเถระ จบ.