พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๓. เรื่องพระฉันนเถระ [๖๒]

 
บ้านธัมมะ
วันที่  25 ก.ค. 2564
หมายเลข  34846
อ่าน  369

[เล่มที่ 41] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้า 296

๓. เรื่องพระฉันนเถระ [๖๒]


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 41]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้า 296

๓. เรื่องพระฉันนเถระ [๖๒]

ข้อความเบื้องต้น

พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในพระเชตวัน ทรงปรารภพระฉันนเถระ ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า "น ภเช ปาปเก มิตฺเต" เป็นต้น.

พระฉันนเถระด่าพระอัครสาวก

ดังได้สดับมา ท่านพระฉันนะนั้นด่าพระอัครสาวกทั้งสองว่า "เราเมื่อตามเสด็จออกมหาภิเนษกรมณ์กับพระลูกเจ้าของเราทั้งหลายในเวลานั้น มิได้เห็นผู้อื่นแม้สักคนเดียว แต่บัดนี้ ท่านพวกนี้เที่ยวกล่าวว่า เราชื่อสารีบุตร เราชื่อโมคลัลลานะ พวกเราเป็นอัครสาวก" พระศาสดาทรงสดับข่าวนั้นแต่สำนักภิกษุทั้งหลายแล้ว รับสั่งให้หาพระฉันนเถระมา ตรัสสอนแล้ว ท่านนิ่งในชั่วขณะนั้นเท่านั้น ยังกลับไปด่าพระเถระทั้งหลายเหมือนอย่างนั้นอีก พระศาสดารับสั่งให้หาท่านซึ่งกำลังด่า มาแล้ว ตรัสสอนอย่างนั้นถึง ๓ ครั้งแล้ว ตรัสเตือนว่า "ฉันนะ ชื่อว่าอัครสาวกทั้งสองเป็นกัลยาณมิตร เป็นบุรุษชั้นสูงของเธอ เธอจงเสพ จงคบกัลยาณมิตรเห็นปานนี้" ดังนี้แล้ว เมื่อจะทรงสืบอนุสนธิแสดงธรรม จึงตรัสพระคาถานี้ว่า.

๓. น ภเช ปาปเก มิตฺเต น ภเช ปุริสาธเม ภเชถ มิตฺเต กลฺยาเณ ภเชถ ปุริสุตฺตเม.

"บุคคลไม่ควรคบปาปมิตร ไม่ควรคบบุรุษต่ำช้า ควรคบกัลยาณมิตร ควรคบบุรุษสูงสุด".

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้า 297

แก้อรรถ

เนื้อความแห่งพระคาถานั้นว่า คนผู้ยินดีในอกุศลกรรม มีกายทุจริตเป็นต้น ชื่อว่าปาปมิตร คนผู้ชักนำในเหตุอันไม่สมควร มีการตัดช่องเป็นต้นก็ดี อันต่างโดยการแสวงหาไม่ควร ๒๑ อย่าง (๑) ก็ดี ชื่อว่าบุรุษต่ำช้า อนึ่ง ชน ๒ จำพวกนั้น ชื่อว่าเป็นทั้งปาปมิตร ทั้งบุรุษต่ำช้า บุคคลไม่ควรคบ คือไม่ควรนั่งใกล้เขาเหล่านั้น ฝ่ายชนผู้ผิดตรงกันข้าม ชื่อว่าเป็นทั้งกัลยาณมิตร ทั้งสัตบุรุษ บุคคลควรคบ คือควรนั่งใกล้ท่านเหล่านั้น ในเวลาจบเทศนา ชนเป็นอันมาก บรรลุอริยผลทั้งหลาย มีโสดาปัตติผลเป็นต้นแล้ว.

พระศาสดาตรัสสั่งให้ลงพรหมทัณฑ์พระฉันนะ

ฝ่ายพระฉันนเถระ แม้ได้ฟังพระโอวาทแล้ว ก็ยังด่าขู่พวกภิกษุอยู่อีกเหมือนนัยก่อนนั่นเอง แม้พวกภิกษุก็กราบทูลแด่พระศาสดาอีก พระศาสดาตรัสว่า "ภิกษุทั้งหลาย เมื่อเรายังมีชีวิตอยู่ พวกเธอจักไม่อาจเพื่อให้ฉันนะสำเหนียกได้ แต่เมื่อเราปรินิพพานแล้ว จึงจักอาจ" ดังนี้แล้ว เมื่อท่านพระอานนท์ทูลถามในเวลาจวนจะเสด็จปรินิพพานว่า "พระเจ้าข้า อันพวกข้าพระองค์จะพึงปฏิบัติในพระฉันนเถระอย่างไร" จึงตรัสบังคับว่า "อานนท์ พวกเธอพึงลงพรหมทัณฑ์แก่ฉันนภิกษุเถิด".


(๑) ปรมัตถโชติกา หน้า ๒๖๕.

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้า 298

พระฉันนะนั้น เมื่อพระศาสดาเสด็จปรินิพพานแล้ว ได้ฟังพรหมทัณฑ์ที่พระอานนทเถระยกขึ้นแล้ว มีทุกข์ เสียใจ ล้มสลบ ถึง ๓ ครั้ง แล้ววิงวอนว่า "ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ขอท่านอย่าให้กระผมฉิบหายเลย" ดังนี้แล้ว บำเพ็ญวัตรอยู่โดยชอบ ต่อกาลไม่นานนัก ก็บรรลุพระอรหัตพร้อมด้วยปฏิสัมภิทาทั้งหลายแล้ว ดังนี้แล.

เรื่องพระฉันนเถระ จบ.