พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๑๑. เรื่องชัมพุกาชีวก [๕๕]

 
บ้านธัมมะ
วันที่  25 ก.ค. 2564
หมายเลข  34838
อ่าน  605

[เล่มที่ 41] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้า 218

๑๑. เรื่องชัมพุกาชีวก [๕๕]


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 41]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้า 218

๑๑. เรื่องชัมพุกาชีวก [๕๕]

ข้อความเบื้องต้น

พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในพระเวฬุวัน ทรงปรารภชัมพุกาชีวก ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า "มาเส มาเส กุสคฺเคน" เป็นต้น.

กุฏุมพีบำรุงพระเถระ

ได้ยินว่า ในกาลแห่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่า กัสสป ในอดีตกาล กุฎุมพีชาวบ้านคนหนึ่ง สร้างวิหาร (ถวาย) แก่พระเถระรูปหนึ่งแล้ว บำรุงพระเถระผู้อยู่ในวิหารนั้นด้วยปัจจัย ๔ พระเถระฉันในเรือนของกุฎุมพีนั้นเป็นนิตย์ ครั้งนั้น ภิกษุขีณาสพรูปหนึ่งเที่ยวบิณฑบาตในกลางวัน ถึงประตูเรือนของกุฎุมพีนั้น กุฎุมพีเห็นพระขีณาสพนั้นแล้ว เลื่อมใสในอิริยาบถของท่าน นิมนต์ให้เข้าไปสู่เรือน อังคาสด้วยโภชนะอันประณีตโดยเคารพ ถวายผ้าสาฎกผืนใหญ่ ด้วยเรียนว่า " ท่านผู้เจริญ ท่านพึงย้อมผ้าสาฎกนี้นุ่งเถิด" ดังนี้แล้ว เรียนว่า "ท่านผู้เจริญ ผมของท่านยาว กระผมจักนำช่างกัลบกมาเพื่อประโยชน์แก่อันปลงผมของท่าน จักให้จัดเตียงมาเพื่อประโยชน์แก่การนอน" ภิกษุกุลุปกะผู้ฉันอยู่ในเรือนเป็นนิตย์ เห็นสักการะนั้น ของพระขีณาสพนั้น ไม่อาจยังจิตให้เลื่อมใสได้ คิดว่า กุฎุมพีนี้ ทำสักการะนั้นเห็นปานนี้ แก่ภิกษุผู้ที่คนเห็นแล้วครู่เดียว แต่ไม่ทำแก่เราผู้ฉันอยู่ในเรือนเป็นนิตย์ ดังนี้แล้ว ได้ไปสู่วิหาร แม้ภิกษุขีณาสพนอกนี้

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้า 219

ไปกับด้วยภิกษุนั้นนั่นแล ย้อมผ้าสาฎกที่กุฏุมพีถวายนุ่งแล้ว แม้กุฎุมพี พาช่างกัลบกไปให้ปลงผมของพระเถระ ให้คนลาดเตียงไว้แล้วเรียนว่า "ท่านผู้เจริญ ขอท่านจงนอนบนเตียงนี้แหละ" นิมนต์พระเถระทั้งสองรูป เพื่อฉันในวันพรุ่งนี้แล้ว ก็หลีกไป ภิกษุเจ้าถิ่นไม่อาจอดกลั้นสักการะที่กุฎุมพีทำแก่พระขีณาสพนั้นได้.

ด่าพระอรหันต์ด้วยอาการ ๔ มีโทษ

ครั้นเวลาเย็น เธอไปสู่ที่ที่พระเถระนั้นนอนแล้ว ด่าด้วยอาการ ๔ อย่างว่า "อาคันตุกะผู้มีอายุ ท่านเคี้ยวกินคูถ ประเสริฐกว่าการบริโภคภัตในเรือนของกุฎุมพี ท่านให้ถอนผมด้วยแปรงตาล ประเสริฐกว่าการปลงผมด้วยช่างกัลบกที่กุฎุมพีนำมา ท่านเปลือยกายเที่ยวไป ประเสริฐกว่าการนุ่งผ้าสาฎกที่กุฏุมพีถวาย ท่านนอนเหนือแผ่นดิน ประเสริฐกว่าการนอนบนเตียงที่กุฎุมพีนำมา" ฝ่ายพระเถระ คิดว่า คนพาลนี่ อย่าฉิบหายเพราะอาศัยเราเลย ดังนี้แล้ว ไม่เอื้อเฟื้อถึงการนิมนต์ ลุกขึ้นแต่เช้าตรู่ได้ไปตามสบายแล้ว ฝ่ายภิกษุเจ้าถิ่น ทำวัตรที่ควรทำในวิหารแต่เช้าตรู่แล้ว เคาะระฆังด้วยหลังเล็บเท่านั้น ด้วยความสำคัญว่า เวลานี้ เป็นเวลาเที่ยวภิกษา แม้บัดนี้ ภิกษุอาคันตุกะ หลับอยู่ เธอพึงตื่นด้วยเสียงระฆัง ดังนี้แล้ว เข้าไปสู่บ้านเพื่อบิณฑบาต แม้กุฎุมพีนั้น กระทำสักการะแล้ว แลดูทางมาของพระเถระทั้งสอง เห็นภิกษุเจ้าถิ่นแล้ว ถามว่า "ท่านผู้เจริญ พระเถระไปไหน" ทีนั้น ภิกษุเจ้าถิ่นกล่าวกะกุฎุมพีนั้นว่า "ผู้มีอายุ อย่าได้พูดถึงเลย ภิกษุกุลุปกะของท่าน เข้าสู่ห้องน้อย ในเวลาที่ท่านออกไปเมื่อวาน

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้า 220

ก้าวลงสู่ความหลับ เมื่อข้าพเจ้า ทำเสียงกวาดวิหารก็ดี เสียงกรอกน้ำในหม้อฉันและหม้อน้ำใช้ก็ดี เสียงระฆังก็ดี ตั้งแต่เช้าตรู่ ก็ยังไม่รู้สึก" กุฎุมพีคิดว่า ชื่อว่าการหลับจนถึงกาลนี้ ย่อมไม่มีแก่พระผู้เป็นเจ้าของเรา ผู้ประกอบด้วยอิริยาบถสมบัติเช่นนั้น แต่ท่านผู้เจริญรูปนี้ จักกล่าวคำอะไรๆ แน่นอน เพราะเห็นเราทำสักการะแก่ท่าน เพราะความที่ตนเป็นบัณฑิต กุฎุมพีนั้นจึงนิมนต์ให้ภิกษุฉันโดยเคารพ ล้างบาตรของท่านให้ดีแล้ว ให้เต็มด้วยโภชนะมีรสเลิศต่างๆ แล้วกล่าวว่า "ท่านผู้เจริญ ถ้าท่านพึงเห็นพระผู้เป็นเจ้าของกระผม ท่านพึงถวายบิณฑบาตนี้ แก่พระผู้เป็นเจ้านั้น" ภิกษุนอกนี้พอรับบิณฑบาตนั้นแล้ว ก็คิดว่า ถ้าภิกษุนั้น จักบริโภคบิณฑบาตเห็นปานนี้ไซร้ เธอก็จักข้องอยู่ในที่นี้ เท่านั้น ทิ้งบิณฑบาตนั้นในระหว่างทาง ไปสู่ที่อยู่ของพระเถระ แลดูพระเถระนั้นในที่นั้นมิได้เห็นแล้ว ทีนั้น สมณธรรมแม้ที่เธอทำไว้สิ้นสองหมื่นปีไม่อาจเพื่อรักษาเธอได้ เพราะเธอทำกรรมประมาณเท่านี้ ก็ในกาลสิ้นอายุ เธอเกิดแล้วในอเวจี เสวยทุกข์เป็นอันมาก สิ้นพุทธันดรหนึ่ง ในพุทธุปบาทกาลนี้ เกิดในเรือนแห่งตระกูล ซึ่งมีข้าวและน้ำมาก แห่งหนึ่งในพระนครราชคฤห์.

โทษของการด่าพระอรหันต์

จำเดิมแต่กาลที่เดินได้ด้วยเท้า เขาไม่ปรารถนาเพื่อจะนอนบนที่นอนทีเดียว ไม่ปรารถนาเพื่อจะบริโภคภัต เคี้ยวกินแต่สรีรวลัญชะ (๑) ของตนเท่านั้น มารดาบิดาเลี้ยงทารกนั้นไว้ ด้วยสำคัญว่า


(๑) อุจจาระ.

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้า 221

เด็กไม่รู้เพราะยังอ่อน จึงทำ แม้ในเวลาเป็นผู้ใหญ่ เขาไม่ปรารถนาเพื่อจะนุ่งผ้า เป็นผู้เปลือยกายเที่ยวไป นอนบนแผ่นดิน เคี้ยวกินแต่สรีรวลัญชะของตนเท่านั้น ลำดับนั้น มารดาและบิดาของเขา คิดว่า เด็กนี้ไม่สมควรแก่เรือนแห่งสกุล เด็กนี้สมควรแก่พวกอาชีวก ดังนี้แล้ว จึงนำไปสู่สำนักของอาชีวกเหล่านั้น ได้มอบให้ว่า "ขอท่านทั้งหลาย จงยังเด็กนี้ให้บวชเถิด" ลำดับนั้น อาชีวกเหล่านั้นยังเขาให้บวชแล้ว ก็แลครั้นให้บวชแล้ว พวกอาชีวกนั้นตั้งเขาไว้ในหลุมประมาณเพียงคอ วางไม้เรียบไว้บนจะงอยบ่าทั้งสอง นั่งบนไม้เรียบเหล่านั้น ถอนผมด้วยท่อนแห่งแปรงตาล ลำดับนั้น มารดาบิดาของเขา เชิญอาชีวกเหล่านั้น เพื่อฉันในวันพรุ่งนี้แล้ว หลีกไป วันรุ่งขึ้น พวกอาชีวกกล่าวกะเขาว่า "ท่านจงมา พวกเราจักเข้าไปสู่บ้าน" เขากล่าวว่า "ขอเชิญพวกท่านไปเถิด ข้าพเจ้าจักอยู่ในที่นี้แล" ดังนี้แล้ว ก็ไม่ปรารถนา ครั้งนั้น อาชีวกทั้งหลายได้ละเขาผู้กล่าวแล้วๆ เล่าๆ ซึ่งไม่ปรารถนาอยู่ ไปแล้ว ฝ่ายเขาทราบความที่อาชีวกเหล่านั้นไปแล้ว เปิดประตูเวจกุฏี ลงไปกินคูถปั้นให้เป็นคำด้วยมือทั้งสอง พวกอาชีวกส่งอาหารไปจากภายในบ้านเพื่อเขา เขาไม่ปรารถนาแม้อาหารนั้น แม้ถูกพวกอาชีวกกล่าวอยู่บ่อยๆ ก็กล่าวว่า "ข้าพเจ้าไม่ต้องการอาหารนี้ อาหารอันข้าพเจ้าได้แล้ว" พวกอาชีวกถามว่า "ท่านได้อาหารที่ไหน" เขาตอบว่า "ได้ในที่นี้นั้นเอง".

แม้ในวันที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ เขาถูกพวกอาชีวกนั้นกล่าวอยู่แม้มากอย่างนั้น ก็ยังกล่าวว่า "ข้าพเจ้าจักอยู่ในที่นี้แหละ" ไม่ปรารถนาเพื่อจะไปบ้าน พวกอาชีวก คิดว่า อาชีวกนี้ ไม่ปรารถนาจะเข้าบ้าน

 
  ข้อความที่ 5  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้า 222

ทุกวันๆ ทีเดียว ไม่ปรารถนาจะกลืนกินอาหารที่พวกเรานำมาให้ กล่าวอยู่ว่า "อาหารเราได้แล้วในที่นี้เทียว เขาทำอะไรหนอแล พวกเราจักจับผิดเขา" ดังนี้แล้ว เมื่อจะเข้าไปสู่บ้าน เว้นคนไว้คนหนึ่งสองคน เพื่อจับผิดแม้ซึ่งอาชีวกนั้น จึงไป อาชีวกเหล่านั้น เป็นราวกะไปข้างหลัง ซ่อนอยู่แล้ว แม้เขารู้ความที่อาชีวกเหล่านั้นไปแล้ว ลงสู่เวจกุฎี กินคูถโดยนัยก่อนนั้นแล พวกอาชีวกนอกนี้ เห็นกิริยาของเขาแล้ว จึงบอกแก่อาชีวกทั้งหลาย พวกอาชีวกฟังคำนั้นแล้ว คิดว่า โอ กรรมหนัก ถ้าสาวกของพระสมณโคดมพึงรู้ไซร้ พึงประกาศความเสื่อมเกียรติของพวกเราว่า อาชีวกทั้งหลายเที่ยวกินคูถ อาชีวกนี้ไม่สมควรแก่พวกเรา จึงขับไล่เขาออกจากสำนักของตนแล้ว เขาถูกพวกอาชีวกเหล่านั้นไล่ออกแล้ว มีหินดาดก้อนหนึ่ง ที่เขาลาดไว้ในที่ถ่ายอุจจาระของมหาชน มีกระพังใหญ่บนแผ่นหินนั้น มหาชนอาศัยหินดาดเป็นที่ถ่ายอุจจาระ เขาไปในที่นั้น กินคูถในกลางคืน ในกาลที่มหาชนมาเพื่อต้องการถ่ายอุจจาระ เหนี่ยวก้อนหินข้างหนึ่งด้วยมือข้างหนึ่ง ยกเท้าขึ้นข้างหนึ่งตั้งไว้บนเข่า ยืนเงยหน้าอ้าปากอยู่ มหาชนเห็นเขาแล้ว เข้าไปหา ไหว้แล้ว ถามว่า "ท่านผู้เจริญ เพราะเหตุไร พระผู้เป็นเจ้าจึงยืนอ้าปาก".

อาชีวก. (เพราะ) เรามีลมเป็นภักษา อาหารอย่างอื่นของเรา ไม่มี.

มหาชน. เมื่อเช่นนั้น เพราะเหตุไร ท่านจึงยกเท้าข้างหนึ่งตั้งไว้บนเข่ายืนอยู่เล่า ขอรับ.

อาชีวก. เรามีตบะสูง มีตบะกล้า แผ่นดินถูกเราเหยียบด้วยเท้าทั้งสอง ย่อมหวั่นไหว

 
  ข้อความที่ 6  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้า 223

เพราะฉะนั้น เราจึงยกเท้าขึ้นข้างหนึ่งไว้บนเข่า ยืนอยู่ ก็เราแลยืนอย่างเดียว ยังกาลให้ล่วงไป ไม่นั่ง ไม่นอน.

ขึ้นชื่อว่าพวกมนุษย์โดยมาก มักเชื่อเพียงถ้อยคำเท่านั้น เพราะฉะนั้น ชนชาวแคว้นอังคะและมคธะโดยมาก จึงลือกระฉ่อนว่า "แหม น่าอัศจรรย์จริง ท่านผู้มีตบะชื่อแม้เห็นปานนี้ มีอยู่ ผู้เช่นนี้ พวกเรายังไม่เคยเห็น" ดังนี้แล้ว ย่อมนำสักการะเป็นอันมากไปทุกๆ เดือน อาชีวกนั้นกล่าวว่า "เรากินลมอย่างเดียว ไม่กินอาหารอย่างอื่น เพราะเมื่อเรากินอาหารอย่างอื่น ตบะย่อมเสื่อมไป" ดังนี้แล้ว ไม่ปรารถนาของอะไรๆ ที่พวกมนุษย์เหล่านั้นนำมา พวกมนุษย์ อ้อนวอนบ่อยๆ ว่า "ท่านผู้เจริญ ท่านอย่าให้พวกกระผมฉิบหายเลย การบริโภคอันคนผู้มีตบะกล้าเช่นท่านกระทำแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์ เพื่อความสุขแก่พวกกระผมสิ้นกาลนาน" อาชีวกกล่าวว่า "เรานั้นไม่ชอบใจอาหารอย่างอื่น" แต่ถูกมหาชนรบกวนด้วยการอ้อนวอน จึงวางเภสัชมีเนยใสและน้ำอ้อยเป็นต้น อันชนเหล่านั้นนำมา ที่ปลายลิ้น ด้วยปลายหญ้าคาแล้ว ส่งไป ด้วยคำว่า "พวกท่านจงไปเถิด เท่านี้ พอละเพื่อประโยชน์ เพื่อความสุขแก่ท่านทั้งหลาย" อาชีวกนั้น เป็นคนเปลือย เคี้ยวกินคูถ ถอนผม นอนบนแผ่นดิน ให้กาลล่วงไป ๕๕ ปี ด้วยประการฉะนี้.

พระพุทธเจ้าเสด็จไปโปรดชัมพุกาชีวก

การตรวจดูสัตว์โลก ในเวลาใกล้รุ่ง (๑) เป็นพุทธกิจ


(๑) ปจฺจูสกาเล ปฏิ-อุส-กาล กาลเป็นที่กำจัดตอบซึ่งมืด.

 
  ข้อความที่ 7  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้า 224

แม้อันพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ไม่ทรงละโดยแท้ เพราะฉะนั้น เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพิจารณาดูสัตวโลกในเวลาใกล้รุ่งวันหนึ่ง ชัมพุกาชีวกนี้ ปรากฏภายในข่ายคือพระญาณแล้ว พระศาสดาทรงใคร่ครวญว่า อะไรหนอแล จักมี ทรงเห็นอุปนิสัยแห่งพระอรหัต พร้อมด้วยปฏิสัมภิทาของเขาแล้ว ทรงทราบว่า เราจักทำชัมพุกาชีวกนั้นให้เป็นต้นแล้ว กล่าวคาถาๆ หนึ่ง ในกาลจบคาถา สัตว์ ๘ หมื่น ๔ พัน จักตรัสรู้ธรรม อาศัยกุลบุตรนี้ มหาชนจักถึงความสวัสดี ดังนี้แล้ว ในวันรุ่งขึ้น เสด็จเที่ยวไปในกรุงราชคฤห์เพื่อบิณฑบาต เสด็จกลับจากบิณฑบาตแล้ว ตรัสกะพระอานนทเถระว่า "อานนท์ เราจักไปสู่สำนักของชัมพุกาชีวก".

อานนท์. พระองค์เท่านั้น จักเสด็จไปหรือ พระเจ้าข้า.

พระศาสดา. อย่างนั้น เราผู้เดียวจักไป.

พระศาสดา ครั้นตรัสอย่างนั้นแล้ว ในเวลาบ่าย เสด็จไปสู่สำนักของชัมพุกาชีวกนั้น เทวดาทั้งหลาย คิดว่า พระศาสดาจะเสด็จไปสู่สำนักของชัมพุกาชีวกในเวลาเย็น ก็ชัมพุกาชีวกนั้น อยู่บนหินดาด น่าเกลียด เป็นที่ถ่ายอุจจาระปัสสาวะ เศร้าหมองด้วยไม้ชำระฟัน พวกเราควรให้ฝนตก ดังนี้แล้ว จึงยังฝนให้ตก ครู่เดียวเท่านั้น ด้วยอานุภาพของตน หินดาดได้สะอาดปราศจากมลทินแล้ว ลำดับนั้น เทวดาทั้งหลาย ยังฝนเป็นวิการ (แปลว่า การทำให้แปลกไปเป็นอย่างอื่น) แห่งดอกไม้ ๕ สี ให้ตกลงบนหินดาดนั้น ในเวลาเย็น พระศาสดาเสด็จไปสู่สำนักของชัมพุกาชีวกแล้ว ได้เปล่งพระสุรเสียงว่า "ชัมพุกะ" ชัมพุกะคิดว่า นั่นใครหนอแล รู้ยาก

 
  ข้อความที่ 8  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้า 225

เรียกเราด้วยวาทะว่าชัมพุกะ จึงกล่าวว่า "นั่นใคร".

พระศาสดา. เรา ชัมพุกะ.

ชัมพุกะ. ทำไม มหาสมณะ.

พระศาสดา. วันนี้ เธอจงให้ที่อยู่ในที่นี้แก่เรา สักคืนหนึ่ง.

ชัมพุกะ. มหาสมณะ ที่อยู่ในที่นี้ ไม่มี.

พระศาสดา. ชัมพุกะ เธออย่ากระทำอย่างนั้น เธอจงให้ที่อยู่แก่เรา สักคืนหนึ่ง ชื่อว่าพวกบรรพชิตย่อมปรารถนาบรรพชิต พวกมนุษย์ย่อมปรารถนามนุษย์ พวกปศุสัตว์ย่อมปรารถนาปศุสัตว์.

ชัมพุกะ. ก็ท่านเป็นบรรพชิตหรือ.

พระศาสดา. เออ เราเป็นบรรพชิต.

ชัมพุกะ. ถ้าท่านเป็นบรรพชิต น้ำเต้าของท่านอยู่ที่ไหน ทัพพีสำหรับโบกควันของท่านอยู่ที่ไหน ด้าย (๑) สำหรับบูชายัญของท่านอยู่ที่ไหน.

พระศาสดา. น้ำเต้าเป็นต้นนั่น ของเรามีอยู่ แต่การถือเอาเป็นแผนกๆ เที่ยวไปลำบาก เพราะฉะนั้น เราจึงเก็บไว้ภายในเท่านั้นเที่ยวไป.

อาชีวกนั้นโกรธว่า "ท่านจักไม่ถือน้ำเต้าเป็นต้นนั่นเที่ยวไปได้หรือ" ลำดับนั้น พระศาสดา ตรัสกะอาชีวกนั้นว่า "ช่างเถอะ ชัมพุกะ เธออย่าโกรธเลย เธอจงบอกที่อยู่แก่เราเถิด" เขากล่าวว่า "มหาสมณะ ที่อยู่ในที่นี้ ไม่มี".

พระศาสดา เมื่อจะทรงชี้เงื้อมแห่งหนึ่ง ซึ่งมีอยู่ในที่ไม่ไกลจากที่อยู่ของเขา จึงตรัสว่า "ที่เงื้อมนั่น ใครอยู่"


(๑) ยัชโญปวีต สายเครื่องหมายวรรณะพราหมณ์.

 
  ข้อความที่ 9  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้า 226

ชัมพุกะ. มหาสมณะ ที่เงื้อมนั่น ไม่มีใครอยู่.

พระศาสดา. ถ้าเช่นนั้น เธอจงให้เงื้อมนั่นแก่เรา.

ชัมพุกะ. มหาสมณะ ท่านจงรู้เองเถิด.

พระศาสดา ทรงปูผ้านั่ง ประทับนั่งที่เงื้อมแล้ว.

ชัมพุกาชีวกได้บรรลุพระอรหัต

ครั้งนั้น ท้าวมหาราชทั้งสี่ ทำทิศทั้งสี่ ให้มีแสงสว่างเป็นอันเดียวกัน มาสู่ที่บำรุงในปฐมยาม ชัมพุกะเห็นแสงสว่างแล้ว คิดว่า นั่น ชื่อแสงสว่างอะไรกัน ในมัชฌิมยาม ท้าวสักกเทวราชเสด็จมาแล้ว ชัมพุกะเห็นแม้ท้าวสักกเทวราชนั้น คิดว่า ชื่อว่าใครนั่น ในปัจฉิมยาม ท้าวมหาพรหม ผู้สามารถยังจักรวาลหนึ่งให้สว่างด้วยนิ้วมือนิ้วหนึ่ง ยังจักรวาลสองจักรวาล ให้สว่างด้วยนิ้วมือ ๒ นิ้ว ฯลฯ ยังจักรวาลสิบจักรวาล ให้สว่างด้วยนิ้วมือ ๑๐ นิ้ว ทำป่าทั้งสิ้นให้มีแสงสว่างเป็นอันเดียวมาแล้ว ชัมพุกะเห็นท้าวมหาพรหมแม้นั้น คิดว่า นั่น ใครหนอแล ดังนี้แล้ว จึงไปสู่สำนักพระศาสดาแต่เช้าตรู่ กระทำปฏิสันถารแล้ว ยืน ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ทูลถามพระศาสดาว่า "มหาสมณะ ใครยังทิศทั้งสี่ให้สว่าง มาสู่สำนักของท่านในปฐมยาม".

พระศาสดา. ท้าวมหาราชทั้งสี่.

ชัมพุกะ. มาเพราะเหตุไร.

พระศาสดา. มาเพื่อบำรุงเรา.

ชัมพุกะ. ก็ท่านเป็นผู้ยอดเยี่ยมกว่าท้าวมหาราชทั้งสี่หรือ.

 
  ข้อความที่ 10  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้า 227

พระศาสดา. เออ ชัมพุกะ เราแลเป็นพระราชายอดเยี่ยมกว่าพระราชาทั้งหลาย.

ชัมพุกะ. ก็ในมัชฌิมยาม ใครมา.

พระศาสดา. ท้าวสักกเทวราช.

ชัมพุกะ. เพราะเหตุไร.

พระศาสดา. เพื่อบำรุงเราเหมือนกัน.

ชัมพุกะ. ก็ท่านเป็นผู้ยอดเยี่ยมกว่าท้าวสักกเทวราชหรือ.

พระศาสดา. เออ ชัมพุกะ เราเป็นผู้ยอดเยี่ยมแม้กว่าท้าวสักกะ ก็ท้าวสักกะนั่น เป็นคิลานุปัฏฐากของเรา เช่นเดียวกับสามเณรผู้เป็นกัปปิยการก.

ชัมพุกะ. ก็ใคร ยังป่าทั้งสิ้นให้สว่าง มาแล้วในปัจฉิมยาม.

พระศาสดา. ชนทั้งหลาย มีพราหมณ์เป็นต้น ในโลก จามแล้ว พลาดพลั้งแล้ว ย่อมกล่าวว่า "ขอความนอบน้อม จงมีแก่มหาพรหม" อาศัยผู้ใด ผู้นั้นแหละ เป็นท้าวมหาพรหม.

ชัมพุกะ. ก็ท่านเป็นผู้ยอดเยี่ยมแม้กว่าท้าวมหาพรหมหรือ.

พระศาสดา. เออ ชัมพุกะ เราแลเป็นพรหมยิ่งแม้กว่าพรหม.

ชัมพุกะ. มหาสมณะ ท่านเป็นผู้อัศจรรย์ ก็เมื่อเราอยู่ในที่นี้ สิ้น ๕๕ ปี บรรดาเทวดาเหล่านั้น แม้องค์หนึ่ง ก็ไม่เคยมาเพื่อบำรุงเรา ก็เราเป็นผู้มีลมเป็นภักษา ยืนอย่างเดียว ให้กาลนานประมาณเท่านี้ล่วงไปแล้ว เทวดาเหล่านั้น ไม่เคยมาสู่ที่บำรุงของเราเลย.

ลำดับนั้น พระศาสดาตรัสกะชัมพุกะนั้นว่า "ชัมพุกะ เธอลวงมหาชนผู้อันธพาลในโลก ยังปรารถนาจะลวงแม้ซึ่งเรา เธอเคี้ยวกินคูถเท่านั้น

 
  ข้อความที่ 11  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้า 228

นอนบนแผ่นดินอย่างเดียว เป็นผู้เปลือยเที่ยวไป ถอนผมด้วยท่อนแปรงตาลสิ้น ๕๕ ปี มิใช่หรือ ก็เมื่อเป็นเช่นนั้น เธอลวงโลก กล่าวว่า เราเป็นผู้มีลมเป็นภักษา ยืนด้วยเท้าข้างเดียว ไม่นั่ง ไม่นอน ยังเป็นผู้ปรารถนาจะลวงแม้ซึ่งเรา แม้ในกาลก่อน เธออาศัยทิฏฐิอันชั่วช้าลามก เป็นผู้มีคูถเป็นภักษาสิ้นกาลประมาณเท่านี้ เป็นผู้นอนเหนือแผ่นดิน เปลือยกายเที่ยวไป ถึงการถอนผมด้วยท่อนแปรงตาล แม้ในบัดนี้ เธอยังถือทิฏฐิอันชั่วช้าลามกเหมือนเดิม".

ชัมพุกะ. มหาสมณะ ก็เราทำกรรมอะไรไว้.

ลำดับนั้น พระศาสดาตรัสบอกกรรมที่เขากระทำแล้วในก่อนแก่ชัมพุกะนั้น เมื่อพระศาสดาตรัสอยู่นั่นแหละ ความสังเวชเกิดขึ้นแก่เขาแล้ว หิริโอตตัปปะปรากฏแล้ว เขานั่งกระโหย่งแล้ว ลำดับนั้น พระศาสดาได้ทรงโยนผ้าสาฎกสำหรับอาบน้ำไปให้เขา เขานุ่งผ้านั้นแล้ว ถวายบังคมพระศาสดา นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ฝ่ายพระศาสดา ตรัสอนุบุพพีกถาแสดงธรรมแก่เขา ในกาลจบเทศนา เขาบรรลุพระอรหัตพร้อมด้วยปฏิสัมภิทา ถวายบังคมพระศาสดาแล้วลุกขึ้นจากที่นั่ง ทูลขอบรรพชาและอุปสมบท ด้วยอาการเพียงเท่านี้ กรรมในก่อนของชัมพุกะนั้นสิ้นแล้ว ก็ชัมพุกะนี้ ด่าพระมหาเถระผู้ขีณาสพด้วยอักโกสวัตถุ ๔ อย่าง ไหม้แล้วในอเวจีตราบเท่ามหาปฐพีนี้หนาขึ้น ๑ โยชน์ ยิ่งด้วย ๓ คาวุต ถึงอาการอันน่าเกลียดนี้สิ้น ๕๕ ปี ด้วยเศษแห่งผลกรรมในเพราะการด่านั้น กรรมนั้นของเธอสิ้นแล้วเพราะบรรลุพระอรหันต์นั้น กรรมที่เธอทำแล้วนั้น ไม่อาจยังผลแห่งสมณธรรม ที่ชัมพุกาชีวกนี้ทำแล้วสิ้น ๒ หมื่นปีให้ฉิบหายได้ เพราะฉะนั้น

 
  ข้อความที่ 12  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้า 229

พระศาสดาจึงทรงเหยียดพระหัตถ์เบื้องขวาออก ตรัสกะชัมพุกะนั้นว่า "เธอ จงเป็นภิกษุมาเถิด จงประพฤติพรหมจรรย์เถิด" ขณะนั้นเอง เพศคฤหัสถ์ของเธอหายไปแล้ว เธอเป็นผู้ทรงบริขาร ๘ ได้เป็นประดุจพระเถระมีพรรษา ๖๐ แล้ว.

ชัมพุกะบอกความจริงแก่มหาชน

ได้ยินว่า วันนั้น เป็นวันแห่งชาวอังคะและมคธะถือสักการะมาเพื่อชัมพุกะนั่น เพราะฉะนั้น ชาวแว่นแคว้นทั้งสองถือสักการะมาแล้ว เห็นพระตถาคตแล้ว จึงคิดว่า ชัมพุกะผู้เป็นเจ้าของพวกเราเป็นใหญ่ หรือหนอแล หรือว่า พระสมณโคดมเป็นใหญ่ คิดว่า ถ้าพระสมณโคดมพึงเป็นใหญ่ ชัมพุกะนี้ พึงไปสู่สำนักของพระสมณโคดม แต่เพราะความที่ชัมพุกาชีวกเป็นใหญ่ พระสมณโคดมจึงเสด็จมาสู่สำนักชัมพุกาชีวกนี้.

พระศาสดา ทรงทราบความปริวิตกของมหาชน จึงตรัสว่า "ชัมพุกะ เธอจงตัดความสงสัยของพวกอุปัฏฐากของเธอเสีย" เธอกราบทูลว่า "แม้ข้าพระองค์ ก็หวังพระพุทธดำรัสมีประมาณเท่านี้เหมือนกัน พระเจ้าข้า" ดังนี้แล้ว เข้าฌานที่ ๔ ลุกขึ้น เหาะขึ้นสู่เวหาสประมาณชั่วลำตาล กราบทูลว่า "พระเจ้าข้า พระผู้มีพระภาคเจ้า เป็นพระศาสดาของข้าพระองค์ ข้าพระองค์เป็นสาวก" แล้วลงมา ถวายบังคม เหาะขึ้นสู่เวหาสประมาณ ๗ ชั่วลำตาลอีก ด้วยอาการอย่างนี้ คือประมาณ ๒ ชั่วลำตาล ประมาณ ๓ ชั่วลำตาล แล้วลงมายังมหาชนให้ทราบความที่ตนเป็นสาวก มหาชนเห็นเหตุนั้นแล้ว คิดว่า

 
  ข้อความที่ 13  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้า 230

โอ ธรรมดาพระพุทธเจ้าทั้งหลาย เป็นผู้น่าอัศจรรย์ มีพระคุณไม่ทรามเลย.

พระศาสดาเมื่อตรัสกับมหาชน ตรัสอย่างนี้ว่า "ชัมพุกะนี้ วางสักการะที่พวกท่านนำมาแล้ว ที่ปลายลิ้นด้วยปลายหญ้าคาตลอดกาลประมาณเท่านี้ อยู่ในที่นี้ ด้วยหวังว่า เราบำเพ็ญการประพฤติตบะ ถ้าเธอพึงบำเพ็ญการประพฤติตบะสิ้น ๑๐๐ ปีด้วยอุบายนี้ไซร้ ก็การบำเพ็ญตบะนั้น ยังไม่ถึงเสี้ยวแม้ที่ ๑๖ แห่งกุศลเจตนาเป็นเครื่องตัดภัตของเธอผู้รังเกียจสกุลหรือภัต แล้วไม่บริโภคในบัดนี้" ดังนี้แล้ว เมื่อจะทรงสืบอนุสนธิแสดงธรรม ตรัสพระคาถานี้ว่า.

๑๑. มาเส มาเส กุสคฺเคน พาโล ภุญฺเชถ โภชนํ น โส สงฺขาตธมฺมานํ กลํ อคฺฆติ โสฬสิํ.

"คนพาล พึงบริโภคโภชนะด้วยปลายหญ้าคา ทุกๆ เดือน เขาย่อมไม่ถึงเสี้ยวที่ ๑๖ แห่งท่านผู้มีธรรมอันนับได้แล้ว".

แก้อรรถ

พึงทราบเนื้อความแห่งคาถานั้นว่า.

ถ้าคนพาล คือผู้มีธรรมยังไม่กำหนดรู้ เหินห่างจากคุณมีศีลเป็นต้น บวชในลัทธิเดียรถีย์ บริโภคโภชนะด้วยปลายหญ้าคาทุกๆ เดือน ที่ถึงแล้ว ด้วยหวังว่า เราจักบำเพ็ญการประพฤติตบะ ชื่อว่า พึงบริโภคโภชนะตลอด ๑๐๐ ปี.

ในกึ่งพระคาถาว่า น โส สงฺขาตธมฺมานํ กลํ อคฺฆติ โสฬสิํ

 
  ข้อความที่ 14  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้า 231

แสดงเป็นบุคลาธิษฐานว่า ท่านผู้มีธรรมอันรู้แล้ว คือผู้มีธรรมอันชั่งได้แล้ว เรียกว่าผู้มีธรรมอันนับได้แล้ว บรรดาท่านเหล่านั้น โดยที่สุดมี ณ เบื้องต่ำ พระโสดาบันชื่อว่า ผู้มีธรรมอันนับได้แล้ว โดยที่สุดมี ณ เบื้องสูง พระขีณาสพชื่อว่า ผู้มีธรรมอันนับได้แล้ว ชนพาลนั้น ย่อมไม่ถึงเสี้ยวที่ ๑๖ ของท่านผู้มีธรรมอันนับได้แล้วเหล่านี้.

ส่วนเนื้อความในกึ่งพระคาถานี้ พึงทราบดังนี้.

ก็เจตนาของคนพาลนั้น ผู้บำเพ็ญการประพฤติตบะอย่างนั้น ตลอด ๑๐๐ ปี เป็นไปสิ้นราตรีนานเพียงนั้น ย่อมไม่ถึงเสี้ยวที่ ๑๖ แห่งกุศลเจตนาเครื่องตัดภัตดวงหนึ่งของท่านผู้มีธรรมอันนับได้แล้ว รังเกียจสกุลหรือภัตแล้วไม่บริโภค.

พระศาสดา ตรัสอธิบายไว้ดังนี้ว่า "ผลแห่งส่วนหนึ่งๆ จากส่วนที่ ๑๖ ซึ่งทำผลแห่งเจตนาของท่านผู้มีธรรมอันนับได้แล้วนั้นให้เป็น ๑๖ ส่วนแล้ว ทำส่วนหนึ่งๆ จาก ๑๖ ส่วนนั้น ให้เป็น ๖ ส่วน อีกนั้นแล ยังมากกว่าการประพฤติตบะของชนพาลนั้น".

ในกาลจบเทศนา ธรรมาภิสมัยได้มีแก่สัตว์ ๘ หมื่น ๔ พันแล้ว ดังนี้แล.

เรื่องชัมพุกาชีวก จบ.