[คำที่ ๕๑๘] ตณฺหาสลฺล

 
Sudhipong.U
วันที่  22 ก.ค. 2564
หมายเลข  34765
อ่าน  452

ภาษาบาลี ๑ คำ คติธรรมประจำสัปดาห์ “ตณฺหาสลฺล”

โดย อ.คำปั่น อักษรวิลัย

ตณฺหาสลฺล อ่านตามภาษาบาลีว่า ตัน - หา - สัน - ละ มาจากคำว่า ตณฺหา (ความอยาก ความต้องการ) กับคำว่า สลฺล (ลูกศร, สิ่งที่เสียบแทง, ถอนออกได้ยาก) รวมกันเป็น ตณฺหาสลฺล เขียนเป็นไทยได้ว่า ตัณหาสัลละ หมายถึง ลูกศรคือตัณหา ซึ่งเป็นความอยาก ความต้องการ เป็นคำที่แสดงถึงความเกิดขึ้นเป็นไปของกิเลสประเภทหนึ่ง ซึ่งเป็นเครื่องเศร้าหมองของจิต คือ ตัณหา ความอยากความต้องการ หรือ โลภะ เสียบแทงหรือปักอยู่ในจิตของแต่ละคน เป็นสิ่งที่ถอนออกได้ยาก ทำให้เดือดร้อน เป็นทุกข์ และทำให้ท่องเที่ยววนเวียนไปในสังสารวัฏฏ์อย่างไม่มีที่สิ้นสุด

ข้อความในปรมัตถทีปนี อรรถกถา ขุททกนิกาย เถรคาถา สิริมัณฑเถรคาถา แสดงความเป็นจริงของลูกศรคือตัณหาไว้ดังนี้

“จริงอยู่ ตัณหา ท่านเรียกว่า ลูกศร เพราะให้เกิดการบีบคั้น เพราะทิ่มแทงอยู่ภายใน และ เพราะถอนได้ยาก”


พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงตลอด ๔๕ พรรษา เป็นไปเพื่ออนุเคราะห์เกื้อกูลแก่ผู้ที่ได้ฟัง ได้ศึกษา และมีความเข้าใจไปตามลำดับอย่างแท้จริง พระธรรมทุกคำแสดงถึงสิ่งที่มีจริง โดยละเอียดโดยประการทั้งปวง ถึงที่สุดว่า ไม่ใช่เรา เกิดแล้วดับไม่กลับมาอีกเลย แม้แต่ในเรื่องของกิเลสซึ่งเป็นเครื่องเศร้าหมองของจิตนั้น พระองค์ก็ทรงแสดงไว้มากทีเดียว ทรงแสดงโดยนัยต่างๆ ด้วยข้ออุปมาเปรียบเทียบมากมาย เพื่อให้พุทธบริษัทได้เข้าใจอย่างถูกต้องตรงตามความเป็นจริงว่าเป็นธรรมที่เกิดเพราะเหตุปัจจัย และเพื่อให้เห็นโทษเห็นภัยของกิเลสในชีวิตประจำวัน ไม่ควรเลยที่จะเป็นผู้มากไปด้วยกิเลสต่อไป จะต้องมีความละเอียดที่จะรู้เรื่องของกิเลสที่แต่ละคนมีในวันหนึ่งๆ ที่จะต้องพิจารณาให้ละเอียดจริงๆ ว่า มีกิเลสประเภทไหน และมากอย่างไร โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ตัณหาหรือโลภะ เพราะเหตุว่าขณะใดที่มีการเห็น การได้ยิน การได้กลิ่น การลิ้มรส การรู้สิ่งที่กระทบสัมผัสทางกาย แล้วย่อมแล่นไป เป็นไปด้วยตัณหา ตามอารมณ์ที่ปรากฏ ทำให้เห็นได้ว่า ตัณหาหรือโลภะมากทีเดียวที่เป็นไปตามอารมณ์นั้นๆ

ตัณหา เป็นธรรมที่มีจริงอย่างหนึ่ง แต่เป็นธรรมทางฝ่ายที่เป็นอกุศล ที่ติดข้อง ต้องการ ยินดีพอใจในสิ่งที่ปรากฏ มีหลายระดับขั้นตั้งแต่บางเบา จนกระทั่งมีกำลังถึงขั้นล่วงออกมาเป็นทุจริตกรรมประการต่างๆ เบียดเบียนผู้อื่นให้เดือดร้อน มีการลักขโมยของของผู้อื่น หรือถึงกับทำร้ายผู้อื่นจนถึงแก่ความตาย เพื่อให้ได้มาในสิ่งที่ตนเองต้องการก็มี ก็เพราะความติดข้องเกินประมาณนั่นเอง ตัณหานำมาซึ่งความพินาศเท่านั้น เพราะฉะนั้นเรื่องของตัณหา เป็นเรื่องที่แสนจะละเอียดจริงๆ มีหลายชั้น มีหลายระดับ และที่สำคัญคือ เกิดขึ้นเป็นไปมาก ครั้งแล้วครั้งเล่า ไม่ใช่เฉพาะวันนี้วันเดียว ชาตินี้ชาติเดียว แต่เป็นอย่างนี้มานานแล้วในสังสารวัฏฏ์

ขณะที่ตัณหาเกิดขึ้น ก็เป็นประหนึ่งถูกเสียบแทงด้วยลูกศร ทำให้เดือดร้อน แสวงหา นำมาซึ่งความทุกข์ความเดือดร้อนมากมาย และยากที่จะถอนออกได้ ย่อมไม่เป็นไปเพื่อประโยชน์เลยแม้แต่นิดเดียว มีแต่นำมาซึ่งทุกข์โทษภัยเท่านั้น ตัณหา ตลอดจนถึงอกุศลธรรมทั้งหลายทั้งปวง ไม่สามารถทำให้เข้าใจความจริงของสิ่งที่มีจริงได้เลย

ตามความเป็นจริงแล้ว สำหรับผู้ที่ยังมีกิเลส ทุกครั้งที่เห็น ทุกครั้งที่ได้ยิน เป็นต้น นำมาซึ่งกิเลส เช่น ตัณหา ความอยาก ความติดข้องต้องการ ถูกลูกศรคือกิเลสเสียบแทงแล้ว เพราะไม่รู้ความจริง หวั่นไหวไปด้วยอำนาจของกิเลส มีความกระวนกระวายที่เกิดเพราะความปรารถนาเพราะความอยาก ในขณะนั้นย่อมไม่สงบ เพราะเหตุว่าถ้าสงบจริงๆ ต้องเป็นความสงบจากกิเลส แต่เมื่อต้องการสิ่งหนึ่งสิ่งใดอยู่ ยังเพลิดเพลินพอใจในสิ่งที่ปรากฏอยู่ หรือเดือดร้อนวุ่นวายใจในเรื่องต่างๆ ย่อมแสดงว่าในขณะนั้นไม่สงบ ในเมื่อเป็นอกุศลแล้วจะสงบไม่ได้เลย

สิ่งที่มีจริงทั้งหมดทุกประการ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสรู้และทรงแสดงโดยละเอียดเพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่สัตว์โลกจะได้มีความเข้าใจถูกเห็นถูกตรงตามความเป็นจริง เพราะอาศัยคำจริงแต่ละคำที่พระองค์ทรงแสดง สัตว์โลกจึงได้สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกในสิ่งที่มีจริงตรงตามความเป็นจริง และสิ่งที่มีจริงนั้น มีจริงในชีวิตประจำวันด้วย ไม่ต้องไปแสวงหาสิ่งที่มีจริงที่ไหน แต่ละคำ ไม่ว่าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะตรัสเรื่องอะไร ก็ทรงแสดงถึงสิ่งที่มีจริงในขณะนี้ จนกว่าจะเข้าใจขึ้น นี้คือประโยชน์ของการฟังพระธรรม มีค่าทุกครั้งที่ความเข้าใจเกิดขึ้น

พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ละเอียด ลึกซึ้งอย่างยิ่ง เพราะทรงแสดงลักษณะของสภาพธรรมทั้งหลายที่ทรงตรัสรู้ โดยทรงประจักษ์แจ้งตามความเป็นจริงของสภาพธรรมนั้นๆ ถ้าผู้ใดไม่ศึกษาพระธรรมที่ทรงแสดงไว้โดยละเอียด ให้เข้าใจอย่างถูกต้องแล้ว ก็ย่อมไม่สามารถอบรมเจริญปัญญา ที่จะประจักษ์แจ้งลักษณะของสภาพธรรมและไม่สามารถดับกิเลสได้ เมื่อไม่สามารถดับกิเลสได้ ก็ย่อมจะถูกลูกศรคือตัณหา เป็นต้น เสียบแทงจิตใจอยู่ตลอดเวลา อยู่ไม่ผาสุก เป็นผู้ที่ยังเต็มไปด้วยความสกปรก และยังจะสะสมสืบต่อไปอีกเรื่อยๆ ทำให้จมอยู่ในสังสารวัฏฏ์ อย่างไม่มีวันจบสิ้น

สำหรับบุคคลผู้ได้ฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ถึงแม้ว่าตนเองจะยังมีตัณหาอยู่ก็ตาม เมื่อฟังบ่อยๆ เนืองๆ ย่อมจะมีความรู้ความเข้าใจถึงโทษภัยของตัณหา สามารถค่อยๆ อบรมเจริญปัญญารู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริงได้ สามารถรู้ลักษณะของตัณหาว่าเป็นเพียงสภาพธรรมที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย ไม่ใช่สัตว์บุคคลตัวตน และปัญญานี้เองเป็นธรรมที่จะดับตัณหาได้ การที่ปัญญาจะเจริญขึ้นได้นั้น ก็ต้องอาศัยการฟังพระธรรมศึกษาพระธรรม ด้วยความเคารพอย่างยิ่ง ค่อยๆ สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกไปตามลำดับ อดทน จริงใจ ตั้งใจมั่นที่จะฟังที่จะศึกษาต่อไปด้วยความไม่ท้อถอย ไม่ขาดการฟังพระธรรมเป็นปกติในชีวิตประจำวัน ให้เวลากับสิ่งที่มีค่าที่สุดในสังสารวัฏฏ์ที่น้อยคนจะได้ฟัง คุ้มค่าแล้วที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์และมีโอกาสได้ฟังพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง สะสมเป็นที่พึ่งต่อไป


อ่านคำอื่นๆ คลิกที่นี่ ... บาลี ๑ คำ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
chatchai.k
วันที่ 22 ก.ค. 2564

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
petsin.90
วันที่ 22 ก.ค. 2564

กราบขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
pulit
วันที่ 23 ก.ค. 2564

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ