[คำที่ ๕๒๑] เทฺว สงฺคหา

 
Sudhipong.U
วันที่  12 ส.ค. 2564
หมายเลข  35387
อ่าน  514

ภาษาบาลี ๑ คำ คติธรรมประจำสัปดาห์ “เทฺว สงฺคหา

โดย อ.คำปั่น อักษรวิลัย

เทฺว สงฺคหา อ่านตามภาษาบาลีว่า ทะ - เว - สัง - คะ - หา คำว่า เทฺว หมายถึง สอง (๒) คำว่า สงฺคหา หมายถึง การสงเคราะห์ แปลรวมกันเป็น การสงเคราะห์ ๒ อย่าง ซึ่งเป็นการสงเคราะห์หรือช่วยเหลือเกื้อกูลผู้อื่นด้วยอามิสคือวัตถุสิ่งของ และ การสงเคราะห์ด้วยพระธรรม เกื้อกูลให้ผู้อื่นได้เกิดความเข้าใจถูกเห็นถูกตามพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงแสดงไว้ดีแล้ว แสดงถึงสภาพจิตที่ดีงามที่เกิดขึ้นเป็นไปในขณะนั้น ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน

ในพระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทุกนิบาต ได้แสดงความเป็นจริงของการสงเคราะห์ ๒ อย่าง ดังนี้

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย การสงเคราะห์ ๒ อย่างนี้ ๒ อย่างเป็นไฉน? คือ การสงเคราะห์ด้วยอามิส ๑ การสงเคราะห์ด้วยธรรม ๑ ดูกร ภิกษุทั้งหลาย การสงเคราะห์ ๒ อย่างนี้แล ดูกร ภิกษุทั้งหลาย บรรดาการสงเคราะห์ ๒ อย่างนี้ การสงเคราะห์ด้วยธรรม เป็นเลิศ

ในมโนรถปูรณี อรรถกถา อังคุตตรนิกาย ทุกนิบาต มีคำอธิบายการสงเคราะห์ ๒ อย่าง ดังนี้

การสงเคราะห์ด้วยปัจจัย (สิ่งที่เป็นที่อาศัยทำให้ชีวิตเป็นไปได้) (เครื่องนุ่งห่ม อาหาร ที่อยู่อาศัย และยารักษาโรค) ชื่อว่า อามิสสงเคราะห์ การสงเคราะห์ด้วยธรรม ชื่อว่า ธรรมสงเคราะห์


พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง เป็นไปเพื่อความเจริญขึ้นของปัญญาและกุศลธรรมทั้งหลายอย่างแท้จริง ในชีวิตประจำวันควรอย่างยิ่งที่จะได้เจริญกุศลทุกประการ โดยไม่มีเว้น เพราะเหตุว่าถ้ากุศลจิตไม่เกิดแล้ว จิตก็เป็นอกุศล เป็นไปด้วยอำนาจของกิเลส ทั้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย และทางใจ ซึ่งเป็นโทษกับตนเองโดยส่วนเดียว อกุศลธรรมทั้งหมดนั้นเป็นสิ่งที่จะต้องละ เป็นสิ่งที่จะต้องดับให้หมดสิ้น ควรที่จะได้พิจารณาว่าบุคคลผู้ที่ควรแก่การรับวัตถุทานหรือควรแก่การรับวัตถุสิ่งของนั้น มีมากทีเดียว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในคราวที่เกิดภัยพิบัติ เกิดโรคระบาดต่างๆ ซึ่งมีผู้คนเดือดร้อนเป็นจำนวนมาก ในชาติหนึ่งๆ ถ้าทานกุศลไม่เกิด ไม่มีการเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ไม่มีกุศลจิตแม้ในขั้นทาน ไม่มีการสงเคราะห์ผู้อื่นด้วยวัตถุสิ่งของเลย แล้วจะดำเนินไปถึงการดับกิเลสได้อย่างไร ทุกคนที่เกิดมาในโลกนี้ กำลังเดินทางในสังสารวัฏฏ์ และจะเดินทางไปเรื่อยๆ ตราบใดที่ยังไม่มีปัญญาคมกล้าถึงขั้นที่จะดับกิเลสทั้งปวงได้อย่างหมดสิ้นถึงความเป็นพระอรหันต์ คนที่เดินทางร่วมกันในสังสารวัฏฏ์ เมื่อมีวัตถุสิ่งของที่พอจะเกื้อกูลแบ่งปันให้แก่กันและกันได้ ก็ควรให้ เป็นการสงเคราะห์ช่วยเหลือด้วยสิ่งที่จะทำให้ชีวิตดำเนินต่อไปได้ด้วยความไม่เดือดร้อน

คนที่ตายแล้ว เมื่อข้าวและน้ำเป็นต้นมากมาย ที่พวกญาตินำมาตั้งแวดล้อมไว้ คนตายนั้น ก็จะลุกขึ้นมาทำการจำแนกว่า “อันนี้จงเป็นของผู้นี้ อันนี้จงเป็นของผู้นี้” ไม่ได้ ฉันใด คนผู้มีปกติ ไม่ให้ ก็ฉันนั้น ซึ่งแสดงให้เห็นตามความเป็นจริงว่า โภคทรัพย์ของคนตาย กับ โภคทรัพย์ของคนผู้มีปกติไม่ให้ ชื่อว่า เป็นของเสมอกัน บุคคลใดก็ตามที่มีโภคทรัพย์ มีวัตถุสิ่งของ แต่ไม่ได้แจก ไม่ได้แบ่งปันให้ใครในขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ ก็เหมือนคนที่ตายแล้ว ถึงแม้ว่าญาติพี่น้องจะเอาทรัพย์สมบัติวัตถุสิ่งของไปแวดล้อมวางไว้ใกล้ชิดสักเท่าไร ก็ไม่สามารถที่จะลุกขึ้นมาจำแนกแจกให้กับผู้อื่นได้เลย ซึ่งควรค่าแก่การพิจารณาเป็นอย่างยิ่งที่จะไม่ควรประมาทในการเจริญกุศลทุกประการ แม้แต่ในขั้นของทาน การสงเคราะห์ผู้อื่นด้วยวัตถุสิ่งของ ก็ไม่ควรที่จะละเลยเช่นเดียวกัน เพื่อกำจัดอกุศลธรรมของตนเอง และเพื่อประโยชน์สุขแก่ผู้อื่นอีกด้วย

สำหรับการสงเคราะห์หรือการเกื้อกูลที่ประเสริฐ คือ การสงเคราะห์ด้วยพระธรรม (ธรรมสงเคราะห์) เป็นการเกื้อกูลให้บุคคลอื่นได้เข้าใจพระธรรมคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งจะเป็นประโยชน์แก่ผู้ที่ได้รับการเกื้อกูลทั้งในชาตินี้และสะสมเป็นที่พึ่งในชาติต่อๆ ไปด้วย

บุคคลผู้ที่เข้าใจพระธรรม เห็นประโยชน์ของพระธรรม ก็กล่าวพระธรรม แสดงพระธรรมตามที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง เพื่อประโยชน์แก่ผู้อื่น เป็นการสงเคราะห์ด้วยพระธรรม ซึ่งเป็นการให้ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องตามพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ถ้าหากจะพิจารณาตามความเป็นจริงแล้ว การสงเคราะห์ด้วยพระธรรม เป็นการสละความเห็นแก่ตัวขั้นสูงทีเดียว เพราะเหตุว่ากุศลทั้งหลายจะเจริญขึ้นได้ก็เพราะมีการเกื้อกูลกันด้วยพระธรรม แม้ว่าจะมีวัตถุทานมากสักเท่าใด ก็ไม่พอที่จะเกื้อกูลคนที่ลำบากยากไร้ที่ควรแก่การที่จะรับวัตถุทานในสังสารวัฏฏ์ ทั้งในปัจจุบัน ทั้งในอนาคตได้ การสงเคราะห์ช่วยเหลือบุคคลอื่น ด้วยอามิสทานหรือวัตถุทาน ก็เป็นเพียงการช่วยเหลือสงเคราะห์ให้เขาอยู่ต่อไปในสังสารวัฏฏ์ ซึ่งยังไม่พ้นจากความลำบากยากไร้ได้โดยเด็ดขาด เพราะฉะนั้น การเกื้อกูลกันด้วยพระธรรม จึงเป็นการสละความเห็นแก่ตัว สละความยึดมั่นในตัวตน โดยบำเพ็ญประโยชน์ขั้นสูงสุดเพื่อประโยชน์แก่ผู้อื่น

บุคคลผู้ที่จะเกื้อกูลผู้อื่นในทางธรรม ต้องเป็นผู้ที่ศึกษาพระธรรม พิจารณาพระธรรม เข้าใจพระธรรม จึงเผยแพร่พระธรรมตามที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ตามกำลังปัญญาของตน การช่วยเหลือบุคคลอื่นให้เข้าใจพระธรรม โดยทางหนึ่งทางใด ไม่ว่าจะเป็นโดยการสนทนาธรรม ถามตอบปัญหาธรรม ตลอดจนถึงการสงเคราะห์ช่วยเหลือในเรื่องที่จะเป็นไปเพื่อความเข้าใจพระธรรมโดยตลอด ก็เป็นการสงเคราะห์ด้วยพระธรรม ทั้งหมด

การฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม ไม่มีวันจบ กิจที่จะพึงกระทำก็ไม่มีวันจบ จนกว่าจะถึงความเป็นพระอรหันต์ จึงเป็นเรื่องที่แต่ละคนจะได้พิจารณาจริงๆ ว่า จะต้องมีความอดทน มั่นคง และจริงใจที่จะเจริญกุศลทุกประการ ไม่ประมาทในชีวิตอันมีประมาณน้อยนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คือ การอบรมเจริญปัญญา จากการฟังพระธรรมศึกษาพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงแสดงไว้ดีแล้ว ซึ่งจะเกื้อกูลให้คุณความดีทั้งหลายเจริญขึ้นในชีวิตประจำวัน เป็นไปเพื่อขัดเกลากิเลสของตนเองอย่างแท้จริง


อ่านคำอื่นๆ คลิกที่นี่ ... บาลี ๑ คำ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
chatchai.k
วันที่ 12 ส.ค. 2564

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
เมตตา
วันที่ 12 ส.ค. 2564

ขอบพระคุณ และยินดีในกุศล ด้วยค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
petsin.90
วันที่ 13 ส.ค. 2564

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
มกร
วันที่ 14 ส.ค. 2564

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ