พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๙. โปฏฐปาทสูตร เรื่อง ของปริพาชกโปฏฐปาทะ

 
บ้านธัมมะ
วันที่  14 ก.ค. 2564
หมายเลข  34624
อ่าน  1,248
  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 14 ก.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 155

๙. โปฏฐปาทสูตร

เรื่อง ของปริพาชกโปฏฐปาทะ

[๒๗๕] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้.

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้า ประทับอยู่พระเชตวัน อารามท่านอนาถปิณฑิกะ กรุงสาวัตถี สมัยนั้น โปฏฐปาทปริพาชก อาศัยอยู่ในสถานที่ สําหรับโต้ตอบลัทธิ แถวป่าไม้มะพลับ มีศาลาที่พักหลังเดียว เป็นอารามของพระนางมัลลิกา พร้อมด้วยปริพาชกบริษัทหมู่ใหญ่ประมาณ ๓,๐๐๐ ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงครองอันตรวาสก ในเวลาเช้าทรงถือบาตร และจีวรเสด็จ เข้าไปบิณฑบาตในกรุงสาวัตถี ได้ทรงดําริว่า จะเที่ยวไปบิณฑบาตในกรุงสาวัตถี ยังเช้านัก ถ้ากระไร เราเข้าไปหาโปฏฐปาทปริพาชก ณ สถานที่ โต้ตอบลัทธิ แถวป่าไม้มะพลับ มีศาลาที่พักหลังเดียว เป็นอารามของพระนางมัลลิกา แล้วจึงเสด็จเข้าไป ณ ที่นั้น.

[๒๗๖] สมัยนั้น โปฏฐปาทปริพาชก นั่งอยู่กับปริพาชกบริษัทหมู่ใหญ่ กล่าวดิรัจฉานกถาต่างๆ ด้วยเสียงอันดังลั่น คือ พูดถึงพระเจ้าแผ่นดิน พูดถึงโจร พูดถึงมหาอํามาตย์ พูดถึงกองทัพ พูดถึงภัย พูดถึงการรบ พูดถึงข้าว พูดถึงน้ำ พูดถึงผ้า พูดถึงที่นอน พูดถึงดอกไม้ พูดถึงของหอม พูดถึงญาติ พูดถึงยานพาหนะ พูดถึงบ้าน พูดถึงนิคม พูดถึงเมือง พูดถึงชนบท พูดถึงสตรี พูดถึงบุรุษ พูดถึงคนกล้าหาญ พูดถึงตรอก พูดถึงท่าน้ำ พูดถึงคนที่ตายแล้ว พูดถึงความเป็นต่างๆ พูดถึงโลก พูดถึงทะเล พูดถึงความเจริญ และความเสื่อมเพราะเหตุนี้ โปฏฐปาทปริพาชก ได้เห็นพระผู้มีพระภาคเจ้า เสด็จมาแต่ไกลจึงได้ห้ามบริษัทของตนว่า เสียงเบาๆ หน่อย พวกท่านอย่าได้ทําเสียงดังนัก พระสมณโคดม

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 19 ก.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 156

กําลังเสด็จมา ท่านโปรดเสียงเบา กล่าวชมเสียงเบา ถ้าไฉนท่านทราบว่าบริษัทมีเสียงเบา บางทีก็จะเสด็จเข้ามา. เมื่อโปฏฐปาทปริพาชกกล่าวอย่างนี้แล้ว พวกปริพาชกเหล่านั้น ได้พากันนิ่ง.

    [๒๗๗] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า ได้เสด็จเข้าไปหา โปฏฐปาทปริพาชก แล้ว เขาได้ทูลเชื้อเชิญพระองค์ว่า เสด็จมาเถิด พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้เจริญ พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จมาดีแล้ว นานจริงหนอ พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงได้เสด็จมาถึงที่นี้ เชิญประทับนั่งเถิด พระเจ้าข้า นี่อาสนะได้แต่งไว้แล้ว. พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับนั่งบนอาสนะ ที่เขาแต่งไว้แล้ว. ฝ่ายโปฏฐปาทปริพาชกถือเอาอาสนะต่ํา นั่งลงทางข้างหนึ่ง. พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสถามเขาว่า โปฏฐปาทะ ในขณะที่เราจะมาถึงนี้ พวกท่านประชุมสนทนากัน ด้วยเรื่องอะไรหนอ ก็แลกถาอะไร ที่พวกท่านสนทนากันค้างไว้ก่อน แต่เรามาถึง.

    [๒๗๘] เมื่อพระองค์รับสั่งแล้วอย่างนี้ โปฏฐปาทปริพาชกได้ทูลว่า กถาที่พวกข้าพระองค์นั่งสนทนากัน ในขณะที่พระองค์จะเสด็จมาถึงนี้ งดเสียเถิดกถานี้ จะทรงสดับภายหลังก็ได้ไม่ยาก พระเจ้าข้า. วันก่อนๆ สมณพราหมณ์เดียรถีย์ต่างๆ นั่งประชุมกัน ในโกตุหลศาลา ได้พากันเจรจา ในอภิสัญญานิโรธว่า ท่านผู้เจริญ อภิสัญญานิโรธเป็นไฉน ดังนี้. ในชุมนุมนั้น บางพวกกล่าวอย่างนี้ว่า สัญญาของคนไม่มีเหตุ ไม่มีปัจจัย เกิดเอง ดับเอง เกิดในสมัยใด สัตว์ก็มีสัญญาในสมัยนั้น ดับในสมัยใด สัตว์ก็ไม่มีสัญญาในสมัยนั้น พวกหนึ่งบัญญัติอภิสัญญานิโรธ ด้วยประการอย่างนี้. เจ้าลัทธิอื่นกล่าวกะเขาว่า ท่านผู้เจริญ ข้อนี้ จักเป็นเช่นนั้นก็หามิได้ เพราะว่าสัญญาเป็นอัตตาของคน ก็แลอัตตานั้น มาสู่บ้างไปปราศบ้าง มาสู่ในสมัยใด สัตว์ก็มีสัญญาในสมัยนั้น ไปปราศในสมัยใด สัตว์ก็ไม่มีสัญญาในสมัยนั้น พวก

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 19 ก.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 157

หนึ่งบัญญัติอภิสัญญานิโรธ ด้วยประการอย่างนี้.

    เจ้าลัทธิอื่นกล่าวกะเขาว่า ท่านผู้เจริญ ก็ข้อนี้จักเป็นเช่นนั้นหามิได้ เพราะว่าสมณพราหมณ์ที่มีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมาก มีอยู่ ท่านเหล่านั้น สวมใส่บ้าง พรากออกบ้าง ซึ่งสัญญาของคนนี้ สวมใส่ในสมัยใด สัตว์ก็มีสัญญาในสมัยนั้น พรากออกในสมัยใด สัตว์ก็ไม่มีสัญญาในสมัยนั้น พวกหนึ่งบัญญัติอภิสัญญานิโรธ ด้วยประการอย่างนี้. เจ้าลัทธิอื่นกล่าวกะเขาว่า ท่านผู้เจริญ ก็ข้อนี้จักเป็นเช่นนั้น หามิได้ เพราะว่าทวยเทพที่มีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมาก มีอยู่ ทวยเทพเหล่านั้น สวมใส่บ้าง พรากออกบ้าง ซึ่งสัญญาของคนนี้ สวมใส่ในสมัยใด สัตว์ก็มีสัญญาในสมัยนั้น พรากออกในสมัยใด สัตว์ไม่มีสัญญาในสมัยนั้น พวกหนึ่งบัญญัติอภิสัญญานิโรธ ด้วยประการอย่างนี้. สติของข้าพระองค์เกิดปรารภ พระผู้มีพระภาคเจ้าว่า น่าเลื่อมใสจริงหนอ พระสุคตที่ทรงฉลาดในธรรมเหล่านี้ เป็นอย่างดี พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเป็นผู้ฉลาด ทรงรู้ช่ําชองซึ่งอภิสัญญานิโรธ ก็อภิสัญญานิโรธเป็นไฉนพระเจ้าข้า.

    [๒๗๙] พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า โปฏฐปาทะ ในสมณพราหมณ์เหล่านั้น พวกที่กล่าวว่า สัญญาของคน ไม่มีเหตุ ไม่มีปัจจัย เกิดเองดับเอง ความเห็นของพวกนั้น ผิดแต่ต้นทีเดียว. เพราะเหตุไร. เพราะว่าสัญญาของคน มีเหตุ มีปัจจัย ทั้งเกิด ทั้งดับ สัญญาบางอย่างเกิดขึ้น เพราะการศึกษาก็มี บางอย่างดับไปก็มี ก็สิกขาเป็นอย่างไร. โปฏฐปาทะ พระตถาคตอุบัติขึ้นในโลกนี้ เป็นพระอรหันต์ตรัสรู้เองโดยชอบ ฯลฯ

    พ. โปฏฐปาทะภิกษุถึงพร้อมด้วยศีลอย่างนี้แล มีทวารอันรักษาแล้วในอินทรีย์ทั้งหลายประกอบด้วยสติสัมปชัญญะ เป็นผู้สันโดษ. เมื่อภิกษุนั้นละนิวรณ์ ๕ เหล่านี้แล้ว ตามเห็นในตน ปราโมทย์ย่อมเกิด เมื่อปราโมทย์แล้ว ปิติย่อมเกิด

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 19 ก.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 158

กายของผู้มีใจเปียมด้วยปีติย่อมสงบ มีกายสงบย่อมเสวยสุข จิตของผู้มีสุขย่อมตั้งมั่น. เธอสงัดแล้วเทียว จากกามทั้งหลาย จากอกุศลธรรมทั้งหลาย เข้าถึงปฐมฌาน มีวิตก วิจาร ปีติและสุข อันเกิดแต่วิเวกอยู่. สัญญาเกี่ยวด้วยกามมีในก่อนย่อมดับไป สัญญาในสัจจะอันละเอียด มีปีติและสุขอันเกิดแต่วิเวก ย่อมมีในสมัยนั้น. เธอเป็นผู้มีสัญญาในสัจจะอันละเอียด มีปีติและสุขอันเกิดแต่วิเวก ในสมัยนั้น สัญญาบางอย่างในสิกขาย่อมเกิด บางอย่างย่อมดับ แม้ด้วยประการฉะนี้ แม้นี้ก็เป็นสิกขาอย่างหนึ่ง (คือ ปฐมฌาน) .

    [๒๘๐] อีกข้อหนึ่ง ภิกษุเข้าถึงทุติยฌาน อันยังจิตให้ผ่องใสภายในตน ยังความเป็นธรรมเอกผุดขึ้น แห่งจิตให้เกิด (ยังสมาธิจิตให้เจริญขึ้น) ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร เพราะวิตกและวิจารสงบ มีปีติและสุขอันเกิดแต่สมาธิอยู่. สัญญาในสัจจะอันละเอียด มีปีติและสุขเกิดแต่วิเวก อันมีในก่อนของเธอย่อมดับ. สัญญาในสัจจะอันละเอียด มีปีติและสุขอันเกิดแต่สมาธิ ย่อมมีในสมัยนั้น. เธอเป็นผู้มีสัญญาในสัจจะอันละเอียด มีปีติและสุขอันเกิดแต่สมาธิในสมัยนั้น สัญญาบางอย่างในสิกขาย่อมเกิด บางอย่างย่อมดับ ด้วยประการฉะนี้ แม้นี้ก็เป็นสิกขาอย่างหนึ่ง (คือ ทุติยฌาน) .

    [๒๘๑] อีกข้อหนึ่ง ภิกษุเข้าถึงตติยฌาน เพราะคลายปีติ ประกอบด้วยอุเบกขาอยู่ มีสติสัมปชัญญะและเสวยสุข ด้วยนามกาย ที่พระอริยเจ้าทั้งหลายสรรเสริญ ผู้ได้ฌานนั้นว่า เป็นผู้อุเบกขา มีสติอยู่เป็นสุข ดังนี้แล้ว แลอยู่. สัญญาในสัจจะอันละเอียด ประกอบด้วยปีติและสุขเกิดแต่สมาธิ มีในก่อนของเธอ ย่อมดับ. สัญญาในสัจจะอันละเอียด ประกอบด้วยสุขอันเกิดแต่อุเบกขา ย่อมมีในสมัยนั้น. เธอเป็นผู้มีสัญญาในสัจจะอันละเอียด ประกอบด้วยสุขอันเกิดแต่อุเบกขา ในสมัยนั้น. สัญญาบางอย่างในสิกขา ย่อมเกิด บางอย่างย่อมดับ ด้วยประการฉะนี้. แม้นี้ก็เป็นสิกขาอย่างหนึ่ง (คือ ตติยฌาน) .

 
  ข้อความที่ 5  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 19 ก.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 159

    [๒๘๒] อีกข้อหนึ่ง ภิกษุเข้าถึงจตุตถฌาน อันไม่มีทุกข์ ไม่มีสุข เพราะละสุขและเพราะละทุกข์ เพราะดับโสมนัสและโทมนัส ในกาลก่อนเสีย มีความที่แห่งสติเป็นธรรมชาติบริสุทธิ์ เพราะอุเบกขาแล้วแลอยู่. สัญญาในสัจจะอันละเอียด ประกอบด้วยสุขอันเกิดแต่อุเบกขา มีในก่อนย่อมดับ. สัญญาในสัจจะอันละเอียดอันไม่มีทุกข์ ไม่มีสุข ย่อมมีในสมัยนั้น. เธอเป็นผู้มีสัญญาในสัจจะอันละเอียด อันไม่มีทุกข์ไม่มีสุข ในสมัยนั้น. สัญญาบางอย่างในสิกขาย่อมเกิด บางอย่างย่อมดับ ด้วยประการฉะนี้. แม้นี้ก็เป็นสิกขาอย่างหนึ่ง (คือ จตุตถฌาน) .

    [๒๘๓] อีกข้อหนึ่ง ภิกษุเข้าถึงอากาสานัญจายตนะว่า อากาศไม่มีที่สุด ดังนี้ เพราะความก้าวล่วงรูปสัญญาโดยประการทั้งปวง เพราะดับปฏิฆสัญญา เพราะไม่ทําไว้ในใจซึ่งสัญญาโดยประการต่างๆ แล้วแลอยู่. รูปสัญญามีในก่อนของเธอย่อมดับไป สัญญาในสัจจะอันละเอียด ประกอบด้วยอากาสานัญจายตนะ ย่อมมีในสมัยนั้น. เธอเป็นผู้มีสัญญาในสัจจะอันละเอียด ประกอบด้วยอากาสานัญจายตนะ ในสมัยนั้น. สัญญาบางอย่างในสิกขาย่อมเกิด บางอย่างย่อมดับ ด้วยประการฉะนี้. แม้นี้ก็เป็นสิกขาอย่างหนึ่ง (คือ อากาสานัญจายตนะ) .

    [๒๘๔] อีกข้อหนึ่ง ภิกษุเข้าถึงวิญญาณัญจายตนะว่า วิญญาณไม่มีที่สุด ดังนี้ เพราะก้าวล่วงอากาสานัญจายตนะ โดยประการทั้งปวงแล้วแลอยู่. สัญญาในสัจจะอันละเอียดประกอบด้วยอากาสานัญจายตนะ มีในก่อนของเธอย่อมดับไป. สัญญาในสัจจะอันละเอียด ประกอบด้วยวิญญาณัญจายตนะ ย่อมมีในสมัยนั้น. เธอเป็นผู้มีสัญญาในสัจจะอันละเอียด ประกอบด้วยวิญญาณัญจายตนะ ในสมัยนั้น. สัญญาบางอย่างในสิกขาย่อมเกิด บางอย่างย่อมดับ ด้วยประการฉะนี้. แม้นี้ก็เป็นสิกขาอย่างหนึ่ง (คือ วิญญาณัญจายตนะ) .

 
  ข้อความที่ 6  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 19 ก.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 160

[๒๘๕] อีกข้อหนึ่ง ภิกษุเข้าถึงอากิญจัญญายตนะว่า อะไรๆ น้อยหนึ่งไม่มี ดังนี้ เพราะก้าวล่วงวิญญาณัญจายตนะ โดยประการทั้งปวง แล้วแลอยู่. สัญญาในสัจจะอันละเอียดประกอบด้วยวิญญาณัญจายตนะ มีในก่อนของเธอย่อมดับไป. สัญญาในสัจจะอันละเอียดประกอบด้วยอากิญจัญญายตนะ ย่อมมีในสมัยนั้น. เธอเป็นผู้มีสัญญาในสัจจะอันละเอียดประกอบด้วยอากิญจัญญายตนะ ในสมัยนั้น. สัญญาบางอย่างในสิกขาย่อมเกิด บางอย่างย่อมดับด้วยประการ ฉะนี้. แม้นี้ก็เป็นสิกขาอย่างหนึ่ง (คือ อากิญจัญญายตนะ).

[๒๘๖] โปฏฐปาทะ ภิกษุในพระศาสนานี้ มีสกสัญญา (มีความสําคัญ ด้วยสัญญาในฌานของตน) คือ ออกจากปฐมฌานนั้นแล้ว มีสัญญาในทุติยฌานโน้น ออกจากทุติยฌานนั้นแล้ว มีสัญญาในตติยฌานโน้น โดยลําดับไป ถึงยอดสัญญา อากิญจัญญายตนะ (๑) เมื่อเธอตั้งอยู่ในยอดสัญญา มีความคํานึงอย่างนี้ว่า เมื่อเราจํานงอยู่ไม่ดีเลย เมื่อไม่จํานงอยู่ดีกว่า ถ้าแลว่าเราพึงจํานง พึงมุ่งหวัง อากิญจัญญายตนสัญญานี้ ของเราพึงดับ และสัญญาหยาบอย่างอื่น (ภวังคสัญญา) พึงเกิดขึ้น มิฉะนั้น เราไม่ควรจํานงไม่ควรมุ่งหวัง. จึงไม่จํานงด้วย ทั้งไม่มุ่งหวังด้วย เมื่อไม่จํานง ไม่มุ่งหวังอยู่ อากิญจัญญายตนสัญญานั้นย่อมดับด้วย ทั้งสัญญาหยาบอย่างอื่น ย่อมไม่เกิดขึ้นด้วย เธอย่อมถึงสัญญานิโรธ ฉันใด สัญญานิโรธสมาบัติของภิกษุ ผู้มีสัมปชัญญะโดยลําดับ ย่อมมีฉันนั้นแล.

พ. ท่านสําคัญความข้อนั้น เป็นไฉน สัญญานิโรธสมาบัติของภิกษุ ผู้มีสัมปชัญญะโดยลําดับ เช่นนี้ ท่านเคยฟังมาแล้ว ในกาลก่อนแต่กาลนี้ บ้างหรือ.


(๑) อากิญจัญญายตนะ ชื่อว่า ยอดสัญญา เพราะเป็นองค์ที่สุดแห่งสมาบัติ ที่มีหน้าทํากิจอันเป็นโลกีย์ พระโยคีตั้งอยู่ ในอากิญจัญญายตนสมาบัติแล้ว ย่อมเข้าถึงเนวสัญญานาสัญญายตนสมาบัติบ้าง นิโรธสมาบัติบ้าง. อรรกถาทีฆนิกาย สีลขันธวรรค หน้า ๔๒๔.

 
  ข้อความที่ 7  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 19 ก.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 161

    ป. หามิได้ พระเจ้าข้า ข้าพระพุทธเจ้ารู้ทั่วถึงธรรม ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงแล้ว ด้วยอาการอย่างนี้แล.

    พ. เพราะเหตุที่ภิกษุ มีสกสัญญา คือออกจากปฐมฌานนั้นแล้ว มีสัญญาในทุติยฌานโน้น ออกจากทุติยฌานนั้นแล้ว มีสัญญาในตติยฌานโน้น โดยลําดับไปถึงยอดสัญญา เมื่อเธอตั้งอยู่ในยอดสัญญา มีความคํานึงอย่างนี้ว่า เมื่อเราจํานงอยู่ไม่ดีเลย เมื่อไม่จํานงอยู่ ดีกว่า ถ้าแลว่าเราพึงจํานง พึงมุ่งหวัง อากิญจัญญายตนสัญญานี้ ของเราพึงดับ และสัญญาหยาบอย่างอื่น พึงเกิดขึ้น มิฉะนั้นเราไม่ควรจํานงไม่ควรมุ่งหวัง จึงไม่จํานงด้วย ทั้งไม่มุ่งหวังด้วย เมื่อไม่จํานงอยู่ ไม่มุ่งหวังอยู่ อากิญจัญญายตนสัญญานั้น ย่อมดับด้วยทั้งสัญญาหยาบอย่างอื่นย่อมไม่เกิดขึ้นด้วย เธอย่อมถึงสัญญานิโรธ. สัญญานิโรธสมาบัติของภิกษุผู้มีสัมปชัญญะโดยลําดับ ย่อมมีอย่างนี้แล.

    [๒๘๗] พ. ท่านจงรับไว้ด้วยดี อย่างนี้เถิด.

    ป. พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงบัญญัติ ยอดสัญญาอย่างเดียวเท่านั้น หรือว่าทรงบัญญัติยอดสัญญาเป็นอันมาก พระเจ้าข้า.

    พ. เราบัญญัติ ยอดสัญญาอย่างเดียวก็มี มากก็มี.

    ป. พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงบัญญัติ ยอดสัญญาอย่างเดียว ก็มีนั้นอย่างไร ที่ว่ามากก็มีนั้นอย่างไร พระเจ้าข้า.

    พ. ภิกษุถึงสัญญานิโรธฉันใดๆ เราบัญญัติยอดสัญญาฉันนั้นๆ เราบัญญัติยอดสัญญาอย่างเดียวก็มี มากก็มี อย่างนี้แล.

    [๒๘๘] ป. พระเจ้าข้า สัญญาเกิดก่อน ญาณเกิดทีหลัง หรือว่าทั้งสัญญาทั้งญาณ เกิดไม่ก่อน ไม่หลังกัน.

    พ. สัญญาแลเกิดก่อน ญาณเกิดทีหลัง ก็เพราะสัญญาเกิดขึ้น ญาณ

 
  ข้อความที่ 8  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 19 ก.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 162

จึงเกิดขึ้นได้ เขารู้อยู่นี้ว่า ญาณได้เกิดขึ้นแล้วแก่เรา เพราะสัญญานี้เป็นปัจจัย. ท่านพึงทราบความข้อนั้น โดยปริยายเช่นดังว่า สัญญาเกิดก่อน ญาณเกิดทีหลัง ก็เพราะสัญญาเกิดขึ้น ญาณจึงเกิดขึ้นได้.

    [๒๘๙] ป. สัญญาเป็นตนของบุรุษ หรือว่า สัญญาอย่างหนึ่ง ตนอย่างหนึ่ง พระเจ้าข้า.

    พ. ท่านปรารถนาตนอย่างไร.

    ป. ข้าพระเจ้าปรารถนาตนที่หยาบ คือ มีรูป เป็นที่ประชุมแห่งมหาภูตรูป ๔ มีกวฬิงการาหารเป็นภักษา.

    พ. ก็ตนของท่านหยาบ คือ มีรูปเป็นที่ประชุมมหาภูตรูป ๔ มีกวฬิงการาหารเป็นภักษา จักมีแล้ว. เมื่อเป็นเช่นนี้ สัญญาของท่านจักเป็นอย่างหนึ่ง ตนจักเป็นอย่างหนึ่ง. ท่านพึงทราบความข้อนั้น แม้โดยปริยายเช่นดังว่า สัญญาจักเป็นอย่างหนึ่งต่างหาก ตนก็จักเป็นอย่างหนึ่ง. ตนนั้นหยาบ คือ มีรูปเป็นที่ประชุมแห่งมหาภูตรูป ๔ มีกวฬิงการาหารเป็นภักษา ย่อมตั้งอยู่เทียว เมื่อเป็นเช่นนี้ สัญญาของบุรุษนี้ อย่างหนึ่งต่างหากเกิดขึ้น อย่างหนึ่งต่างหากดับไป ท่านพึงทราบความข้อนั้น โดยปริยายเช่นดังว่า สัญญาจักเป็นอย่างหนึ่งต่างหาก ตนก็จักเป็นอย่างหนึ่ง ดังนี้.

    [๒๙๐] ป. ข้าพระเจ้าปรารถนาตนอันสําเร็จด้วยใจ คือ มีอวัยวะน้อยใหญ่ครบทุกอย่างมีอินทรีย์ไม่เสื่อมทราม.

    พ. ตนของท่านก็สําเร็จด้วยใจ คือ มีอวัยวะน้อยใหญ่ครบทุกอย่าง มีอินทรีย์ไม่เสื่อมทราม จักมีแล้ว แม้เมื่อเป็นเช่นนั้น สัญญาของท่านจักเป็นอย่างหนึ่ง และตนของท่านก็จักเป็นอย่างหนึ่ง ท่านพึงทราบความข้อนั้น แม้โดยปริยายเช่นดังว่า สัญญาจักเป็นอย่างหนึ่งต่างหาก ตนก็จักเป็นอย่างหนึ่ง. ตนสําเร็จด้วยใจ คือ มีอวัยวะน้อยใหญ่ครบทุกอย่าง มีอินทรีย์ไม่

 
  ข้อความที่ 9  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 19 ก.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 163

เสื่อมทรามย่อมตั้งอยู่เทียว เมื่อเป็นเช่นนั้น สัญญาของบุรุษนี้ อย่างหนึ่งต่างหากเกิดขึ้น อย่างหนึ่งต่างหากดับไป. ท่านพึงทราบความข้อนั้นโดยปริยายเช่นดังว่า สัญญาจักเป็นอย่างหนึ่งต่างหาก ตนก็จักเป็นอย่างหนึ่ง ดังนี้.

    [๒๙๑] ป. ข้าพระเจ้าปรารถนาตนที่ไม่มีรูป คือ ที่สําเร็จด้วยสัญญา.

    พ. ก็ตนของท่านที่ไม่มีรูป คือ สําเร็จด้วยสัญญาจักมีแล้ว เมื่อเป็นเช่นนั้น สัญญาของท่านจักเป็นอย่างหนึ่งต่างหาก ตนของท่านก็จักเป็นอย่างหนึ่ง ท่านพึงทราบความข้อนั้น แม้โดยปริยายเช่นดังว่า สัญญาจักเป็นอย่างหนึ่งต่างหาก ตนก็จักเป็นอย่างหนึ่ง. ตนที่ไม่มีรูป คือ ที่สําเร็จด้วยสัญญานี้ย่อมตั้งอยู่เทียว เมื่อเป็นเช่นนั้น สัญญาของบุรุษนี้ อย่างหนึ่งต่างหากเกิดขึ้น อย่างหนึ่งต่างหากดับไป ท่านพึงทราบความข้อนั้น แม้โดยปริยายเช่นดังว่า สัญญาจักเป็นอย่างหนึ่งต่างหาก ตนก็จักเป็นอย่างหนึ่ง ดังนี้.

    [๒๙๒] ป. ก็ข้าพระเจ้าอาจทราบได้หรือไม่ว่า สัญญาเป็นตนของบุรุษ หรือสัญญาก็อย่างหนึ่ง ตนก็อย่างหนึ่ง.

    พ. ข้อว่าสัญญาเป็นตนของบุรุษ หรือสัญญาก็อย่างหนึ่ง ตนก็อย่างหนึ่ง ดังนี้นั้น อันท่านผู้มีทิฏฐิเป็นอย่างอื่น มีขันติเป็นอย่างอื่น มีความชอบใจเป็นอย่างอื่น มีความพยายามในลัทธิอื่น มีอาจารย์ในลัทธิอื่น รู้ได้ยากนัก.

    ป. ถ้าข้อที่ว่านั้น ข้าพระเจ้าผู้มีทิฏฐิเป็นอย่างอื่น มีขันติเป็นอย่างอื่น มีความชอบใจเป็นอย่างอื่น มีความพยายามในลัทธิอื่น มีอาจารย์ในลัทธิอื่น รู้ได้ยากนักไซร้ ก็คําที่ว่า โลกเที่ยงนี้แลจริง คําอื่นเปล่า ดังนี้หรืออย่างไร พระเจ้าข้า.

    พ. คําที่ว่า โลกเที่ยงนี้แลจริง คําอื่นเปล่าดังนี้ เราไม่ได้พยากรณ์.

 
  ข้อความที่ 10  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 19 ก.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 164

    ป. ก็โลกไม่เที่ยงนี้แลจริง คําอื่นเปล่าดังนี้หรือ พระเจ้าข้า.

    พ. แม้ข้อนั้นเราก็ไม่ได้พยากรณ์.

    ป. ก็โลกมีที่สุด ฯลฯ โลกไม่มีที่สุด. ชีพก็อันนั้น สรีระก็อันนั้น. ชีพเป็นอื่น สรีระก็เป็นอื่น. ตถาคตเบื้องหน้าแต่ตายแล้วย่อมมี. ตถาคตเบื้องหน้าแต่ตายแล้วย่อมไม่มี. ตถาคตเบื้องหน้าแต่ตายแล้ว ยังมีบ้างไม่มีบ้าง. ตถาคตเบื้องหน้าแต่ตายแล้ว มีก็ไม่ใช่ไม่มีก็ไม่ใช่ นี้แลจริง คําอื่นเปล่า ดังนี้หรือ พระเจ้าข้า.

    พ. แม้ข้อนั้นๆ เราก็ไม่ได้พยากรณ์.

    ป. ก็เพราะเหตุไร พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงไม่ทรงพยากรณ์ พระเจ้าข้า.

    พ. เพราะข้อนั้นๆ ไม่ประกอบด้วยอรรถ ไม่ประกอบด้วยธรรม ไม่เป็นเบื้องต้นแห่งพรหมจรรย์ ไม่เป็นไปเพื่อความเบื่อหน่าย ไม่เป็นไปเพื่อความปล่อยวาง ไม่เป็นไปเพื่อความดับ ไม่เป็นไปเพื่อความสงบ ไม่เป็นไปเพื่อความรู้ยิ่ง ไม่เป็นไปเพื่อความตรัสรู้ ไม่เป็นไปเพื่อนิพพานฉะนั้น เราจึงไม่พยากรณ์.

    [๒๙๓] ป. ก็อะไร พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพยากรณ์ละ พระเจ้าข้า.

    พ. ทุกข์ เหตุเกิดทุกข์ ความดับทุกข์ ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์นี้แล เราพยากรณ์.

    ป. ก็เพราะเหตุไร พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงทรงพยากรณ์อย่างนั้น พระเจ้าข้า.

    พ. เพราะข้อนั้นๆ ประกอบด้วยอรรถ ประกอบด้วยธรรม เป็นเบื้องต้นแห่งพรหมจรรย์ เป็นไปเพื่อความเบื่อหน่าย เป็นไปเพื่อความปล่อยวาง เป็นไปเพื่อความดับ เป็นไปเพื่อความสงบ เป็นไปเพื่อความรู้ยิ่ง เป็นไปเพื่อความตรัสรู้ เป็นไปเพื่อนิพพาน ฉะนั้น เราจึงพยากรณ์.

 
  ข้อความที่ 11  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 19 ก.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 165

    ป. ข้อนี้เป็นอย่างนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าข้อนี้เป็นอย่างนั้น พระสุคตในบัดนี้ ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทราบกาลที่สมควรเถิด พระเจ้าข้า ดังนี้. ลําดับนั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จลุกจากอาสนะแล้ว หลีกไป.

    [๒๙๔] ฝ่ายพวกปริพาชกเหล่านั้น เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จหลีกไปแล้วไม่นาน ได้ทําการเสียดแทงโปฏฐปาทปริพาชก ด้วยปฏัก คือ ถ้อยคําเสียดแทงโดยรอบว่า ก็ท่านโปฏฐปาทะนี้ อนุโมทนาตามคําที่พระสมณโคดมกล่าวอย่างนี้ว่า ข้อนี้เป็นอย่างนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า ข้อนี้เป็นอย่างนั้นพระสุคต ดังนี้. ก็แต่ว่าพวกเรามิได้เข้าใจธรรม ที่พระสมณโคดมทรงแสดงแล้ว โดยส่วนเดียว แต่อย่างใดอย่างหนึ่ง ที่ว่าโลกเที่ยง หรือโลกไม่เที่ยง ฯลฯ ตถาคต เบื้องหน้าแต่ตายแล้ว มีก็ไม่ใช่ไม่มีก็ไม่ใช่ ดังนี้.

    [๒๙๕] เมื่อปริพาชกเหล่านั้น กล่าวแล้วอย่างนี้ โปฏฐปาทปริพาชกได้บอกกับเขาว่า พ่อคุณ แม้ฉันก็มิได้เข้าใจธรรม ที่พระสมณโคดมแสดงแล้วโดยส่วนเดียว แต่อย่างใดอย่างหนึ่งว่า โลกเที่ยงหรือ ฯลฯ ตถาคตเบื้องหน้าแต่ตายแล้ว มีก็ไม่ใช่ไม่มีก็ไม่ใช่ ก็แต่ว่า พระสมณโคดมทรงบัญญัติปฏิปทา ที่จริง ที่แท้ ที่แน่นอน ที่มีปกติตั้งอยู่ในธรรมที่ถูกต้องตามทํานองคลองธรรม ไฉนบุรุษผู้เป็นบัณฑิตเช่นดังเรา จักไม่อนุโมทนาสุภาษิตของพระสมณโคดม โดยความเป็นสุภาษิตเล่า.

    [๒๙๖] ต่อมาล่วงไปได้ ๒ - ๓ วัน จิตตะผู้เป็นบุตรแห่งควาญช้าง และโปฏฐปาทปริพาชก พากันเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นแล้วจิตตะผู้เป็นบุตรแห่งควาญช้าง ถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาคเจ้า นั่ง ณ ที่ส่วนข้างหนึ่ง. ฝ่ายโปฏฐปาทปริพาชก กล่าวถ้อยคําปราศรัยกับพระผู้มีพระภาคเจ้า พอเป็นที่ตั้งแห่งความปลาบปลื้ม เป็นที่ตั้งแห่งความระลึก แล้วนั่ง ณ ที่ส่วนข้างหนึ่ง

 
  ข้อความที่ 12  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 19 ก.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 166

แล้วกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ในคราวนั้น เมื่อพระองค์เสด็จหลีกไปไม่นาน พวกปริพาชกได้พากันรุมต่อว่าข้าพระองค์ ด้วยถ้อยคําตัดพ้อต่างๆ ว่า อย่างนี้ทีเดียวท่านโปฏฐปาทะ พระสมณโคดมตรัสคําใด ท่านพลอยอนุโมทนาคํานั้นทุกคําว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า ข้อนั้นต้องเป็นเช่นนี้ ข้าแต่พระสุคต ข้อนั้นต้องเป็นเช่นนี้ ฝ่ายพวกเรามิได้เข้าใจธรรม ที่พระสมณโคดมทรงแสดงแล้ว โดยส่วนเดียว แต่สักน้อยหนึ่งว่า โลกเที่ยงหรือโลกไม่เที่ยง โลกมีที่สุดหรือโลกไม่มีที่สุด ชีพอันนั้น สรีระก็อันนั้น หรือชีพอย่างหนึ่งสรีระอย่างหนึ่ง ตถาคตเบื้องหน้าแต่ตายไปมีอยู่ หรือตถาคตเบื้องหน้าแต่ตายไปไม่มีอยู่ ตถาคตเบื้องหน้าแต่ตายไป มีอยู่ก็มีไม่มีอยู่ก็มี หรือตถาคตเบื้องหน้าแต่ตายไป มีอยู่ก็มิใช่ ไม่มีอยู่ก็มิใช่ เมื่อพวกปริพาชกกล่าวอย่างนี้แล้ว ข้าพระองค์ได้บอกปริพาชกเหล่านั้นว่าท่านทั้งหลาย แม้ข้าพเจ้าเองก็มิได้เข้าใจธรรมที่พระสมณโคดมทรงแสดงแล้วโดยส่วนเดียวแต่สักน้อยหนึ่งว่าโลกเที่ยงหรือโลกไม่เที่ยง โลกมีที่สุดหรือโลกไม่มีที่สุด ชีพอันนั้น สรีระก็อันนั้น หรือชีพอย่างหนึ่ง สรีระอย่างหนึ่ง ตถาคตเบื้องหน้าแต่ตายไปมีอยู่ก็มี หรือตถาคตเบื้องหน้าแต่ตายไปไม่มีอยู่ ตถาคตเบื้องหน้าแต่ตายไปมีอยู่ก็มี ไม่มีอยู่ก็มี หรือตถาคตเบื้องหน้าแต่ตายไป มีอยู่ก็มิใช่ไม่มีอยู่ก็มิใช่ แต่ว่าพระสมณโคดมบัญญัติปฏิปทาที่จริงแท้แน่นอน เป็นธรรมฐิติ ธรรมนิยาม ก็เมื่อพระสมณโคดมบัญญัติปฏิปทาที่จริงแท้แน่นอน เป็นธรรมฐิติ ธรรมนิยาม ไฉนเล่าวิญูชนเช่นเราไม่พึงอนุโมทนา สุภาษิตของพระสมณโคดม โดยเป็นสุภาษิต.

    [๒๙๗] พ. โปฏฐปาทะ ปริพาชกเหล่านี้ทั้งหมด เป็นคนบอด หาจักษุมิได้ ในชุมชนนั้น ท่านคนเดียวเป็นคนมีจักษุ. เพราะเราแสดงแล้ว

 
  ข้อความที่ 13  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 19 ก.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 167

บัญญัติแล้ว ซึ่งธรรมเป็นไปเพื่อความสิ้นทุกข์โดยส่วนเดียวบ้าง ซึ่งธรรมที่ไม่เป็นไปเพื่อความสิ้นทุกข์โดยส่วนเดียวบ้าง. ก็ธรรมที่ไม่เป็นไปเพื่อความสิ้นทุกข์โดยส่วนเดียว ที่เราแสดงแล้ว บัญญัติแล้ว เป็นไฉน. คือ โลกเที่ยง โลกไม่เที่ยง โลกมีที่สุด โลกไม่มีที่สุด ชีพก็อันนั้น สรีระก็อันนั้น ชีพเป็นอื่น สรีระก็เป็นอื่น ตถาคตเบื้องหน้าแต่ตายแล้วย่อมมี ตถาคต เบื้องหน้าแต่ตายแล้วย่อมไม่มี ตถาคตเบื้องหน้าแต่ตายแล้ว ยังมีบ้างไม่มีบ้าง ตถาคต เบื้องหน้าแต่ตายแล้ว มีก็ไม่ใช่ไม่มีก็ไม่ใช่ ดังนี้แล้ว เป็นธรรมที่ไม่เป็นไปเพื่อความสิ้นทุกข์โดยส่วนเดียว เราแสดงแล้ว บัญญัติแล้ว. เพราะเหตุไร เราจึงแสดงบัญญัติว่า เป็นธรรมที่ไม่เป็นไป เพื่อความสิ้นทุกข์โดยส่วนเดียว. เพราะธรรมเหล่านี้ ไม่ประกอบด้วยอรรถ ไม่ประกอบด้วยธรรม ไม่เป็นเบื้องต้นแห่งพรหมจรรย์ ไม่เป็นไปเพื่อความเบื่อหน่าย ไม่เป็นไปเพื่อความปล่อยวาง ไม่เป็นไปเพื่อความดับ ไม่เป็นไปเพื่อความสงบ ไม่เป็นไปเพื่อความรู้ยิ่ง ไม่เป็นไปเพื่อความตรัสรู้ ไม่เป็นไปเพื่อนิพพาน เพราะฉะนั้น เราจึงได้แสดงบัญญัติว่า ไม่เป็นไปเพื่อความสิ้นทุกข์โดยส่วนเดียว.

    [๒๙๘] ก็ธรรมที่เป็นไปเพื่อความสิ้นทุกข์โดยส่วนเดียว เราแสดงแล้วบัญญัติแล้ว เป็นไฉน. คือ นี้ทุกข์ นี้เหตุเกิดทุกข์ นี้ความดับทุกข์ นี้ปฏิปทาให้ถึงความดับทุกข์ ดังนี้แล เป็นธรรมที่เป็นไปเพื่อความสิ้นทุกข์โดยส่วนเดียว เราแสดงแล้ว บัญญัติแล้ว ก็เพราะเหตุไร เราจึงแสดงแล้ว บัญญัติแล้วว่า เป็นธรรมที่เป็นไปเพื่อความสิ้นทุกข์ โดยส่วนเดียว. เพราะธรรมเหล่านี้ประกอบด้วยอรรถ ประกอบด้วยธรรม เป็นเบื้องต้นแห่งพรหมจรรย์ เป็นไปเพื่อความเบื่อหน่าย เป็นไปเพื่อความปล่อยวาง เป็นไปเพื่อความดับ เป็นไปเพื่อความสงบ เป็นไปเพื่อความรู้ยิ่ง เป็นไปเพื่อความ

 
  ข้อความที่ 14  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 19 ก.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 168

ตรัสรู้ เป็นไปเพื่อนิพพาน เพราะฉะนั้น เราจึงได้แสดงบัญญัติว่า เป็นไปเพื่อความสิ้นทุกข์โดยส่วนเดียว.

    [๒๙๙] โปฏฐปาทะ สมณพราหมณ์พวกนั้น มีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า ตนเบื้องหน้าแต่ตายไป มีสุขโดยส่วนเดียว หาโรคมิได้ เราเข้าไปหาสมณพราหมณ์พวกนั้น กล่าวอย่างนี้ว่า ได้ยินว่าท่านมีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า ตนเบื้องหน้าแต่ตายไป มีสุขโดยส่วนเดียว หาโรคมิได้ ดังนี้จริงหรือ. ถ้าว่าพวกเขาที่ถูกเราถามอย่างนี้แล้ว ปฏิญญารับคําไซร้ เราก็จะกล่าวกะพวกเขาอย่างนี้ว่า เออ ที่ท่านรู้เห็นโลก มีสุขโดยส่วนเดียวอยู่หรือ. เขาถูกถามดังนี้ ก็จะตอบว่า หามิได้ เราจะกล่าวกะเขาว่า เออ ก็ท่านรู้สึกตนเป็นสุขโดยส่วนเดียว ชั่ววันหนึ่งคืนหนึ่ง หรือครึ่งคืนครึ่งวัน เขาก็จะตอบว่า หามิได้ เราจะกล่าวกะเขาว่า เออ ก็ท่านรู้ว่า นี้มรรคา นี้ปฏิปทา เพื่อทําให้แจ้งซึ่งโลก ที่มีสุขโดยส่วนเดียวหรือ. เขาก็จะตอบว่า หามิได้. เราก็จะกล่าวกะเขาว่า ท่านจงฟังเสียงของเหล่าเทวดา ผู้เข้าถึงโลกที่มีสุขโดยส่วนเดียว ผู้กล่าวอยู่ว่า จงปฏิบัติดีเถิด จงปฏิบัติตรงเถิด ท่านผู้นิรทุกข์เพื่อทําให้แจ้งซึ่งโลก ที่มีสุขโดยส่วนเดียว เพราะว่า แม้พวกเราปฏิบัติอย่างนี้แล้ว จึงเข้าถึงโลกที่มีสุขโดยส่วนเดียว. เขาก็จะตอบว่า หามิได้.

    พ. โปฏฐปาทะ ท่านจะสําคัญความข้อนั้นเป็นไฉน เมื่อเป็นเช่นนี้ ภาษิตของสมณพราหมณ์พวกนั้น จะถึงความไม่น่าอัศจรรย์ (ไร้ผล) มิใช่หรือ.

    ป. แน่นอน พระเจ้าข้า เมื่อเป็นเช่นนั้น ภาษิตของสมณพราหมณ์พวกนั้น ก็ย่อมถึงความไม่น่าอัศจรรย์ (ไร้ผล) .

    [๓๐๐] พ. โปฏฐปาทะ เช่นเดียวกับบุรุษ พึงกล่าวอย่างนี้ว่า ข้าพเจ้าปรารถนารักใคร่ซึ่งนางงามประจําชนบทนี้ ชนทั้งหลายจะพึงกล่าวกะเขาว่า แน่ะพ่อหนุ่ม นางงามประจําชนบทที่ท่านปรารถนารักใคร่นั้น ท่านรู้หรือว่า

 
  ข้อความที่ 15  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 19 ก.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 169

เป็นนางกษัตริย์ หรือนางพราหมณ์ เป็นนางแพศย์ หรือนางศูทร. เมื่อเขาถูกถามดังนี้ ก็จะตอบว่า ไม่รู้. ชนทั้งหลายก็จะพึงกล่าวกะเขาว่า แน่ะพ่อหนุ่ม นางงามประจําชนบทที่ท่านปรารถนารักใคร่นั้น ท่านรู้หรือว่า มีชื่ออย่างนี้ มีโคตรอย่างนี้ สูงหรือต่ํา หรือพอสันทัด ดําหรือขาว หรือสีแมลงทับ อยู่ในบ้าน ในนิคม หรือในเมืองโน้น. เขาก็จะตอบว่าไม่รู้ ชนทั้งหลายก็จะกล่าวกะเขาว่า แน่ะพ่อหนุ่ม ท่านปรารถนารักใคร่นางงามที่ยังไม่รู้ ไม่เห็นกัน ดังนั้นหรือ. เขาก็จะพึงกล่าวว่าอย่างนั้น. โปฏฐปาทะท่านจะสําคัญความข้อนั้นเป็นไฉน เมื่อเป็นเช่นนั้น คําพูดของบุรุษนั้น จะถึงความไม่น่าอัศจรรย์ (ไร้ผล) มิใช่หรือ.

    ป. แน่นอนทีเดียว พระเจ้าข้า คําพูดของบุรุษนั้น จะถึงความไม่น่าอัศจรรย์.

    พ. โปฏฐปาทะ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน สมณพราหมณ์ที่มีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า ตนเบื้องหน้าแต่ตายไป มีสุขโดยส่วนเดียว หาโรคมิได้ เราเข้าไปหาสมณพราหมณ์พวกนั้น กล่าวอย่างนี้ว่า ได้ยินว่าท่านมีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า ตนเบื้องหน้าแต่ตายไป มีสุขโดยส่วนเดียว หาโรคมิได้ ดังนี้จริงหรือ ถ้าพวกเขาที่ถูกเราถามแล้ว ปฏิญญารับไซร้ เราก็จะกล่าวกะพวกเขาว่า เออ ก็ท่านรู้เห็นโลก มีสุขโดยส่วนเดียวอยู่หรือ. เขาก็จะตอบว่า หามิได้ เราจะกล่าวกะเขาว่า เออ ก็ท่านรู้สึกตนเป็นสุขโดยส่วนเดียว ชั่ววันหนึ่งคืนหนึ่งหรือครึ่งคืนครึ่งวัน. เขาก็จะตอบว่า หามิได้. เราจะกล่าวกะเขาว่า เออ ก็ท่านรู้ว่า นี้มรรคา นี้ปฏิปทา เพื่อทําให้แจ้งซึ่งโลกมีสุขโดยส่วนเดียวหรือ. เขาก็จะตอบว่า หามิได้. เราก็จะกล่าวกะเขาว่า ท่านจะฟังเสียงของเหล่าเทวดา ผู้เข้าถึงโลกที่มีสุขโดยส่วนเดียว ผู้กล่าวอยู่ว่า จงปฏิบัติดี จงปฏิบัติตรงเถิด ท่านผู้นิรทุกข์ เพื่อทําให้แจ้งซึ่งโลกที่มีสุขโดยส่วนเดียว เพราะว่า แม้พวกเราปฏิบัติอย่างนี้แล้ว จึงเข้าถึงโลกที่มีสุขโดยส่วนเดียว. เขาก็จะตอบว่า หามิได้.

 
  ข้อความที่ 16  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 19 ก.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 170

    พ. โปฏฐปาทะ ท่านจะสําคัญความข้อนั้นเป็นไฉน เมื่อเป็นเช่นนั้นภาษิตของสมณพราหมณ์พวกนั้น จะถึงความไม่น่าอัศจรรย์ (ไร้ผล) มิใช่หรือ.

    ป. แน่นอน พระเจ้าข้า เมื่อเป็นเช่นนั้น ภาษิตของสมณพราหมณ์พวกนั้น ก็ย่อมถึงความไม่น่าอัศจรรย์ (ไร้ผล)

    [๓๐๑] พ. โปฏฐปาทะ เช่นเดียวกับบุรุษ พึงทําบันไดที่หนทางใหญ่ ๔ แพร่ง เพื่อขึ้นสู่ปราสาท ชนทั้งหลายจะพึงถามเขาว่า แน่ะพ่อคุณ ปราสาทที่ท่านทําบันไดเพื่อจะขึ้น ท่านรู้จักหรือว่า ปราสาทนั้นอยู่ทางทิศตะวันออกหรือทิศใต้ ทิศตะวันตกหรือทิศเหนือ และสูงหรือต่ํา หรือพอปานกลาง. เขาก็จะตอบว่า ยังไม่รู้ ชนทั้งหลาย ก็จะกล่าวกะเขาว่าแน่ะพ่อคุณ ปราสาทที่ท่านไม่รู้ไม่เห็น ท่านจะทําบันไดเพื่อขึ้นได้หรือ. เมื่อถูกถามอย่างนี้ เขาก็พึง .กล่าวรับคํา.

    พ. โปฏฐปาทะ ท่านจะสําคัญความข้อนั้นเป็นไฉน เมื่อเป็นเช่นนั้นคําพูดของบุรุษนั้น จะถึงความไม่น่าอัศจรรย์ มิใช่หรือ.

    ป. แน่นอน พระเจ้าข้า เมื่อเป็นเช่นนั้น คําพูดของบุรุษนั้นถึงความเป็นของไม่น่าอัศจรรย์.

    พ. โปฏฐปาทะ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน สมณพราหมณ์ที่มีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า เบื้องหน้าแต่ตายไป อัตตามีสุขโดยส่วนเดียว หาโรคมิได้มีอยู่ เราเข้าไปหาสมณพราหมณ์พวกนั้นแล้ว กล่าวอย่างนี้ว่า ได้ยินว่าท่านมีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า เบื้องหน้าแต่ตายไป อัตตามีสุขโดยส่วนเดียว หาโรคมิได้ มีอยู่จริงหรือ. ถ้าสมณพราหมณ์พวกนั้น ถูกเราถามอย่างนี้แล้ว ปฏิญญาว่าจริง เราจะกล่าวกะเขาว่า เออก็ท่านยังรู้เห็นว่า โลกมีสุขโดยส่วนเดียวบ้างหรือ. เมื่อเขาถูกถามอย่างนี้แล้ว เขาจะตอบว่า หามิได้ เราจะกล่าวกะเขาว่า เออก็ท่านรู้ว่าอัตตามีสุขโดยส่วนเดียว ชั่ววันหนึ่งคืนหนึ่ง หรือกึ่งวันกึ่งคืน เมื่อเขาถูกถามอย่างนี้แล้ว เขาจะตอบว่า หามิได้ เราจะกล่าวกะเขาว่า เออก็ท่านยังรู้ว่า นี้มรรคา นี้ข้อปฏิบัติ เพื่อทําให้แจ้งซึ่งโลกมีความสุขโดย

 
  ข้อความที่ 17  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 19 ก.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 171

ส่วนเดียวบ้างหรือ. เมื่อเขาถูกถามอย่างนี้แล้ว เขาจะตอบว่า หามิได้ เราจะกล่าวกะเขาว่า เออก็ท่านยังได้ยินเสียง พวกเทวดาผู้เข้าถึงโลกมีสุขโดยส่วนเดียว ผู้กําลังพูดกันว่า ท่านผู้นิรทุกข์ ท่านปฏิบัติดี ปฏิบัติตรงแล้ว เพื่อทําให้แจ้งซึ่งโลกที่มีสุขโดยส่วนเดียว เพราะว่า แม้พวกเราปฏิบัติอย่างนี้ จึงเข้าถึงโลกที่มีสุขโดยส่วนเดียว. เขาก็จะปฏิเสธ.

พ. โปฏฐปาทะ ท่านจะสําคัญความข้อนั้นเป็นไฉน เมื่อเป็นเช่นนั้น ภาษิตของสมณพราหมณ์เหล่านั้น ก็จะถึงความไม่น่าอัศจรรย์มิใช่หรือ.

ป. แน่นอน พระเจ้าข้า เมื่อเป็นเช่นนั้น ภาษิตของสมณพราหมณ์เหล่านั้น ก็จะถึงความเป็นของไม่น่าอัศจรรย์.

[๓๐๒] พ. โปฏฐปาทะ การได้อัตตภาพ ๓ นี้ คือ ที่หยาบ ที่สําเร็จด้วยใจ ที่หารูปมิได้. ก็การได้อัตตภาพที่หยาบเป็นไฉน. กายที่มีรูปเป็นที่ประชุมแห่งมหาภูตรูป ๔ มีคําข้าวเป็นภักษา นี้คือการได้อัตตภาพที่หยาบ. การได้อัตตภาพที่สําเร็จด้วยใจเป็นไฉน. กายที่มีรูปสําเร็จด้วยใจ มีอวัยวะน้อยใหญ่ครบทุกอย่าง มีอินทรีย์ไม่เสื่อมทราม นี้คือ การได้อัตตภาพที่สําเร็จด้วยใจ. การได้อัตตภาพอันหารูปมิได้เป็นไฉน. กายอันหารูปมิได้สําเร็จด้วยสัญญา นี้คือการได้อัตตภาพอันหารูปมิได้.

[๓๐๓] พ. โปฏฐปาทะ เราจะแสดงธรรม เพื่อการละความได้อัตตภาพที่หยาบว่า พวกท่านปฏิบัติอย่างไร จักละสังกิเลสธรรมได้ โวทานธรรม (๑) จักเจริญยิ่ง และท่านทั้งหลายจักทําให้แจ้งซึ่งความบริบูรณ์ไพบูลย์แห่งปัญญา ด้วยความรู้ยิ่งเฉพาะตัวในปัจจุบันแล้วแลอยู่.

พ. โปฏฐปาทะ ก็ท่านจะพึงมีความเห็นอย่างนี้ว่า สังกิเลสธรรมจักเป็นอันละได้ โวทานธรรมจักเจริญยิ่ง จักทําให้แจ้งซึ่งความบริบูรณ์ไพบูลย์แห่งปัญญา ด้วยความรู้ยิ่งเฉพาะตัวในปัจจุบันแล้วแลอยู่ แต่เป็นการอยู่ลําบาก.


(๑) ธรรมอันผ่องแผ้ว

 
  ข้อความที่ 18  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 19 ก.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 172

    พ. โปฏฐปาทะ ก็ท่านไม่ควรเห็นอย่างนั้น แท้จริง สังกิเลสธรรมจักเป็นอันละได้ โวทานธรรมจักเจริญยิ่ง และจักทําให้แจ้งซึ่งความบริบูรณ์ไพบูลย์แห่งปัญญา ด้วยความรู้ยิ่งเฉพาะตัวในปัจจุบัน แล้วแลอยู่ ปราโมทย์ปีติ ปัสสัทธิ และสติสัมปชัญญะ จักเกิดมี มีการอยู่อย่างสบาย.

    [๓๐๔] พ. โปฏฐปาทะ เราจะแสดงธรรม เพื่อการละความได้อัตตภาพ แม้ที่สําเร็จด้วยใจว่า พวกท่านปฏิบัติอย่างไร จึงจักละสังกิเลสธรรมได้ โวทานธรรมจักเจริญยิ่งขึ้น พวกท่านจักทําความบริบูรณ์ และความไพบูลย์แห่งปัญญาให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่งด้วยตนเองในปัจจุบัน เข้าถึงอยู่.

    ดูก่อน โปฏฐปาทะ บางคราวท่านจะพึงมีความเห็นอย่างนี้ว่า สังกิเลสธรรมเราจะละได้ โวทานธรรมจักเจริญยิ่งขึ้น ผู้มีความเพียรจักทําให้แจ้ง ซึ่งความบริบูรณ์และความไพบูลย์แห่งปัญญา ด้วยปัญญาอันยิ่งด้วยตนเองในปัจจุบัน เข้าถึงอยู่ แต่ความอยู่ไม่สบาย.

    ดูก่อน โปฏฐปาทะ แต่เรื่องนี้ท่านไม่พึงเห็นอย่างนั้น ที่แท้สังกิเลสธรรม พวกท่านจักละได้ โวทานธรรมจักเจริญยิ่งขึ้น ผู้มีความเพียรจักทําให้แจ้งซึ่งความบริบูรณ์ และความไพบูลย์แห่งปัญญา ด้วยปัญญาอันยิ่ง ด้วยตนเองในปัจจุบัน เข้าถึงอยู่ได้ ความปราโมทย์ ปีติ ปัสสัทธิ สติสัมปชัญญะ จักเกิดมีเป็นการอยู่อย่างสบาย.

    [๓๐๕] พ. โปฏฐปาทะ เราจะแสดงธรรม เพื่อการละความได้อัตตภาพ แม้ที่ไม่มีรูปว่า พวกท่านปฏิบัติอย่างไร จึงจักละสังกิเลสธรรมได้ โวทานธรรมจักเจริญยิ่งขึ้น พวกท่านจักทําความบริบูรณ์และความไพบูลย์ แห่งปัญญาให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่ง ด้วยตนเองในปัจจุบัน เข้าถึงอยู่.

    ดูก่อน โปฏฐปาทะ บางคราวท่านจะพึงมีความเห็นอย่างนี้ว่า สังกิเลสธรรมเราจักละได้ โวทานธรรมจักเจริญขึ้น ผู้มีความเพียรจักทําให้แจ้งซึ่ง

 
  ข้อความที่ 19  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 19 ก.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 173

ความบริบูรณ์และความไพบูลย์แห่งปัญญา ด้วยปัญญาอันยิ่งด้วยตนเองในปัจจุบัน เข้าถึงอยู่ แต่ความอยู่ไม่สบาย.

    ดูก่อน โปฏฐปาทะ แต่เรื่องนี้ ท่านไม่พึงเห็นอย่างนั้น ที่แท้สังกิเลสธรรม พวกท่านจักละได้ โวทานธรรมจักเจริญยิ่งขึ้น ผู้มีความเพียรจะทําให้แจ้ง ซึ่งความบริบูรณ์และความไพบูลย์แห่งปัญญา ด้วยปัญญาอันยิ่งด้วยตนเองในปัจจุบัน เข้าถึงอยู่ ได้ความปราโมทย์ ปีติ ปัสสัทธิ สติสัมปชัญญะเป็นการอยู่อย่างสบาย.

    [๓๐๖] โปฏฐปาทะ ถ้าเจ้าลัทธิพวกอื่น จะพึงถามพวกเราว่า แน่ะท่าน การได้อัตตภาพที่หยาบ ซึ่งท่านแสดงธรรม เพื่อให้ละเสียว่าพวกท่านปฏิบัติอย่างไร จักละสังกิเลสธรรมได้ โวทานธรรมจักเจริญยิ่ง และท่านทั้งหลายจักทําให้แจ้ง ซึ่งความบริบูรณ์ไพบูลย์แห่งปัญญา ด้วยความรู้ยิ่งเฉพาะตัว ในปัจจุบันแล้วแลอยู่ เป็นไฉน. พวกเราถูกถามแล้วอย่างนี้ พึงพยากรณ์แก่เขาว่า การได้อัตตภาพอันหยาบ ที่เราแสดงธรรมเพื่อละเสียว่า พวกท่านปฏิบัติอย่างไร จักละสังกิเลสธรรมได้ โวทานธรรมจักเจริญยิ่ง และท่านทั้งหลายจักทําให้แจ้ง ซึ่งความบริบูรณ์ไพบูลย์แห่งปัญญา ด้วยความรู้ยิ่งเฉพาะตัว ในปัจจุบันแล้วแลอยู่ อันนี้แล.

    [๓๐๗] โปฏฐปาทะ ถ้าเจ้าลัทธิพวกอื่น จะพึงถามพวกเราว่า แน่ะท่าน ก็การได้อัตตภาพที่สําเร็จด้วยใจ ฯลฯ การได้อัตตภาพที่หารูปมิได้ซึ่งท่านแสดงธรรมเพื่อให้ละเสียว่า พวกท่านปฏิบัติอย่างไร ฯลฯ แล้วแลอยู่ ดังนี้เป็นไฉน.

    โปฏฐปาทะ ท่านจะสําคัญความข้อนั้นเป็นไฉน เมื่อเป็นเช่นนั้น ภาษิตก็ถึงความน่าอัศจรรย์มิใช่หรือ.

    ป. แน่นอน พระเจ้าข้า เมื่อเป็นเช่นนั้น ภาษิตก็ถึงความน่าอัศจรรย์.

    [๓๐๘] พ. โปฏฐปาทะ เช่นเดียวกับบุรุษพึงทําบันได เพื่อขึ้นสู่

 
  ข้อความที่ 20  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 19 ก.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 174

ปราสาท. ที่ใต้ปราสาทนั้น ชนทั้งหลายจะพึงกล่าวกะเขาว่า แน่ะพ่อคุณปราสาทที่ท่านทําบันไดเพื่อจะขึ้น ท่านรู้หรือว่า อยู่ทิศตะวันออกหรือทิศใต้ ทิศตะวันตกหรือทิศเหนือ สูงหรือต่ํา หรือพอปานกลาง. ถ้าบุรุษนั้นจะพึงตอบอย่างนี้ว่า ปราสาทที่เราทําบันไดเพื่อจะขึ้นอยู่ที่ใต้ปราสาทนั้น นี้แล.

    โปฏฐปาทะ ท่านจะสําคัญความข้อนั้นเป็นไฉน เมื่อเป็นเช่นนั้น คําพูดของบุรุษนั้นก็ถึงความน่าอัศจรรย์มิใช่หรือ.

    ป. แน่นอน พระเจ้าข้า คําพูดของบุรุษนั้น ก็ถึงความน่าอัศจรรย์.

    พ. โปฏฐปาทะ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน ถ้าเจ้าลัทธิอื่น พึงถามพวกเราว่า การได้อัตตภาพที่หยาบ....ที่สําเร็จด้วยใจ....ที่หารูปมิได้.... ซึ่งท่านแสดงธรรมเพื่อให้ละเสียว่า พวกท่านปฏิบัติอย่างไร ฯลฯ แล้วแลอยู่ ดังนี้.

    โปฏฐปาทะ ท่านจะสําคัญความข้อนั้นเป็นไฉน เมื่อเป็นเช่นนั้น ภาษิตจะถึงความน่าอัศจรรย์ มิใช่หรือ.

    ป. แน่นอน พระเจ้าข้า.

    [๓๐๙] เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้า ตรัสอย่างนี้แล้ว จิตตะบุตรควาญช้างได้ทูลว่า พระเจ้าข้า สมัยใดได้อัตตภาพอันหยาบ สมัยนั้นการได้อัตตภาพที่สําเร็จด้วยใจ เป็นโมฆะ การได้อัตตภาพที่ไม่มีรูป ก็เป็นโมฆะในสมัยนั้น พึงมีแต่การได้อัตตภาพอันหยาบ เป็นสัจจะ กระนั้นหรือ? และสมัยใดได้อัตตภาพที่สําเร็จด้วยใจ สมัยนั้นการได้อัตตภาพอันหยาบเป็นโมฆะ การได้อัตตภาพอันไม่มีรูป ก็เป็นโมฆะ ในสมัยนั้นการได้อัตตภาพที่สําเร็จด้วยใจ เป็นสัจจะ กระนั้นหรือ? และสมัยใดได้อัตตภาพอันไม่รูป สมัยนั้นการได้อัตตภาพอันหยาบเป็นโมฆะ การได้อัตตภาพ

 
  ข้อความที่ 21  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 19 ก.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 175

ที่สําเร็จด้วยใจ ก็เป็นโมฆะ ในสมัยนั้นการได้อัตตภาพอันไม่มีรูป เป็นสัจจะกระนั้นหรือ?

    พ. จิตตะ สมัยใดได้อัตตภาพที่หยาบ สมัยนั้นมิได้ถึง ซึ่งอันนับว่าได้อัตตภาพอันสําเร็จด้วยใจ ทั้งไม่ถึงซึ่งอันนับว่าได้อัตตภาพอันไม่มีรูป ในสมัยนั้นถึงซึ่งอันนับว่า ได้อัตตภาพอันหยาบอย่างเดียว. สมัยใดได้อัตตภาพที่สําเร็จด้วยใจ สมัยนั้นมิได้ถึงซึ่งอันนับว่า ได้อัตตภาพที่หยาบทั้งไม่ถึงซึ่งอันนับว่า ได้อัตตภาพอันไม่มีรูป ในสมัยนั้นถึงซึ่งอันนับว่า ได้อัตตภาพที่สําเร็จด้วยใจอย่างเดียว. สมัยใดได้อัตตภาพอันไม่มีรูป สมัยนั้นมิได้ถึงซึ่งอันนับว่า ได้อัตตภาพที่หยาบ ทั้งมิได้ถึงซึ่งอันนับว่า ได้อัตตภาพที่สําเร็จด้วยใจ ในสมัยนั้นถึงซึ่งอันนับว่า ได้อัตตภาพอันไม่มีรูปอย่างเดียว.

    [๓๑๐] พ. จิตตะ ถ้าเขาจะพึงถามท่านอย่างนี้ว่า ท่านได้มีแล้วในอดีตมิใช่ว่า ไม่ได้มีแล้ว ท่านจักมีในอนาคต มิใช่ว่าจักไม่มี ท่านมีอยู่ในบัดนี้มิใช่ว่าไม่มี กระนั้นหรือ. ท่านถูกถามอย่างนี้ จะพึงพยากรณ์อย่างไร.

    จ. ถ้าข้าพระองค์ถูกถามอย่างนั้น พึงพยากรณ์ว่า ข้าพเจ้า ได้มีแล้วในอดีต มิใช่ว่าไม่ได้มีแล้ว ข้าพเจ้าจักมีในอนาคต มิใช่ว่าจักไม่มี ข้าพเจ้ามีอยู่ในบัดนี้ มิใช่ว่าไม่มี เมื่อถูกถามอย่างนี้จะพึงพยากรณ์อย่างนี้ พระเจ้าข้า.

    [๓๑๑] พ. จิตตะ ถ้าเขาจะพึงถามท่านอย่างนี้ว่า การได้อัตตภาพใดที่เป็นอดีตได้มีแล้วแก่ท่าน การได้อัตตภาพนั้นแล ได้เป็นสัจจะ การได้อัตตภาพที่เป็นอนาคต ที่เป็นปัจจุบัน เป็นโมฆะ การได้อัตตภาพที่เป็นอนาคตใด จักมีแก่ท่าน การได้อัตตภาพนั้นแล จักเป็นสัจจะ การได้อัตตภาพที่เป็นอดีต ที่เป็นปัจจุบัน เป็นโมฆะ การได้อัตตภาพเป็นปัจจุบัน

 
  ข้อความที่ 22  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 19 ก.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 176

ใด มีอยู่แก่ท่าน การได้อัตตภาพนั้นแล เป็นสัจจะ การได้อัตตภาพที่เป็นอดีต ที่เป็นอนาคต เป็นโมฆะ กระนั้นหรือ. ท่านถูกถามอย่างนี้ จะพึงพยากรณ์อย่างไร.

    จ. ถ้าข้าพระองค์ถูกถามอย่างนั้น พึงพยากรณ์ว่า การได้อัตตภาพที่เป็นอดีตใดได้มีแล้วแก่ข้าพเจ้า ในสมัยนั้น การได้อัตตภาพนั้นแล ได้เป็นสัจจะ การได้อัตตภาพที่เป็นอนาคต ที่เป็นปัจจุบัน เป็นโมฆะ การได้อัตตภาพที่เป็นอนาคตใด จักมีแก่ข้าพเจ้า สมัยนั้น การได้อัตตภาพนั้นแลจักเป็นสัจจะ การได้อัตตภาพที่เป็นอดีต ที่เป็นปัจจุบัน เป็นโมฆะการได้อัตตภาพที่เป็นปัจจุบันใด มีอยู่แก่ข้าพเจ้านั้น การได้อัตตภาพนั้นแล เป็นสัจจะ การได้อัตตภาพที่เป็นอดีต ที่เป็นอนาคต เป็นโมฆะ เมื่อถูกถามอย่างนี้ จะพึงพยากรณ์อย่างนี้แล พระเจ้าข้า.

    [๓๑๒] พ. จิตตะ สมัยใดได้อัตตภาพที่หยาบ สมัยนั้นมิได้ถึงซึ่งอันนับว่า ได้อัตตภาพ อันสําเร็จด้วยใจทั้งไม่ถึงซึ่งอันนับว่า ได้อัตตภาพอันนับว่า ได้อัตตภาพอันไม่มีรูป ในสมัยนั้นถึงซึ่งอันนับว่า ได้อัตตภาพอันหยาบอย่างเดียว สมัยใดได้อัตตภาพอันสําเร็จด้วยใจ สมัยนั้นมิได้ถึงซึ่งอันนับว่า ได้อัตตภาพที่หยาบทั้งไม่ถึงซึ่งอันนับว่า ได้อัตตภาพอันไม่มีรูป ในสมัยนั้นถึงซึ่งอันนับว่าได้อัตตภาพอันสําเร็จด้วยใจอย่างเดียวสมัยใด ได้อัตตภาพอันไม่มีรูป สมัยนั้นมิได้ถึงซึ่งอันนับว่า ได้อัตตภาพที่หยาบ ทั้งไม่ถึงซึ่งอันนับว่า ได้อัตตภาพอันสําเร็จด้วยใจ ในสมัยนั้นถึงซึ่งอันนับว่า ได้อัตตภาพอันไม่มีรูปอย่างเดียว. เช่นเดียวกับนมสดมีจากแม่โค นมส้มมีจากนมสด เนยข้นมีจากนมส้ม เนยใสมีจากเนยข้น ฟองเนยใสมีจากเนยใส สมัยใดยังเป็นนมสดอยู่ สมัยนั้นก็ไม่ถึงซึ่งอันนับว่า

 
  ข้อความที่ 23  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 19 ก.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 177

เป็นนมส้ม เป็นเนยข้น เป็นเนยใส เป็นฟองเนยใส สมัยนั้น ถึงซึ่งอันนับว่า เป็นนมสดอย่างเดียว. สมัยใดเป็นนมส้ม. เป็นเนยข้น. เป็นเนยใส. เป็นฟองเนยใส สมัยนั้นก็ไม่ถึงซึ่งอันนับว่า เป็นนมสด....นมส้ม....เนยใส.....ฟองเนยใสอย่างเดียว.

    จิต ฉันนั้นเหมือนกัน สมัยใดการได้อัตตภาพอันหยาบย่อมมี สมัยนั้นไม่ถึงซึ่งอันนับว่า ได้อัตตภาพอันไม่สําเร็จด้วยใจ..... อันหารูปมิได้.... สมัยนั้น ถึงซึ่งอันนับว่า ได้อัตตภาพที่หยาบอย่างเดียว. จิตเหล่านี้แล เป็น โลกสมัญญา (ชื่อตามโลก) โลกนิรุตติ (ภาษาชาวโลก) โลกโวหาร (โวหารของชาวโลก) โลกบัญญัติ ที่ตถาคตกล่าวมิได้เกี่ยวข้อง (เป็นแต่ยืมมาพูด ถ้าว่าทางปรมัตถ์ ไม่มีเกี่ยว) .

    [๓๑๓] เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสอย่างนี้แล้ว โปฏฐปาทปริพาชกได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ไพเราะจริง พระเจ้าข้า ไพเราะจริง พระเจ้าข้า บุคคลจะพึงหงายของที่คว่ําขึ้นก็ดี จะพึงเปิดของที่มีวัตถุอื่นปิดอยู่ก็ดี จะพึงบอกทางแก่บุคคลผู้หลงทางแล้วก็ดี จะพึงส่องประทีปในที่มืด ด้วยหวังว่าชนทั้งปวงผู้มีจักษุได้เห็นรูปทั้งหลาย ดังนี้ก็ดี มีอุปมาฉันใด พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงภาษิตธรรมก็มีอุปไมยฉันนั้น. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ขอถึงพระผู้มีพระภาคเจ้า ทั้งพระธรรม และพระสงฆ์ว่าเป็นสรณะ ขอพระองค์จงทรงจําข้าพระองค์ว่า เป็นอุบาสก ผู้ถึงสรณคมน์ตลอดชีพตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป.

    ฝ่ายจิตตะ ผู้บุตรนายควาญช้าง ได้ทูลว่า ไพเราะจริง พระเจ้าข้า ฯลฯ ข้าพเจ้าพึงได้บรรพชาอุปสมบท ในสํานักพระผู้มีพระภาคเจ้าเถิด ดังนี้. จิตตะ บุตรนายควาญช้างได้บรรพชาอุปสมบท ในสํานักของพระผู้มีพระภาคเจ้า

 
  ข้อความที่ 24  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 19 ก.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 178

แล้วแล. ท่านจิตตะ บุตรนายควาญช้าง ได้อุปสมบทแล้วไม่นาน หลีกออก ไปแต่ผู้เดียว ไม่ประมาท มีเพียร มีตนส่งไปแล้ว ไม่ช้านักทําให้แจ้ง ซึ่งที่สุดแห่งพรหมจรรย์อันยอดเยี่ยม ที่ผู้บวช ไม่มีเรือน จากเรือนโดยชอบ ต้องการด้วยความรู้ยิ่งเฉพาะตัว ในปัจจุบันแล้วอยู่ รู้ประจักษ์ชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์ได้อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทําได้ทําเสร็จแล้ว กิจอื่น เพื่อความเป็นอย่างนี้ มิได้มีอีก ดังนี้.

    ท่านจิตตะ บุตรนายควาญช้าง ได้เป็นพระอรหันต์องค์ ๑ ดังนี้แล.

    จบโปฏฐปาทสูตรที่ ๙

 
  ข้อความที่ 25  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 19 ก.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 179

อรรถกถาโปฏฐปาทสูตร

เอวมฺเม สุตํ ฯเปฯ สาวตฺถิยนฺติ โปฏฺปาทสุตฺตํ

ใน โปฏฐปาทสูตร นั้น มีคําพรรณนาตามลําดับบท ดังต่อไปนี้. บทว่า สาวตฺถิยํ วิหรติ เชตวเน อนาถปิณฺฑิกสฺส อาราเม ความว่า ประทับอยู่ ณ พระเชตวันอาราม ที่ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี. ให้สร้างในสวนของกุมารพระนามว่า เชต ใกล้กรุงสาวัตถี.

บทว่า โปฏฺปาโท ปริพฺพาชโก ความว่า ฉันนปริพาชก ชื่อ โปฏฐปาทะ ได้ยินว่า ในกาลเป็นคฤหัสก์เขาเป็นพราหมณ์มหาศาล เห็นโทษในกามทั้งหลายแล้ว ละกองโภคทรัพย์จํานวนสี่สิบโกฏิ บวชเป็นคณาจารย์ ของเดียรถีย์ทั้งหลาย.

พราหมณ์และบรรพชิตทั้งหลาย ย่อมโต้ตอบลัทธิในสถานที่นั้น เพราะฉะนั้น สถานที่นั้นจึงชื่อว่า สมยปฺปวาทกํ สถานที่สําหรับโต้ตอบลัทธิ. นัยว่า พราหมณ์ทั้งหลาย มีจังกีพราหมณ์ ตารุกขพราหมณ์ และโปกขรสาติพราหมณ์ เป็นต้น และบรรพชิตทั้งหลาย มีนิคัณฐปริพาชก และอเจลกปริพาชก เป็นต้น ประชุมกันในสถานที่นั้นแล้ว โต้ตอบกล่าวแสดงลัทธิของตนๆ ในสถานที่นั้น เพราะฉะนั้น อารามนั้น จึงเรียกว่า สมยปฺปวาทโก. อารามนั้นเทียว ชื่อว่า แถวป่าไม้มะพลับ เพราะเป็นอารามที่แนวต้นมะพลับ คือ แถวต้น มะพลับล้อมรอบ ก็เพราะในอารามนั้นในชั้นแรก มีศาลาเพียงหลังเดียวเท่านั้น ภายหลังชนทั้งหลายอาศัย ปริพาชกผู้มีบุญมาก สร้างศาลาหลายหลัง เพราะฉะนั้น อารามนั้น จึงเรียกว่า เอกสาลโก ด้วยอํานาจแห่งชื่อที่ได้มา เพราะอาศัยศาลาหลังเดียวนั้นเอง. ก็อารามนั้นสมบูรณ์ด้วยดอกและผล เป็นสวน

 
  ข้อความที่ 26  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 19 ก.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 180

พระนางมัลลิการาชเทวี ของพระเจ้าปเสนทิโกศลสร้างถวาย จึงถึงอันนับว่า มัลลิกายาราม. ในสถานที่สําหรับโต้ตอบลัทธิ แถวป่าไม้มะพลับ มีศาลาที่พักหลังเดียว เป็นอารามของพระนางมัลลิกานั้น. บทว่า ปฏิวสติ ความว่า พักอยู่เพราะเป็นสถานที่อยู่ผาสุก.

    ต่อมาวันหนึ่ง ในปัจจุสสมัยใกล้รุ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแผ่พระสัพพัญุตญาณ ทรงพิจารณาดูโลก ทรงเห็นปริพาชกเข้ามาภายในข่าย คือพระญาณ ทรงใคร่ครวญว่า โปฏฐปาทะนี้ ย่อมปรากฏในข่าย คือญาณของเรา จักมีอะไรหนอ ดังนี้ ทรงเห็นว่า ในวันนี้ เราจักไปในอารามนั้น ลําดับนั้น โปฏฐปาทะ จักถามเราถึงนิโรธ และการออกจากนิโรธ เราจักเทียบด้วยญาณของพระพุทธเจ้าทั้งปวง แสดงทั้งสองอย่างนั้น แก่โปฏฐปาทะนั้น ครั้นล่วงไป ๒ - ๓ วัน เขาจักพาจิตตะผู้เป็นบุตรควาญช้าง มาสู่สํานักของเรา เราจักแสดงธรรมแก่เขาทั้งสองคนนั้น ในที่สุดเทศนา โปฏฐปาทะจักถึงเราเป็นสรณะ จิตตะบุตรควาญช้าง บวชในสํานักของเราแล้ว จักบรรลุพระอรหัต ดังนี้. แต่นั้นพระผู้มีพระภาคเจ้า ก็ทรงกระทําการปฏิบัติพระสรีระ แต่เช้าตรู่ทรงครองอันตรวาสกสองชั้น ซึ่งย้อมดีแล้ว ทรงคาดพระประคดเช่นกับสายฟ้า ทรงสพักผ้าบังสุกุลสีเมฆ ดุจประหนึ่งมหาเมฆ ล้อมรอบเขายุคันธร อยู่ฉะนั้น ทรงคล้องบาตรสิลาอันมีค่ามาก ที่พระอังสะข้างซ้าย ทรงพระดําริว่า เราจักเข้าไปในกรุงสาวัตถี เพื่อบิณฑบาต เสด็จลีลาศออกจากพระวิหาร เหมือนราชสีห์ออกจากเชิงเขาหิมพานต์ ฉะนั้น. ท่านหมายถึงอรรถนี้ จึงกล่าวว่า อถโข ภควา เป็นต้น

    บทว่า เอตทโหสิ ความว่า พระผู้มีพระภาคเจ้า เสด็จไปใกล้ประตูพระนครแล้ว ทรงมองดูพระอาทิตย์ ด้วยอํานาจ ความพอพระฤทัยของพระองค์

 
  ข้อความที่ 27  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 19 ก.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 181

ทรงเห็นว่า เวลายังเช้านัก จึงมีพระดํารินั่น. บทว่า ยนฺนูนาหํ ความว่า เป็นนิบาตเหมือนแสดงความสงสัย. ก็พระพุทธเจ้าทั้งหลาย ไม่มีความสงสัย. แต่นั้นเป็นส่วนเบื้องต้นของพระปริวิตกอย่างนี้ว่า เราจักทํากิจนี้ จักไม่ทํากิจนี้ เราจักแสดงธรรมแก่คนนี้ จักไม่แสดงธรรมแก่คนนี้ ย่อมได้แก่พระพุทธเจ้าทั้งหลาย. ด้วยเหตุนั้น จึงตรัสว่า ยนฺนูนาหํ ความว่า ก็ถ้าเรา.

    บทว่า อุนฺนาทินิยา ความว่า อันดังลั่น. ก็เสียงนั้น ซึ่งบันลืออย่างนี้ ชื่อว่า สูงด้วยสามารถไปในส่วนเบื้องสูง ชื่อว่า เสียงดัง ด้วยสามารถกระจายไป ในทิศทั้งหลาย เพราะฉะนั้น ด้วยเสียงอันดังลั่น. จริงอยู่ เจติยวัตร โพธิวัตร อาจริยวัตร อุปัชฌายวัตร หรือ โยนิโสมนสิการ อันชื่อว่า ควรลุกขึ้นทําแต่เช้า ย่อมไม่มีแก่ปริพาชกเหล่านั้น. เพราะเหตุนั้น ปริพาชกเหล่านั้น ลุกขึ้นแต่เช้าตรู่ แล้วนั่งในที่มีแสงแดดอ่อน ปรารภถึงอวัยวะ มีมือและเท้าเป็นต้น ของกันและกันอย่างนี้ว่า มือของคนนี้งาม เท้าของคนนี้งาม หรือปรารภถึงผิวพรรณของหญิง ชาย เด็กชาย และเด็กหญิงทั้งหลาย หรือปรารภถึงวัตถุอื่น ที่มีความยินดีในกาม และความยินดีในภพ เป็นต้น ตั้งถ้อยคําขึ้นแล้ว กล่าวเดรัจฉานกถาต่างๆ มีพูดถึงพระเจ้าแผ่นดิน เป็นต้น โดยลําดับ. ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า กล่าวเดรัจฉานกถาต่างๆ ด้วยเสียงอันดังลั่นดังนี้.

    ต่อแต่นั้น โปฏฐปาทปริพาชก มองดูปริพาชกพวกนั้นคิดว่า ปริพาชกเหล่านี้ ไม่เคารพต่อกันและกันเลย และพวกเราก็จะเป็นเหมือน หิ่งห้อยเมื่อพระอาทิตย์ขึ้น จําเดิมแด่พระสมณโคดมเสด็จมาปรากฏ แม้ลาภสักการของพวกเราก็เสื่อมไป ก็ถ้าสมณโคดม สาวกของพระโคดม หรือคฤหัสถ์ผู้บํารุงสมณโคดมนั้น จะพึงมาสู่สถานที่นี้ไซร้ ก็จักมีความน่าละอายเหลือเกิน

 
  ข้อความที่ 28  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 19 ก.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 182

อนึ่ง โทษของบริษัทแล จะตกอยู่กับหัวหน้าบริษัทเท่านั้น ดังนี้ เหลียวมองรอบๆ ก็เห็นพระผู้มีพระภาคเจ้า. ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า โปฏฐปาทปริพาชก ได้เห็นแล้วแล ฯลฯ ปริพาชกเหล่านั้น ได้พากันนิ่ง.

    ในบทเหล่านั้น บทว่า สณฺเปสิ อธิบายว่า ให้สําเหนียกถึงโทษแห่งเสียงนั้น คือ ให้เงียบเสียง พักเสียงนั้น โดยประการที่เสียงจะต้องเงียบอย่างดี. เพื่อปกปิดโทษของเสียงนั้น เหมือนอย่างบุรุษเข้ามาสู่ท่ามกลางบริษัท ย่อมนุ่งผ้าเรียบร้อย ห่มผ้าเรียบร้อย เช็ดถูสถานที่สกปรกด้วยธุลี เพื่อปกปิดโทษฉะนั้น. บทว่า อปฺปสทฺทา โภนฺโต ความว่า เมื่อให้สําเหนียก ก็ให้เงียบเสียงนั้นโดยประการที่เสียงจะเงียบอย่างดี. บทว่า อปฺปสฺทกาโม ความว่าโปรดเสียงเบา คนหนึ่งนั่ง คนหนึ่งยืน ย่อมไม่ให้เป็นไปด้วยการคลุกคลีด้วยหมู่. บทว่า อุปสงฺกมิตพฺพํ มณฺเยฺย ความว่า สําคัญว่าจะเสด็จเข้ามาในสถานนี้. ถามว่า ก็เพราะเหตุอะไร โปฏฐปาทปริพาชกนั่น จึงหวังการเสด็จเข้ามาของพระผู้มีพระภาคเจ้า. แก้ว่า เพราะปรารถนาความเจริญแก่ตน.

    ได้ยินว่า ปริพาชกทั้งหลาย ครั้นพระพุทธเจ้า หรือสาวกของพระพุทธเจ้า มาสู่สํานักของตนแล้ว ย่อมยกตนขึ้น ในสํานักของผู้บํารุงทั้งหลายของตน ย่อมตั้งตนไว้ในที่สูงว่า ในวันนี้สมณโคดมเสด็จมาสู่สํานักของพวกเรา พระสารีบุตรก็มา ท่านไม่ไปยังสํานักของใครเลย ท่านทั้งหลายพึงดูความยิ่งใหญ่ของพวกเรา ดังนี้. ย่อมพยายามเพื่อคบอุปัฎฐากทั้งหลายของพระผู้มีพระภาคเจ้าด้วย. ได้ยินว่า ปริพาชกเหล่านั้น เห็นอุปัฏฐากทั้งหลายของพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว กล่าวอย่างนี้ว่า ครูของพวกท่านจะเป็นพระโคดมก็ตาม จะเป็นสาวกของพระโคดมก็ตาม เป็นผู้เจริญย่อมมาสู่สํานักของพวกเรา พวกเราพร้อมเพรียงกัน แต่ท่านทั้งหลาย ไม่อยากมองดูพวกเราเลย ไม่ทําสามีจิกรรม

 
  ข้อความที่ 29  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 19 ก.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 183

พวกเรากระทําความผิดอะไรแก่พวกท่านเล่า. อนึ่ง มนุษย์บางพวกคิดว่า แม้พระพุทธเจ้าทั้งหลายย่อมไปสู่สํานักของปริพาชกเหล่านั้นได้ ก็จะไปสู่สํานักของพวกเราได้ มิใช่หรือ จําเดิมแต่นั้น ครั้นเห็นพระพุทธเจ้าทั้งหลายแล้ว ก็ไม่ประมาท.

    บทว่า ตุณฺหี อเหสํ ความว่า พวกปริพาชกเหล่านั้น ล้อมโปฏฐปาทะแล้ว พากันนั่งเงียบ.

    บทว่า สฺวาคตํ ภนฺเต ความว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ การเสด็จมาของพระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นการดี. ท่านแสดงไว้ว่า ก็ครั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จมา ก็มีความยินดี ครั้นเสด็จไปก็เศร้าโศก. ถามว่า เพราะเหตุอะไร โปฏฐปาทะจึงทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เป็นเวลานานแล แม้ในกาลก่อนพระผู้มีพระภาคเจ้าเคยเสด็จไปในที่นั้นหรือ. ตอบว่า ไม่เคยเสด็จไป. ก็มนุษย์ทั้งหลาย ย่อมทักทายด้วยคําน่ารักเป็นต้น อย่างนี้ว่า ท่านจะไปไหน ไปไหนมาท่านหลงทางหรือ ท่านมานานแล้วหรือ ดังนี้ เพราะเหตุนั้น โปฏฐปาทะ จึงทูลอย่างนั้น. ก็ครั้นทูลอย่างนี้แล้ว เป็นผู้ไม่กระด้างด้วยมานะ นั่ง แต่ลุกจากอาสนะแล้ว ทําการต้อนรับพระผู้มีพระภาคเจ้า. ด้วยว่า เห็นพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จเข้าไป แล้วไม่เชื้อเชิญด้วยอาสนะ หรือไม่ทําการอ่อนน้อม เป็นการได้ยาก. เพราะเหตุอะไร. เพราะความเป็นผู้มีตระกูลสูง. ปริพาชกแม้นี้ตบอาสนะที่ตนนั่งแล้ว เมื่อทูลเชื้อเชิญพระผู้มีพระภาคเจ้าด้วยอาสนะได้ทูลว่า ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าประทับนั่งเถิด พระเจ้าข้า นี่อาสนะได้แต่งไว้แล้ว ดังนี้.

    บทว่า อนฺตรากถา วิปฺปกตา ความว่า ทรงเปิดเผยอย่างพระสัพพัญูว่า ตั้งแต่พวกท่านนั่งมาแต่ต้นจนถึงเรามา สนทนากันเรื่องอะไร ที่ค้างไว้ในระหว่างนั้น คือ ถ้อยคําอะไรที่ยังไม่จบ เพราะเหตุเรามาถึง ขอพวกท่านจงบอกเถิด เราจะนําถ้อยคํานั้นแสดงให้จบ. ลําดับนั้น ปริพาชกแสดงว่า

 
  ข้อความที่ 30  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 19 ก.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 184

กถานั้น เป็นกถาไร้ประโยชน์ ไม่มีสาระ อิงอาศัยวัฏ ไม่ควรนํามากล่าวเฉพาะพระพักตร์ของพระองค์ จึงทูลคําเป็นต้นว่า กถานั้นจงงดเสียเถิด พระเจ้าข้า. บทว่า ติฏเตสา ภนฺเต ความว่า ปริพาชกแสดงว่า ถ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าจักประสงค์จะฟังไซร้ กถานั่นจะทรงสดับภายหลังก็ได้ไม่ยาก ก็ประโยชน์ด้วยกถานี้ ไม่มีแก่พวกข้าพระองค์ แต่พวกข้าพระองค์ ได้การเสด็จมา ของพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว จะทูลถามถึงเหตุการณ์ดีอย่างอื่นเทียว. ต่อแต่นั้น เมื่อจะทูลถามเหตุการณ์นั้น จึงทูลคําเป็นต้นว่า ปุริมานิ ภนฺเต ดังนี้.

    ในบทเหล่านั้น บทว่า โกตูหลสาลายํ ความว่า ศาลาแต่ละหลังชื่อว่า ศาลาอลหม่านไม่มี แต่สมณะและพราหมณ์ทั้งหลาย ผู้ถือลัทธิต่างๆ กล่าวถ้อยคําชนิดต่างๆ ให้เป็นไปในศาลาใดศาลานั้น เรียกว่า โกตูหลสาลา เพราะเป็นสถานที่เกิดความอลหม่าน สับสนแก่ชนมากว่า คนนี้กล่าวอะไร คนนี้กล่าวอะไร. คําว่า อภิ ในบทว่า อภิสญฺานิโรเธ นั้นเป็นเพียงอุปสรรค. บทว่า สญฺานิโรเธ ความว่า กถาเกิดขึ้นแล้วในจิตตนิโรธ คือ ขณิกนิโรธ. ก็คําว่า สัญญานิโรธ นี้ เป็นเหตุการณ์เกิดขึ้นแห่งกถานั้น.

    ได้ยินว่า ในกาลใด พระผู้มีพระภาคเจ้าแสดงชาดก หรือทรงบัญญัติสิกขาบท ในกาลนั้น เสียงสรรเสริญเกียรติคุณ ของพระผู้มีพระภาคเจ้าก็แผ่กระจายไปทั่วชมพูทวีป. พวกเดียรถีย์ได้ฟังเกียรติคุณนั้นแล้ว ก็กระทํากิริยา ตรงข้ามกับพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า นัยว่า พระโคดมผู้เจริญทรงแสดงบุรพจริยา พวกเราไม่สามารถ เพื่อแสดงบุรพจริยาบางอย่าง เช่นนั้นบ้างหรือ แสดงลัทธิระหว่างภพหนึ่ง บัญญัติสิกขาบทบางอย่างแก่สาวกของตนว่า พระโคดมผู้เจริญได้บัญญัติสิกขาบทแล้ว พวกเราจะไม่สามารถบัญญัติหรือ. ก็ในกาลนั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าประทับนั่ง ในท่ามกลางบริษัททั้ง ๘ ทรงแสดงนิโรธกถา.

 
  ข้อความที่ 31  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 19 ก.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 185

พวกเดียรถีย์ได้ฟังนิโรธกถานั้นแล้ว พากันประชุมกล่าวว่า นัยว่า พระโคดมผู้เจริญทรงแสดงกถา ชื่อ นิโรธ แม้พวกเราก็จักแสดง. ด้วยเหตุนั้นท่านจึงกล่าวว่า กถาได้เกิดแล้วในอภิสัญญานิโรธ ดังนี้.

    บทว่า ตเตฺรกจฺเจ ความว่า ในบรรดาสมณพราหมณ์นั้น บางพวก.

    ก็ในเรื่องนี้ บรรพชิตในลัทธิเดียรถีย์ภายนอกคนแรก บางคนเห็นโทษในความเป็นไปของจิต เจริญสมาบัติว่า ความไม่มีจิตสงบแล้ว จุติจากโลกนี้ ไปตกอยู่ในอสัญญีภพสิ้น ๕๐๐ กัป ก็มาเกิดในโลกนี้อีก เมื่อไม่เห็นความเกิดขึ้นของสัญญา และเหตุในความดับของคนนั้น จึงกล่าวว่า ไม่มีเหตุไม่มีปัจจัย.

    คนที่สอง ปฏิเสธคํากล่าวนั้น ถือเอาความที่มิคสิงคิดาบส ไม่มีสัญญาจึงกล่าวว่า มาสู่บ้าง ไปปราศบ้าง. นัยว่า มิคสิงคิดาบส สมีตบะร้อน มีตบะกล้า มีอินทรีย์ตั้งมั่นอย่างยิ่ง. ด้วยเดชแห่งศีลของดาบสนั้น ทําให้วิมานของท้าวสักกะร้อนได้. ท้าวสักกะเทวราช ทรงคิดว่า ดาบสต้องการตําแหน่งท้าวสักกะ หนอแล จึงส่งเทพกัญญา นามว่า อลัมพุสา ด้วยเทพบัญชาว่า เธอจงมาทําลายตบะของดาบส. เทพกัญญานั้น ไปแล้วในที่นั้น. ดาบสเห็นเทพกัญญาในวันแรก ก็หลีกไปสู่บรรณศาลา.

    ในวันที่สอง ดาบสถูกนิวรณ์ คือ กามฉันทะกลุ้มรุม จึงจับมือเทพกัญญานั้น. ดาบสนั้นถูกต้องทิพย์สัมผัสนั้น ก็สิ้นสัญญา ต่อเมื่อล่วงไปสามปี จึงกลับได้สัญญา. เขาเห็นมิคสิงคิดาบสนั้นแล้ว มีความเห็นแน่วแน่สําคัญว่า ออกจากนิโรธโดยล่วงไปสามปี จึงกล่าวอย่างนั้น.

    คนที่สาม ปฏิเสธคํากล่าวของคนที่สองนั้น มุ่งถึงการประกอบอาถรรพณ์ จึงกล่าวว่าสวมใส่บ้าง พรากออกบ้าง ดังนี้. ได้ยินว่า พวกอาถรรพณ์

 
  ข้อความที่ 32  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 19 ก.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 186

ประกอบอาถรรพณ์ กระทําสัตว์แสดงเหมือนศีรษะขาด มือขาด และเหมือนตายแล้ว. เขาเห็นสัตว์นั้นเป็นปกติอีก จึงมีความเห็นแน่วแน่ว่า สัตว์นี้ออกจากนิโรธ จึงกล่าวอย่างนั้น.

    คนที่สี่ คัดค้านคนที่สามมุ่งถึงการเมา และการหลับใหลของนางยักษ์ทาสีทั้งหลาย จึงกล่าวคําเป็นต้นว่า ดูก่อน ผู้เจริญก็เทวดาทั้งหลายมีอยู่ ดังนี้. ได้ยินว่า พวกนางยักษ์ทาสีทําการบํารุงเทวดาตลอดทั้งคืน ฟ้อนรํา ร้องเพลง ในวันอรุณขึ้นก็ดื่มสุราถาดหนึ่ง กลิ้งไปมาหลับแล้วตื่นในกลางวัน. เขาเห็นเหตุการณ์นั้น ก็มีความเห็นแน่วแน่สําคัญว่า ในเวลาหลับประกอบด้วยนิโรธ ในเวลาตื่นออกจากนิโรธ ดังนี้ จึงกล่าวอย่างนั้น.

    ก็โปฏฐปาทปริพาชกนี้ เป็นชาติบัณฑิต ด้วยเหตุนั้น เขามีความเดือดร้อน เพราะฟังกถานี้ กถาของพวกนั้น เป็นเหมือนถ้อยคําของแพะใบ้ ย่อมถึงนิโรธสี่นั่น และธรรมดานิโรธนี้พึงมีอย่างเดียว ไม่พึงมีมาก แม้นิโรธนั้น พึงเป็นอย่างอื่นอย่างเดียวเท่านั้น ก็เขาอันคนอื่นไม่อาจจะให้รู้ได้ นอกจากพระสัพพัญู จึงระลึกถึงพระทศพลเท่านั้นมา ถ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าจักมีในที่นี้ ก็จักระทํานิโรธ ให้ปรากฏในวันนี้ทีเดียว เหมือนตามประทีปตั้งพันดวงให้โชติช่วงชัชวาล นี้นิโรธ นี้มิใช่นิโรธ เพราะฉะนั้น จึงทูลคําเป็นต้นว่า สติของข้าพระองค์นั้น พระเจ้าข้า.

    ในบทเหล่านั้น คําว่า อโห นูน ทั้งสองเป็นนิบาตลงในอรรถว่าระลึกถึง. ด้วยเหตุนั้น เขาเมื่อระลึกถึงพระผู้มีพระภาคเจ้า จึงมีสติอย่างนี้ว่า น่าเลื่อมใสจริงหนอ พระผู้มีพระภาคเจ้า น่าเลื่อมใสจริงหนอ พระสุคต ในบทว่า โย อิเมสํ นั่นมีอธิบายอย่างนี้ว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์ใด ทรงฉลาดดี คือ ฉลาดด้วยดี เฉียบแหลม เฉลียวฉลาด ในนิโรธธรรมเหล่านั้น โอหนอ

 
  ข้อความที่ 33  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 19 ก.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 187

พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น พึงตรัส โอหนอพระสุคตพระองค์นั้น พึงตรัส. บทว่า ปกตญฺญู ความว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าเชื่อว่า ทรงรู้ปกติ คือ สภาพ เพราะความที่พระองค์ทรงฉลาดเป็นเนื่องนิตย์ เพราะฉะนั้น พระองค์จึงชื่อว่า ปกตัญญู ทรงรู้ช่ําชอง. ปริพาชกเมื่อจะทูลขอว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า ข้าพระองค์ไม่รู้ พระองค์ทรงรู้ โปรดตรัสบอกแก่ข้าพระองค์เถิด จึงกล่าวคํานี้ว่า ก็อภิสัญญานิโรธเป็นไฉนหนอ พระเจ้าข้า. ครั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าจะทรงแสดง จึงตรัสว่า ตตฺร โปฏปาท เป็นต้น.

    ในบทเหล่านี้ บทว่า ตตฺร ความว่า ในสมณพราหมณ์เหล่านั้น. บทว่า อาทิโต ว เตสํ อปรทฺธํ ความว่า ความเห็นของพวกนั้นผิดแต่ต้นทีเดียว. ท่านแสดงว่า ผิดพลาดในท่ามกลางเรือนทีเดียว. เหตุก็ดี ปัจจัยก็ดี ในบทนี้ว่า สเหตุสปฺปจฺจยา เป็นชื่อของเหตุการณ์นั้นเทียว. ความว่า มีการณ์. ก็เมื่อจะทรงแสดงการณ์นั้น จึงตรัสว่า สิกฺขา เอกา. ในบทเหล่านั้น บทว่า สิกฺขา เอกา สญฺา อุปฺปชฺชติ ความว่า สัญญาบางอย่าง ย่อมเกิดขึ้นเพราะศึกษา. บทว่า กา จ สิกฺขาติ ภควา อโวจ ความว่า ก็สิกขานั้นเป็นอย่างไร เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัส ด้วยอํานาจการถาม เพราะมีพระประสงค์ จะให้สิกขานั้นพิสดาร.

    อนึ่ง เพราะสิกขามีสามประการคือ อธิสีลสิกขา อธิจิตตสิกขา อธิปัญญาสิกขา เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อจะทรงแสดงสิกขาเหล่านั้น จึงทรงตั้งตันติธรรมจําเดิม แต่การเสด็จอุบัติของพระพุทธเจ้า เพื่อทรงแสดงนิโรธเกิดขึ้นอย่างมีเหตุ เพราะสัญญาจึงตรัสว่า ดูก่อน โปฏฐปาทะ พระตถาคตอุบัติขึ้นโลกนี้ เป็นต้น. บรรดาสิกขาทั้งสามนั้น สิกขาสองอย่างนี้ คือ อธิสีลสิกขา อธิจิตตสิกขา เท่านั้นมาโดยย่อ ส่วนสิกขาที่สาม พึงทราบว่ามาแล้ว

 
  ข้อความที่ 34  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 19 ก.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 188

เพราะเป็นสิกขา ที่เกี่ยวเนื่องด้วยอํานาจแห่ง สัมมทิฏฐิและสัมมาสังกัปปะ ในพระบาลีนี้ว่า ดูก่อน โปฏฐปาทะ ธรรมโดยส่วนเดียว อันเราแสดงแล้วว่า นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา ดังนี้แล.

    บทว่า กามสญฺ ได้แก่ ราคะอันระคนด้วยกามคุณห้าบ้าง กามราคะอันเกิดขึ้นไม่สม่ําเสมอบ้าง. ในสองอย่างนั้น ราคะอันระคนด้วยกามคุณห้า ย่อมถึงการกําจัดด้วยอนาคามิมรรค ส่วนกามราคะอันเกิดขึ้นไม่สม่ําเสมอ ย่อมเป็นไปในฐานะนี้ เพราะฉะนั้น บทว่า ตสฺส ยา ปุริมา กามสญฺจึงมีอรรถว่า สัญญาใดของภิกษุนั้น ผู้ประกอบพร้อมด้วยปฐมฌาน พึงเรียกว่า สัญญาเกี่ยวด้วยกามมีในก่อน เพราะเป็นเช่นกับกามสัญญาที่เคยเกิดในกาลก่อน สัญญานั้นย่อมดับ และที่ไม่เกิดแล้ว ก็ย่อมไม่เกิด. บทว่า วิเวกชปีติสุขสุขุมสจฺจสญฺา ตสฺมึ สมเย โหติ ความว่า สัญญาอันละเอียดกล่าวคือ มีปีติและสุข อันเกิดแต่วิเวก ในสมัยปฐมฌานนั้น เป็นสัจจะคือมีจริง. อนึ่ง สัญญานั้นอันละเอียด ด้วยสามารถละองค์อันหยาบ มีกามฉันทะเป็นต้น และชื่อว่า เป็นสัจจะเพราะเป็นของมีจริง เพราะฉะนั้น สัญญานั้น จึงเป็นสัญญาในสัจจะอันละเอียด สัญญาในสัจจะอันละเอียด ที่สัมปยุตด้วยปีติและสุข อันเกิดแต่วิเวก เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า วิเวก ปีติ สุข สุขุม สัจจสัญญา. สัญญานั้น ของภิกษุมีอยู่ เพราะฉะนั้น ภิกษุนั้นจึงชื่อว่า มีสัญญาในสัจจะอันละเอียด มีปีติและสุข อันเกิดแต่วิเวก พึงเห็นอรรถในบทนั้น เพียงเท่านี้. ในบททั้งปวง ก็มีนัยเช่นนั้น.

    ในบทว่า เอวํปิ สิกฺขา นั้น ความว่า เพราะภิกษุเข้าถึง และอธิษฐานปฐมฌาน ศึกษาอยู่ เพราะฉะนั้น ปฐมฌานนั้น เรียกว่าสิกขา เพราะเป็นกิจที่ควรศึกษาอย่างนี้ สัญญาในสัจจะอันละเอียด มีปีติและสุข อันเกิดแต่วิเวก บาง

 
  ข้อความที่ 35  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 19 ก.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 189

อย่าง ย่อมเกิดขึ้นอย่างนี้ ด้วยปฐมฌานกล่าวคือ สิกขาแม้นั้น กามสัญญาบางอย่างย่อมดับ อย่างนี้. บทว่า อยํ สิกฺขาติ ภควา อโวจ ความว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า นี้ก็เป็นสิกขาอย่างหนึ่ง คือ ปฐมฌาน. พึงเห็นเนื้อความในบททั้งปวง โดยทํานองนั้น.

    ก็เพราะการพิจารณาโดยองค์แห่งสมาบัติที่แปด ย่อมมีพระพุทธเจ้าทั้งหลายเท่านั้น ย่อมไม่มีแก่สาวกทั้งหลาย แม้เช่นกับพระสารีบุตร แต่การพิจารณาโดยรวมกลุ่มเท่านั้นย่อมมีแก่สาวกทั้งหลาย และการพิจารณาโดยองค์ อย่างนี้ว่า สัญญา สัญญานี้ได้ยกขึ้นแล้ว เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า ดูก่อน โปฏฐปาทะ เพราะภิกษุ ฯลฯ ถึงยอดสัญญา ดังนี้ เพื่อทรงแสดงอากิญจัญญายตนสัญญา อันยอดเยี่ยมแท้ แล้วแสดงสัญญานั้นอีกว่า ยอดสัญญา.

    ในบทเหล่านั้น บทว่า ยโต โข โปฏปาท ภิกฺขุ ความว่า ดูก่อน โปฏฐปาทะ ภิกษุชื่อใด. บทว่า อิธ สกสญฺญี โหติ ความว่า ภิกษุในพระศาสนานี้ มีสกสัญญา. อีกประการหนึ่ง บาลีก็เป็นอย่างนี้ ความว่า ภิกษุมีสัญญาด้วยสัญญา ในปฐมฌานของตน. บทว่า โส ตโต อมุตฺร ตโต อมุตฺร ความว่า ภิกษุนั้นมีสกสัญญา ด้วยฌานสัญญานั้นๆ อย่างนี้คือ ออกจากปฐมฌานนั้นแล้ว มีสัญญาในทุติยฌานโน้น ออกจากทุติยฌานนั้นแล้ว มีสัญญาในตติยฌานโน้น โดยลําดับ ไปถึงยอดสัญญา. อากิญจัญญายตนะ เรียกว่า สัญญัคคะ ยอดสัญญา. เพราะเหตุอะไร. เพราะเป็นองค์ที่สุดแห่งสมาบัติ ที่มีหน้าที่ทํากิจอันเป็นโลกีย์. ก็ภิกษุตั้งอยู่ ในอากิญจัญญาจตนสมาบัติแล้ว ย่อมเข้าถึง เนวสัญญานาสัญญายตนสมาบัติบ้าง นิโรธสมาบัติบ้าง. อากิญจัญญายตนสัญญานั้น เรียกว่า ยอดสัญญา เพราะเป็นองค์ที่สุดแห่งสมาบัติ ที่มีหน้าที่

 
  ข้อความที่ 36  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 19 ก.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 190

ทํากิจอันเป็นโลกีย์ ด้วยประการฉะนี้. ความว่า พระภิกษุถึง คือ บรรลุยอดสัญญานั้น.

    บัดนี้ เพื่อทรงแสดงอภิสัญญานิโรธ จึงตรัสว่า เมื่อเธอตั้งอยู่ในยอดสัญญา เป็นต้น. ในบทเหล่านั้น ความว่า ภิกษุเข้าถึงฌานในสอง. บทว่า เราพึงจํานง เราพึงมุ่งหวัง ชื่อว่า ย่อมคิด คือ ให้สําเร็จบ่อยๆ . ภิกษุกระทําความใคร่ เพื่อประโยชน์แก่สมาบัติชั้นสูงขึ้นไป ชื่อว่า พึงมุ่งหวัง. บทว่า อิมา จ เม สญฺา นิรุชฺเฌยยุํ ความว่า อากิญจัญญายตนสัญญานี้ พึงดับ. บทว่า อญฺา จ โอฬาริกา ความว่า และภวังคสัญญา อันหยาบอย่างอื่นพึงเกิดขึ้น. ในบทนี้ว่า เธอจึงไม่จํานงด้วย ทั้งไม่มุ่งหวังด้วย ภิกษุนั้นเมื่อจํานงชื่อว่าไม่จํานง เมื่อมุ่งหวังชื่อว่าไม่มุ่งหวังแน่แท้ การพิจารณาโดยผูกใจว่า เราออกจากอากิญจัญญายตนแล้ว เข้าถึงเนวสัญญานาสัญญายตนะ ตั้งอยู่ชั่ววาระจิตหนึ่ง สอง ย่อมไม่มีแก่ภิกษุนี้ แต่ย่อมมีเพื่อประโยชน์แก่ นิโรธสมาบัติชั้นสูงเท่านั้น. เนื้อความนี้นั้น พึงแสดงด้วยการมองดูเรือนของบุตร.

    ได้ยินว่า พระเถระถามภิกษุหนุ่ม ผู้ไปโดยท่ามกลางเรือนของบิดาแล้ว นําเอาโภชนะอันประณีตจากเรือนของบุตร ในภายหลังมาสู่อาสนศาลาว่า บิณฑบาตซึ่งน่าพอใจอันเธอนํามาจากที่ไหน. เธอจึงบอกเรือนที่ได้โภชนะว่าจากเรือนคนโน้น. ก็เธอไปแล้วก็ดี มาแล้วก็ดี โดยท่ามกลางเรือนบิดาใด แม้ความผูกใจของเธอ ในท่ามกลางเรือนนั้นย่อมไม่มี. ในเรื่องนั้น พึงเห็นอากิญจัญญายตนสมาบัติ เหมือนอาสนศาลา. เนวสัญญานาสัญญายตนสมาบัติ เหมือนเรือนของบิดา นิโรธสมาบัติ เหมือนเรือนของบุตร การที่ไม่พิจารณาโดยแยบคายว่า เราออกจากอากิญจัญญายตนแล้ว เข้าถึงแนวสัญญานาสัญญาย

 
  ข้อความที่ 37  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 19 ก.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 191

ตน จักตั้งอยู่ชั่ววาระจิตหนึ่ง สอง แล้วมนสิการเพื่อประโยชน์แก่ นิโรธสมาบัติชั้นสูงเท่านั้น เปรียบเหมือนการยืนอยู่ในอาสนศาลา ไม่สนใจถึงเรือนของบิดา แล้วบอกเรือนของบุตรฉะนั้น. ภิกษุนั้น เมื่อจํานงก็ชื่อว่าย่อมไม่จํานง เมื่อมุ่งหวังก็ชื่อว่าย่อมไม่มุ่งหวังด้วยประการฉะนี้.

    บทว่า ตา เจว สญฺ ความว่า ฌานสัญญานั้นย่อมดับ. บทว่า อญฺา จ ความว่า ทั้งภวังคสัญญาอย่างหยาบอื่น ย่อมไม่เกิดขึ้น. บทว่า โส นิโรธํ ผุสติ ความว่า ภิกษุนั้นปฏิบัติอย่างนี้ ย่อมถึง คือ ย่อมได้ ย่อมได้รับสัญญาเวทยิตนิโรธ. คําว่า อภิ ในบทว่า อนุปุพฺพาภิสญฺานิโรธสมฺปชานสมาปตฺติ นั้น เป็นเพียงอุปสรรค. บทว่า สมฺปชาน ได้กล่าวไว้ในระหว่างนิโรธบท. ก็ในบทว่า สมฺปชานสญฺานิโรธสมาปตฺติ นั้น มีเนื้อความตามลําดับดังนี้. แม้ในบทนั้น บทว่า สมฺปชานสญฺานิโรธสมาปตฺติ มีอรรถพิเศษอย่างนี้ว่า สัญญานิโรธสมาบัติในที่สุด ย่อมมีแก่ภิกษุผู้รู้ตัวอยู่ หรือแก่ภิกษุผู้เป็นบัณฑิตรู้ตัวอยู่. บัดนี้ ท่านที่อยู่ในที่นี้ พึงแสดงนิโรธสมาบัติกถา. ก็นิโรธสมาบัติกถานี้นั้น ได้แสดงไว้แล้ว ในหัวข้อว่าด้วยอานิสงส์แห่งการเจริญปัญญา ในวิสุทธิมรรค โดยอาการทั้งปวง. เพราะฉะนั้น พึงถือเอาจากที่กล่าวแล้ว ในวิสุทธิมรรคนั้น.

    พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสนิโรธกถา แก่โปฏฐปาทปริพาชกอย่างนี้แล้วต่อมา เพื่อให้โปฏฐปาทปริพาชกนั้น รับรู้ถึงกถาเช่นนั้น ไม่มีในที่อื่น จึงตรัสว่าเธอสําคัญความข้อนั้นเป็นไฉนเป็นต้น. ฝ่ายปริพาชกเมื่อจะทูลรับรู้ว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า ในวันนี้ นอกจากกถาของพระองค์แล้ว ข้าพระองค์ไม่เคยได้ฟังกถาเห็นปานนี้เลย จึงทูลว่า หามิได้พระเจ้าข้า เมื่อจะแสดงถึงความที่กถาของพระผู้มีพระภาคเจ้า ตนได้เรียนโดยเคารพอีก จึงทูลว่า ข้าพระองค์รู้

 
  ข้อความที่ 38  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 19 ก.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 192

ทั่วถึงธรรม ด้วยอาการอย่างนี้แล เป็นต้น. ลําดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อจะทรงอนุญาตแก่ปริพาชกนั้นว่า เธอจงรับไว้ด้วยดีเถิด จึงตรัสว่า อย่างนั้นโปฏฐปาทะ.

    ครั้งนั้น ปริพาชกคิดว่า อากิญจัญญายตนะ อันพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่ายอดสัญญา อากิญจัญญายตนะเท่านั้นหนอแล เป็นยอดสัญญา หรือว่ายังมียอดสัญญา แม้ในสมาบัติที่เหลืออีก เมื่อจะทูลถามอรรถนั้น จึงทูลว่า อย่างเดียวเท่านั้นหรือหนอแล เป็นต้น. ฝ่ายพระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงแก้คําถามของปริพาชกนั้นแล้ว. บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ปุถูปิ ได้แก่ มากก็มี. บทว่า ยถา ยถา โข โปฏปาท นิโรธํ ผุสติ ความว่า ด้วยกสิณใดๆ ในบรรดากสิณทั้งหลาย มีปฐวีกสิณ เป็นต้น หรือด้วยฌานใดๆ บรรดาฌานทั้งหลายมีปฐมฌาน เป็นต้น. ท่านกล่าวอย่างนี้ว่า ก็ถ้าภิกษุเข้าถึงปฐวีกสิณสมาบัติ ด้วยปฐวีกสิณเป็นเหตุเพียงครั้งเดียว ย่อมถึงสัญญานิโรธอันก่อน ยอดสัญญาก็มีอันเดียว ถ้าเข้าถึงสองครั้ง สามครั้ง ร้อยครั้ง พันครั้ง หรือแสนครั้ง ก็ย่อมถึงสัญญานิโรธอันก่อน ยอดสัญญาก็มีถึงแสน. ในกสิณที่เหลือทั้งหลาย ก็มีนัยเช่นเดียวกัน. แม้ในฌานทั้งหลาย ถ้าเข้าถึงสัญญานิโรธอันก่อน ด้วยปฐมฌานเป็นเหตุ เพียงครั้งเดียว ยอดสัญญาก็มีอย่างเดียว ถ้าเข้าถึงสัญญานิโรธอันก่อน สองครั้ง สามครั้ง ร้อยครั้ง พันครั้ง หรือแสนครั้ง ยอดสัญญาก็จะมีถึงแสน. ในฌานสมาบัติที่เหลือทั้งหลายก็นัยนี้. ยอดสัญญาย่อมมีหนึ่ง ด้วยอํานาจการเข้าถึงเพียงครั้งเดียว หรือเพราะสงเคราะห์วาระแม้ทั้งปวง ด้วยลักษณะแห่งการรู้จํา. ยอดสัญญาย่อมมีมาก ด้วยสามารถการเข้าถึงบ่อยๆ

    บทว่า สญฺา นุโข ภนฺเต ความว่า ปริพาชกทูลถามว่า สัญญาของ

 
  ข้อความที่ 39  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 19 ก.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 193

ภิกษุผู้เข้าถึงนิโรธ ย่อมเกิดขึ้นก่อนหรือ พระเจ้าข้า. พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพยากรณ์แก่ปริพาชกนั้นว่า สัญญาแลเกิดก่อน โปฏฐปาทะ. บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สญฺา ได้แก่ ฌานสัญญา. บทว่า าณํ ได้แก่ วิปัสสนาญาณ. อีกนัย บทว่า สญฺได้แก่ วิปัสสนา. บทว่า าณํ ได้แก่ มรรคสัญญา. อีกนัย บทว่า สญฺา ได้แก่ มรรคสัญญา. บทว่า าณํได้แก่ ผลญาณ. ก็พระมหาสิวเถระทรงไตรปิฎกกล่าวว่า ภิกษุเหล่านี้พูดอะไรกัน โปฏฐปาทะ ได้ทูลถามนิโรธ กะพระผู้มีพระภาคเจ้ามาแล้ว บัดนี้ เมื่อจะทูลถามถึง การออกจากนิโรธ จึงทูลว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อภิกษุออกจากนิโรธ อรหัตตผลสัญญาเกิดก่อน หรือว่า ปัจจเวกขณญาณเกิดก่อน ลําดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสแก่ ปริพาชกนั้นว่า ผลสัญญาเกิดก่อน ปัจจเวกขณญาณเกิดทีหลัง เพราะฉะนั้น สัญญาแลเกิดก่อน โปฏฐปาทะดังนี้ เป็นต้น.

    ในบทเหล่านั้น บทว่า สญฺญุปฺปาทา ความว่า ความเกิดขึ้นแห่ง ปัจจเวกขณญาณย่อมมีอย่างนี้ว่า เพราะอรหัตตผลสัญญาเกิดขึ้น อรหัตตผลนี้จึงเกิดทีหลัง. บทว่า อิทปฺปจฺจยา กิร เม ความว่า นัยว่า ปัจจเวกขณญาณได้เกิดขึ้นแล้วแก่เรา เพราะผลสมาธิสัญญาเป็นปัจจัย.

    บัดนี้ สุกรบ้านถูกให้อาบในน้ำหอม ลูบไล้ด้วยเครื่องหอม ประดับประดาพวงมาลา แม้ยกให้นอน บนที่นอนอันเป็นสิริ ก็ไม่ได้ความสุข ปล่อยให้ไปสู่สถานคูถโดยเร็ว ย่อมได้ความสุขฉันใด ปริพาชกก็ฉันนั้นเหมือนกัน ถูกพระผู้มีพระภาคเจ้าให้อาบ ลูบไล้ ประดับประดาด้วยเทศนา ที่ประกอบด้วยไตรลักษณ์ อันละเอียดสุขุมบ้าง ยกขึ้นสู่ที่นอนอันเป็นสิริคือ นิโรธกถา เมื่อไม่ได้ความสุขในนิโรธกถานั้น ถือเอาลัทธิของตน เช่นเดียวกับสถานคูถ เมื่อ

 
  ข้อความที่ 40  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 19 ก.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 194

จะทูลอรรถนั้นเทียว จึงทูลว่า พระเจ้าข้า สัญญาหนอแล เป็นตนของบุรุษดังนี้ เป็นต้น ลําดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงถือมติเล็กน้อย ของปริพาชกนั้น มีพระประสงค์จะพยากรณ์ จึงตรัสว่า ก็เธอปรารถนาตนอย่างไร เป็นต้น. โดยที่ปริพาชกนั้น เป็นผู้มีลัทธิอย่างนี้ว่า ตนไม่มีรูป จึงคิดว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงฉลาดดีในการแสดง พระองค์คงไม่กําจัดลัทธิของเรา ตั้งแต่ต้นเทียว เมื่อจะนําลัทธิของตน จึงทูลว่า อันหยาบแล เป็นต้น. ครั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าจะทรงแสดง โทษในลัทธินั้น แก่ปริพาชกนั้น จึงตรัสคํา เป็นต้นว่า ก็ตนของเธอหยาบ ดังนี้.

    บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า เอวํ สนฺตํ ความว่า ครั้นเมื่อเป็นอย่างนั้น.จริงอยู่ คํานั้นเป็นทุติยาวิภัตติ ลงในอรรถแห่งสัตตมีวิภัตติ. อีกอย่างหนึ่ง ในบทนี้ว่า ครั้นเมื่อเป็นเช่นนั้น เมื่อเธอปรารถนาตน มีอรรถดังนี้. ท่านกล่าวว่า ก็เพราะความที่ขันธ์ ๔ เกิดพร้อมกันดับพร้อมกัน สัญญาใดเกิด สัญญานั้นดับ ก็เพราะอาศัยกันและกัน สัญญาอื่นเกิด และสัญญาอื่นดับ.

    บัดนี้ ปริพาชกเมื่อจะแสดงลัทธิอื่น จึงกล่าวคําว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ปรารถนาตน อันสําเร็จด้วยใจแล ดังนี้เป็นต้น ครั้นแม้ในลัทธินั้นให้โทษแล้ว ถือลัทธิอื่น ละลัทธิอื่น เมื่อจะกล่าวลัทธิของตนในบัดนี้ จึงทูลว่า ไม่มีรูปแล ดังนี้ เป็นต้น เหมือนคนบ้าถือสัญญาอื่น สละสัญญาอื่น ตราบเท่าที่สัญญาของเขาไม่ตั้งมั่น แต่จะกล่าวคําที่ควรกล่าวในกาลที่มีสัญญาตั้งมั่น. ในลัทธิแม้นั้น เพราะเขาปรารภความเกิด และความดับแห่งสัญญา แต่สําคัญตนว่าเที่ยง เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อทรงแสดงโทษแก่ปริพาชกอย่างนั้น จึงตรัสว่า ครั้นเป็นอย่างนั้น เป็นต้น. ลําดับนั้นปริพาชกไม่รู้ตนต่างๆ นั้น แม้ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัส เพราะความที่ตนถูก

 
  ข้อความที่ 41  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 19 ก.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 195

ความเห็นผิดครอบงํา จึงทูลว่า ก็ข้าพระองค์อาจทราบได้หรือไม่ ว่า สัญญาเป็นตนของบุรุษ หรือสัญญาก็อย่างหนึ่ง ตนก็อย่างหนึ่ง ดังนี้เป็นต้น. ลําดับนั้น เพราะปริพาชกนั้น แม้เห็นอยู่ ซึ่งความเกิดและความดับแห่งสัญญา จึงสําคัญตน อันสําเร็จด้วยสัญญาเป็นของเที่ยงทีเดียว เพราะฉะนั้น พระผู้พระภาคเจ้าจึงตรัสคําว่า รู้ได้ยาก เป็นต้น แก่ปริพาชกนั้น.

    ในบทนั้น เนื้อความโดยย่อดังนี้ เธอมีทิฏฐิเป็นอย่างอื่น มีขันติเป็นอย่างอื่น มีความชอบใจเป็นอย่างอื่น มีทัสนะเป็นไปโดยประการอื่น และทัสนะอย่างอื่น ควรแก่เธอและพอใจแก่เธอ มีความพยายามในลัทธิอื่น มีอาจารย์ในลัทธิอื่น เพราะความที่ประกอบความขวนขวายปฏิบัติอย่างอื่น คือ ความเป็นอาจารย์ในลัทธิเดียรถีย์อย่างอื่น ด้วยเหตุนั้น ข้อที่ว่า สัญญาเป็นตนของบุรุษ หรือสัญญาก็อย่างหนึ่ง ตนก็อย่างหนึ่ง ดังนั้น นั่นอันเธอผู้มีทิฏฐิอย่างอื่น มีขันติเป็นอย่างอื่น มีความชอบใจเป็นอย่างอื่น มีความพยายามในลัทธิอื่น มีอาจารย์ในลัทธิอื่น รู้ได้ยากนัก.

    ลําดับนั้น ปริพาชกคิดว่า สัญญาเป็นตนของบุรุษ หรือว่าสัญญาเป็นอย่างอื่น เราจักทูลถามถึง ความที่ตนนั้น เป็นของเที่ยงเป็นตนนั่น จึงทูลอีกว่า กึ ปน ภนฺเต เป็นต้น. บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า โลโก ความว่าปริพาชกกล่าวหมายถึง ตน. บทว่า น เหตํ โปฏปาท อตฺถสญฺหิตํ ความว่า ดูก่อน โปฏฐปาทะ ข้อนั้นอิงทิฏฐิ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ในโลกนี้หรือในโลกอื่น ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ตนและประโยชน์คนอื่น. บทว่า น ธมฺมสญฺหิตํ ความว่า ไม่ประกอบด้วยโลกุตตรธรรมเก้า. บทว่า น อาทิพฺรหมฺจริยกํ ความว่า ไม่เป็นเบื้องต้นแห่งพรหมจรรย์ในศาสนา กล่าวคือ ไตรสิกขา ทั้งไม่เป็นอธิสีลสิกขาด้วย บทว่า นิพฺพิทาย ความว่า

 
  ข้อความที่ 42  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 19 ก.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 196

ไม่เป็นไปเพื่อประโยชน์แห่งความเบื่อหน่ายในสังสารวัฏฏ์. บทว่า น วิราคาย ความว่า ไม่เป็นไปเพื่อประโยชน์แห่งการสํารอกวัฏ. บทว่า น นิโรธาย ความว่า ไม่เป็นไปเพื่อประโยชน์แห่งการกระทําการดับวัฏ. บทว่า น อุปสมาย ความว่า ไม่เป็นไปเพื่อประโยชน์ในการสงบระงับวัฏ. บทว่า น อภิญฺาย ความว่า ไม่เป็นไปเพื่อรู้แจ้งซึ่งวัฏ คือ เพื่อกระทําให้ประจักษ์. บทว่า น สมฺโพธาย ความว่า ไม่เป็นไปเพื่อประโยชน์แก่การรู้ชอบซึ่งวัฏ. บทว่า น นิพฺพานาย ความว่า ไม่เป็นไปเพื่อกระทําให้ประจักษ์ ซึ่งอมตมหานิพพาน.

    ในบทว่า นี้ทุกข์ เป็นต้น มีอรรถว่า ขันธ์ห้าอันเป็นไปในภูมิสาม เว้นตัณหา เราพยากรณ์ว่าทุกข์ ตัณหาอันมีขันธ์ห้านั้นเป็นปัจจัย เพราะเป็นบ่อเกิดแห่งทุกข์นั้น เราพยากรณ์ว่า ทุกขสมุทัย ความไม่เป็นไปแห่งขันธ์ และตัณหาทั้งสองนั้น เราพยากรณ์ว่า ทุกขนิโรธ มรรคมีองค์แปดอันประเสริฐ เราพยากรณ์ว่า ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา. ก็พระผู้มีพระภาคเจ้าครั้นตรัสดังนี้แล้ว ทรงดําริว่า ชื่อว่า ความปรากฏแห่งมรรค หรือการกระทําให้แจ้งซึ่งผล ไม่มีแก่ปริพาชกนี้ และเป็นเวลาภิกษาจารของเราแล้ว จึงทรงนิ่งเสีย. ฝ่ายปริพาชกรู้พระอาการนั้น เหมือนจะทูลบอก ถึงการเสด็จไปของพระผู้มีพระภาคเจ้า จึงทูลว่า เอวเมตํ เป็นต้น.

    บทว่า วาจาย สนฺนิปโตทเกน ความว่า ด้วยปฏักคือ ถ้อยคํา. บทว่า สญฺชมฺภริมกํสุ ความว่า ได้ทําการเสียดแทง โปฏฐปาทปริพาชกโดยรอบ คือ กระทบเนืองนิตย์. ท่านกล่าวว่า เสียดแทงเบื้องบน.

    บทว่า ภูตํ ความว่า มีอยู่โดยสภาพ. บทว่า ตจฺฉํ ตถํ เป็นไวพจน์ของบทนั้นแล. บทว่า ธมฺมฏิตตํ ความว่า สภาพตั้งอยู่ในโลกุตตรธรรมเก้า.

 
  ข้อความที่ 43  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 19 ก.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 197

บทว่า ธมฺมนิยามตํ ความว่า แน่นอน ถูกต้อง ตามทํานองคลองโลกุตตรธรรม.จริงอยู่ ขึ้นชื่อว่า กถาที่พ้นจากสัจจะทั้งสี่ ย่อมไม่มีแก่พระพุทธเจ้าทั้งหลาย เพราะฉะนั้น กถาจึงเป็นเช่นนี้.

    บทว่า จิตฺโต จ หตฺถิสาริปุตฺโต ความว่า ได้ยินว่า จิตตหัตถิสารีบุตร นั้น เป็นบุตรของควาญช้างในกรุงสาวัตถี บวชในสํานักของพระผู้มีพระภาคเจ้า เล่าเรียนไตรปิฎก เป็นผู้ฉลาด ในระหว่างแห่งอรรถทั้งหลาย อันละเอียด. แต่บวชแล้วสึก เป็นคฤหัสถ์ถึงเจ็ดครั้ง ด้วยอํานาจแห่งบาปกรรม ที่เคยกระทําไว้ในกาลก่อน.

    ได้ยินว่า ในพระศาสนาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระนามว่า กัสสปะ ยังมีสหายสองคนพร้อมเพียงกันสาธยายร่วมกัน. ในสหายทั้งสองนั้น สหายคนหนึ่งไม่ความยินดี ยังจิตให้เกิดขึ้น ในความเป็นคฤหัสถ์ จึงกล่าวแก่สหายอีกคน. สหายคนหนึ่งนั้น แสดงโทษในความเป็นคฤหัสถ์ และอานิสงส์แห่งบรรพชาสั่งสอนเธอ. สหายคนแรกนั้นฟังสหายอีกคนนั้น แล้วยินดีในวันหนึ่งอีก ครั้นจิตเช่นนั้นเกิดขึ้นแล้ว จึงบอกกะเพื่อนว่า ท่านผู้มีอายุ จิตเห็นปานนั้นเกิดขึ้นแก่ผม ผมจักให้บาตรและจีวรนี้แก่ท่าน. สหายอีกคนนั้น เพราะมีความโลภในบาตรและจีวร จึงแสดงอานิสงส์ในความเป็นคฤหัสถ์ แสดงโทษแห่งบรรพชาอย่างเดียว. ครั้งนั้น เพราะความที่เขาฟังเพื่อนแล้วเป็นคฤหัสถ์ จิตก็เบื่อหน่ายยินดีในบรรพชาอย่างเดียว. เธอนั้นได้สึกถึงหกครั้ง ในบัดนี้ เพราะความที่เธอแสดงอานิสงส์ ในความเป็นคฤหัสถ์แก่ภิกษุผู้มีศีล ในกาลนั้นแล้วบวชในครั้งที่ ๗ ได้โต้แย้งสอดขึ้น ในระหว่างที่พระมหาโมคคัลลานะ และพระมหาโกฏฐิตเถระ กล่าวอภิธรรมกถา. ลําดับนั้น พระมหาโกฏฐิตเถระ จึงได้รุกรานติเตียนเธอ. เธอเมื่อไม่อาจเพื่อดํารงอยู่ ในวาทะที่มหาสาวกกล่าวได้

 
  ข้อความที่ 44  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 19 ก.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 198

จึงได้สึกเป็นฆราวาส. ก็เธอผู้นี้ เป็นเพื่อนคฤหัสถ์ของโปฏฐปาทปริพาชก เพราะฉะนั้น จึงสึกไปสู่สํานักของโปฏฐปาทปริพาชก โดยล่วงไปสองสามวัน. ต่อมาโปฏฐปาทะนั้น เห็นเขาแล้ว จึงพูดว่า แนะเพื่อน ท่านทําอะไร ท่านจึงหลีกออกจาก ศาสนาของพระศาสดา เห็นปานนี้ จึงมา ท่านสมควรบวชในบัดนี้ พาเขาไปสู่สํานักของพระผู้มีพระภาคเจ้า. ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า จิตตหัตถิสารีบุตร และโปฏฐปาทปริพาชก ดังนี้.

    บทว่า อนฺธา ความว่า เพราะความที่จักษุ คือ ปัญญาไม่มี. ชื่อว่า ไม่มีจักษุ เพราะไม่มีจักษุคือปัญญานั้น. บทว่า ตฺวญฺจว เนสํ เอโก จกฺขุมา ความว่า มีจักษุคือปัญญา สักว่ารู้สุภาษิตและทุพภาษิต. บทว่า เอกํสิกา ความว่า ส่วนหนึ่ง. บทว่า ปฺตฺตา ความว่า ตั้งแล้ว. บทว่า อเนกํสิกา ความว่า ไม่ใช่ส่วนเดียว อธิบายว่า ไม่ได้ตรัสว่าเที่ยง หรือว่าไม่เที่ยงโดยส่วนเดียว.

    พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงปรารภ คําว่า สนฺติ โปฏปาท นี้ เพราะเหตุไร. เพื่อทรงแสดงถึงบัญญัติที่สุด อันเจ้าพาเหียรทั้งหลายบัญญัติไว้ ไม่เป็นเครื่องให้ออกจากทุกข์ได้. เดียรถีย์แม้ทั้งปวง ย่อมบัญญัติที่สุดด้วยอํานาจว่า โลกมีที่สุด เป็นต้น ในลัทธิของตนๆ เหมือนพระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงบัญญัติอมตนิพพาน ฉะนั้น. ก็บัญญัติที่สุดนั้น ไม่เป็นที่นําออกจากทุกข์ได้ เป็นเพียงบัญญัติย่อมไม่นำออกจากทุกข์ ไม่ไป อันบัณฑิตทั้งหลายปฏิเสธเป็นไปกลับโดยประการอื่น เพื่อทรงแสดงบัญญัติที่สุดนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสอย่างนี้. ในบทเหล่านั้น บทนี้ว่า เอกนฺตสุขํ โลกํ ชานํ ปสฺสํ ความว่า ท่านทั้งหลาย เมื่อรู้เมื่อเห็นอย่างนี้ว่า ในทิศตะวันออกโลกมีสุขโดยส่วนเดียว หรือในทิศใดทิศหนึ่ง บรรดาทิศทั้งหลาย มีทิศตะวันตก เป็นต้น อยู่เถิด วัตถุทั้งหลายมีทรวดทรงแห่งร่างกาย เป็นต้น ของมนุษย์ทั้งหลายในโลกนั้น ท่านทั้งหลายเคย

 
  ข้อความที่ 45  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 19 ก.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 199

เห็นแล้ว. บทว่า อปฺปาฏิหิรีกตํ ความว่า ภาษิตไร้ผล คือ เว้นจากการแจ้งให้ทราบ ท่านกล่าวว่า เป็นที่ไม่นําออกจากทุกข์.

    บทว่า ชนปทกลฺยาณี ความว่า ไม่เป็นเช่นกับหญิงทั้งหลายอื่น ที่มีผิวพรรณทรวดทรงลีลาอากัปกิริยา เป็นต้น ในชนบท.

    พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงแสดงความที่บัญญัติที่สุด ในสมณพราหมณ์เหล่าอื่น ไม่เป็นที่นําออกจากทุกข์อย่างนี้แล้ว จึงตรัสว่า ตโย โข เม โปฏปาท เป็นต้น เพื่อทรงแสดงความที่บัญญัติของพระองค์ เป็นธรรมนําออกจากทุกข์ได้. ในบทเหล่านั้น บทว่า อตฺตปฏิลาโภ ความว่า การกลับได้อัตตภาพ. ก็ในบทว่า อตฺตปฏิลาโภ นั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงภพ ๓ ด้วยการกลับได้อัตตภาพ ๓ อย่าง. ทรงแสดงกามภพ ตั้งแต่อเวจี มีปรนิมมิตวสวัตตีเป็นที่สุด ด้วยการกลับได้อัตตภาพที่หยาบ. ทรงแสดงรูปภพ ตั้งแต่ชั้นปฐมฌาน ถึงอกนิฏฐพรหมโลกเป็นที่สุด ด้วยการกลับได้อัตตภาพที่สําเร็จด้วยใจ. ทรงแสดงอรูปภพ ตั้งแต่อากาสานัญจายตนพรหมโลกมี เนวสัญญานาสัญญายตนพรหมโลก เป็นที่สุด ด้วยการกลับได้อัตตภาพที่ไม่มีรูป.

    อกุศลจิตตุปบาทสิบสองอย่าง ชื่อว่า สังกิเลสธรรม. สมถวิปัสสนา ชื่อว่า โวทานธรรม. บทว่า ปญฺาปาริปูรึ เวปุลฺลตฺตํ ความว่า ซึ่งความบริบูรณ์และความไพบูลย์แห่งมรรคปัญญา และผลปัญญา. บทว่า ปามุชฺชํ ได้แก่ ปีติอย่างอ่อน. บทว่า ปีติ ได้แก่ ความยินดีมีกําลัง. ท่านกล่าวอย่างไร. ท่านกล่าวอย่างนี้ว่า ในบทที่ ท่านกล่าวว่า กระทําแจ้งด้วยอภิญญาด้วยตนเอง จักเข้าถึงอยู่นั้น เมื่อภิกษุนั้นอยู่อย่างนี้ ก็จักมีความปราโมทย์ ปีติความสงบใจและกาย สติดํารงดี อุดมญาณและอยู่อย่างสุข และในบรรดาการอยู่ทั้งปวง การอยู่อย่างนี้นั้นเทียว สมควรกล่าวว่า เป็นสุข คือ สงบแล้ว มีความหวานอย่างยิ่ง.

 
  ข้อความที่ 46  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 19 ก.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 200

    บรรดาฌานเหล่านั้น ในปฐมฌาน ย่อมได้ธรรมแม้หกอย่าง มีความปราโมทย์ เป็นต้น. ในทุติยฌาน ความปราโมทย์ กล่าวคือ ปีติอย่างอ่อน ย่อมเป็นไปย่อมได้ธรรมห้าอย่าง ที่เหลือ. ในตติยฌาน แม้ปีติที่ย่อมเป็นไป ย่อมได้ธรรมสี่อย่างที่เหลือ. ในจตุตถฌานก็เหมือนกัน. ก็ในฌานเหล่านี้ ท่านกล่าวฌานที่เป็นบาท แห่งวิปัสสนาบริสุทธิ์เท่านั้นไว้ ในสัมปสาทสูตร. กล่าววิปัสสนาพร้อมกับมรรคสี่ ในปาสาทิกสูตร. กล่าวผลสมาบัติอันเกี่ยวกับจตุตถญาน ในทสุตตรสูตร. ผลสมาบัติเกี่ยวกับทุติฌานทําปราโมทย์ ให้เป็นไวพจน์ของปีติพึงทราบว่า ท่านกล่าวไว้แล้ว ในโปฏฐปาทสูตร นี้.

    วา ศัพท์ในบทนี้ว่า อยํ วา โส เป็นอรรถลงในการทําให้แจ้ง. เราให้แจ่มแจ้งแล้วประกาศแล้วว่านี้ นั้นพึงพยากรณ์. ความว่า สมณพราหมณ์เหล่าอื่น ถูกเราถามอย่างนี้ว่า ท่านทั้งหลายรู้จักตน อันมีสุขโดยส่วนเดียวหรือ ก็จะกล่าวว่า ไม่รู้จักโดยประการใด เราจะไม่กล่าวโดยประการนั้น. บทว่า สปฺปาฏิหิรีกตํ ความว่า ภาษิตจะมีการแจ้งให้ทราบ คือ เป็นที่นําออกจากทุกข์.

    บทว่า โมโฆ โหติ ความว่า เป็นของเปล่า. อธิบายว่า การได้อัตตภาพนั้น ย่อมไม่มีในสมัยนั้น. บทว่า สจฺโจ โหติ ความว่า เป็นของมีจริง. อธิบายว่า การได้อัตตภาพนั้นเทียว เป็นของจริงในสมัยนั้น. ก็ในข้อนี้ จิตตะบุตรควาญช้างนี้ แสดงการได้อัตตภาพ ๓ อย่างเพราะความที่ตนไม่เป็นสัพพัญญู จึงไม่สามารถยกขึ้นอ้างว่าธรรมดา การได้อัตตภาพนั่นเป็นเพียงบัญญัติ จึงกล่าวเลี่ยงว่า การได้อัตตภาพเท่านั้น. ลําดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงประสงค์จะแสดง แก่จิตตะบุตรควาญช้าง นั้นว่า ก็ในข้อนี้ ธรรมทั้งหลายมีรูป เป็นต้น การได้อัตตภาพนั้นเป็นเพียงสักว่าชื่อ ครั้นธรรมทั้งหลายมีรูปเป็นต้นนั้นๆ มีอยู่โวหารมีรูปปานนี้ ก็ย่อมมี เพื่อทรงจับเอาถ้อยคําของจิตตะบุตรควาญ-

 
  ข้อความที่ 47  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 19 ก.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 201

ช้างนั้นแหละ เลี่ยงตรัสด้วยอํานาจแห่งนามบัญญัติ จึงตรัสเป็นต้นว่า ดูก่อน จิตตะ ในสมัยใดๆ ก็ครั้นตรัสอย่างนั้นแล้ว เพื่อจะสอบถามนําไป จึงตรัสอีกว่า ถ้าสมณพราหมณ์ทั้งหลาย พึงถามอย่างนั้น กะจิตตะบุตรควาญช้างนั้น เป็นต้น.

    ในบทเหล่านั้น บทว่า โย เม อโหสิ ความว่า การได้อัตตภาพที่เป็นอดีต ของข้าพระองค์เป็นจริงในสมัยนั้น. ในบทว่า การได้อัตตภาพที่เป็นอนาคตเป็นโมฆะ ที่เป็นปัจจุบันก็เป็นโมฆะนั้น จิตตะบุตรควาญช้างแสดงเนื้อความนี้ เพียงเท่านี้ว่า ธรรมทั้งหลายที่เป็นอดีต ย่อมไม่มีในปัจจุบันนี้ แต่ถึงอันนับว่า ได้มีแล้ว เพราะฉะนั้น การได้อัตตภาพของข้าพระองค์แม้นั้น จึงเป็นจริงในสมัยนั้น ส่วนการได้อัตตภาพที่เป็นอนาคต ก็เป็นโมฆะ ที่เป็นปัจจุบันก็เป็นโมฆะในสมัยนั้น เพราะธรรมทั้งหลายที่เป็นอนาคต และที่เป็นปัจจุบันไม่มีในเวลานั้น. เขารับรู้การได้อัตตภาพเพียงเป็นนามโดยอรรถอย่างนี้. แม้ในอนาคต และปัจจุบันก็มีนัยเช่นเดียวกัน.

    ลําดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าเพื่อจะทรงเปรียบเทียบพยากรณ์ ของพระองค์กับพยากรณ์ของจิตตะบุตรควาญช้างนั้น จึงตรัสว่า เอวเมวโข จิตฺต ดังนี้ เป็นต้น เมื่อจะทรงแสดงอรรถนี้ โดยอุปมาอีกจึงตรัสว่า เสยฺยถาปิ จิตฺต ควา ขีรํ เป็นต้น. ในบทนั้น มีเนื้อความ โดยย่อดังนี้ นมสดมีจากโค นมส้มเป็นต้น มีจากนมสดเป็นต้น ในข้อนี้ สมัยใดยังเป็นนมสดอยู่ สมัยนั้นก็ไม่ถึงซึ่งอันนับ คือ นิรุตติ นามโวหารว่า เป็นนมส้ม หรือเป็นเนยใสเป็นต้น อย่างใดอย่างหนึ่ง เพราะเหตุอะไร เพราะไม่มีธรรมทั้งหลาย ที่ได้โวหารเป็นต้นว่านมส้ม แต่สมัยนั้น ถึงซึ่งอันนับว่า เป็นนมสดอย่างเดียว

 
  ข้อความที่ 48  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 19 ก.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 202

เพราะเหตุไร เพราะมีธรรมทั้งหลาย ซึ่งเป็นอันนับ คือ นิรุตติ นามโวหารว่า นมสด. ในบททั้งปวงก็นัยนั้น.

    บทว่า อิมา โข จิตฺต ความว่า ดูก่อน จิตตะ การได้อัตตภาพอันหยาบ การได้อัตตภาพ อันสําเร็จแต่ใจ และการได้อัตตภาพอันไม่มีรูป เหล่านี้แล เป็นโลกสัญญา. พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดง การได้อัตตภาพ ๓ อย่าง เบื้องต่ําอย่างนี้ว่า เหล่านั้นเป็นเพียงชื่อในโลก เป็นเพียงสัญญา เหล่านั้นเป็นเพียงภาษาในโลก เป็นเพียงแนวคําพูด เป็นเพียงโวหาร เป็นเพียงนามบัญญัติ ดังนี้แล้ว บัดนี้จึงตรัสว่า นั้นทั้งหมดเป็นเพียงโวหาร. เพราะเหตุอะไร. เพราะโดยปรมัตถ์ไม่มีสัตว์ โลกนั้นสูญ ว่างเปล่า.

    ก็กถาของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย มีสองอย่าง คือ สัมมติกถา และปรมัตถกา. ในกถาทั้งสองอย่างนั้น กถาว่า สัตว์ คน เทวดา พรหม เป็นต้น ชื่อว่า สัมมติกถา. กถาว่าอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ขันธ์ ธาตุ อายตนะ สติปัฏฐาน สัมมัปปธานเป็นต้น ชื่อว่า ปรมัตถกถา. ในกถาเหล่านั้น ผู้ใดครั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า สัตว์ คน เทวดา หรือพรหม ย่อมสามารถเพื่อรู้แจ้ง เพื่อแทงตลอด เพื่อนําออกจากทุกข์ เพื่อถือเอาซึ่งการจับธง คือ พระอรหัตด้วยสัมมติเทศนา พระผู้มีพระภาคเจ้าก็จะตรัสว่า สัตว์ คน เทวดาหรือว่าพรหม เป็นเบื้องต้นแก่ผู้นั้น. ผู้ใดฟังธรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง เป็นต้นว่า อนิจจัง หรือทุกขัง ด้วยปรมัตถเทศนา ย่อมอาจเพื่อรู้แจ้ง เพื่อแทงตลอด เพื่อนําออกจากทุกข์ เพื่อถือเอาซึ่งการจับธง คือ พระอรหัต พระผู้มีพระภาคเจ้า ก็จะทรงแสดงธรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง เป็นต้นว่า อนิจจัง หรือว่าทุกขังแก่ผู้นั้น. เพราะฉะนั้น จึงไม่แสดงปรมัตกถาก่อน แม้แก่สัตว์ผู้จะรู้ด้วยสัมมติกถา แต่จะทรงให้รู้ด้วยสัมมติกถาแล้ว จึงทรงแสดงปรมัตถกถา

 
  ข้อความที่ 49  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 19 ก.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 203

ในภายหลัง จะไม่ทรงแสดงสัมมติกถาก่อน แม้แก่สัตว์ผู้จะรู้ด้วยปรมัตถกถา แต่จะทรงแสดง ให้รู้ด้วยปรมัตถกถาแล้ว จึงทรงแสดงสัมมติกถาในภายหลัง. แต่โดยปกติเมื่อทรงแสดงปรมัตถกถาก่อนเทียว เทศนาก็จะมีอาการหยาบ เพราะฉะนั้น พระพุทธเจ้าทั้งหลายทรงแสดงสัมมติกถาก่อนแล้ว จึงทรงแสดงปรมัตถกถาในภายหลัง แม้เมื่อจะทรงแสดงสัมมติกถา ก็จะทรงแสดงตามความเป็นจริง ตามสภาพไม่เท็จ แม้เมื่อจะทรงแสดงปรมัตถกถา ก็ทรงแสดงตามความเป็นจริง ตามสภาพไม่เท็จ. โบราณจารย์กล่าวคาถาไว้ว่า

พระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐ เมื่อจะตรัสก็ตรัสสัจจะ ๒ อย่างคือ สัมมติสัจจะ และปรมัตถสัจจะ จะไม่ได้สัจจะที่ ๓ สังเกตวจนะเป็นสัจจะ เป็นเหตุแห่งโลกสมมติ ปรมัตถวจนะเป็นสัจจะ เป็นลักษณะมีจริงแห่งธรรมทั้งหลาย ดังนี้.

    บทว่า ยาหิ ตถาคโต โวหรติ อปรามสนฺโต ความว่า พระตถาคตทรงประมวลเทศนาว่า ชื่อว่า ไม่ทรงเกี่ยวข้อง เพราะไม่มีความเกี่ยวข้องด้วยตัณหา มานะ และทิฏฐิ ตรัสด้วยโลกสมัญญา ด้วยโลกนิรุตติ ทรงจบเทศนาด้วยยอด คือ พระอรหัต. คําที่เหลือในบททั้งปวงมีอรรถง่ายทั้ง นั้นแล.

    โปฏฐปาทสุตตวัณณนา ในทีฆนิกายอรรถกถา ชื่อ สุมังคลวิลาสินี จบเพียงเท่านี้

    จบโปฏฐปาทสูตร ที่ ๙