นิตยภัตคืออะไร ใช่เงินหรือไม่?

 
khampan.a
วันที่  8 พ.ค. 2564
หมายเลข  34197
อ่าน  2,010

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
นิตยภัตคืออะไร ใช่เงินหรือไม่?

นิตยภัต มาจากคำบาลีว่า ธุวภตฺต และ นิจฺจภตฺต หมายถึง ภัตตาหาร ที่ตั้งไว้ประจำ เป็นความประสงค์ของผู้ถวายว่าจะถวายอาหารเป็นประจำ แก่สงฆ์ หรือ แก่พระภิกษุทั้งหลายตามจำนวนที่ผู้ถวายระบุไว้ซึ่งจะเป็นกี่รูปก็ตาม แต่ถ้าเป็นนิตยภัตที่ถวายแก่สงฆ์ ซึ่งเป็นการถวายโดยไม่เจาะจงถวายแก่ภิกษุรูปหนึ่งรูปใดนั้น ก็ขึ้นอยู่กับสงฆ์จะมอบหมายให้ภิกษุใดเป็นตัวแทนสงฆ์ไปรับ โดยมีคฤหัสถ์เป็นผู้ถวาย และที่สำคัญ นิตยภัต ไม่ใช่เงิน ไม่ใช่เงินประจำตำแหน่งของภิกษุ แต่เป็นภัตตาหาร เพราะเงิน ไม่ควรแก่เพศบรรพชิต ก่อนบวชท่านสละเงินแล้ว จึงบวช เพราะฉะนั้น เมื่อบวชแล้ว จึงรับเงินไม่ได้ และคฤหัสถ์ ก็ต้องไม่ถวายเงินแก่พระภิกษุด้วย เพราะเป็นเหตุให้ภิกษุต้องอาบัติ ซึ่งเป็นโทษแก่ตัวท่าน

ข้อความในสมันตปาสาทิกา อรรถถา [เล่มที่ 1] พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ ปฐมภาค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้าที่ ๘๗ แสดงถึงการถวายนิตยภัต ของพระเจ้าอโศกมหาราช ดังนี้

“พระเจ้าอโศกมหาราช ได้ทรงตั้งนิตยภัตไว้สำหรับภิกษุหกแสนรูป ในภายในพระราชนิเวศน์ เพราะความเลื่อมใสที่เป็นไปในพระนิโครธเถระนั่นเอง ฝ่ายพระนิโครธเถระ ก็ให้พระราชา พร้อมทั้งบริษัทดำรงอยู่ในไตรสรณคมน์ และเบญจศีล ทำให้เป็นผู้มีความเลื่อมใสไม่หวั่นไหว ด้วยความเลื่อมใสอย่างปุถุชน แล้วให้ดำรงมั่นอยู่ในพระพุทธศาสนา


อีกตัวอย่างหนึ่ง ใน [เล่มที่ 43] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๔ -หน้า ๔๒๓ พราหมณ์ผู้เลื่อมใสในพระพุทธศาสนา ได้ถวายนิตยภัตแก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้

ได้ยินว่า พราหมณ์นั้นฟังธรรมเทศนาของพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้วมีจิตเลื่อมใส เริ่มตั้งนิตยภัตเพื่อภิกษุมีประมาณ ๑๖ รูป ไว้ในเรือนของตน


สำหรับในปัจจุบันนี้ มีผู้เข้าใจผิดและทำผิดเป็นอย่างมาก เพราะเข้าใจผิดว่า นิตยภัต เป็นเงิน แต่ตามความเป็นจริงแล้ว ตามพระราชประสงค์ของพระมหากษัตริย์ พระองค์ไม่ได้ถวายเงินแก่พระภิกษุ แต่พระองค์ทรงพระราชทานเงิน เพื่อให้ทางฝ่ายราชการนำเงินส่วนนี้ ไปจัดหาภัตตาหารเพื่อถวายพระภิกษุ เป็นประจำ ซึ่งจะต้องดำเนินการอย่างนี้ จึงจะถูกต้องตรงตามพระธรรมวินัย เพราะไม่ได้ถวายเงินแก่พระภิกษุ แต่เพราะผู้ดำเนินการไม่มีความเข้าใจพระวินัย ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ก็นำเงินส่วนนี้ ไปถวายแก่พระภิกษุ จะในรูปแบบใดก็ตาม นั่นคือ การกระทำที่ไม่เอื้อเฟื้อต่อพระวินัย ไม่มีความเคารพยำเกรงในพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งเป็นเหตุให้พระภิกษุรับเงินทองล่วงละเมิดพระวินัย ไม่ประพฤติตามสิกขาบทที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงบัญญัติไว้ เป็นโทษกับภิกษุนั้น อันเนื่องมาจากการกระทำของคฤหัสถ์ผู้ไม่เข้าใจในพระธรรมวินัยนั่นเอง
ตามความเป็นจริงแล้ว ภิกษุในพระธรรมวินัย ไม่รับและไม่ยินดีในเงินและทอง ไม่มีเงินและทอง มีเพียงบริขารเครื่องใช้อันเหมาะควรแก่บรรพชิต และอาศัยปัจจัย (สิ่งที่เกื้อกูลให้ชีวิตเป็นไปได้) ๔ ในการดำรงชีวิตเพื่อให้ชีวิตเป็นไปได้ในการที่จะศึกษาพระธรรมอบรมเจริญปัญญาขัดเกลากิเลส เท่านั้น ได้แก่ อาหารบิณฑบาตที่ได้มาจากศรัทธาของชาวบ้าน จีวรเครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย และยารักษาโรคเมื่อเกิดอาพาธ (เจ็บป่วย) พระภิกษุรูปใด รับเงินและทอง ย่อมผิดพระวินัย ต้องอาบัตินิสสัคคิยปาจิตตีย์ ใน [เล่มที่ 3] พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ ปฐมภาค-ทุติยภาค เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้าที่ ๙๔๐ สิกขาบทที่ ๘ แห่งโกสิยวรรค ว่า

“อนึ่ง ภิกษุใด รับก็ดี ให้รับก็ดี ซึ่งทอง เงิน หรือ ยินดีทอง เงิน อันเขาเก็บไว้ให้ เป็นนิสสัคคิยปาจิตตีย์”


พระภิกษุจะเกี่ยวข้องกับเงินทองไม่ได้โดยประการทั้งปวง พระภิกษุ รับเงินเพื่อตนเอง ก็อาบัติ รับเงินเพื่อผู้อื่นก็อาบัติ รับเงิน เพื่อทำสิ่งอื่น ก็อาบัติ คือ ล่วงละเมิดพระวินัยบัญญัติที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงบัญญัติไว้ทั้งหมด พระภิกษุในพระธรรมวินัยจะต้องประพฤติปฏิบัติตามพระธรรมวินัย เท่านั้น จะประพฤตินอกพระธรรมวินัย ไม่ได้ ไม่ว่าจะบวชนานแล้วหรือพึ่งบวช ก็จะประพฤตินอกพระธรรมวินัยไม่ได้ เพราะการมีเงินทอง ใช้จ่ายเงินทอง เป็นชีวิตของคฤหัสถ์ ไม่ใช่ชีวิตของพระภิกษุ ครับ

ขอเชิญศึกษาเพิ่มเติมได้ที่หัวข้อด้านล่างนี้ครับ

- นิตยภัต ไม่ใช่เงิน

- ภิกษุคือใคร

... ยินดีในความดีของทุกๆ ท่านครับ ...


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
วันชัย๒๕๐๔
วันที่ 8 พ.ค. 2564

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ 

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
chatchai.k
วันที่ 8 พ.ค. 2564

ขออนุโมทนาครับ 

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
ธนฤทธิ์
วันที่ 8 พ.ค. 2564

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ 

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
สิริพรรณ
วันที่ 9 พ.ค. 2564

กราบขอบพระคุณยินดีในกุศลค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
Kalaya
วันที่ 9 พ.ค. 2564

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
Dechachot
วันที่ 10 พ.ค. 2564

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ 

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ