บวชมาตั้งนาน แต่ไม่เข้าใจธรรมะ ค่าอยู่ที่ไหน

 
วันชัย๒๕๐๔
วันที่  3 เม.ย. 2564
หมายเลข  33986
อ่าน  577

อ.สุจินต์ บริหารวนเขตต์  : ถ้ากล่าวว่าสิ่งใดมีค่า สิ่งนั้นมีค่าแก่อะไร คู่ควรแก่อะไร คู่ควรแก่นิพพาน นิพพานคืออะไร ดับกิเลส เพราะฉะนั้น ไม่ได้หมายความว่า ให้ใครมารีบๆ มาช่วยกันปฏิบัติ แล้วจะได้ดับกิเลส เป็นไปไม่ได้เลย นั่นไม่รู้จักพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่รู้จักพระธรรม

เพราะฉะนั้น ต้องไม่ลืมว่า ธรรมะละเอียดลึกซึ้ง ทำไมว่าละเอียดลึกซึ้งปานนี้ ในแสนโกฏิกัปป์มาแล้ว ในสังสารวัฏฏ์ รู้หรือเปล่า? ถ้ารู้ได้ ก็ไม่ลึกซึ้ง แต่นี่ อยู่ไปเถอะ อีกนานเท่าไหร่ก็ตาม ถ้าไม่ได้ฟังคำที่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้และทรงแสดง ไม่มีทางที่จะรู้ว่า สิ่งที่งามจริงๆ มีค่าที่สุดเหนือสิ่งอื่นใด ก็คือการหมดกิเลส แค่หมดกิเลสก็ยังไม่อยากที่จะหมดกิเลส แต่อยากถึงนิพพาน ไม่เข้าใจอะไรเลยทั้งสิ้น ไม่เห็นความลึกซึ้งของทุกคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามีค่าควรแก่การถึงนิพพาน

แต่ว่าไม่ได้บังคับใครให้ไปถึงเร็วๆ ถ้าไม่เข้าใจจะถึงอะไร ก็ถึงความไม่เข้าใจไปเรื่อยๆ ยิ่งไม่เข้าใจ ก็ยิ่งไม่เข้าใจ ถึงความไม่เข้าใจไป ออกจากความไม่เข้าใจไม่ได้

แต่ค่าสูงสุด ผู้ที่ได้สะสมปัญญามาแล้ว ได้ฟังก็รู้เลยว่า ไม่มีอะไรที่น่ายินดี เท่ากับการได้เข้าใจคำที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตรัสถึงความจริงถึงที่สุดของสิ่งที่มีจริงๆ ในขณะนี้ ซึ่งคนที่ไม่ได้ยินไม่ได้ฟังเลย ไม่มีทางจะเข้าใจเองได้

พราะฉะนั้น ไม่จำกัดว่าจะเป็นใคร ผ้าเปลือกไม้หรือว่าผ้ากาสี ถึงแม้จะเพิ่งบวช แต่เข้าใจธรรมะ กับ บวชตั้งนาน แต่ไม่เข้าใจธรรมะ ค่าอยู่ที่ไหน?

ติดตามการสนทนาฉบับเต็มได้ที่ลิงก์นี้ : 

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้าที่ ๔๘๙

นวสูตร

(ว่าด้วยบุคคลที่เปรียบได้กับผ้าเปลือกไม้ และผ้ากาสี ๓ ชนิด)

[๕๓๙] ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ผ้าเปลือกไม้ แม้ใหม่ก็สีทราม สัมผัสหยาบ และราคาถูก แม้กลางใหม่กลางเก่าก็สีทราม สัมผัสหยาบ และราคาถูก แม้เก่าแล้วก็สีทราม สัมผัสหยาบ และราคาถูก ผ้าเปลือกไม้ที่คร่ำคร่าแล้ว เขาก็ทำเป็นผ้าเช็ดหม้อข้าวบ้าง ทิ้งเสียที่กองขยะบ้าง ฉันใด

ฉันนั้นนั่นแหละ ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุนวกะก็ดี ภิกษุมัชฌิมะก็ดี ภิกษุเถระก็ดี ถ้าเป็นผู้ทุศีล มีธรรมอันเลว เรากล่าวความทุศีล มีธรรมเลวนี้ ในความมีสีทรามของภิกษุ กล่าวบุคคลนี้ว่าเหมือนผ้าเปลือกไม้ มีสีทราม ฉะนั้น

อนึ่ง ชนเหล่าใดคบหาสมาคม ทำตามเยี่ยงอย่างภิกษุนั้น ข้อนั้น ย่อมเป็นไปเพื่อสิ่งอันไม่เกื้อกูล เพื่อทุกข์แก่ชนเหล่านั้น ตลอดกาลนาน เรากล่าวการคบหาสมาคมทำตามเยี่ยงอย่างที่เป็นเหตุให้เกิดสิ่งอันไม่เกื้อกูล เพื่อทุกข์ นี้ ในความมีสัมผัสหยาบของภิกษุ กล่าวบุคคลนี้ว่า ดุจผ้าเปลือกไม้ มีสัมผัสหยาบ ฉะนั้น

อนึ่ง ภิกษุนั้นรับจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ คิลานปัจจัยเภสัชบริขาร ของชนเหล่าใด ข้อนั้น ย่อมไม่เป็นการมีผลานิสงส์มากแก่ชนเหล่านั้น เรากล่าวการรับปัจจัยอันไม่เป็นการมีผลานิสงส์มากแก่ทายกนี้ ในความมีราคาถูกของภิกษุ กล่าวบุคคลนี้ว่าเป็นดังผ้าเปลือกไม้มีราคาถูก ฉะนั้น

อนึ่ง ภิกษุเถระชนิดนั้น กล่าวอะไรในท่ามกลางสงฆ์ ภิกษุทั้งหลายก็กล่าวเอาว่า “ประโยชน์อะไรด้วยถ้อยคำของท่านผู้โง่เขลา ตัวท่านก็ควรจักรู้ว่าคำใดที่ตนเองควรกล่าว” ภิกษุเถระนั้น โกรธน้อยใจ ก็จะใช้ถ้อยคำชนิดที่เป็นเหตุให้สงฆ์ลงอุกเขปนียกรรม เหมือนเขาทิ้งผ้าเปลือกไม้เก่าเสียที่กองขยะ ฉะนั้น

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ผ้ากาสี แม้ใหม่ก็สีงาม สัมผัสนิ่ม และราคาแพง แม้กลางใหม่กลางเก่า ก็สีงาม สัมผัสนิ่มและราคาแพง แม้เก่าแล้วก็สีงามสัมผัสนิ่มและราคาแพง ผ้ากาสี ถึงคร่ำคร่าแล้ว เขายังใช้เป็นผ้าห่อสิ่งที่มีค่า บ้าง เก็บไว้ในหีบ อบของหอมบ้าง ฉันใด

ฉันนั้นนั่นแหละ ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุนวกะก็ดี ภิกษุมัชฌิมะก็ดี ภิกษุเถระก็ดี ถ้าเป็นผู้มีศีลมีธรรมอันดี เรากล่าวความมีศีลมีธรรมดีนี้ ในความมีสีงามของภิกษุ กล่าวบุคคลนี้ว่าเหมือนผ้ากาสีมีสีงาม ฉะนั้น

อนึ่ง ชนเหล่าใดคบหาสมาคมทำตามเยี่ยงอย่างภิกษุนั้น ข้อนั้นย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์สุขของชนเหล่านั้นตลอดกาลนาน เรากล่าวการคบหาสมาคมทำตามอย่างที่เป็นเหตุให้เกิดประโยชน์สุขนี้ ในความมีสัมผัสนิ่มของภิกษุ กล่าวบุคคลนี้ว่า ดุจผ้ากาสีมีสัมผัสนิ่ม ฉะนั้น

อนึ่ง ภิกษุนั้นรับจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ คิลานปัจจัยเภสัชบริขารของชนเหล่าใด ข้อนั้นย่อมเป็นการมีผลานิสงส์มากแก่ชนเหล่านั้น เรากล่าวการรับปัจจัยอันเป็นการมีผลานิสงส์มากแก่ทายกนี้ ในความมีราคาแพงของภิกษุ กล่าวบุคคลนี้ว่า เสมือนผ้ากาสีมีราคาแพง ฉะนั้น

อนึ่ง ภิกษุเถระ ผู้มีคุณธรรมอย่างนี้ กล่าวอะไรขึ้นในท่ามกลางสงฆ์ ภิกษุทั้งหลายก็พากันกล่าวว่า ท่านทั้งหลาย จงสงบเสียงเถิด ภิกษุผู้ใหญ่จะกล่าวธรรมกล่าววินัยนี้ ดังนี้ เพราะเหตุนั้น เธอทั้งหลายพึงสำเหนียกในข้อนี้ว่า เราทั้งหลาย จักเป็นอย่างผ้ากาสี ไม่เป็นอย่างผ้าเปลือกไม้ ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลาย พึงสำเหนียกอย่างนี้แล

จบนวสูตรที่ 


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
chatchai.k
วันที่ 3 เม.ย. 2564

ขออนุโมทนาครับ 

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ