ปฏิสัลลานสูตร ... พระสูตรสนทนาออนไลน์วันเสาร์ที่ ๑๓ มีนาคม ๒๕๖๔

 
มศพ.
วันที่  9 มี.ค. 2564
หมายเลข  33846
อ่าน  794

นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทธสฺส
นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทธสฺส
นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทธสฺส

พุทฺธํ สรณํ คจฺฉามิ
ธมฺมํ สรณํ คจฺฉามิ
สงฺฆํ สรณํ คจฺฉามิ

•••..... ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย .....•••

พระสูตรที่จะนำมาสนทนาออนไลน์

วันเสาร์ที่ ๑๓ มีนาคม ๒๕๖๔

คือ

ปฏิสัลลานสูตร

...จาก...

[เล่มที่ 44] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้าที่ ๕๙๖

[เล่มที่ 44] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้าที่ ๕๙๖

ปฏิสัลลานสูตร

(ว่าด้วยพวก ๗ คน)

[๑๓๒] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้ :-

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ ปุพพาราม ปราสาทของนางวิสาขา มิคารมารดา ใกล้พระนครสาวัตถี ก็สมัยนั้นแล ในเวลาเย็น พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จออกจากที่เร้น ประทับนั่งอยู่ภายนอกซุ้มประตู ลำดับนั้นแล พระเจ้าปเสนทิโกศล เสด็จเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าถึงที่ประทับ ทรงถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว ประทับนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง

ก็สมัยนั้น ชฎิล ๗ คน นิครนถ์ ๗ คน อเจลก ๗ คน เอกสาฎก ๗ คน
และปริพาชก ๗ คน มีขนรักแร้และเล็บงอกยาว หาบบริขารหลายอย่าง เดินผ่านไปในที่ไม่ไกลพระผู้มีพระภาคเจ้า พระเจ้าปเสนทิโกศลได้ทอดพระเนตรเห็นชฎิล ๗ คน นิครนถ์ ๗ คน อเจลก ๗ คน เอกสาฎก ๗ คนและปริพาชก ๗ คนเหล่านั้น ผู้มีขนรักแร้และเล็บงอกยาว หาบบริขารหลายอย่าง เดินผ่านไปในที่ไม่ไกลพระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นแล้วทรงลุกจากอาสนะ ทรงกระทำผ้าห่มเฉวียงบ่าข้างหนึ่งแล้วทรงคุกพระชานุมณฑลเบื้องขวาลงที่แผ่นดิน ทรงประนมอัญชลีไปทางชฎิล ๗ คน นิครนถ์ ๗ คน อเจลก ๗ คน เอกสาฎก ๗ คน และปริพาชก ๗ คนแล้ว ทรงประกาศพระนาม ๓ ครั้งว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญทั้งหลาย ข้าพเจ้าคือพระเจ้า
ปเสนทิโกศล ข้าแต่ท่านผู้เจริญทั้งหลาย ข้าพเจ้าคือพระเจ้าปเสน
ทิโกศล
ข้าแต่ท่านผู้เจริญทั้งหลาย ข้าพเจ้าคือพระเจ้าปเสนทิโกศล

ลำดับนั้นแล เมื่อชฎิล ๗ คน นิครนถ์ ๗ คน อเจลก ๗ คน เอกสาฎก ๗ คน และปริพาชก ๗ คนเหล่านั้นหลีกไปแล้วไม่นาน พระเจ้าปเสนทิโกศลเสด็จเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าถึงที่ประทับ ทรงถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว ประทับนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็ท่านเหล่านั้นเป็นคนหนึ่งในจำนวนพระอรหันต์หรือในจำนวนท่านผู้บรรลุอรหัตมรรค ในโลก

[๑๓๓] พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ดูกร มหาบพิตร มหาบพิตรเป็นคฤหัสถ์บริโภคกาม ทรงครองฆราวาส คับคั่งด้วยพระโอรสและพระมเหสี ทรงใช้สอยผ้าแคว้นกาสีและจันทน์ ทรงทัดทรงดอกไม้ ของหอมและเครื่องประเทืองผิว ทรงยินดีเงินและทอง ยากที่จะทรงทราบได้ว่าท่านเหล่านี้เป็นพระอรหันต์ หรือว่าท่านเหล่านี้บรรลุอรหัตมรรค

๑. ดูกร มหาบพิตร ศีล พึงทราบได้ด้วยการอยู่ร่วมกัน และศีลนั้นแล พึงทราบได้โดยกาลนาน ไม่ใช่โดยกาลนิดหน่อย เมื่อมนสิการพึงทราบได้ ไม่มนสิการไม่พึงทราบ ผู้มีปัญญาพึงทราบได้ ผู้มีปัญญาทราม ไม่พึงทราบ

๒. ความเป็นผู้สะอาด พึงทราบได้ด้วยการปราศรัย และความเป็นผู้สะอาดนั้นแลพึงทราบได้โดยกาลนาน ไม่ใช่โดยกาลนิดหน่อย มนสิการพึงทราบได้ ไม่มนสิการไม่พึงทราบ ผู้มีปัญญาพึงทราบได้ ผู้มีปัญญาทรามไม่พึงทราบ

๓. กำลังใจ พึงทราบได้ในเพราะอันตราย และกำลังใจนั้นแล พึงทราบได้โดยกาลนาน ไม่ใช่โดยกาลนิดหน่อย มนสิการพึงทราบได้ ไม่มนสิการไม่พึงทราบ ผู้มีปัญญาพึงทราบได้ ผู้มีปัญญาทรามไม่พึงทราบ

๔. ปัญญา พึงทราบได้ด้วยการสนทนา ก็ปัญญานั้นแล พึงทราบได้โดยกาลนาน ไม่ใช่โดยกาลนิดหน่อย มนสิการพึงทราบได้ ไม่มนสิการไม่พึงทราบ ผู้มีปัญญาพึงทราบได้ ผู้มีปัญญาทรามไม่พึงทราบ

[๑๓๔] พระเจ้าปเสนทิโกศล กราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ น่าอัศจรรย์ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ไม่เคยมีมา พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสพระดำรัสนี้ว่า ดูกร มหาบพิตร มหาบพิตรเป็นคฤหัสถ์บริโภคกาม ทรงครองฆราวาส คับคั่งด้วยพระโอรสและมเหสี ทรงใช้สอยผ้าแคว้นกาสีและจันทน์ ทรงทัดทรงดอกไม้ ของหอม และเครื่องประเทืองผิว ทรงยินดีเงินและทอง ยากที่จะรู้ได้ว่า ท่านเหล่านั้นเป็นพระอรหันต์หรือว่าท่านเหล่านี้บรรลุอรหัตมรรค

ดูกร มหาบพิตร ศีล พึงทราบได้ด้วยการอยู่ร่วมกัน
และศีลนั้นแลพึงทราบได้โดยกาลนาน ไม่ใช่โดยกาลนิดหน่อย มนสิการพึงทราบได้ ไม่มนสิการไม่พึงทราบ ผู้มีปัญญาพึงทราบได้ ผู้มีปัญญาทรามไม่พึงทราบ

ความเป็นผู้สะอาด พึงทราบได้ด้วยการปราศรัย และ
ความเป็นผู้สะอาดนั้นแลพึงทราบได้โดยกาลนาน ไม่ใช่โดยกาลนิดหน่อย มนสิการพึงทราบได้ ไม่มนสิการไม่พึงทราบ ผู้มีปัญญาพึงทราบได้ ผู้มีปัญญาทรามไม่พึงทราบ

กำลังใจ พึงทราบได้ในเพราะอันตราย และกำลัง
ใจนั้นแลพึงทราบได้โดยกาลนาน ไม่ใช่โดยกาลนิดหน่อย มนสิการพึงทราบได้ ไม่มนสิการไม่พึงทราบ ผู้มีปัญญาพึงทราบได้ ผู้มีปัญญาทรามไม่พึงทราบ

ปัญญาพึงทราบได้ด้วยการสนทนา และปัญญานั้นแลพึงทราบ
ได้โดยกาลนาน ไม่ใช่โดยกาลนิดหน่อย มนสิการพึงทราบได้ ไม่มนสิการไม่พึงทราบ ผู้มีปัญญาพึงทราบได้ ผู้มีปัญญาทรามไม่พึงทราบ

ข้าแต่
พระองค์ผู้เจริญ พวกราชบุรุษของหม่อมฉันเหล่านี้ ปลอมตัวเป็นนักบวชเที่ยวสอดแนม ตรวจตราชนบทแล้วกลับมา พวกเขาตรวจตราก่อน หม่อมฉันจักตรวจตราภายหลัง ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ บัดนี้ พวกเขาลอยธุลีและมลทินแล้ว อาบดีแล้ว ไล้ทาดีแล้ว ตัดผมโกนหนวดแล้ว นุ่งผ้าขาวอิ่มเอิบพรั่งพร้อมด้วยกามคุณ ๕ บำเรอตนอยู่

ลำดับนั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทราบเนื้อความนี้แล้ว จึงทรงเปล่งอุทานนี้ในเวลานั้นว่า

บรรพชิต ไม่ควรพยายามในบาปกรรมทั่วไป ไม่ควรเป็นคนใช้ของผู้อื่น ไม่ควรอาศัยผู้อื่นเป็นอยู่ ไม่ควรแสดงธรรม เพื่อประโยชน์แต่ทรัพย์

จบปฏิสัลลานสูตรที่ ๒


อรรกถา ปฏิสัลลานสูตร

ขอเชิญอ่านได้ที่หัวข้อด้านล่างนี้

อรรถกถา ปฏิสัลลานสูตร



  ความคิดเห็นที่ 1  
 
khampan.a
วันที่ 9 มี.ค. 2564

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ข้อความโดยสรุป

ปฏิสัลลานสูตร

(ว่าด้วยพวก ๗ คน)

เมื่อครั้งที่พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ที่ปุพพาราม พระเจ้าปเสนทิโกศล ก็ได้เข้าไปเฝ้าพระองค์ ในขณะนั้น มีนักบวช พวกละ ๗ คน ผ่านไปในที่ไม่ไกลพระผู้มีพระภาคเจ้า พระเจ้าปเสนทิโกศล ก็ประคองอัญชลีไปทางนักบวชเหล่านั้น พร้อมทั้งประกาศพระนามของพระองค์ เมื่อนักบวชเหล่านั้นผ่านไปแล้ว พระองค์ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า นักบวชเหล่านั้น คงจักเป็นพระอรหันต์

พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตรัสว่า พระเจ้าปเสนทิโกศล ทรงเป็นคฤหัสถ์ พรั่งพร้อมด้วยสิ่งที่น่ายินดีพอใจ และ ยังยินดีในในเงินและทอง ยากที่จะรู้ได้ว่าใครเป็นพระอรหันต์ เพราะศีล จะรู้ได้ ก็ต่อเมื่ออยู่ด้วยกัน ความสะอาด จะรู้ได้ ก็ด้วยการปราศัย (ถ้อยคำ) กำลังใจ รู้ได้ เมื่อมีอันตราย และปัญญา รู้ได้ ด้วยการสนทนา ซึ่งทั้งหมดนั้นจะต้องอาศัยเวลาที่นาน พร้อมทั้งมีการใส่ใจ และ มีปัญญาด้วย จึงจะรู้ได้

พระเจ้าปเสนทิโกศลได้กราบทูลสรรเสริญพระภาษิตของพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้วได้กราบทูลว่า แท้ที่จริงแล้ว นักบวชเหล่านั้น เป็นราชบุรุษของข้าพระองค์เอง ซึ่งปลอมเป็นนักบวช เพื่อทำการสอดแนมตรวจตราชนบท

พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงปรารภถึงเหตุการณ์ที่ราชบุรุษของพระเจ้าปเสนทิโกศล ปลอมเป็นนักบวช เพื่อทำการสอดแนม ตรวจตราชนบท พระองค์จึงทรงเปล่งพระอุทาน เพื่อเป็นเครื่องเตือนบรรพชิต ว่า ไม่ควรมีพฤติกรรมเหมือนอย่างราชบุรุษของพระเจ้าปเสนทิโกศลซึ่งปลอมเป็นนักบวช ดังนี้

บรรพชิต ไม่ควรพยายามในบาปกรรมทั่วไป ไม่ควรเป็นคนใช้ของผู้อื่น ไม่ควรอาศัยผู้อื่นเป็นอยู่ ไม่ควรแสดงธรรม เพื่อประโยชน์แต่ทรัพย์


ในอรรถกถา ได้อธิบายไว้ สรุปได้ดังนี้

-บรรพชิต ไม่ควรพยายามในการทำชั่วทั้งปวงที่บรรพชิตไม่สามารถจะกระทำได้เลย แต่ควรพยายามสะสมบุญ แม้จะเป็นเพียงเล็กน้อยก็ตาม

-บรรพชิต ไม่ควรทำหน้าที่รับใช้ผู้อื่นในเพศของบรรพชิต ซึ่งการรับใช้ผู้อื่น ก็ไม่พ้นจากการที่จะทำให้บรรพชิตทำในสิ่งที่ไม่เหมาะควรประการต่างๆ

-บรรพชิต ไม่ควรพึ่งพาอาศัยผู้อื่นในทางที่ไม่ถูกต้องเพื่อการเลี้ยงชีพของตน ไม่ควรพึ่งอกุศลกรรม เพราะอกุศลกรรม ไม่สามารถเป็นที่พึ่งได้ เพราะมีแต่จะนำความพินาศมาให้เท่านั้น

-บรรพชิต ไม่ควรกล่าวธรรมเพราะเหตุแห่งทรัพย์ เพราะการกล่าวธรรม เพื่อต้องการทรัพย์ ก็เหมือนกับการนำเอาธรรมมาทำการค้า หรือแม้แต่การทำสิ่งที่ไม่เหมาะควร ในเพศของบรรพชิต โดยที่ไม่ให้บุคคลอื่นสงสัย ปกปิดด้วยเพศบรรพชิต เพื่อให้ได้ทรัพย์ ทั้งๆ ที่ตนเองยังปฏิญาณตนว่าเป็นบรรพชิต (เหมือนกับกรณีที่ราชบุรุษของพระเจ้าปเสนทิโกศลที่ปลอมเป็นนักบวช ทำการสอดแนม ตรวจตราชนบท) ก็ชื่อว่า นำเอาธรรมมาทำการค้า ซึ่งบรรพชิต ไม่ควรทำ หรือ แม้การประพฤติพรหมจรรย์ (ประพฤติประเสริฐ) เพื่อต้องการเกิดเป็นเทวดา ก็ชื่อว่า นำเอาธรรมมาทำการค้า ซึ่งก็เป็นสิ่งที่ไม่ควรทำ

ขอเชิญศึกษาเพิ่มเติมได้ที่หัวข้อด้านล่างนี้ครับ

พระภิกษุ ต้องงดงามตามพระธรรมวินัย

ภิกษุ เป็นเพศที่ขัดเกลากิเลสอย่างยิ่ง

พระภิกษุก็ตกนรกได้

พระภิกษุรับเงินและทองได้หรือไม่

กัณฑ์เทศน์ไม่ใช่เงิน พระเรี่ยไรรับเงิน บวชทำไม

...ยินดีในความดีของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
pulit
วันที่ 10 มี.ค. 2564

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
chatchai.k
วันที่ 10 มี.ค. 2564

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
ธีรพันธ์
วันที่ 12 มี.ค. 2564

ขอถวายความนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
papon
วันที่ 12 มี.ค. 2564

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ