เวทนาเป็นปัจจัยแก่ตัณหา [วิสุทธิมรรค]

 
wittawat
วันที่  22 ก.พ. 2564
หมายเลข  33774
อ่าน  780

เวทนาเป็นปัจจัยแก่ตัณหา

วิสุทธิมรรค ภาค ๓ ตอน ๑ หน้าที่ 353

แก้บท เวทนาปจฺจยา ตณฺหา

[คาถาสังเขปตัณหา]

ตัณหา ๖ โดยแยกเป็นรูปตัณหาเป็นต้น ทรงแสดงในบทนี้ ในตัณหาเหล่านั้น ตัณหาข้อหนึ่งๆ ทราบกันว่าเป็น ๓ (ๆ) อย่าง ตามอาการที่เป็นไป

[ขยายความ]

จริงอยู่ ในบทนี้ ในวิภังค์ท่านแสดงตัณหา ๖ โดยให้ชื่อตาม อารมณ์ว่า รูปตัณหา สัททตัณหา คันธตัณหา รสตัณหา โผฏฐัพพตัณหา ธรรมตัณหา ดุจบุตรที่ถูกแสดงโดยให้ชื่อตามบิดาว่า เศรษฐีบุตร พราหมณบุตร เป็นต้นฉะนั้น อนึ่ง ในตัณหาเหล่านั้น ตัณหาข้อหนึ่งๆ ทราบกันว่าเป็น ๓ (ๆ) อย่าง ตามอาการที่เป็นไป ดังนี้คือ กามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา

ก็รูปตัณหานั่นและ เมื่อใด (มัน) ยินดีรูปารมณ์ที่มาสู่คลองจักษุ ด้วยอํานาจความพอใจทางกามเป็นไป เมื่อนั้น (มัน) ก็ได้ชื่อว่า เป็นกามตัณหา เมื่อใดมันเป็นไปกับสัสสติทิฏฐิ อันเป็นไปโดยเห็น ว่า อารมณ์อันนั้นแหละเป็นของเที่ยงยั่งยืน เมื่อนั้นมันก็ได้ชื่อว่า เป็นภวตัณหา ด้วยว่า ราคะที่สหรคตกับสัสสตทิฏฐิ ท่านเรียกว่า ภวตัณหา ส่วนว่าเมื่อใดมันเป็นไปกับอุจเฉททิฏฐิ อันเป็นไปโดย เห็นว่า อารมณ์อันนั้นแหละจะขาดสูญไป เมื่อนั้นมันก็ได้ชื่อว่าเป็น วิภวตัณหา ด้วยว่าราคะที่สหคตกับอุจเฉททิฏฐิ ท่านเรียกว่าวิภวตัณหา แม้ในตัณหาที่เหลือมีสัททตัณหาเป็นต้น ก็นัยนี้ เพราะ เหตุนั้น มันจึงเป็นตัณหา ๑๘ มันเป็นไปในรูปารมณ์ เป็นต้น ที่เป็น ภายใน ๑๘ ที่เป็นภายนอก ๑๘ เพราะฉะนั้น จึงเป็นตัณหา ๓๖ โดยประการดังนี้ มันเป็นอดีต ๓๖ เป็นอนาคต ๓๖ เป็นปัจจุบัน ๓๖ ดังนั้นมันจึงเป็นตัณหา ๑๐๘ ตัณหาเหล่านั้นบัณฑิตพึงทราบว่า เมื่อ ย่อมันเข้าอีก มันก็คงเป็นตัณหา ๖ ด้วยอํานาจแห่งอารมณ์มีรูปเป็นต้น หรือเป็นตัณหา ๓ โดยเป็นประเภทกามตัณหาเป็นอาทิเท่านั้นเอง

ก็เพราะว่าสัตว์ทั้งหลายนี้พอใจเวทนาอันเกิดขึ้นด้วยอํานาจ อารมณ์มีรูปเป็นต้น จึงทําสักการ (รางวัล) ใหญ่แก่จิตรการ (ช่าง เขียน) คนธรรพ์ (นักดนตรีและขับร้อง) คันธิก (ช่างปรุงเครื่องหอม) สูท (พ่อครัว) ตันตวาย (ช่างทอผ้า) และ รสายนวิธายกแพทย์ (แพทย์ผู้แต่งยาตามตําหรับรสายนเวท) เป็นอาทิ ซึ่งเป็นผู้ให้ อารมณ์ มีรูปเป็นต้น ๑ ก็ด้วยความรักในเวทนา ดุจบิดาพอใจบุตร (ของตน) แล้วทําสักการใหญ่แก่แม่นม ก็ด้วยความรักในบุตรฉะนั้น เหตุฉะนั้น ตัณหาทั้งปวงนั่น บัณฑิตพึงทราบเถิดว่า เป็นตัณหามีเพราะปัจจัยคือ เวทนา

ก็เพราะ สุขเวทนาที่เป็นวิบากอย่างเดียว เท่านั้น ท่านประสงค์เอาในบทนี้ เหตุนั้น สุขเวทนานั้น จึงเป็นปัจจัยแห่งตัณหา ประการเดียวเหมือนกัน

คําว่า ' (เป็นปัจจัย) ประการเดียว' คือเป็นปัจจัยโดยเป็น อุปนิสสยปัจจัยเท่านั้น หรือเพราะว่า

ผู้มีทุกข์ ย่อมปรารถนาความสุข ผู้มีสุขเล่าก็ปรารถนาความสุขยิ่งขึ้นไป ส่วน อุเบกขาเวทนา เพราะเป็นเวทนาละเอียด ท่านก็กล่าวว่าเป็นสุขเหมือนกัน เหตุนั้น เวทนาจึงเป็นปัจจัยแห่งตัณหาได้ทั้ง ๓ แต่ เพราะว่าตัณหา ซึ่งพระมหาฤษีเจ้าตรัสไว้ ในบทว่า เวทนาปจฺจยา ตณฺหา นั้น แม้ มีเวทนาเป็นปัจจัย (แต่) เว้นอนุสัย เสีย มันก็ไม่มี เพราะฉะนั้น มันจึงไม่มี แก่พราหมณ์ (คือสมณะ) ผู้อยู่จบพรหมจรรย์ แล้ว

นี่เป็นกถาอย่างพิสดารในบทว่า เวทนาปจฺจยา ตณฺหา

[สรุปความ]

>>ปัจจัยธรรม

- เวทนา หมายถึง ความรู้สึก หรือความรู้รสของอารมณ์ แบ่งเป็น ๕ ประเภท คือ สุขเวทนา ทุกขเวทนา โสมนัสเวทนา โทมนัสเวทนา อทุกขมสุขเวทนา (อุเบกขา) จากบทที่แล้วท่านแสดงเวทนาที่เกิดจากการกระทบอารมณ์ทั้ง ๖ เฉพาะที่เป็นชาติวิบากซึ่งเกิดกับวิบากจิต ๓๒ ประเภท (เว้นผลจิต ๔ ดวง) ได้แก่

1. จักขุสัมผัสสชาเวทนา ได้แก่ อุเบกขาเวทนา ที่เกิดกับจักขุวิญญาณทางตา ๒ ดวง กุศลวิบาก และอกุศลวิบาก

2. โสตสัมผัสสชาเวทนา ได้แก่ อุเบกขาเวทนา ที่เกิดกับโสตวิญญาณทางหู ๒ ดวง กุศลวิบาก และอกุศลวิบาก

3. ฆานสัมผัสสชาเวทนา ได้แก่ อุเบกขาเวทนา ที่เกิดกับฆานวิญญาณทางจมูก ๒ ดวง กุศลวิบาก และอกุศลวิบาก

4. ชิวหาสัมผัสสชาเวทนา ได้แก่ อุเบกขาเวทนา ที่เกิดกับชิวหาวิญญาณทางลิ้น ๒ ดวง กุศลวิบาก และอกุศลวิบาก

5. กายสัมผัสสชาเวทนา ได้แก่ สุขเวทนา และทุกขเวทนา ที่เกิดกับกายวิญญาณ ๒ ดวง กุศลวิบาก และอกุศลวิบาก

6. มโนสัมผัสสชาเวทนา ได้แก่ โสมนัสเวทนา และอุเบกขาเวทนา ซึ่งเกิดกับมโนวิญญาณจิต ๒๒ ดวงที่เหลือ

- ซึ่งในมหาฎีกา แสดงว่า อุเบกขาเวทนานั้นเป็นได้ทั้ง สุข หรือทุกข์ ขึ้นกับว่าอารมณ์นั้นเป็นอิฏฐารมณ์ อุเบกขาเวทนาก็เป็นกุศลวิบาก ก็เป็นฝ่ายสุข แต่ถ้า เป็นอนิฏฐารมณ์ อุเบกขาเวทนาก็เป็นอกุศลวิบาก ก็เป็นฝ่ายทุกข์

>>ปัจจยุบันธรรม

- ตัณหา หมายถึง สภาพธรรมที่ติดข้องในอารมณ์ ได้แก่ โลภเจตสิก ซึ่งเกิดขึ้นร่วมกับโลภมูลจิตทั้ง ๘ ประเภท (หมายถึงจิตที่มีโลภเจตสิกเป็นมูลราก ซึ่งเกิดกับโสมนัสเวทนาบ้าง อุเบกขาเวทนาบ้าง เกิดร่วมกับทิฏฐิเจตสิกบ้าง ไม่ได้เกิดร่วมกับทิฏฐิเจตสิกบ้าง เกิดด้วยการชักชวนบ้าง ไม่ได้เกิดด้วยการชักชวนบ้าง) ในบทนี้ ท่านแสดง ตัณหาจำแนกโดยอารมณ์ ๖ ประเภท ได้แก่

1. รูปตัณหา หมายถึง โลภะที่ติดข้องสิ่งที่ปรากฏทางตา

2. สัททตัณหา หมายถึง โลภะที่ติดข้องสิ่งที่ปรากฏทางหู

3. คันธตัณหา หมายถึง โลภะที่ติดข้องสิ่งที่ปรากฏทางจมูก

4. รสตัณหา หมายถึง โลภะที่ติดข้องสิ่งที่ปรากฏทางลิ้น

5. โผฏฐัพพตัณหา หมายถึง โลภะที่ติดข้องสิ่งที่ปรากฏทางกาย

6. ธรรมตัณหา หมายถึง โลภะที่ติดข้องสิ่งที่ปรากฏทางใจ คือ ธรรมารมณ์ (ธรรมที่เหลือทั้งหมดที่ไม่ปรากฏทางทวารทั้ง ๕ เช่น จิต เจตสิก สุขุมรูป บัญญัติ เป็นต้น เว้นนิพพาน และโลกุตตรจิตที่ไม่เป็นอารัมณปัจจัยแก่ ตัณหา)

- ตัณหาที่ติดข้องในอารมณ์แต่ละประเภท เช่น รูปตัณหา เป็นต้น ท่านจำแนกโดยพิสดารต่อไปว่า สามารถติดข้องได้โดย ๓ อาการ (เป็นตัณหา ๑๘) คือ

1. กามตัณหา หมายถึง โลภะ ที่ยินดี ติดข้อง พอใจในกาม คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ นั้นๆ โดยที่ไม่เกิดร่วมกับความเห็นผิด

2. ภวตัณหา หมายถึง โลภะ คือ ความติดข้องพอใจ ที่เกิดร่วมกับความเห็นผิดว่าเที่ยง (สัสสตทิฏฐิ) ว่าไม่ดับไป

3. วิภวตัณหา หมายถึง โลภะ คือ ความติดข้องพอใจ ที่เกิดร่วมกับความเห็นผิดว่าสูญ (อุจเฉททิฏฐิ) เช่น เห็นว่าอัตภาพนี้ ตายไปแล้วจะไม่เกิดอีก เป็นต้น

- จำแนกตัณหา ๑๘ เป็นทั้งภายใน และ ภายนอก (เป็นรูปธรรม และนามธรรมที่อยู่ภายในกาย หรือไม่ได้อยู่ภายในกาย ก็ติดข้องมาก และน้อยตามลำดับ) ก็เป็นตัณหา ๓๖

- จำแนกตัณหา ๓๖ เป็นอดีต (ที่ดับไปแล้ว) อนาคต (ที่ยังไม่เกิด) ปัจจุบัน (ที่กำลังมีอยู่นี้) ก็เป็นตัณหา ๑๐๘ ประเภทโดยพิสดาร

>> สรุปปัจจัย

- ในบทนี้ท่านกล่าวเฉพาะ เวทนา ที่เป็นสุขเวทนา (ซึ่งรวมไปถึงอุเบกขาเวทนาที่เป็นกุศลวิบากด้วย เช่นอุเบกขาเวทนาที่เกิดพร้อมการเห็นสิ่งที่น่าพอใจ) ที่เป็นปัจจัยให้เกิดตัณหา เท่านั้น แต่ท่านก็แสดงต่อด้วยว่าแม้ฝ่ายเวทนาฝ่ายทุกข์ ก็เป็นปัจจัยให้เกิดตัณหาได้เช่นเดียวกัน เพราะผู้ที่มีทุกข์ ก็ต้องการความสุข ผู้มีสุขก็ยิ่งต้องการความสุขยิ่งขึ้น เว้นเฉพาะพระอรหันต์ผู้ปราศจากอนุสัยแล้ว แม้มีทั้งทุกขเวทนา และสุขเวทนา ตัณหาก็ไม่ได้เกิดกับพระอรหันต์อีก

- เวทนา (เช่น สุขเวทนา อุเบกขาเวทนา เป็นต้น ที่เกิดกับวิบากจิต ๓๒ ประเภท ที่เกิดขึ้นทางปัญจทวาร และทางมโนทวาร) เป็นปัจจัย 1 ประเภท แก่ตัณหา (โลภเจตสิก มีทางปัญจทวาร หรือทางมโนทวาร ซึ่งอาจเกิดเดี่ยวๆ หรืออาจเกิดร่วมกันทิฏฐิว่าเที่ยง หรือทิฏฐิว่าสูญ)

1. อุปนิสสยปัจจัย เช่น การเห็นสิ่งที่น่าพอใจ ขณะนั้นมีอารมณ์ทางตาเป็นปัจจุบันอารมณ์ ทางจักขุทวาร เป็นต้น อุเบกขาเวทนาที่เกิดกับจักขุวิญญาณจิต เป็นปกตูปนิสสยปัจจัย แก่ โลภเจตสิกที่เกิดกับโลภมูลจิต ในจักขุทวารนั้น ซึ่งโลภมูลจิตนั้นอาจจะประกอบด้วยโสมนัสเวทนา ไม่ประกอบด้วยความเห็นผิด และไม่ต้องมีผู้ชักชวน เป็นต้น

คัมภีร์ปัฏฐาน ภาค ๑ เล่ม ๑ หน้า 379 แสดงตัวอย่างไว้

ตัวอย่างหนึ่งที่เป็นปกตูปนิสสยปัจจัย ดังนี้

“บุคคลอาศัยสุขทางกาย แล้วฆ่าสัตว์ ถือเอาสิ่งของที่เขาไม่ได้ให้ พูดเท็จ พูดส่อเสียด พูดหยาบ พูดเพ้อเจ้อ ตัดที่ต่อ ปล้นไม่ให้เหลือ ปล้นในเรือนหลังเดียว ฯลฯ ฆ่าบิดา ฆ่าพระอรหันต์ ฯลฯ ทำสงฆ์ให้แตกกัน” เมื่อมีการเห็นสิ่งที่ปรากฏทางตาเป็นอารมณ์ขณะนั้น และมีเวทนาประเภทนั้นๆ เกิดขึ้น อกุศลธรรม มีโลภ โทสะ เป็นต้น ที่เป็นปัจจยุบันธรรมก็พร้อมที่จะเกิดได้ โดยอาศัยการสะสมเป็นปกตูปนิสยปัจจัยที่เป็นเช่นนั้นได้

ตัวอย่างที่เป็นอารัมณาธิปติปัจจัย (ซึ่งเวทนานั้นต้องเป็นปัจจุบันอารมณ์ที่หนักแน่นให้กับมโนทวารอื่น ในภายหลังจากจักขุทวาร และมโนทวารแรกที่ต่อจากการเห็นสิ่งที่ปรากฏนั้นดับไปหมดแล้ว ซึ่งเข้าใจว่าท่านไม่ได้หมายรวมอารัมณาธิปติปัจจัยไว้ด้วย เพราะถ้าหมายรวมด้วย ก็ต้องมีอารัมณปัจจัยเพิ่มด้วย) ดังนี้

“บุคคลย่อมยินดีเพลิดเพลิน เพราะกระทำจักขุ โสตะ ฆานะ ชิวหา กาย รูป เสียง ฯลฯ โผฏฐัพพะ หทยวัตถุ และขันธ์ทั้งหลายที่เป็นอัพยากตวิบาก และอัพยากตกิริยา ให้เป็นอารมณ์อย่างหนักแน่นครั้งกระทำจักขุ โสตะ เป็นต้นนั้น ให้เป็นอารมณ์อย่างหนักแน่นแล้ว ราคะ ทิฏฐิ ย่อมเกิดขึ้น”


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
chatchai.k
วันที่ 12 ก.ย. 2565

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ