ผัสสะเป็นปัจจัยแก่เวทนา [วิสุทธิมรรค]

 
wittawat
วันที่  20 ก.พ. 2564
หมายเลข  33756
อ่าน  1,277

ผัสสะเป็นปัจจัยแก่เวทนา

วิสุทธิมรรค ภาค ๓ ตอน ๑ หน้า 351

ในบทว่า ผสฺสปจฺจยา เวทนา

[คาถาสังเขปเวทนา]

เวทนากล่าวโดยทวารก็มี ๖ มีจักขุสัม - ผัสสชาเวทนาเป็นต้นเท่านั้น (แต่) โดย ประเภท ทราบกันว่ามันมีถึง ๙

[ขยายความ]

จริงอยู่ ในวิภังค์ แห่งบทนี้ กล่าวเวทนาไว้ ๖ ตามทวารเท่านั้น ดังนี้ คือ จักขุสัมผัสสชาเวทนา โสต ---- ฆาน ---- ชิวหา ---- กาย ---- มโนสัมผัสสชาเวทนา แต่โดยประเภท ทราบกันว่ามันมีถึง ๘๙ เพราะ ความที่มันสัมปยุตกับจิต ๘๙ ดวง

แต่ในเวทนาเหล่านั้น เวทนา ๓๒ ที่ ประกอบกับวิบากจิตเท่านั้น ท่านกล่าวว่า เป็นเวทนาที่ประสงค์เอาในบทนี้

[คาถาสังเขปปัจจยนัย]

ในเวทนา (ที่ประสงค์เอา) เหล่านั้น ผัสสะเป็นปัจจัยแห่งเวทนา ๕ ในปัญจทวาร ๘ อย่าง เป็นปัจจัยแห่งเวทนาที่เหลือ อย่างเดียว แม้ในมโนทวารมันก็เป็น อย่างนั้น

[ขยายความ]

ความว่า ในเวทนาเหล่านั้น ผัสสะมีจักขุสัมผัสเป็นต้นเป็นปัจจัย ๘ อย่าง โดยเปนสหชาต ---- อัญญมัญญ ---- นิสสย ---- วิปาก ---- อาหาร ---- สัมปยุต ---- อัตถิ ---- และอวิคตปัจจัย แห่งเวทนา ๕ อันมีจักขุประสาท เป็นต้นเป็นวัตถุ (ที่ตั้ง) ในปัญจทวาร แต่ผัสสะมีจักขุสัมผัสเป็นต้น นั้น เป็นปัจจัยอย่างเดียว โดยเป็นอุปนิสสยปัจจัยเท่านั้น แห่งเวทนา ที่เหลือ คือ เวทนาที่เป็นกามาวจรวิบาก อันเป็นไปด้วยอํานาจสัมปฏิจฉันนจิตสันตีรณจิตและตทารัมมณจิตในทวารหนึ่งๆ

ข้อว่า 'แม้ในมโนทวารมันก็เป็นอย่างนั้น' ความว่า แม้ใน มโนทวาร ผัสสะกล่าวคือมโนสัมผัสที่เกิดร่วมกันนั้นก็เป็นปัจจัย ๘ อย่าง เช่นนั้นเหมือนกัน แห่งเวทนาที่เป็นกามาวจรวิบาก อันเป็นไปด้วย อํานาจตทารัมมณจิต และแม้ แห่งเวทนาเตภูมิวิบากอันเป็นไปด้วย อํานาจปฏิสนธิจิตและภวังคจุติจิต ส่วนกามาวจรเวทนาทั้งหลายที่ เป็นไปด้วยอํานาจตทารัมมณจิตในมโนทวารนั้นใด มโนสัมผัสอัน สัมปยุตกับมโนทวาราวัชนจิต เป็นปัจจัยแห่งเวทนาเหล่านั้นแต่อย่าง เดียว โดยเป็นอุปนิสสยปัจจัยเท่านั้น

นี่เป็นกถาอย่างพิสดารในบทว่า ผสฺสปจฺจยา เวทนา

[สรุปความ]

>> รวมปัจจัยธรรม

- ผัสสะ หมายถึง เจตสิกที่กระทบอารมณ์ จากการกระทบกันของอายตนะภายในและอายตนะภายนอก เป็นต้น จำแนกเป็น ๖ ประเภท ได้แก่

1. จักขุสัมผัส ผัสสเจตสิกที่สัมปยุตกับ จักขุวิญญาณจิต ๒ ดวง ที่เป็นฝ่ายกุศลวิบาก และอกุศลวิบาก

2. โสตสัมผัส ผัสสเจตสิกที่สัมปยุตกับ โสตวิญญาณจิต ๒ ดวง ที่เป็นฝ่ายกุศลวิบาก และอกุศลวิบาก

3. ฆานสัมผัส ผัสสเจตสิกที่สัมปยุตกับ ฆานวิญญาณจิต ๒ ดวง ที่เป็นฝ่ายกุศลวิบาก และอกุศลวิบาก

4. ชิวหาสัมผัส ผัสสเจตสิกที่สัมปยุตกับ ฆานวิญญาณจิต ๒ ดวง ที่เป็นฝ่ายกุศลวิบาก และอกุศลวิบาก

5. กายสัมผัส ผัสสเจตสิก ที่สัมปยุตกับกายวิญญาณจิต ๒ ดวง ที่เป็นฝ่ายกุศลวิบาก และอกุศลวิบาก

6. มโนสัมผัส ผัสสเจตสิก ที่สัมปยุตกับวิบากจิตที่เหลือ ๒๒ ดวง (มีสัมปฏิจฉันนจิต ๒ สัณตีรณจิต ๓ เป็นต้น) ในบทนี้ ท่านยังยกแสดงเพิ่มเติมถึง มโนสัมผัส ที่ได้แก่ ผัสสเจตสิกที่เกิดร่วมกับมโนทวาราวัชชนจิตด้วย ซึ่งเป็นชาติกริยา ซึ่งเกิดขึ้นทางมโนทวาร เป็นต้น และเป็นปัจจัยแก่เวทนาด้วย

>> รวมปัจจยุบันธรรม

- เวทนา หมายถึง ความรู้สึก เป็นสภาพธรรมที่เสวยอารมณ์ หรือ เป็นสภาพที่รู้รสอารมณ์ (จากวิสุทธิมรรค ภาค ๓ ตอน ๑ หน้า 249) ได้แก่ ความรู้สึกทางกาย มีสุขบ้าง ทุกข์บ้าง และความรู้สึกทางใจ มีโสมนัสบ้าง โทมนัสบ้าง และอุเบกขา (เฉยๆ ไม่สุข ไม่ทุกข์) บ้าง ท่านแสดงเวทนา โดยจำแนกทางทวารทั้ง ๖ และจำแนกตามจิตที่สัมปยุตต์โดยพิสดารเป็น ๘๙ ดวง (แต่ในเนื้อหาของปฏิจสมุปบาทที่ท่านยกมาอธิบายนี้ กล่าวถึงเวทนาโดยพิสดารที่เป็นวิบาก ๓๒ ดวงเท่านั้น เว้นวิบากที่เหลือคือ ผลจิต ๔ ดวง) ได้แก่

1. จักขุสัมผัสสชาเวทนา คือ อุเบกขาเวทนา ที่สัมปยุตกับจักขุวิญญาณจิต ๒ ดวง ที่เป็นฝ่ายกุศลวิบาก และอกุศลวิบาก

2. โสตสัมผัสสชาเวทนา คือ อุเบกขาเวทนา ที่สัมปยุตกับโสตวิญญาณจิต ๒ ดวง ที่เป็นฝ่ายกุศลวิบาก และอกุศลวิบาก

3. ฆานสัมผัสสชาเวทนา คือ อุเบกขาเวทนา ที่สัมปยุตกับฆานวิญญาณจิต ๒ ดวง ที่เป็นฝ่ายกุศลวิบาก และอกุศลวิบาก

4. ชิวหาสัมผัสสชาเวทนา คือ อุเบกขาเวทนา ที่สัมปยุตกับชิวหาวิญญาณจิต ๒ ดวง ที่เป็นฝ่ายกุศลวิบาก และอกุศลวิบาก

5. กายสัมผัสสชาเวทนา คือ สุขเวทนา และทุกขเวทนา ที่สัมปยุตกับกายวิญญาณจิต ๒ ดวง ที่เป็นฝ่ายกุศลวิบาก และอกุศลวิบาก

6. มโนสัมผัสสชาเวทนา ได้แก่ อุเบกขาเวทนา และ โสมนัสเวทนา เป็นต้น ที่สัมปยุตกับวิบากจิตที่เหลือ ๒๒ ดวง (มีสัมปฏิจฉันนจิต ๒ สัณตีรณจิต ๓ เป็นต้น)

>> สรุปรวมปัจจัย

>>> ทางปัญจทวาร

- ผัสสะ ๕ (จักขุสัมผัส โสตสัมผัส ฯลฯ กายสัมผัส) เป็นปัจจัย ๘ ประเภทแก่ เวทนา ๕ ซึ่งอาศัย จักขุปสาทรูป โสตปสาทรูป ฯลฯ กายปสาทรูป เป็นวัตถุที่อาศัยเกิด (จักขุสัมผัสสชาเวทนา โสตสัมผัสสชาเวทนา ฯลฯ กายสัมผัสสชาเวทนา) ตามลำดับ โดยไม่ปะปนทวารกันและกัน เช่น จักขุสัมผัสเป็นปัจจัยแก่โสตสัมผัสชาเวทนาไม่ได้ เป็นต้น ได้แก่

1. สหชาตปัจจัย เช่น จักขุสัมผัสเป็นปัจจัยโดยการเกิดพร้อมกับจักขุสัมผัสสชาเวทนา เป็นต้น

2. อัญญมัญญปัจจัย เช่น จักขุสัมผัสเป็นปัจจัยโดยการอาศัยกันและกันเกิดกับจักขุสัมผัสสชาเวทนา เป็นต้น

3. นิสสยปัจจัย เช่น จักขุสัมผัสเป็นสหชาตนิสสยปัจจัยแก่จักขุสัมผัสสชาเวทนา เป็นต้น

4. วิปากปัจจัย เช่น จักขุสัมผัสเป็นวิปากปัจจัยแก่จักขุสัมผัสสชาเวทนา ซึ่งเป็นชาติวิบากทั้งคู่ เป็นต้น

5. อาหารปัจจัย เช่น จักขุสัมผัสเป็นผัสสาหารแก่จักขุสัมผัสสชาเวทนา เป็นต้น

6. สัมปยุตปัจจัย เช่น จักขุสัมผัสเกิดพร้อมดับพร้อมรู้อารมณ์เดียวกันกับจักขุสัมผัสสชาเวทนา เป็นต้น

7. อัตถิปัจจัย เช่น จักขุสัมผัสเป็นสหชาตัตถิปัจจัยแก่จักขุสัมผัสสชาเวทนา เป็นต้น เมื่อผัสสะยังมีอยู่

8. อวิคตปัจจัย เช่น จักขุสัมผัสเป็นสหชาตอวิคตปัจจัยแก่จักขุสัมผัสสชาเวทนา เป็นต้น เมื่อผัสสะยังไม่ดับไป

- ผัสสะ ๕ (จักขุสัมผัส โสตสัมผัส ฯลฯ กายสัมผัส) เป็นปัจจัย ๑ ประเภทแก่ เวทนาอื่นๆ ที่เกิดขึ้นในทวารหนึ่งๆ ในปัญจทวาร คือ จักขุทวาร โสตทวาร ฯลฯ กายทวาร (เวทนาที่เกิดกับวิบากจิต เช่น สัมปฏิจฉันนจิต สันตีรณจิต ตทาลัมมณจิต ทางจักขุทวาร ฯลฯ เวทนาที่เกิดกับวิบากจิต เช่น สัมปฏิจฉันนจิต สันตีรณจิต ตทาลัมมณจิต ทางกายทวาร) ตามลำดับ โดยไม่ปะปนทวารกันและกัน เช่น จักขุสัมผัสเป็นปัจจัยแก่โสตสัมผัสชาเวทนาไม่ได้ เป็นต้น ได้แก่

1. อุปนิสสยปัจจัย เช่น จักขุสัมผัสเป็นปกตูปนิสยปัจจัยให้แก่เวทนาที่เกิดกับอุเบกขาปฏิจฉันนจิตทางจักขุทวาร เป็นต้น

>>> ทางมโนทวาร

- ผัสสะ (มโนสัมผัส ที่เกิดกับตทาลัมมณจิต) เป็นปัจจัยข้างต้น ๘ ประเภท แก่ เวทนา (มโนสัมผัสสชาเวทนา ที่เกิดกับตทาลัมมณจิต)

- ผัสสะ (มโนสัมผัส ที่เกิดกับมโนทวาราวัชชนจิต) เป็นปัจจัยข้างต้น ๑ ประเภท แก่ เวทนา (มโนสัมผัสสชาเวทนา ที่เกิดกับตทาลัมมณจิต) ได้แก่

1. อุปนิสสยปัจจัย เช่น ผัสสเจตสิกที่เกิดกับมโนทวารวัชชนจิต เป็นปกตูปนิสยปัจจัยให้แก่เวทนาที่เกิดกับตทาลัมมณจิต ทางมโนทวาร เป็นต้น


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
chatchai.k
วันที่ 12 ก.ย. 2565

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ