[คำที่ ๔๗๖] ภทฺทกมรณ

 
Sudhipong.U
วันที่  2 ต.ค. 2563
หมายเลข  33051
อ่าน  498

ภาษาบาลี ๑ คำ คติธรรมประจำสัปดาห์ “ภทฺทกมรณ

โดย อ.คำปั่น อักษรวิลัย

ภทฺทกมรณ อ่านตามภาษาบาลีว่า พัด - ทะ - กะ - มะ - ระ - นะ มาจากคำว่า ภทฺทก (ดี, เจริญ) กับคำว่า มรณ (การตาย, ความตาย) รวมกันเป็น ภทฺทกมรณ เขียนเป็นไทยได้ว่า ภัททกมรณะ แปลว่า การตายที่ดี แสดงถึงความเป็นจริงของชีวิตที่เกิดมาแล้วได้สะสมความดีและอบรมเจริญปัญญา รักษาจิตที่เต็มไปด้วยโรคกิเลส มีความไม่รู้ เป็นต้น ด้วยการอาศัยพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง เป็นผู้ไม่ประมาทในชีวิต เมื่อได้รักษาจิตแล้ว ความประพฤติทางกาย ทางวาจาและทางใจ ก็จะดีไปด้วย เมื่อถึงคราวตาย ก็เป็นการตายที่ดี เพราะได้สะสมความดีและอบรมเจริญปัญญา ซึ่งไม่เป็นเหตุให้ไปเกิดในอบายภูมิ ไม่เป็นเหตุนำมาซึ่งความทุกข์ความเดือดร้อนใดๆ เลย บุคคลผู้ที่จะไม่ไปเกิดในอบายภูมิเลย ก็ต้องมุ่งหมายถึงพระโสดาบัน ถึงพระอนาคามีบุคคล มีแต่จะเกิดในสุคติภูมิเท่านั้น แล้วอบรมเจริญปัญญาเพื่อดับกิเลสที่ยังเหลืออยู่ต่อไป ส่วนพระอรหันต์ เมื่อดับขันธปรินิพพานแล้ว ไม่มีการเกิดอีกในสังสารวัฏฏ์ แต่สำหรับผู้ที่ยังไม่ถึงความเป็นพระอริยบุคคล ก็ต้องอาศัยพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง อบรมเจริญปัญญาสะสมเป็นที่พึ่งต่อไป ถ้าเป็นอย่างนี้ก็เป็นชีวิตที่มีค่าอย่างยิ่งจากการที่ได้เกิดมาเป็นบุคคลนี้

ข้อความในพระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต ปฐมกูฏสูตร แสดงความเป็นจริงของการตายที่ดีไว้ ดังนี้

“ดูกร คฤหบดี เมื่อจิตอันบุคคลรักษาแล้ว กายกรรม วจีกรรม มโนกรรม ก็เป็นอันได้รักษาด้วย เมื่อกายกรรม วจีกรรม มโนกรรมได้รักษาแล้ว กายกรรม วจีกรรม มโนกรรมก็ไม่เปียก (ด้วยน้ำคือกิเลส) เมื่อกายกรรม วจีกรรม มโนกรรม ไม่เปียกแล้ว กายกรรม วจีกรรม มโนกรรมก็ไม่เสีย บุคคลผู้มีกายกรรม วจีกรรม มโนกรรมไม่เสีย การตาย ย่อมเป็นการตายดี เปรียบเหมือนเรือนยอด เมื่อมุงดีแล้ว ทั้งยอด ทั้งกลอน ทั้งฝา เป็นอันได้รักษา ก็ไม่เปียก ไม่ผุ ฉันใด เมื่อจิตอันบุคคลรักษาแล้ว กายกรรม วจีกรรม มโนกรรม ก็เป็นอันได้รักษาด้วย เมื่อกายกรรม วจีกรรม มโนกรรมได้รักษาแล้ว กายกรรม วจีกรรม มโนกรรมก็ไม่เปียก เมื่อกายกรรม วจีกรรม มโนกรรม ไม่เปียกแล้ว กายกรรม วจีกรรม มโนกรรมก็ไม่เสีย บุคคลผู้มีกายกรรม วจีกรรม มโนกรรมไม่เสีย การตาย ย่อมเป็นการตายดี ฉันนั้น”


ชีวิตของคนเรานั้น เป็นการเกิดดับสืบต่อกันของจิตแต่ละขณะๆ จิตขณะหนึ่งเกิดแล้วดับไปเป็นปัจจัยให้จิตขณะต่อไปเกิดขึ้นเป็นไป กิเลสซึ่งเป็นเครื่องเศร้าหมองของจิตเกิดขึ้นเป็นไปก็เพราะได้สะสมมาแล้วในอดีต เกิดขึ้นเป็นไปตามเหตุปัจจัย เมื่อปัญญายังไม่เจริญขึ้นถึงขั้นที่จะดับกิเลสได้ กิเลสก็จะเกิดขึ้นอีกต่อไปอย่างเช่นในชาตินี้ และเพราะยังมีกิเลสอยู่นี้เอง การเวียนว่ายตายเกิด จึงยังไม่จบสิ้น เป็นเหตุให้มีสภาพธรรมเกิดดับสืบต่อไป ยังไม่พ้นจากทุกข์ในสังสารวัฏฏ์

ถ้าจะว่าไปแล้วแต่ละคนที่เกิดมาในโลกนี้ มีเวลาไม่มากที่จะได้ฟังพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง เพราะว่าส่วนใหญ่แล้ว ชีวิตก็เป็นไปในเรื่องอื่น เป็นไปกับอกุศลอย่างมาก ซึ่งเมื่อเทียบกับการได้ฟังพระธรรม ก็จะรู้ได้ว่าในสังสารวัฏฏ์ที่ยาวนานจนถึง ณ บัดนี้และต่อไป เวลาที่จะได้มีโอกาสฟังพระธรรม พิจารณาพระธรรมจริงๆ และเริ่มเข้าใจพระธรรมนั้นไม่มากเลย เพราะฉะนั้นจึงเป็นโอกาสสำหรับพุทธบริษัทที่จะได้ฟังพระธรรมศึกษาพระธรรม ซึ่งถ้าไม่ได้ฟังพระธรรม ก็ย่อมจะไม่มีทางที่จะเข้าใจธรรมซึ่งเป็นสิ่งที่มีจริงๆ ตามความเป็นจริงได้เลย ยังเต็มไปด้วยโรคกิเลส มีความไม่รู้ เป็นต้น ต่อไป

พระธรรมที่สัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง เกิดจากการที่พระองค์ทรงบำเพ็ญพระบารมีมาถึง ๔ อสงไขยแสนกัปป์ ซึ่งเป็นระยะเวลาที่นานมาก การที่แต่ละคนจะได้มีโอกาสได้ยิน ได้ฟังพระธรรมแต่ละคำที่พระองค์ทรงแสดงในครั้งนั้นและได้สืบทอดมาจนถึงยุคนี้สมัยนี้ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่พระธรรมยังดำรงอยู่ จึงเป็นสิ่งที่มีค่าที่สุดในชีวิต เป็นไปเพื่อความเจริญขึ้นแห่งปัญญาความเข้าใจถูกเห็นถูกโดยตลอด ที่ควรจะได้พิจารณาจริงๆ คือ เมื่อรู้ว่าจะต้องตาย อาจจะเป็นวันนี้ พรุ่งนี้ หรือต่อไปสักครู่หนึ่งก็ได้ ประโยชน์สูงสุดคืออะไร ไม่ใช่ให้ใครไปนั่งไตร่ตรองคิดเรื่องตาย แต่จากการรู้ว่าตนเองจะต้องตาย แต่ไม่ทราบว่าจะเป็นเมื่อใด ก็ทำให้มีการรู้ประโยชน์ของการที่จะมีชีวิตว่าประโยชน์สูงสุดจริงๆ ของการที่เกิดมาในโลกนี้คืออะไร เพราะเหตุว่ามีทรัพย์สินเงินทองมากมายมหาศาลก็ต้องตาย มีความรู้ความสามารถก็ต้องตาย มีมิตรสหาย มีผู้คอยช่วยเหลือมากมายก็ต้องตาย ความตายเป็นสิ่งที่ใครไม่สามารถที่จะรู้ล่วงหน้าได้เลยว่าจะมาถึงเมื่อไหร่ การที่กล่าวถึงความตาย ก็เพื่อเตือนให้ระลึกได้ว่าถึงอย่างไรก็ต้องตายอยู่แล้วไม่วันใดก็วันหนึ่ง ประโยชน์สูงสุดก่อนตายคืออะไร? ประโยชน์ก็คือได้เข้าใจความจริงของสิ่งที่มีจริงๆ ว่า ธรรมเป็นธรรม แต่ละหนึ่ง ไม่ใช่เรา แล้วจะเข้าใจความจริงได้อย่างไร ก็ต้องได้ฟังพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ต้องกลับมาที่ตรงนี้เสมอ พระสัมมา-สัมพุทธเจ้าทรงแสดงพระธรรม ไม่ทรงต้องการอะไรจากสัตว์โลกเลยทั้งสิ้น แต่ทรงมีพระมหากรุณาแสดงความจริง เปิดเผยความจริงให้คนอื่นได้เข้าใจสิ่งที่พระองค์ตรัสรู้ซึ่งไม่สามารถที่จะเข้าใจเองได้ เมื่อเป็นเช่นนี้ ทุกคำของพระองค์ ต้องฟัง ต้องศึกษาด้วยความเคารพอย่างยิ่ง

การตายไปด้วยความไม่รู้อะไรเลยตลอดชีวิตตั้งแต่เกิดมา กับเข้าใจความจริงทีละเล็กทีละน้อย อะไรจะดีกว่ากัน? ปัญญาย่อมเห็นประโยชน์ของการที่ได้เกิดมาแล้วได้เข้าใจความจริง ดังนั้น จึงไม่มีอะไรที่จะเป็นที่พึ่งสำหรับชีวิตอย่างแท้จริง นอกจากปัญญา ความเข้าใจถูกเห็นถูกในสิ่งที่มีจริงเท่านั้น และปัญญานี้เองที่จะปรุงแต่งให้เป็นไปในคุณความดีทั้งหมด มีความประพฤติที่ดีงามทั้งทางกาย ทางวาจา และทางใจ เป็นการรักษาจิตให้พ้นจากกิเลสอกุศล นี้เป็นประโยชน์ที่ได้เกิดมาเป็นบุคคลนี้แล้วได้สะสมสิ่งที่มีค่าที่สุดในชีวิตก่อนที่จะละจากโลกนี้ไป ถึงแม้ว่าในชีวิตประจำวันอาจจะมีพ่อแม่ ญาติพี่น้อง คอยช่วยเหลือในเรื่องต่างๆ บ้าง แต่ในที่สุดแล้ว ก็จะต้องทิ้งกันและกันอยู่ดี ด้วยความตายที่เกิดขึ้น บุคคลเหล่านั้น ไม่สามารถติดตามไปช่วยเหลืออะไรในภพหน้าได้ แต่ความดีที่ได้สะสมไว้ในขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คือ ปัญญาที่เกิดจากการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมในแต่ละครั้งนั้น ไม่สูญหายไปไหน สะสมสืบต่ออยู่ในจิตทุกขณะและจะเป็นที่พึ่งที่แท้จริงสำหรับชีวิต จนกว่าจะมีปัญญาคมกล้าสามารถรู้แจ้งอริยสัจจธรรมดับกิเลสตามลำดับขั้นได้ในที่สุด ซึ่งจะต้องอาศัยกาลเวลาที่ยาวนานในการอบรมเจริญปัญญา.


อ่านคำอื่นๆ คลิกที่นี่ ... บาลี ๑ คำ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
chatchai.k
วันที่ 3 ต.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ