[คำที่ ๔๗๓] โทวจสฺสตา

 
Sudhipong.U
วันที่  19 ก.ย. 2563
หมายเลข  33002
อ่าน  628

ภาษาบาลี ๑ คำ คติธรรมประจำสัปดาห์ “โทวจสฺสตา”

โดย อ.คำปั่น อักษรวิลัย

โทวจสฺสตา อ่านตามภาษาบาลีว่า โท - วะ - จัด - สะ - ตา มาจากคำว่า โทวจสฺส (บุคคลผู้ว่ายาก) กับคำว่า ตา (ความเป็น) รวมกันเป็น โทวจสฺสตา เขียนเป็นไทยได้ว่า โทวจัสสตา แปลว่า ความเป็นบุคคลผู้ว่ายาก กล่าวคือ ความเป็นบุคคลผู้อันผู้อื่นว่ากล่าวตักเตือนได้โดยยาก ไม่รับคำพร่ำสอนโดยประการทั้งปวง ในพระอภิธรรมปิฎก ธรรมสังคณีปกรณ์ ได้กล่าวถึงความเป็นจริงของ โทวจัสสตา ไว้ดังนี้

โทวจัสสตา เป็นไฉน? กิริยาของผู้ว่ายาก ภาวะแห่งผู้ว่ายาก ความเป็นผู้ว่ายาก ความยึดข้างขัดขืน ความพอใจทางโต้แย้ง ความไม่เอื้อเฟื้อ ภาวะแห่งผู้ไม่เอื้อเฟื้อ ความไม่เคารพ ความไม่รับฟังในเมื่อถูกว่ากล่าวโดยสหธรรม (โดยธรรม โดยความถูกต้อง) นี้เรียกว่า โทวจัสสตา (ความเป็นบุคคลผู้ว่ายาก)

ในปรมัตถโชติกา อรรถกถา ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ มงคลสูตร มีข้อความที่กล่าวถึงความเป็นจริงของ ความเป็นบุคคลผู้ว่ายาก ว่า เป็นผู้ที่อยู่ไกลจากการบรรลุคุณวิเศษ ดังนี้

ก็บุคคลใด ถูกว่ากล่าว ว่า ท่านไม่ควรทำข้อนี้ ก็พูดว่าท่านเห็นอะไร ท่านได้ยินอย่างไร ท่านเป็นอะไรกับเราจึงพูด เป็นอุปัชฌาย์ อาจารย์ เพื่อนเห็น เพื่อนคบหรือ หรือเบียดเบียนผู้นั้นด้วยความนิ่งเสีย หรือยอมรับแล้วไม่ทำอย่างนั้น ผู้นั้น ชื่อว่า ยังอยู่ไกลการบรรลุคุณวิเศษ

ในพระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต อานันทสูตร มีข้อความที่กล่าวถึงว่า บุคคลผู้ว่ายาก ที่จะถึงความเจริญงอกงามไพบูลย์ในพระธรรมวินัยของพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น ไม่มีทางที่จะเป็นไปได้เลย ดังนี้

ภิกษุเป็นผู้ว่ายาก จักถึงความเจริญงอกงามไพบูลย์ ในธรรมวินัยนี้ ข้อนี้ ไม่เป็นฐานะที่จะมีได้


พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จอุบัติขึ้นในโลกเพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่สัตว์โลก ไม่ว่าพระองค์จะประทับอยู่ ณ ที่ใด หรือเสด็จไปในที่ต่างๆ ก็ด้วยทรงมีพระมหากรุณา เพื่อให้สัตว์โลกได้ฟังพระธรรม ได้เข้าใจความจริง เพื่อที่สัตว์โลกจะได้ขัดเกลากิเลสที่ได้สะสมมาอย่างยาวนานในสังสารวัฏฏ์ และอบรมเจริญปัญญาสะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกเป็นปัญญาของตนเองยิ่งขึ้น จนกระทั่งสามารถดับกิเลสซึ่งเป็นเครื่องเศร้าหมองของจิตได้ในที่สุด ซึ่งจะเห็นได้ว่าตลอดระยะเวลา ๔๕ พรรษาแห่งการประกาศคำสอนของพระองค์ ก็เพื่ออนุเคราะห์เกื้อกูลสัตว์โลกเป็นสำคัญ เมื่อเป็นเช่นนี้ ผู้ที่เป็นพุทธบริษัท นอกจากจะเป็นผู้ฟังพระธรรมที่พระองค์ทรงแสดงแล้ว ก็ไม่ใช่เพียงฟังเท่านั้น ยังจะต้องเป็นบุคคลผู้ว่าง่าย คือ น้อมรับคำพร่ำสอนด้วยความเคารพ เป็นผู้ที่ตั้งอยู่ในพระธรรมที่พระองค์ทรงแสดง ด้วยการประพฤติตามขัดเกลากิเลสของตนเองด้วยความจริงใจ จึงจะเป็นผู้ได้รับประโยชน์จากพระธรรมอย่างแท้จริง ไม่ใช่เป็นผู้ว่ายาก

ธรรม เกิดขึ้นเป็นไปตามเหตุตามปัจจัย ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครทั้งสิ้น ไม่มีใครสามารถบังคับบัญชาให้ธรรมเกิดขึ้นเป็นไปตามใจชอบได้ แต่เกิดเพราะเหตุปัจจัยจริงๆ แม้แต่ความเป็นผู้ว่าง่าย ก็เป็นธรรมที่มีจริงที่เกิดขึ้นเป็นไป ต้องเป็นกุศลธรรมเท่านั้น ในขณะที่มีการใคร่ครวญไตร่ตรองพิจารณาด้วยปัญญาเห็นถูกตามความเป็นจริงว่า สิ่งใดถูก สิ่งใดผิด แล้วประพฤติในสิ่งที่ถูก ละเว้นในสิ่งที่ผิด เป็นผู้ว่าง่ายต่อพระธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า อดทนที่จะฟังเพื่อความเข้าใจ ว่าง่ายต่อการที่จะเป็นกุศล เมื่อได้รับคำพร่ำสอนที่ถูกต้องเป็นประโยชน์เกื้อกูล ก็น้อมรับคำพร่ำสอนนั้น แล้วประพฤติตาม ความเป็นผู้ว่าง่าย นั้น เป็นมงคล เป็นไปเพื่อความเจริญอย่างแท้จริง เป็นเหตุให้กุศลธรรมเจริญยิ่งๆ ขึ้นไป ซึ่งจะตรงกันข้ามกับความเป็นผู้ว่ายาก เพราะเหตุว่าบุคคลผู้ว่ายาก ไม่ว่าบุคคลอื่นผู้เห็นประโยชน์จะแนะนำดี โดยถูกต้องโดยธรรมอย่างไร ก็ไม่ฟัง และบางทีอาจจะเกิดความโกรธต่อผู้แนะนำเสียอีก บุคคลผู้ว่ายาก ย่อมอยู่ไกลจากความเจริญโดยประการทั้งปวง อยู่ไกลจากการรู้แจ้งอริยสัจจธรรม ความเป็นบุคคลผู้ว่ายาก ก็ไม่พ้นไปจากความเกิดขึ้นเป็นไปของอกุศล เช่น โทสะ ความโกรธ ความขุ่นเคืองใจ มานะ ความสำคัญตน มิจฉาทิฏฐิ ความเห็นผิด เป็นต้น ซึ่งมีแต่โทษเท่านั้น

ตราบใดที่ยังเป็นปุถุชนผู้หนาแน่นไปด้วยกิเลสประการต่างๆ ยังมีกิเลสอยู่ครบทั้งโลภะ โทสะ โมหะเป็นต้น ย่อมเป็นไปได้ที่จะมีความประพฤติที่ไม่ดีทั้งทางกาย ทางวาจา ทางใจ เป็นธรรมดา ตามกำลังของกิเลส เป็นไปตามการสะสมของแต่ละบุคคล โทษของตนเองเป็นสิ่งที่เห็นได้ยากอย่างยิ่ง ดังนั้น บุคคลผู้ที่มีเมตตา มีความหวังดี ท่านจึงเสียสละเวลาเพื่อที่จะแนะนำตักเตือนชี้แนวทางที่ถูกต้องให้ ซึ่งเป็นเหตุให้ผู้ที่เห็นประโยชน์จากคำแนะนำพร่ำสอนนั้น ได้เห็นโทษภัยของกิเลสของตนเองที่เกิดขึ้นตามความเป็นจริงแล้วประพฤติตามพระธรรมขัดเกลากิเลสของตนเอง ต่อไป บุคคลผู้น้อมรับคำพร่ำสอนโดยความเคารพนี้ เป็นผู้ว่าง่าย เป็นผู้ที่พิจารณาด้วยปัญญาแล้วเห็นตามความเป็นจริงว่าสิ่งใดถูก สิ่งใดผิด เป็นต้น บุคคลผู้ว่าง่ายต่อคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ย่อมจะเป็นผู้มีความเจริญในกุศลธรรมยิ่งๆ ขึ้นไป จนกว่าจะมีปัญญาเจริญขึ้นถึงขั้นที่จะรู้แจ้งอริยสัจจธรรมดับกิเลสได้ในที่สุด ซึ่งจะเห็นได้ว่าพระอริยบุคคลทั้งหลายในอดีต มีพระสารีบุตร พระมหาโมคคัลลานะ พระมหากัสสปะ พระอานนท์ เป็นต้น ล้วนเป็นผู้ว่าง่ายต่อคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มาแล้วทั้งนั้น จึงสามารถรู้แจ้งอริยสัจจธรรม ถึงความเป็นพระอรหันต์ ห่างไกลแสนไกลจากกิเลสทั้งปวง บุคคลผู้ว่าง่าย ย่อมเป็นผู้มีที่พึ่ง แต่ในทางตรงกันข้าม บุคคลผู้ว่ายาก จะไม่สามารถมีที่พึ่งได้เลย มีแต่สะสมสิ่งที่เป็นโทษให้กับตนเองเท่านั้น

พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ที่ทรงแสดงถึงความเป็นจริงของอกุศลประการต่างๆ ก็เพื่อเกื้อกูลให้สัตว์โลกได้เข้าใจอย่างถูกต้องว่า เป็นสิ่งที่มีจริงๆ เป็นสิ่งที่มีโทษ ไม่มีประโยชน์ใดๆ เลย แล้วละเว้นจากอกุศล ถอยกลับจากอกุศล ด้วยความเข้าใจอย่างถูกต้องตรงตามความเป็นจริง จึงควรอย่างยิ่งที่จะไม่เป็นผู้ว่ายาก แต่ควรที่จะเป็นผู้ว่าง่ายที่จะได้ฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมด้วยความเคารพ มีความจริงใจที่จะประพฤติตามพระธรรม เพื่อขัดเกลากิเลสของตนเอง เพราะกิเลสมีมาก ถ้าไม่ขัดเกลาด้วยกุศลธรรม นับวันกิเลสมีแต่จะพอกพูนหนาแน่นขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งจะต้องเป็นผู้ที่มีความมั่นคงในการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมอบรมเจริญปัญญาไปตามลำดับ เพราะเหตุว่า พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ดีแล้วเท่านั้น เป็นสิ่งเดียวที่บุคคลทั้งหลายจะพึ่งได้อย่างแท้จริง เป็นแสงสว่างนำชีวิตไปสู่คุณความดีทั้งปวง ซึ่งก็ต้องเริ่มตั้งแต่ว่าง่ายที่จะฟังพระธรรมด้วยความเคารพ เห็นคุณค่าในแต่ละคำที่พระองค์ทรงแสดง


อ่านคำอื่นๆ คลิกที่นี่ ... บาลี ๑ คำ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
chatchai.k
วันที่ 20 ก.ย. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
มกร
วันที่ 21 ก.ย. 2563

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ