[คำที่ ๔๗๐] ธมฺมกถิก

 
Sudhipong.U
วันที่  21 ส.ค. 2563
หมายเลข  32672
อ่าน  838

ภาษาบาลี ๑ คำ คติธรรมประจำสัปดาห์ “ธมฺมกถิก

โดย อ.คำปั่น อักษรวิลัย

ธมฺมกถิก อ่านตามภาษาบาลีว่า ดำ - มะ - กะ - ถิ - กะ มาจากคำว่า ธมฺม (สิ่งที่มีจริง) กับคำว่า กถิก (บุคคลผู้กล่าว, บุคคลผู้มีถ้อยคำ) รวมกันเป็น ธมฺมกถิก เขียนเป็นไทยได้ว่า ธรรมกถึก แปลว่า บุคคลผู้กล่าวธรรม กล่าวสิ่งที่มีจริง เพื่อความเข้าใจถูกเห็นถูก (ปัญญา) ซึ่งเป็นบุคคลผู้มีคำพูดเรื่องธรรมอย่างถูกต้อง เพราะมีความเข้าใจถูกเห็นถูกตรงตามความเป็นจริง แสดงความจริง เปิดเผยความจริงแก่ผู้อื่น เพื่อความเจริญขึ้นของปัญญา จนถึงการดับกิเลสตามลำดับขั้น ดับการเวียนว่ายตายเกิดได้ในที่สุด ตามข้อความในพระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค ธรรมกถิกสูตร ดังนี้

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้า ประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี กรุงสาวัตถี ครั้งนั้นแล ภิกษุรูปหนึ่ง เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าถึงที่ประทับ ครั้นแล้วถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้า นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง แล้วได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า พระพุทธเจ้าข้า ที่เรียกว่า ธรรมกถึก ธรรมกถึก ดังนี้ ด้วยเหตุเพียงเท่าไรหนอ จึงจะชื่อว่า ธรรมกถึก. พระผู้มีพระภาคเจ้า ได้ตรัสว่า “ดูกร ภิกษุ ถ้าภิกษุแสดงธรรม เพื่อความหน่าย เพื่อความคลายกำหนัด เพื่อความดับชรา (ความแก่) และมรณะ (ความตาย) ควรจะกล่าวว่า ภิกษุ ธรรมกถึก”

การฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงตลอด ๔๕ พรรษานั้น เป็นการศึกษาที่มีประโยชน์เป็นอย่างยิ่ง เป็นไปเพื่อความเข้าใจถูกเห็นถูก เป็นการสะสมทรัพย์ที่ประเสริฐ เป็นมงคลอันประเสริฐ เป็นการศึกษาที่ยอดเยี่ยม สิ่งที่ดีและมีประโยชน์นั้น ยิ่งศึกษามาก ฟังมาก เข้าใจมาก ก็ยิ่งเป็นประโยชน์ ซึ่งจะต้องศึกษาจนตลอดชีวิตเท่าที่จะสามารถศึกษาได้ สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกตามกำลังปัญญาของตนเอง แต่การที่จะให้รู้ทั่วถึงแทงตลอดทั้งหมดย่อมเป็นไปไม่ได้ เพราะเป็นวิสัยของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเท่านั้น และประการที่สำคัญคือ จุดประสงค์ในการศึกษาพระธรรมต้องตรงและถูกต้อง ผู้ศึกษาจึงจะได้รับประโยชน์จากการศึกษาพระธรรม

ถ้าหากจุดประสงค์ในการศึกษาถูกต้อง ก็จะรู้ว่าตราบใดที่ยังไม่ได้ดับกิเลสซึ่งเป็นเครื่องเศร้าหมองของจิตทั้งหมดอย่างเด็ดขาด ศึกษาเท่าไหร่ก็ยังไม่พอ แต่ก็ไม่ได้เหลือวิสัยสำหรับผู้ตั้งใจศึกษาที่จะสะสมปัญญาไปตามลำดับ เพราะสิ่งที่มีจริงไม่พ้นไปจากชีวิตประจำวันเลย ทั้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย และใจ จึงค่อยๆ ฟัง ค่อยๆ ศึกษา สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกไปทีละเล็กทีละน้อย สิ่งที่ไม่ควรลืม คือ การศึกษาพระธรรม ต้องเป็นไปเพื่อการละความไม่รู้และกิเลสประการต่างๆ เท่านั้น ไม่ใช่เพื่ออย่างอื่น

แต่ละบุคคลมีการสะสมแตกต่างกัน มีพฤติกรรมที่แตกต่างกันออกไปตามการสะสม แต่ถึงอย่างไรก็ตาม พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงตลอด ๔๕ พรรษา จะเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เป็นที่พึ่งสำหรับผู้ที่ได้ฟัง ได้ศึกษาอย่างแท้จริง ไม่ว่าจะอยู่ในเพศใด วัยใด ก็ตาม

ธรรม เป็นเรื่องที่ละเอียด ลึกซึ้งอย่างยิ่ง พระสัมมาสัมพุทธเจ้า กว่าที่พระองค์จะได้ตรัสรู้นั้น ทรงบำเพ็ญพระบารมีมาตลอดระยะเวลาถึงสี่อสงไขยกับอีกแสนกัปป์ เป็นเวลาที่ยาวนานเป็นอย่างยิ่ง ทั้งหมดนั้นไม่ใช่เพื่อพระองค์เพียงพระองค์เดียว แต่เพื่อประโยชน์ของสัตว์โลกทั้งปวง เมื่อพระองค์ตรัสรู้แล้ว ทรงมีพระมหากรุณาแสดงพระธรรมตลอด ๔๕ พรรษา ตั้งแต่เริ่มประกาศพระศาสนาจนกระทั่งถึงเวลาที่พระองค์จวนจะเสด็จดับขันธปรินิพพาน พระองค์ทรงอนุเคราะห์สัตว์โลกด้วยการแสดงพระธรรมตามสมควรแก่อัธยาศัยของผู้ฟัง ซึ่งผู้ที่ได้รู้แจ้งอริยสัจจธรรม บรรลุเป็นพระอรหันต์ถึงความเป็นผู้หมดจดจากกิเลส สิ้นทุกข์โดยประการทั้งปวง มีจำนวนมากมายนับไม่ถ้วน นอกจากนั้นแล้ว พระอริยบุคคลขั้นอื่นๆ กล่าวคือ พระโสดาบัน พระสกทาคามี และพระอนาคามี รวมถึงผู้ที่ถึงพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่ง สะสมความเข้าใจถูก เห็นถูก เป็นที่พึ่งต่อไปในภายหน้า ก็มีเป็นจำนวนมากนับไม่ถ้วนเช่นเดียวกัน ซึ่งทั้งหมดนั้นเป็นประโยชน์ที่ได้รับจากการฟัง การศึกษาพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ดีแล้ว พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเป็นยอดของบุคคลผู้แสดงธรรม ไม่มีใครที่จะมีพระมหากรุณาเท่ากับพระองค์ได้เลย

การที่พระพุทธศาสนาซึ่งเป็นคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จะดำรงอยู่ต่อไป ก็ด้วยความเข้าใจพระธรรม บุคคลผู้ที่ได้เข้าใจพระธรรม เห็นประโยชน์ของพระธรรมที่จะดำรงอยู่ต่อไป ก็กล่าวพระธรรม เปิดเผยพระธรรมตามที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง เพื่อประโยชน์แก่ผู้อื่นจะได้ฟังได้ศึกษาได้สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกต่อไป ผู้ที่มีความเข้าใจพระธรรมอย่างถูกต้องแล้วกล่าวพระธรรมเพื่อความเข้าใจถูกเห็นถูกของผู้อื่น ผู้นั้นชื่อว่า ธรรมกถึก เป็นบุคคลผู้มีถ้อยคำเพื่อให้ผู้อื่นเข้าใจสิ่งที่มีจริงตรงตามความเป็นจริง เพราะคุณธรรมของบุคคลผู้เป็นธรรมกถึก คือ ปัญญา ความเข้าใจถูกเห็นถูก นั่นเอง เนื่องจากว่ามีความเข้าใจอย่างถูกต้องตามพระธรรม จึงสามารถที่จะกล่าว แสดงเปิดเผยคำจริงเพื่อประโยชน์แก่ผู้อื่นได้ พระธรรม ยิ่งเปิดเผย ยิ่งรุ่งเรือง บุคคลผู้ที่จะทำให้พระพุทธศาสนารุ่งเรือง ก็คือ ผู้ที่เข้าใจพระธรรม เท่านั้น

คำจริงที่แสดงถึงสิ่งที่มีจริง เป็นคำที่แสดงความเป็นเพื่อนที่ดี พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเป็นยอดของกัลยาณมิตร ไม่มีใครเป็นมิตรที่ดียิ่งกว่าพระองค์ เพราะฉะนั้น คำที่พระองค์ตรัสไว้ดีแล้ว ควรที่จะได้ศึกษา ให้เข้าใจชัดเจนด้วยความไม่ประมาท ด้วยความเคารพอย่างยิ่ง เพื่อดำรงรักษาคำของพระองค์ สิ่งใดที่ผิดไปแล้วปัญญาเท่านั้นที่จะรู้ว่าผิด ตราบใดที่ปัญญายังไม่เกิดก็หลงเข้าใจว่าสิ่งที่ผิดเป็นสิ่งที่ถูก แต่เมื่อได้เข้าใจแล้วว่าสิ่งใดถูก แล้วแต่กำลังของความเข้าใจและการเป็นเพื่อนที่ดีของแต่ละบุคคล ถ้าเป็นเพื่อนที่ดี ก็ไม่รั้งรอที่จะกล่าวคำที่เป็นประโยชน์ที่สุดในสังสารวัฏฏ์ให้คนอื่นได้ฟังได้ไตร่ตรองได้เข้าใจ ได้เป็นที่พึ่งต่อไป เพราะฉะนั้น จึงเป็นหน้าที่สำคัญของพุทธบริษัททุกคนจะได้ร่วมกันศึกษาสิ่งที่ประเสริฐที่สุด คือ พระธรรมแต่ละคำที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง แล้วเผยแพร่พระธรรม ตามที่ได้ศึกษามา ตามกำลังปัญญาของตนเอง เพื่อสืบต่อความเข้าใจที่ถูกต้องให้เจริญยิ่งขึ้นต่อไป


อ่านคำอื่นๆ คลิกที่นี่ ... บาลี ๑ คำ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
chatchai.k
วันที่ 22 ส.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ 

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
วันชัย๒๕๐๔
วันที่ 22 ส.ค. 2563

เป็นประโยชน์มากครับ อนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ