[คำที่ ๓๖๗] ปริสทูสน

 
Sudhipong.U
วันที่  6 ก.ย. 2561
หมายเลข  32487
อ่าน  310

ภาษาบาลี ๑ คำ คติธรรมประจำสัปดาห์ ปริสทูสน

คำว่า ปริสทูสน เป็นคำภาษาบาลีโดยตรง [อ่านตามภาษาบาลีว่า ปะ - ริ - สะ - ทู - สะ - นะ] มาจากคำว่า ปริสา (กลุ่มชน,หมู่ชน,ผู้ที่ห้อมล้อมกัน) กับคำว่า ทูสน (ผู้ประทุษร้าย,ผู้เบียดเบียน,ผู้ทำสิ่งที่เป็นโทษ) รวมกันเป็น ปริสทูน แปลว่า ผู้ประทุษร้าย,ผู้เบียดเบียน,ผู้ทำสิ่งที่เป็นโทษต่อกลุ่มชน สิ่งเป็นไปเพื่อประทุษร้ายเบียดเบียนทำสิ่งเป็นโทษต่อผู้อื่น นั้น ไม่ใช่ความดี แต่เป็นเรื่องของความชั่ว ทั้งนั้น กล่าวคือ อกุศลธรรม ทั้งหลายทั้งปวง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คือ ความเห็นผิด คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง

ข้อความในพระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต ปริสาสูตร พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงบุคคล ๔ จำพวก เป็นผู้ประทุษร้ายบริษัท (กลุ่มชน) ดังนี้ คือ

“ดูกร ภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้ประทุษร้ายบริษัท ๔ จำพวกนี้ ๔ จำพวกเป็นไฉน คือ ภิกษุ ผู้ทุศีล มีธรรมอันลามก ชื่อว่า ประทุษร้ายบริษัท ๑ ภิกษุณี ผู้ทุศีล มีธรรมอันลามก ชื่อว่า ประทุษร้ายบริษัท ๑อุบาสก ผู้ทุศีล มีธรรมอันลามก ชื่อว่า ประทุษร้ายบริษัท ๑ อุบาสิกา ผู้ทุศีลมีธรรมอันลามก ชื่อว่า ประทุษร้ายบริษัท ๑ ดูกร ภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๔ จำพวกนี้แล เป็นผู้ประทุษร้ายบริษัท”


พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง แสดงถึงสิ่งที่มีจริง เพื่อความเข้าใจถูกเห็นถูกตรงตามความเป็นจริงของธรรม ซึ่งเป็นสิ่งที่มีจริง และมีจริงในชีวิตประจำวัน เพราะมีแต่ธรรมเท่านั้น ที่เกิดขึ้นทำกิจหน้าที่ แม้แต่ในเรื่องของบุคคลผู้ประทุษร้ายบริษัทหรือกลุ่มชน นั้น แท้ที่จริงแล้ว เมื่อว่าโดยปรมัตถธรรม คนสัตว์ ไม่มี มีแต่ธรรม เพราะมีธรรมฝ่ายไม่ดีเกิดขึ้นเป็นไป มีความไม่รู้ ความเห็นผิด ความติดข้อง เป็นต้น จึงเรียกว่า เป็นผู้ประทุษร้ายบริษัท ทำสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ต่อผู้อื่น เพราะเหตุว่า ถ้าเป็นความดีประการต่างๆ แล้ว จะไม่เป็นไปเพื่อประทุษร้ายเบียดเบียนผู้อื่นเลย มีแต่จะทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อผู้อื่น และในขณะที่ทำความดีนั้น ก็เป็นประโยชน์ของตนเองด้วย เพราะความดีเจริญขึ้น เป็นไปเพื่อขัดเกลากิเลสของตนเอง

สภาพธรรมที่เป็นตัวประทุษร้ายหรือทำลายผู้อื่น ที่อันตรายเป็นอย่างยิ่ง ที่ทำลายประโยชน์ทั้งของตนเองและผู้อื่น ก็คือ ความเห็นผิด ความเห็นที่คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง และเป็นการทำลายคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอีกด้วย ซึ่งไม่มีอันตรายใดที่จะเสมอเท่ากับการทำลายคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะปิดกั้นบุคคลที่สมควรที่จะได้เข้าใจถูกถ้าไตร่ตรองพิจารณาในสิ่งที่มีจริงตามความเป็นจริง แต่กลับทำให้เขาเข้าใจผิด เป็นโทษทั้งในชาตินี้และชาติต่อๆ ไปด้วย กล่าวได้ว่าทำลายทั้งในชาตินี้และชาติต่อๆ ไปด้วย

มิจฉาทิฏฐิ (ความเห็นผิด) เป็นสภาพธรรมที่มีจริง เป็นความเห็นที่คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง เป็นความเห็นที่ไม่ตรงตามความเป็นจริง ซึ่งจะเห็นได้ว่า ความเห็นผิดเป็นอกุศลธรรมที่อันตรายมาก มีโทษมาก เพราะว่า เมื่อมีความเห็นผิดแล้ว กาย วาจา ใจ ย่อมเป็นไปในทางที่ผิด ด้วย กาย วาจา ใจ ที่คล้อยตามความเห็นผิดของผู้ที่มีความเห็นผิด นั้น ย่อมเป็นไปเพื่อผลที่ไม่น่าปรารถนา ไม่น่าชอบใจ ไม่เป็นประโยชน์เกื้อกูล เหมือนกับเมล็ดสะเดาก็ดี เมล็ดบวบขมก็ดี เมล็ดน้ำเต้าขมก็ดี ที่บุคคลหมกไว้ในดินที่ชุ่มชื้น รสดิน รสน้ำที่มันถือเอาทั้งหมด ย่อมเป็นไปเพื่อความเป็นของขม เพื่อเผ็ดร้อน เพื่อไม่น่ายินดี เท่านั้น, บุคคลผู้ที่มีความเห็นผิด มีการปฏิบัติผิด ย่อมไม่สามารถที่จะพ้นไปจากวัฏฏะได้ มีแต่จะพอกพูนข้อปฏิบัติผิดนั้นยิ่งๆ ขึ้น ยากที่จะพ้นไปได้ และ ที่น่ากลัวอีกอย่างหนึ่ง คือ ตนเองมีความเห็นผิดแล้ว ยังชักชวนให้ผู้อื่นมีความเห็นผิดตามไปด้วย เผยแพร่ความเห็นที่ไม่ตรงกับความเป็นจริง ยิ่งจะทำให้ผู้อื่นเกิดความเห็นผิดเพิ่มมากขึ้น ประสบสิ่งที่ไม่ใช่บุญเป็นอันมาก ไม่เป็นประโยชน์แก่ใครๆ เลย ทั้งสิ้น เป็นการประทุษร้ายเบียดเบียนต่อกลุ่มชนที่น่ากลัวเป็นอย่างยิ่ง

เป็นที่น่าพิจารณา ว่า คนที่เคยเห็นผิด หากอาศัยการฟังพระธรรม แล้วพิจารณา ย่อมเกิดความเห็นถูกได้ แต่ถ้าไม่ฟังและไม่พิจารณาไตร่ตรอง ก็หมดหนทางที่จะเห็นถูกได้ ย่อมยึดถือความเห็นผิดว่า เป็นความเห็นถูกอยู่เรื่อยๆ แล้วเมื่อมีการสะสมความเห็นผิด จนกระทั่งเป็นปกติ เป็นอุปนิสัยที่มีกำลัง ย่อมจะทำให้ความเห็นผิดนั้นมีปัจจัยที่จะเกิดต่อไปอีก และอาจจะเห็นผิดมากขึ้นอีกด้วย

สิ่งที่เป็นประโยชน์เกื้อกูล คือ การฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ค่อยๆ สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกไปทีละเล็กทีละน้อย เมื่อมีความข้าใจแล้ว ก็มีความเป็นมิตร หวังดีต่อผู้อื่น ที่จะได้มีความเข้าใจถูกต้องด้วย จึงมีการกล่าว แสดง เปิดเผยคำจริง เพื่อประโยชน์แก่ผู้อื่นจะได้มีความเข้าใจถูกเห็นถูก สะสมเป็นอุปนิสัยที่ดีต่อไป เพราะเหตุว่าถ้าเป็นคำที่ถูกต้องและจริง สมควรอย่างยิ่งที่จะให้คนอื่นได้รู้ ได้เข้าใจถูกต้อง เพราะฉะนั้น ก็สมควรอย่างยิ่ง ที่จะต้องเริ่มเห็นประโยชน์ เห็นคุณค่าของพระธรรมและไม่ทอดทิ้ง ไม่ละเลยที่จะปล่อยให้มีการทำลายคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในลักษณะต่างๆ โดยไม่มีการร่วมมือกันทำสิ่งหนึ่งสิ่งใด ดังนั้น สิ่งที่ทำได้ ก็คือ เผยแพร่สิ่งที่ถูกต้อง ให้คนอื่นได้เข้าใจอย่างถูกต้องทุกคำ จากความหวังดีของผู้ที่หวังดีที่จะให้เป็นกุศล ไม่ว่าเขาจะทำผิดด้วยประการใดก็ตาม แต่ถ้าได้ฟังพระธรรมแล้วคิดไตร่ตรองและทำสิ่งที่ถูกต้อง นั่น ก็จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง จึงถึงเวลาแล้วที่จะเห็นประโยชน์ของพระธรรม ตั้งใจฟัง ตั้งใจศึกษา เพื่อความเข้าใจถูกเห็นถูกยิ่งขึ้นต่อไป โดยไม่ขาดการฟังพระธรรมเป็นปกติในชีวิตประจำวัน ให้เวลากับสิ่งที่มีค่าที่สุดในสังสารวัฏฏ์ ที่ยากที่จะได้ฟัง และยากที่จะเข้าใจ แต่ก็สามารถที่จะเข้าใจได้ ถ้าได้เริ่มฟังเริ่มศึกษาด้วยความเคารพ ละเอียด รอบคอบ ไม่ประมาทในคำจริงแต่ละคำที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง.


อ่านคำอื่นๆ คลิกที่นี่ ... บาลี ๑ คำ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
chatchai.k
วันที่ 14 มี.ค. 2564

ขออนุโมทนาครับ 

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ