[คำที่ ๓๗๑] โลภกิเลส

 
Sudhipong.U
วันที่  4 ต.ค. 2561
หมายเลข  32491
อ่าน  251

ภาษาบาลี ๑ คำ คติธรรมประจำสัปดาห์ “โลภกิเลส”

คำว่า โลภกิเลส เป็นคำภาษาบาลีโดยตรง [อ่านตามภาษาบาลีว่า โล - พะ - กิ - เล - สะ] มาจากคำว่า โลภ (ความติดข้อง,ความต้องการ) กับคำว่า กิเลส (เครื่องเศร้าหมองของจิต, กิเลส) รวมกันเป็น โลภกิเลส แปลว่า เครื่องเศร้าหมองของจิต คือ โลภะ ความติดข้อง ความต้องการ แสดงถึงความจริงของอกุศลธรรมประการหนึ่ง ซึ่งเป็นเครื่องเศร้าหมองของจิต เกิดกับจิตขณะใด ก็ทำให้จิตขณะนั้นเป็นจิตที่เป็นอกุศล โดยมีโลภะ คือ ความติดข้อง เกิดร่วมด้วย โลภะเกิดขณะใด ย่อมเป็นอกุศล ไม่สามารถเข้าใจถูกเห็นถูกตามความเป็นจริงได้ในขณะที่เป็นอกุศล โลภะ ไม่มีประโยชน์เลยแม้แต่น้อย มีแต่โทษเท่านั้น ตามข้อความใน พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ มลสูตร แสดงความเป็นจริงของโลภะ ไว้ดังนี้

“โลภะ ก่อให้เกิดความพินาศ โลภะทำจิตให้กำเริบ ชนไม่รู้สึกโลภะนั้นอันเกิดแล้วในภายในว่าเป็นภัย คนโลภย่อมไม่รู้ประโยชน์ ย่อมไม่เห็นธรรม โลภะย่อมครอบงำนรชนในขณะใด ความมืดตื้อย่อมมีในขณะนั้น”


สิ่งที่มีจริงทั้งหมดทุกประการ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสรู้และทรงแสดงเพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่สัตว์โลกจะได้มีความเข้าใจถูกเห็นถูกตรงตามความเป็นจริง เพราะอาศัยคำจริงแต่ละคำที่พระองค์ทรงแสดง สัตว์โลกจึงได้สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกในสิ่งที่มีจริงตรงตามความเป็นจริง และสิ่งที่มีจริงนั้น มีจริงในชีวิตประจำวันด้วย ไม่ต้องไปแสวงหาสิ่งที่มีจริงที่ไหน แม้แต่ โลภะ ก็มีจริง ตราบใดที่ยังไม่ใช่พระอรหันต์ ก็ยังมีโลภะ ยังมีโลภะเกิดขึ้นเป็นไปตามเหตุตามปัจจัย

โลภะ เป็นธรรมที่มีจริงอย่างหนึ่ง แต่เป็นธรรมทางฝ่ายที่เป็นอกุศล ที่ติดข้อง ต้องการ ยินดีพอใจในสิ่งที่ปรากฏ มีระดับขั้นตั้งแต่บางเบา จนกระทั่งมีกำลังถึงขั้นล่วงออกมาเป็นทุจริตกรรมประการต่างๆ เบียดเบียนผู้อื่นให้เดือดร้อน เพราะติดข้องเกินประมาณ นั่นเอง เพราะฉะนั้น เรื่องของโลภะ เป็นเรื่องที่แสนจะละเอียดจริงๆ บางคนทางกาย ทางวาจา ไม่มีอาการของความละโมบ ความอยาก ความต้องการ ความหวังให้ปรากฏ แต่ทางใจมี แม้แต่ความคิดที่เกิดขึ้น ก็เกิดขึ้นเพราะมีความต้องการเป็นปัจจัย เพราะฉะนั้น บางคนอาจจะมีการกระทำทางกาย หรือคำพูดทางวาจา ซึ่งอาจจะดูน่าเลื่อมใส แต่ว่าภายในใจของบุคคลนั้น ใครจะรู้ว่ามีความหวัง มีโลภะ มีความละโมบโลภมาก มีความปรารถนา มีความต้องการอะไรหรือไม่? แต่ผู้ที่อบรมเจริญปัญญาต้องเห็นโทษของอกุศลอย่างละเอียด แล้วก็ควรที่จะขัดเกลา เพราะถ้ายังเป็นผู้ที่ไม่อิ่มในโลภะ ในความต้องการ พอกพูนความติดข้องต้องการยิ่งขึ้นไปเรื่อยๆ ก็ไม่มีวันที่จะหมดโลภะได้

สภาพที่เป็นจริงของโลภะนั้น เป็นอกุศล ติดข้อง ไม่สละ ไม่ปล่อยให้เป็นกุศล หนัก เดือดร้อน ดิ้นรน กระสับกระส่าย ไม่สงบ ไม่ว่าโลภะจะเกิดขึ้นในขณะใด ก็ทำให้จิตกระสับกระส่าย หวั่นไหว เดือดร้อนตามกำลังของโลภะ

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงพระธรรม ตลอด ๔๕ พรรษา เพื่อให้ผู้ฟัง ผู้ศึกษาได้พิจารณาเห็นตามความเป็นจริงว่า สภาพธรรมทั้งหมด เป็นสิ่งที่มีจริง เกิดขึ้นตามเหตุตามปัจจัยแล้วก็ดับไป ไม่ยั่งยืน แม้แต่โลภะซึ่งเป็นความติดข้องยินดีพอใจก็เป็นสภาพธรรมที่มีจริง เกิดขึ้นตามการสะสมมาของแต่ละบุคคล พอใจในรูปบ้าง พอใจในเสียงบ้าง พอใจในกลิ่นบ้าง พอใจในรสบ้าง พอใจในสิ่งที่กระทบสัมผัสกายบ้าง เป็นต้น ชีวิตประจำวัน ยากที่จะพ้นไปจากโลภะได้ มีมากจริงๆ เราไม่สามารถที่จะมีกุศลจิตเกิดตลอดเวลา และตลอดทั้งวันก็ไม่ใช่ว่าจะมีแต่อกุศลจิตเกิดแต่เพียงอย่างเดียว มีกุศล เกิดบ้าง บุคคลผู้ที่ยังมีกิเลสอยู่ ย่อมมีความเป็นไปอย่างนี้จริงๆ กล่าวคือ มีทั้งกุศลและอกุศล แต่ในชีวิตประจำวันอกุศลจะเกิดมากกว่ากุศล ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งที่มีจริงทั้งหมด

บุคคลผู้ที่ได้ฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม อดทนที่จะฟังพระธรรมศึกษาพระธรรมเท่านั้น จึงจะเห็นประโยชน์ของปัญญา ถ้าไม่มีปัญญาแล้ว การที่จะขัดเกลาละคลายกิเลส มีโลภะ เป็นต้นนั้น ย่อมเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ เมื่อมีความเข้าใจพระธรรมตามความเป็นจริงแล้ว ก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัย ให้ระลึกถึงกิเลสของตนเอง เห็นโทษเห็นภัย แล้วมีการขัดเกลา และกุศลธรรมทั้งหลายก็จะค่อยๆ เจริญขึ้นตามระดับขั้นของปัญญา ดังนั้น การที่จะขัดเกลาละคลายกิเลสได้ จึงมีหนทางเดียวเท่านั้น คือ อบรมเจริญปัญญา เพื่อความเข้าใจถูก เห็นถูกในลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริง และไม่ใช่จะดับได้ในทันทีทันใด ต้องอาศัยกาลเวลาที่ยาวนานในการอบรมเจริญปัญญา ค่อยๆ สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกไปทีละเล็กทีละน้อยจริงๆ เห็นประโยชน์อย่างยิ่งของการที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์แล้ว มีโอกาสได้สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูก จากการได้อาศัยคำแต่ละคำที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง สะสมเป็นที่พึ่งต่อไป.


อ่านคำอื่นๆ คลิกที่นี่ ... บาลี ๑ คำ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
chatchai.k
วันที่ 14 มี.ค. 2564

ขออนุโมทนาครับ 

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ