[คำที่ ๒๒๖] กิเลสรช

 
Sudhipong.U
วันที่  24 ธ.ค. 2558
หมายเลข  32346
อ่าน  292

ภาษาบาลี ๑ คำ คติธรรมประจำสัปดาห์ กิเลสรช

คำว่า กิเลสรช เป็นคำภาษาบาลีโดยตรง [อ่านตามภาษาบาลีว่า กิ - เล - สะ - ระ - ชะ] มาจากคำว่า กิเลส (เครื่องเศร้าหมองของจิต) กับคำว่า รช (ธุลี, สิ่งที่เปื้อน,สิ่งสกปรก) รวมกันเป็น กิเลสรช แปลว่า ธุลีคือกิเลส, สิ่งที่เปื้อนคือกิเลส แสดงถึงความสกปรก ความเปื้อน ความไม่สะอาด คือ กิเลส ซึ่งเป็นเครื่องเศร้าหมองของจิต เป็นสิ่งสกปรกของจิต ทำให้จิตเปื้อนด้วยของไม่สะอาด ซึ่งมีจริงๆ เป็นธรรมเกิดขึ้นเป็นไปตามเหตุตามปัจจัย และก็มีมากบ้าง น้อยบ้าง ตามการสะสมของแต่ละบุคคล ตามข้อความจาก พระอภิธรรมปิฎก พระวิภังคปกรณ์ ว่า

กิเลสวัตถุ (กิเลสที่ตั้งอยู่ในจิตของผู้ที่ยังไม่ได้ดับกิเลส) ๑๐ คือ โลภะ (ความติดข้อง) โทสะ (ความโกรธ ความไม่พอใจ) โมหะ (ความไม่รู้)  มานะ (ความสำคัญตน) ทิฏฐิ (มิจฉาทิฏฐิ ความเห็นผิดคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง) วิจิกิจฉา (ความลังเลสงสัยในสภาพธรรม) ถีนะ (ความท้อแท้ท้อถอยหดหู่) อุทธัจจะ(ความฟุ้งซ่าน ไม่สงบ) อหิริกะ (ความไม่ละอายต่อบาป) อโนตตัปปะ (ความไม่เกรงกลัวต่อบาป) กิเลสวัตถุ ๑๐ เหล่านั้น อันสัตว์เหล่าใด เสพมากแล้ว ทำให้เกิดแล้ว ทำให้มากแล้ว เพิ่มพูนขึ้นแล้ว สัตว์เหล่านี้นั้น ชื่อว่า ผู้มีธุลีคือกิเลสมาก, กิเลสวัตถุ  ๑๐ เหล่านี้ อันสัตว์เหล่าใดมิได้เสพมากแล้ว มิได้ทำให้เกิดแล้ว มิได้ทำให้มากแล้ว มิได้เพิ่มพูนขึ้นแล้ว สัตว์เหล่านี้นั้น ชื่อว่าผู้มีธุลีคือกิเลสน้อย ”


กิเลสทั้งหลาย มีโลภะ โทสะ โมหะ เป็นต้น เป็นสภาพธรรมที่ไม่สะอาด ไม่บริสุทธิ์ เพราะเป็นธรรมที่เศร้าหมอง ทำให้จิตเศร้าหมอง กิเลส  เป็นสิ่งที่ไม่น่าพึงพอใจ เมื่อเกิดขึ้น ย่อมไม่เป็นไปเพื่อประโยชน์เลยแม้แต่นิดเดียว มีแต่นำมาซึ่งทุกข์โทษภัยเท่านั้น กิเลส จึงเป็นสภาพธรรมที่บัณฑิตซึ่งเป็นผู้มีปัญญา รังเกียจ ไม่ควรแก่การเข้าใกล้เป็นอย่างยิ่ง     

จะเห็นได้จริงๆว่า บุคคลบางคนเป็นผู้รักความสะอาดทางกาย เป็นผู้ที่รังเกียจความสกปรกทางกายมาก แต่ว่าลืมคิดว่า ขณะใดที่กิเลสเกิด ขณะนั้นสกปรกหรือว่าน่ารังเกียจยิ่งกว่าความสกปรกทางกาย และกิเลสที่เกิด นั้น เกิดกับจิตขณะใด ก็ทำให้จิตเป็นอกุศลจิต และอกุศลจิตเกิดอยู่ตลอดเวลาถ้าไม่ได้เป็นไปในทาน การให้วัตถุสิ่งของเพื่อประโยชน์สุขแก่ผู้อื่น ไม่ได้เป็นไปในศีล การงดเว้นจากทุจริตต่างๆ และไม่ได้เป็นไปในการอบรมเจริญปัญญา นี้คือความเกิดขึ้นเป็นไปของธรรมฝ่ายที่ไม่ดี ซึ่งเป็นอกุศลธรรม เป็นธรรมที่มีจริงๆ ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตันตน

ก่อนการตรัสรู้ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า นั้น มีผู้ที่ให้ทาน รักษาศีล งดเว้นจากทุจริตต่างๆ และเจริญสมถภาวนา (การอบรมเจริญความสงบของจิต)จนถึงอรูปฌานขั้นสูงสุด สามารถระงับหรือข่มกิเลสได้ชั่วคราวเป็นวิกขัมภนปหาน (ข่มไว้ชั่วขณะที่ฌานจิตเกิดขึ้น) แต่ไม่มีใครสามารถดับกิเลสได้

เมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงบำเพ็ญพระบารมี ๔ อสงไขย แสนกัปป์มาแล้ว เมื่อครั้งที่ทรงเป็นพระโพธิสัตว์ ซึ่งเป็นระยะเวลาที่ยาวนานมาก จึงทรงตรัสรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง ถึงความเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เมื่อพระองค์ทรงตรัสรู้แล้วก็ได้ทรงแสดงหนทางคือการอบรมเจริญปัญญาเพื่อเข้าใจสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริงจนกระทั่งสามารถดับกิเลสได้ตามลำดับขั้นแก่พุทธบริษัท จึงมีพระอริยสงฆ์สาวก ผู้รู้แจ้งอริยสัจจธรรมดับกิเลสได้ตามลำดับขั้น เป็นจำนวนมาก ทั้งคฤหัสถ์และบรรพชิต สืบต่อมาจนตราบเท่าที่มีผู้ศึกษา และน้อมประพฤติธรรมตามที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงตรัสรู้ และได้ทรงแสดงพระธรรมไว้โดยละเอียดตลอด ๔๕ พรรษา     

พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง นั้น ละเอียด ลึกซึ้ง เพราะทรงแสดงลักษณะของสภาพธรรมทั้งหลายที่ทรงตรัสรู้ โดยทรงประจักษ์แจ้งตามความเป็นจริงของสภาพธรรมนั้นๆ ถ้าผู้ใดไม่ศึกษาพระธรรมที่ทรงแสดงไว้โดยละเอียด ให้เข้าใจอย่างถูกต้องแล้ว ก็ย่อมไม่สามารถอบรมเจริญปัญญา ที่จะประจักษ์แจ้งลักษณะของสภาพธรรมและดับกิเลสได้ เมื่อไม่สามารถดับกิเลสได้ ก็ย่อมจะถูกกิเลสเสียดแทงจิตใจอยู่ตลอดเวลา เป็นผู้ที่ยังเต็มไปด้วยความสกปรกคือกิเลสเป็นอย่างมาก และยังจะสะสมสืบต่อไปอีกเรื่อยๆ ทำให้จมอยู่ในสังสารวัฏฏ์ อย่างไม่มีวันจบสิ้น ไม่พ้นไปจากทุกข์ในสังสารวัฏฏ์  

พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ตลอด ๔๕ พรรษา จึงเป็นอนุสาสนี เป็นคำพร่ำสอน ที่เป็นไปเพื่อปัญญาความเข้าใจถูกเห็นถูกโดยตลอดเพื่อให้พุทธบริษัทเห็นโทษเห็นภัยของกิเลส เพื่อรู้จักตนเองตามความเป็นจริงว่ายังเป็นผู้มากไปด้วยกิเลส ซึ่งจะทำให้เป็นผู้ไม่ประมาทในชีวิตประจำวัน เพื่อจะได้ขัดเกลา ละคลายให้เบาบางลง ด้วยความเข้าใจที่ถูกต้อง โดยเริ่มจากการฟัง การศึกษาพระธรรม  สะสมปัญญาในชีวิตประจำวัน     ค่อยๆสะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกไปทีละเล็กทีละน้อย โดยมั่นใจในหนทางแห่งการอบรมเจริญปัญญา ว่า เป็นทางเดียวที่จะทำให้สัตว์โลกพ้นจากกิเลสอันเป็นสิ่งสกปรกของจิตได้ในที่สุด.

 


อ่านคำอื่นๆ คลิกที่นี่ ... บาลี ๑ คำ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
chatchai.k
วันที่ 2 ก.พ. 2564

ขออนุโมทนาครับ 

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ