[คำที่ ๒๒๘] กิเลสภาร

 
Sudhipong.U
วันที่  7 ม.ค. 2559
หมายเลข  32348
อ่าน  271

ภาษาบาลี ๑ คำ คติธรรมประจำสัปดาห์ “กิเลสภาร

คำว่า กิเลสภาร เป็นคำภาษาบาลีโดยตรง [อ่านตามภาษาบาลีว่า กิ - เล - สะ - พา - ระ] มาจากคำว่า กิเลส (เครื่องเศร้าหมองของจิต) กับคำว่า ภาร (สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นไป) รวมกันเป็น กิเลสภาร หมายถึง สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นไป คือ กิเลส  ซึ่งเป็นสภาพธรรมที่มีจริงๆ ที่เกิดเพราะเหตุปัจจัย เมื่อเหตุปัจจัยพร้อมที่จะทำให้กิเลสเกิดขึ้น กิเลสก็เกิดขึ้นทำกิจหน้าที่ของตนๆ ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครทั้งสิ้น เรื่องของกิเลส เป็นเรื่องใหญ่ เป็นภาระที่หนักมาก เพราะมีแต่จะนำมาซึ่งทุกข์โทษภัย ทำให้เวียนว่ายตายเกิดในสังสารวัฏฏ์ กิเลส เป็นภาระประการหนึ่งในบรรดาภาระทั้ง ๓ ตามข้อความจาก พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย มหานิทเทส  ดังนี้คือ

“ภาระ ๓ อย่าง คือ ขันธภาระ  ๑  กิเลสภาระ ๑  อภิสังขารภาระ ๑”


พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงแสดง แต่ละคำทำให้เข้าใจสภาพธรรมที่กำลังมีในขณะนี้ตามความเป็นจริง ว่าเป็นธรรม เป็นสิ่งที่มีจริง ที่เกิดเพราะเหตุปัจจัย ไม่ใช่เรา และ ธรรม นั้น ไม่ได้พ้นจากชีวิตประจำวันเลย มีจริงๆ ในชีวิตประจำวัน แม้ที่กล่าวถึง ภาระ ก็ไม่พ้นจากขณะนี้ เพราะเกิดมาก็ต้องเป็นไป เป็นภาระแน่นอน เพราะเป็นธรรมที่เกิดขึ้นเป็นไป ใครๆ ก็ยับยังไม่ได้ ไม่ว่าจะได้เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น  ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส คิดนึก กุศล อกุศล และแม้รูปธรรม ก็เป็นภาระ เป็นธรรมที่เกิดขึ้นเป็นไป กล่าวโดยกว้างที่สุด คือ ทุกอย่างที่เกิดมีขึ้นเป็นไป เป็นภาระทั้งนั้น เพราะต้องเกิด ต้องเป็นไป เมื่อไม่เกิด ไม่ต้องเป็นไปจึงไม่ใช่ภาระ

ภาระทั้งหลาย ได้แก่ ขันธภาระ กิเลสภาระ และ อภิสังขารภาระ ขันธ์ทั้งหลายที่เกิดแล้วต้องเป็นไป เป็นขันธภาระ ซึ่งได้แก่ รูป (สภาพธรรมที่ไม่รู้อะไร) เวทนา (ความรู้สึก) สัญญา (ความจำ) สังขาร (เจตสิก ๕๐ ประเภท มี ผัสสะ สภาพธรรมที่กระทบอารมณ์ เป็นต้นซึ่งเป็นสภาพธรรมที่ปรุงแต่งจิต) และ วิญญาณ (จิตทุกประเภท) ซึ่งก็คือขณะนี้เอง เป็นขันธ์ เมื่อกล่าวโดยนัยของขันธ์อันเป็นภาระแล้ว ก็กล่าวถึงกิเลสภาระ เพราะเหตุว่าชีวิตที่เป็นไปตามธรรมดา สำหรับผู้ที่ยังมีกิเลสอยู่ กิเลสก็เกิดขึ้นเป็นไปตามเหตุปัจจัย ตามการสะสมของแต่ละบุคคล  มากบ้าง น้อยบ้าง ซึ่งยังดับไม่ได้ เป็นกิเลสภาระ แล้วก็ต้องเป็นไปตามกำลังของกิเลสด้วย เป็นภาระหนักมาก เพราะกิเลสมีแต่ความติดข้อง การแสวงหาทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ความไม่รู้ ความโกรธขุ่นเคืองใจ ไม่พอใจ ชีวิตวันหนึ่งๆ มากด้วยกิเลสภาระ ถ้ากิเลสน้อยลง ภาระก็น้อยลง     

กิเลสเป็นภาระที่หนักมาก ตราบใดที่ยังมีกิเลสอยู่ สังสารวัฏฏ์ก็ยังต้องเป็นไปอย่างไม่มีวันจบสิ้น เมื่อมีกิเลสแล้ว ถ้าสะสมมีกำลังก็มีเจตนาความจงใจ ที่จะกระทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดในทางที่ไม่ดีไม่ถูกไม่ควร เป็นไปตามกำลังของกิเลสนั้นๆ เช่น ฆ่าสัตว์ ประทุษร้ายเบียดเบียนผู้อื่น ลักทรัพย์ของผู้อื่น ประพฤติผิดในกาม พูดเท็จคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง เป็นต้น แต่ถ้าเป็นเพียงลำพังกิเลส แต่ไม่มีเจตนาที่จะกระทำสิ่งหนึ่งสิ่งใด ผลนั้นก็ไม่เกิด มีแต่สะสมความยินดีพอใจบ้าง ความไม่พอใจบ้าง เป็นภาระอย่างหนึ่ง เป็นสิ่งที่มีจริงที่เกิดขึ้นเป็นไป โดยเกิดเป็นกิเลส ไม่ใช่สภาพธรรมที่ดีงามเลย และโดยละเอียดลึกซึ้งของพระธรรมแล้ว เพราะยังมีกิเลสอยู่นี้เอง การกระทำที่ดี บ้าง ไม่ดี บ้าง ยังมีอยู่ ที่จะเป็นเหตุให้เกิดในภพใหม่ มีสภาพธรรมที่เป็นจิต (สภาพธรรมที่เป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้แจ้งอารมณ์) เจตสิก (สภาพธรรมที่เกิดประกอบกับจิต) และรูป เกิดขึ้นเป็นไปอีก มีขันธภาระ เกิดขึ้นเป็นไป ต่อไป แบกภาระอันหนักนี้ต่อไปอีก

แต่ละคนที่ยังเวียนว่ายตายเกิดในสังสารวัฏฏ์ จึงยังไม่พ้นจากภาระ ยังไม่ใช่ผู้วางภาระ เพราะต้องเห็น ต้องได้ยิน ต้องได้กลิ่น ต้องลิ้มรส  ต้องรู้สิ่งที่กระทบสัมผัสทางกาย เป็นต้น ไม่พ้นจากสภาพธรรมเหล่านี้ ที่เมื่อมีเหตุปัจจัยก็เกิดขึ้นเป็นไป และเป็นความจริงที่เมื่อยังมีกิเลสอยู่ เมื่อได้เหตุปัจจัย กิเลสก็เกิดขึ้นทำกิจหน้าที่ เป็นความติดข้องต้องการบ้าง ความโกรธ ความขุ่นเคืองใจ ไม่พอใจบ้าง เป็นความไม่รู้ความจริงของสภาพธรรม บ้าง เป็นความเห็นผิดคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริงของธรรมบ้าง เป็นต้น ตามการสะสมของแต่ละบุคคล กิเลสประการต่างๆ เมื่อเกิดขึ้นก็ทำกิจของกิเลสจะไปทำกิจของความดีไม่ได้เลย นี้คือความเป็นจริงของสภาพธรรมที่ใครๆ ก็ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ และเพราะยังมีกิเลสอยู่นี้เอง จึงมีการกระทำกรรม ที่ดี บ้าง ไม่ดี บ้าง หลากหลาย ตามการสะสมของแต่ละบุคคลอย่างแท้จริง ซึ่งจะเป็นเหตุให้มีการเกิดในภพใหม่อยู่ร่ำไป ทั้งหมดก็คือ ภาระ ทั้งโดยนัยของขันธ์ โดยนัยของกิเลส และโดยนัยของเจตนาที่เป็นอภิสังขาร คือ การกระทำที่ดี และ ไม่ดี ดังนั้น ตราบใดที่ยังมีการเวียนว่ายตายเกิดอยู่ ยังมีภาระที่หนักมาก สิ่งที่จะเป็นที่พึ่งได้นั้น คือ การอบรมเจริญปัญญา และเจริญกุศลทุกประการ สะสมเป็นอุปนิสัยที่ดี จนกว่าความดีและปัญญาจะถึงความสมบูรณ์พร้อมในที่สุด ซึ่งเหตุสำคัญจะขาดไม่ได้เลย คือ การมีโอกาสได้ฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ที่เป็นไปเพื่อความเข้าใจถูกเห็นถูกโดยตลอด มีค่าเป็นอย่างมากที่มีโอกาสได้ฟังพระธรรม ไม่มีความเสียหายใดๆ เลยแม้แต่น้อย ซึ่งจะเป็นไปเพื่อวางภาระ คือ การดับกิเลสอันเป็นต้นเหตุของภาระทั้งหมดได้ในที่สุด.


อ่านคำอื่นๆ คลิกที่นี่ ... บาลี ๑ คำ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
chatchai.k
วันที่ 2 ก.พ. 2564

ขออนุโมทนาครับ 

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ