[คำที่ ๒๒๓] อกฺโกธน

 
Sudhipong.U
วันที่  3 ธ.ค. 2558
หมายเลข  32343
อ่าน  291

ภาษาบาลี ๑ คำ คติธรรมประจำสัปดาห์ อกฺโกธน

คำว่า อกฺโกธน เป็นคำภาษาบาลีโดยตรง [อ่านตามภาษาบาลีว่า อัก - โก - ทะ - นะ] มาจากคำว่า (ไม่) แปลง น เป็น อ กับคำว่า โกธน (ความโกรธ) ซ้อน กฺ จึงรวมกันเป็น อกฺโกธน แปลว่า ความไม่โกรธ เป็นการแสดงถึงความเกิดขึ้นเป็นไปของกุศลธรรม ที่ไม่โกรธต่อผู้อื่น แม้ว่าจะได้รับความเสียหายจากการกระทำของบุคคลอื่นก็ตาม เพราะว่าขณะที่โกรธ เป็นอกุศล ข้าศึกภายในได้ทำร้ายจิตใจของตนเองแล้ว ถูกท่วมทับด้วยอกุศล แต่ถ้ากุศลเกิด อดทนได้ ไม่โกรธ ขณะนั้นก็จะไม่เดือดร้อนด้วยอกุศลเลยแม้แต่น้อย ข้อความจาก พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย  สคาถวรรค  อักโกธสูตร แสดงถึงความโกรธ และความไม่โกรธ ไว้ดังนี้

“ความโกรธ อย่าได้ครอบงำท่านทั้งหลาย และท่านทั้งหลายอย่าได้โกรธตอบต่อบุคคลผู้โกรธ ความไม่โกรธและความไม่เบียดเบียน ย่อมมีในท่านผู้ประเสริฐ ทุกเมื่อ ก็ความโกรธเปรียบปานดังภูเขา ย่อมย่ำยีคนลามก (คนต่ำช้า,คนบาป,คนชั่ว) ฉะนี้แล”


การที่กุศลประการต่างๆ จะเกิดขึ้น เจริญขึ้นในชีวิตประจำวัน เป็นเรื่องยากทั้งนั้น เพราะเป็นการทวนกระแสของกิเลสที่เราได้สะสมมาอย่างเนิ่นนานในสังสารวัฏฏ์ การฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม เพื่อรู้ความจริง เห็นคุณของกุศล เห็นโทษของอกุศล รู้สิ่งที่ควรทำและรู้ในสิ่งที่ไม่ควรทำ จึงเป็นสิ่งที่มีอุปการะเป็นอย่างมากในการอบรมเจริญปัญญา เพื่อความเข้าใจถูก เห็นถูกในลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริง ซึ่งทั้งหมดทั้งปวง ต้องอาศัยกาลเวลาอันยาวนาน เพราะธรรมฝ่ายที่เป็นอกุศลมีมากและสะสมมานาน จะขจัดหรือกำจัดออกจากจิตใจอย่างรวดเร็วในทันทีทันใด ย่อมเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้เลย ต้องใช้เวลาอันยาวนานในการสะสมปัญญาต่อไป สำหรับความโกรธนั้น ก็เป็นอกุศลธรรมประเภทหนึ่ง เป็นสภาพธรรมที่เกิดขึ้นทำร้ายจิต เป็นข้าศึกภายใน ซึ่งเกิดขึ้นเป็นไปตามเหตุตามปัจจัย บางบุคคลมีอกุศลธรรมประเภทนี้มาก โกรธง่าย ไม่พอใจ ขุ่นเคืองใจ ง่าย เป็นต้น เมื่อว่าโดยสภาพธรรมแล้ว ก็ไม่มีสัตว์ บุคคล ตัวตน มีแต่ธรรมเท่านั้นที่เกิดขึ้นเป็นไป จะบังคับไม่ให้เกิดก็ไม่ได้ เพราะธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตา ตราบใดที่ยังไม่มีปัญญาถึงขั้นที่จะละความโกรธได้อย่างเด็ดขาด ความโกรธก็ย่อมเกิดขึ้นเป็นธรรมดา    

สำหรับเรื่องความโกรธกับความไม่โกรธนั้น ถ้าเป็นบุคคลผู้สะสมปัญญามา ก็ย่อมจะรู้ได้ว่า การไม่โกรธดีกว่าการโกรธอย่างแน่นอน เข้าใจว่าเป็นสภาพธรรมที่แตกต่างอย่างสิ้นเชิง แต่ถ้าไม่ได้สะสมปัญญามา ย่อมไม่สามารถรู้ตามความเป็นจริงอย่างนั้นได้ ก็อาจจะคิดว่าต้องโกรธ ต้องโกรธตอบ คิดไม่ออกว่าไม่โกรธดีกว่าโกรธ เพราะถูกอกุศลครอบงำ ไม่สามารถเข้าใจถูกเห็นถูกตามความเป็นจริงได้เลย

ในชีวิตประจำวันวัน เมื่อมีผู้ทำความเสียหายให้กับเราหรือบุคคลที่เป็นที่รักของเรา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องใด ๆ ก็ตาม ถ้ายังโกรธ มีจิตคิดร้ายตอบ จนถึงกับประทุษร้ายเบียดเบียนทางกาย ทางวาจา ขณะนั้นก็เป็นการก่อกรรมใหม่ อันจะเป็นเหตุให้ได้รับผลที่ไม่ดีในภายหน้า และแม้ว่าจะยังไม่มีกำลังกล้าจนถึงล่วงเป็นการประทุษร้ายเบียดเบียนผู้อื่น แต่ความโกรธก็สะสมสืบต่ออยู่ในจิต ถ้าประมาท ไม่เห็นโทษของความโกรธ สะสมความโกรธบ่อยๆ วันหนึ่งข้างหน้าก็จะมีกำลังกล้าถึงกับกระทำในสิ่งที่ผิดได้ แต่ถ้าหากอาศัยการฟังพระธรรม การศึกษาพระธรรมอบรมเจริญปัญญาในชีวิตประจำวัน เป็นผู้ที่เข้าใจความจริง มีพระธรรมเป็นที่พึ่ง ย่อมจะให้อภัยและข่มใจไม่คิดประทุษร้ายตอบ  ไม่โกรธตอบ ชีวิตก็จะมีความสุขไม่ร้อนรุ่มด้วยอำนาจของอกุศล เพราะขณะนั้น กุศลธรรมเกิดขึ้นเป็นไปแทนที่จะเป็นอกุศล 

เพราะฉะนั้น จึงควรอย่างยิ่งที่จะพิจารณาให้เห็นโทษของอกุศล และเห็นประโยชน์ของกุศล แล้วอบรมเจริญกุศลเพิ่มมากขึ้น เมื่อเห็นประโยชน์ของกุศลแล้ว ไม่ว่าใครจะประพฤติไม่ดีต่อเราอย่างไร เราก็ไม่โกรธ มีความอดทน แล้วเกิดเมตตา มีความหวังดี ปรารถนาดี พร้อมทั้งช่วยเหลือเกื้อกูลบุคคลนั้นได้ทุกเมื่อ ข้อสำคัญที่ควรพิจารณา คือ ถ้าเราโกรธบุคคลหนึ่งบุคคลใด นั้น มีแต่กิเลสของเราเท่านั้นที่เพิ่มขึ้น พอกพูนขึ้น ซึ่งไม่เป็นประโยชน์เลย มีแต่โทษเท่านั้น

พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง จึงเป็นเครื่องอุปการะเกื้อกูลที่ดีอย่างยิ่งในชีวิตประจำวัน เป็นไปเพื่อความเข้าใจถูกเห็นถูก  เกื้อกูลต่อความเจริญขึ้นของกุศลธรรม เพราะปัญญาจะไม่นำพาไปในทางที่เป็นอกุศล มีแต่จะเกื้อกูลให้กุศลธรรมเจริญยิ่งขึ้น จนกว่าจะถึงความสมบูรณ์พร้อมของปัญญา ก็จะสามารถดับกิเลสได้ตามลำดับขั้น ซึ่งปัญญาจะเจริญขึ้นได้ ก็ต้องไม่ปราศจากการฟังพระธรรมศึกษาพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง จากที่มากไปด้วยความโกรธ และกิเลสประการอื่น ๆ แล้วขัดเกลาความโกรธ เป็นต้น จนกระทั่งดับได้อย่างหมดสิ้น เป็นอย่างนี้ได้จริง ๆ แต่ต้องเป็นได้ด้วยปัญญาที่ค่อยๆ เจริญขึ้นไปตามลำดับ.  


อ่านคำอื่นๆ คลิกที่นี่ ... บาลี ๑ คำ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
chatchai.k
วันที่ 2 ก.พ. 2564

ขออนุโมทนาครับ 

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ