[คำที่ ๒๑๖] ปริตฺตธรรม

 
Sudhipong.U
วันที่  15 ต.ค. 2558
หมายเลข  32336
อ่าน  332

ภาษาบาลี ๑ คำ คติธรรมประจำสัปดาห์ ปริตฺตธรรม

คำว่า ปริตฺตธมฺม เป็นคำภาษาบาลีโดยตรง [อ่านตามภาษาบาลีว่า ปะ - ริด - ตะ - ดำ - มะ] มาจากคำว่า ปริตฺต (เล็กน้อย,สั้น) กับคำว่า  ธมฺม (สิ่งที่มีจริง) รวมกันเป็น ปริตฺตธมฺม หมายถึง ธรรมที่เล็กน้อย สั้นแสนสั้น แสดงถึงความเป็นจริงของสภาพธรรมที่มีจริงๆ เกิดขึ้นเป็นไปในชีวิตประจำวัน เช่น เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสทางกาย กุศลจิต อกุศลจิต ในชีวิตประจำวัน ตลอดจนถึงรูปทุกรูป เป็นปริตตธรรม เป็นธรรมที่เล็กน้อย สั้นแสนสั้น กล่าวโดยรวมแล้ว มุ่งหมายถึงสภาพธรรมที่เป็นกามาวจร คือ ยังเป็นไปกับรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ (สภาพธรรมที่กระทบสัมผัสทางกาย) ตามข้อความจากพระอภิธรรมปิฎก ธัมมสังคณีปกรณ์ ว่า

“ธรรมเป็นปริตตะ เป็นไฉน? กุศลธรรม อกุศลธรรม และอัพยากตธรรม (วิบากจิตและเจตสิกที่เกิดร่วมด้วย กิริยาจิตและเจตสิกที่เกิดด้วย  และ รูป) ที่เป็นกามาวจรทั้งหมด คือ รูปขันธ์ เวทนาขันธ์  สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ วิญญาณขันธ์  สภาวธรรมเหล่านี้ ชื่อว่า ธรรมเป็นปริตตะ”


ประโยชน์ของการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม ก็เพื่อเข้าใจสภาพธรรมที่มีจริง ที่กำลังปรากฏในขณะนี้ว่าเป็นธรรม ไม่ใช่เรา ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน เมื่อได้ฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมสะสมความเข้าใจถูก เห็นถูกไปตามลำดับ ก็จะเข้าใจได้ว่า แต่ละคนเป็นแต่ละหนึ่ง  เมื่อว่าโดยสภาพธรรมแล้ว ก็ไม่พ้นไปจากความเกิดขึ้นเป็นไปของสภาพธรรม ที่เป็นนามธรรม (จิต และเจตสิก) และสภาพธรรมที่ไม่ใช่สภาพรู้ คือ รูปธรรม ไม่พ้นจากสภาพธรรมที่มีจริงเหล่านี้เลย จิต เป็นสภาพธรรมที่มีจริง เป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้แจ้งอารมณ์ เจตสิก ก็เป็นสภาพธรรมที่เกิดร่วมกับจิต ดับพร้อมกับจิต รู้อารมณ์เดียวกันกับจิต และสำหรับในภูมิที่มีขันธ์ ๕ ก็อาศัยที่เกิดที่เดียวกันกับจิต เจตสิกแต่ละประเภทก็เกิดกับจิตตามสมควรแก่จิตประเภทนั้นๆ จิตและเจตสิกเกิดขึ้นเป็นไปตามเหตุปัจจัย มีอายุที่สั้นแสนสั้น คือ เพียงแค่ขณะที่เกิดขึ้น ขณะที่ตั้งอยู่ และ ขณะที่ดับไปเท่านั้น เมื่อจิต (พร้อมกับเจตสิกที่เกิดร่วมด้วย) ขณะหนึ่งดับไป ก็เป็นปัจจัยให้จิตขณะต่อไป เกิดสืบต่อทันที

รูปธรรม เป็นสภาพธรรมที่มีจริง ไม่ใช่สภาพรู้ ตัวอย่างรูปธรรม เช่น ตา หู จมูก ลิ้น กาย สี เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ เป็นต้น รูปธรรม เกิดขึ้นตามสมุฏฐานของตนๆ แล้วก็ดับไปไม่เที่ยงไม่ยั่งยืน รูปมีมากมายมีทั้งรูปที่เป็นภายในและภายนอก เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป ทยอยกันเกิด ทยอยกันดับ รูปแต่ละกลุ่มจะไม่ปะปนกัน กล่าวคือ  รูปที่เกิดจากกรรม ไม่ใช่รูปกลุ่มเดียวกันกับรูปที่เกิดจากจิต เป็นต้น และที่สำคัญ รูปจะไม่ปะปนกันกับนามธรรมอย่างเด็ดขาด อายุของรูปเท่ากับจิตเกิดดับ ๑๗ ขณะ มีอายุที่ยาวนานกว่าจิต (และเจตสิก) เพราะจิตมีขณะย่อย ๓ อนุขณะ คือ ขณะที่เกิดขึ้น ขณะที่ตั้งอยู่ และขณะที่ดับไป แต่ถึงอย่างไรก็ตาม ทั้งจิต เจตสิก และ รูป นั้น สั้นแสนสั้นจริงๆ ไม่มีใครที่จะสามารถหยุดยั้งความเป็นไปของสภาพธรรมได้เลย เมื่อเกิดแล้วก็ดับไป ไม่เที่ยงไม่ยั่งยืน นี้คือความจริง ใครๆ ก็ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ 

ทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นนามธรรมหรือรูปธรรมก็ตาม ที่ได้ฟังได้ศึกษาก็เพื่อความเข้าใจตามความเป็นจริง ว่าเป็นธรรม ไม่ใช่เรา ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน เป็นธรรมแต่ละอย่างๆ ทีเกิดขึ้น แล้วก็ดับไป เท่านั้นเอง ไม่มีเราแทรกอยู่ ในสภาพธรรมนั้นๆ ได้เลย

ที่น่าพิจารณา คือ ชีวิตของคนเรานั้น เป็นการเกิดดับสืบต่อกันของจิตแต่ละขณะ ๆ เรื่อยไป จิตขณะหนึ่งดับไปเป็นปัจจัยให้จิตขณะต่อไปเกิดขึ้นเป็นไปอย่างนี้ การเกิดมาในภพหนึ่งชาติหนึ่งนั้น สั้นมาก ชีวิตที่ดำเนินไปในแต่ละวันนั้น  ก้าวไปใกล้ความตายเข้าไปทุกที ๆ  ในพระธรรมคำสอนที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง นั้น  มีข้ออุปมาเปรียบเทียบให้เห็นถึงความเล็กน้อยของชีวิตไว้มากมาย เพื่อให้ผู้ฟังได้เข้าใจตามความเป็นจริง  เพื่อจะได้เป็นผู้ไม่ประมาทในชีวิตอันมีประมาณน้อยนี้  เช่น ชีวิตเปรียบเหมือนน้ำค้างที่อยู่บนยอดหญ้า พอพระอาทิตย์ขึ้นมาก็เหือดแห้งไป ชีวิตมนุษย์ ก็เป็นเช่นนั้น ชีวิตเปรียบเหมือนรอยไม้ที่ขีดลงไปในน้ำ ที่กลับเข้าหากันเร็ว ไม่ตั้งอยู่นาน ชีวิตมนุษย์ ก็เป็นเช่นนั้น หรือแม้กระทั่ง อุปมาเหมือนกับการทอผ้าของช่างทอผ้า ขณะที่ทอผ้า แผ่นผ้าก็จะค่อยๆ เต็มขึ้น ส่วนที่ยังทอไม่เสร็จก็จะเหลือน้อยลงเรื่อยๆ จนกระทั่งเต็มผืนในที่สุด ชีวิตชีวิตมนุษย์ ก็เป็นเช่นนั้น ซึ่งในที่สุดก็จะต้องละจากโลกนี้ไปด้วยกันทั้งนั้น 

ตามความเป็นจริงแล้ว ในขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ นั้น บุคคลรอบข้าง ไม่ว่าจะเป็นบิดามารดา หรือญาติพี่น้องเป็นต้น ย่อมสามารถเป็นที่พึ่ง สามารถช่วยเหลือทำกิจต่างๆ ให้แก่เราได้ แต่พอถึงเวลาตาย บุคคลเหล่านี้ ไม่สามารถที่จะช่วยต้านทานไว้ได้เลย ไม่สามารถทำให้ไม่ตายได้ ใครๆ ก็ช่วยเราไม่ได้เลยจริงๆ และไม่สามารถผัดเพี้ยนกับความตายได้เลย ดังนั้น เมื่อได้เกิดมาเป็นมนุษย์ ซึ่งมีชีวิตที่สั้นแสนสั้น นี้       ก็ควรที่จะได้สาระจากการที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์ให้มากที่สุด ก่อนที่ความตายจะมาถึง ด้วยการสะสมความดีและฟังพระธรรมให้เข้าใจ สิ่งเหล่านี้เท่านั้นที่จะเป็นที่พึ่งได้อย่างแท้จริง เพราะอกุศลธรรม ความชั่วทั้งหลาย เป็นที่พึ่งไม่ได้เลยมาแต่น้อย มีแต่จะนำความทุกข์ ความเดือดร้อนมาให้โดยส่วนเดียว.


อ่านคำอื่นๆ คลิกที่นี่ ... บาลี ๑ คำ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
chatchai.k
วันที่ 2 ก.พ. 2564

ขออนุโมทนาครับ 

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ