[คำที่ ๒๑๒] กิเลสภย

 
Sudhipong.U
วันที่  17 ก.ย. 2558
หมายเลข  32332
อ่าน  305

ภาษาบาลี ๑ คำ คติธรรมประจำสัปดาห์ กิเลสภย

คำว่า กิเลสภย เป็นคำภาษาบาลีโดยตรง [อ่านตามภาษาบาลีว่า  กิ - เล - สะ - ภะ - ยะ] มาจากคำว่า  กิเลส (เครื่องเศร้าหมองของจิต) กับคำว่า ภย (ภัย,สิ่งที่น่ากลัว,สิ่งที่มีโทษ) รวมกันเป็น กิเลสภย (เขียนเป็นไทยได้ว่า กิเลสภัย) แปลว่า ภัยคือกิเลส, สิ่งที่น่ากลัวคือกิเลส เป็นการแสดงถึงความเป็นจริงของธรรมที่เป็นเครื่องเศร้าหมองของจิต ทำให้จิตเศร้าหมอง มี โลภะ โทสะ โมหะ เป็นต้น เป็นสิ่งที่น่ากลัว นำมาซึ่งความทุกข์ความเดือดร้อน เป็นสิ่งที่มีโทษ ไม่มีประโยชน์ ทำให้เกิดในอบายภูมิ ทำให้ได้รับความทุกข์ความเดือดร้อนมากมาย และตราบใดที่ยังมีกิเลส สังสารวัฏฏ์ก็ยังเป็นไปอย่างไม่จบสิ้น ยังไม่พ้นจากทุกข์ ข้อความจาก ปปัญจสูทนี อรรถกถา พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ ภยเภรวสูตร แสดงความจริงของกิเลสภัย ซึ่งเป็นอกุศล ไว้ว่า  

“ภัย พึงทราบว่าเป็นอกุศล เพราะมีความหมายว่า มีโทษ สิ่งที่น่ากลัว พึงทราบว่าเป็น อกุศล เพราะมีความหมายว่า ไม่ปลอดภัย”


ชีวิตประจำวันของปุถุชน ผู้ที่หนาแน่นไปด้วยกิเลส ย่อมเป็นที่แน่นอนว่าอกุศลจิต ย่อมเกิดขึ้นมากกว่ากุศลจิต ถ้ามีใครบอกว่าวันหนึ่ง ๆ  กุศลจิตของเขาเกิดมากกว่าอกุศลจิต นั่นไม่ตรงตามความเป็นจริง เพราะจิตที่เป็นอกุศล มีหลายระดับตามกำลังของกิเลส ตั้งแต่ชนิดที่บางเบา  จนกระทั่งมีกำลังกล้าถึงกับล่วงออกมาเป็นทุจริตกรรมประการต่างๆ เบียดเบียนผู้อื่นให้เดือดร้อนได้

กิเลส เป็นธรรมที่มีจริง เป็นอกุศลธรรม เป็นเครื่องเศร้าหมองของจิต ทำให้จิตเศร้าหมอง กิเลสขั้นหยาบ เราเห็นได้จากการประพฤติทุจริตล่วงศีล แสดงให้ทราบว่า กิเลสนั้นหยาบ และมีกำลัง, กิเลสที่ไม่ถึงกับล่วงศีลที่ออกมาเป็นกายทุจริต วจีทุจริต เมื่อเกิดแล้วแต่ยังไม่แสดงออกให้รู้ได้ในขณะนั้นๆ เป็นกิเลสขั้นกลาง เช่น ความขุ่นใจ มี แต่ไม่พูด ไม่แสดงออกทางกาย ทางวาจา หรือ โลภะ ความติดข้องต้องการ มี แต่ไม่แสดงออก ก็ไม่มีผู้อื่นรู้ว่ามีโลภะกิเลสที่เกิดขึ้นทำกิจการงานร่วมกับจิต กิเลสขั้นกลางนี้เป็นกิเลสที่เกิดขึ้นกลุ้มรุมจิตแต่ยังไม่ถึงกับล่วงศีลหรือกระทำทุจริตกรรม แต่กิเลสขั้นหยาบ และกิเลสขั้นกลางจะเกิดได้ ก็เพราะเหตุว่ามีกิเลสขั้นละเอียด คือ อนุสัยกิเลส ซึ่งเป็นกิเลสที่นอนเนื่องอยู่ในจิตทุกขณะ พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงตรัสรู้ว่าการที่จะดับกิเลสหมดสิ้นเป็นสมุจเฉท (ถอนขึ้นอย่างเด็ดขาด) ได้นั้น ต้องดับอนุสัยกิเลสซึ่งเป็นพืชเชื้อที่เป็นเหตุให้กิเลสขั้นกลาง และกิเลสขั้นหยาบเกิดขึ้นได้

กิเลสที่ปรากฏให้รู้ได้ในชีวิตประจำวัน ก็เป็นกิเลสขั้นกลาง กับ ขั้นหยาบ และ ที่รู้ว่ายังมีกิเลสขั้นละเอียดอยู่ ก็เพราะมีกิเลสขั้นกลาง คือ ขณะที่เกิดขึ้นกลุ้มรุมจิต และกิเลสขั้นหยาบ คือ ล่วงออกมาเป็นทุจริตกรรมทางกาย ทางวาจา นั่นเอง, เพราะยังมีกิเลสขั้นละเอียด จึงเป็นเหตุให้มีกิเลสขั้นกลาง และกิเลสขั้นหยาบ, กิเลสขั้นละเอียดจะหมดไปได้นั้น เมื่อมีการอบรมเจริญปัญญา รู้ชัดในลักษณะของสภาพธรรมทั้งหลายที่ปรากฏตามความเป็นจริงของธรรมนั้นๆ เมื่อปัญญารู้แจ้งอริยสัจจธรรม กิเลสขั้นละเอียดก็จะหมดสิ้นไปเป็นประเภทและหมดไปตามลำดับ

กิเลสในชีวิตประจำวัน  มีมากจริงๆ แม้แต่ในวันนี้เอง เมื่อเทียบส่วนกันระหว่างกุศล กับ กุศลแล้ว เทียบส่วนกันไม่ได้เลย เพราะมีกุศลจิตเกิดขึ้นมากกว่ากุศล นั่นเอง ทุกครั้งที่กุศลจิตเกิด จะไม่ปราศจากกิเลสเลย ตามแต่ประเภทของกุศลจิต นั้นๆ และสะสมอยู่ในจิตทุกขณะอีกด้วย

กิเลสมีมาก ขณะที่กิเลสเกิดขึ้นทำกิจหน้าที่นั้น ไม่รู้ความจริง ควรที่จะได้เห็นโทษเห็นภัยจริงๆ เพราะกิเลส ไม่มีประโยชน์ใดๆเลยแม้แต่น้อย มีแต่ให้ทุกข์ให้โทษเท่านั้น จึงควรอย่างยิ่งที่จะได้ฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม อบรมเจริญปัญญา สะสมความเข้าใจถูก เห็นถูกไปตามลำดับ เพื่อวันหนึ่งข้างหน้า ปัญญาจะเจริญยิ่งขึ้นจนสามารถดับกิเลสประการต่างๆ ได้จริง ซึ่งจะต่างจากบุคคลผู้ที่ไม่ได้ฟังพระธรรม ไม่ได้ศึกษาพระธรรม นับวันกิเลสก็มีแต่จะพอกพูนหนาแน่นขึ้นเรื่อยๆ เกิดมาเก็บกิเลส พอกพูนทับถมไปเรื่อยๆ เพราะไม่รู้ว่าตนเองมีกิเลส หรือ เพราะเข้าใจผิดว่าตนเองเป็นผู้หมดกิเลสแล้ว นั่นเอง 

พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง จึงเป็นเครื่องเตือนที่ดี เกื้อกูลให้เห็นกิเลส และเห็นโทษภัยของกิเลสตามความเป็นจริง พร้อมทั้งทรงแสดงให้เห็นถึงคุณของปัญญา ปัญญา เป็นสภาพธรรมที่ดีงาม เป็นสภาพธรรมที่ประเสริฐ เพราะเหตุว่า บุคคลผู้มีปัญญาเท่านั้นที่จะสามารถดับกิเลสทั้งปวงได้เป็นสมุจเฉท (ถอนขึ้นได้อย่างเด็ดขาด) ไม่เกิดอีกเลย สามารถจะข้ามพ้นไปจากทุกข์ทั้งปวงได้ในที่สุด เพราะฉะนั้นแล้ว ที่สำคัญที่สุดจะขาดการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกเป็นปกติในชีวิตประจำวันไม่ได้เลย.


อ่านคำอื่นๆ คลิกที่นี่ ... บาลี ๑ คำ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
chatchai.k
วันที่ 2 ก.พ. 2564

ขออนุโมทนาครับ 

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ