[คำที่ ๒o] ชะยะ

 
Sudhipong.U
วันที่  12 ม.ค. 2555
หมายเลข  32140
อ่าน  1,025

ภาษาบาลี ๑  คำ  คติธรรมประจำสัปดาห์  :ชย

โดย อ.คำปั่น อักษรวิลัย

คำว่า ชย อ่านว่า  ชะ-ยะ   เป็นคำภาษาบาลี มีรากศัพท์มาจาก ชิ ธาตุ ลงในอรรถว่า ชนะ  ลง ณ  ปัจจัย แปลง อิ ที่ ชิ เป็น เอ แล้วแปลง เอ เป็น อย และ ลบ ณ จึงสำเร็จรูปเป็น ชย แปลเป็นไทยว่า ชนะ, ชัยชนะ หรือ มีชัย มีความหมายครอบคลุมการชนะทุกอย่าง แต่สำหรับในทางพระพุทธศาสนาแล้ว มุ่งหมายถึงการชนะที่แท้จริง คือ การชนะกุศล ชนะกิเลสของตนเอง เป็นสำคัญ ดังข้อความจาก พระสุตตันตปิฎก  ขุททกนิกาย  คาถาธรรมบท ที่ได้ยกมา ดังต่อไปนี้  .- 

“ผู้ใด พึงชนะมนุษย์พันหนึ่งคูณด้วยพันหนึ่ง (คือ หนึ่งล้านคน) ในสงคราม ผู้นั้น หาชื่อว่าเป็นยอดแห่งชนผู้ชนะในสงครามไม่ ส่วนผู้ใด ชนะตน คนเดียวได้ (ด้วยการชนะกิเลสมีโลภะเป็นต้น ของตนเอง) ผู้นั้นแล  เป็นยอดแห่งผู้ชนะในสงคราม”

“ตนนั่นแล อันบุคคลชนะแล้ว ประเสริฐ ส่วนหมู่สัตว์นอกนี้ อันบุคคลชนะแล้ว ไม่ประเสริฐเลย”

ในอรรถกถาจาก...พระสุตตันตปิฎก  ขุททกนิกาย  คาถาธรรมบท และอรรถกถา ได้อธิบายไว้ว่า

“ขึ้นชื่อว่าความชนะ ของบุคคลผู้ชนะผู้อื่น ไม่ประเสริฐ; ส่วนผู้ใด ชนะตนได้ ด้วยการชนะกิเลส, ความชนะของผู้นั้นประเสริฐ;  เพราะว่า ใครๆ ไม่อาจทำความชนะนั้นให้กลับพ่ายแพ้ได้”

จาก ... พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา พรหมทัตตเถรคาถา พระพรหมทัตตเถระ  กล่าวว่า

บุคคลโกรธตอบบุคคลผู้โกรธ จัดว่าเป็นคนเลวกว่าบุคคลผู้โกรธ เพราะความโกรธตอบนั้น, บุคคลผู้ไม่โกรธตอบบุคคลผู้โกรธ ชื่อว่า ชนะสงครามที่ชนะได้ยาก, บุคคลใด รู้ว่าบุคคลอื่นโกรธแล้ว มีสติ สงบใจได้ บุคคลนั้น ชื่อว่า ประพฤติประโยชน์แก่ทั้ง ๒ ฝ่าย คือ แก่ตนและแก่บุคคลอื่น

พึงชนะความโกรธ ด้วยความไม่โกรธ  พึงชนะความไม่ดี ด้วยความดี  พึงชนะความตระหนี่ ด้วยการให้  พึงชนะการมักกล่าวคำเหลาะแหละ ด้วยคำสัตย์  พึงกล่าวคำสัตย์ ไม่พึงโกรธ

จาก ... พระสุตตันตปิฎก  ขุททกนิกาย  คาถาธรรมบท

 

พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง เป็นเครื่องอุปการะเกื้อกูลสำหรับพุทธบริษัท เพื่อความเจริญขึ้นแห่งกุศลธรรมทั้งหลาย ไม่ใช่เพื่อให้เกิดกุศล  ไม่ใช่เพื่อให้กุศลธรรมเกิดมากขึ้น จากพระพุทธพจน์ที่ได้ยกมาโดยเฉพาะในบทสุดท้ายนั้น ดูเหมือนว่าเป็นเรื่องยาก ทำได้ยาก บางคนอาจจะบอกว่าทำไม่ได้แน่ เนื่องจากว่ายังเป็นคนที่มีกิเลสมากเหลือเกิน จะชนะความโกรธด้วยความไม่โกรธเป็นเรื่องที่ยากจริงๆ เมื่อถูกด่าถูกว่า ถูกกระทบกระทั่ง ก็อดทนไม่ได้ ต้องโกรธตอบทันที โต้ตอบทันที (ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง)แต่ขอให้ทราบว่า ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการชนะบุคคลอื่นเลยแม้แต่น้อย เพียงแต่เรารู้ว่าชนะความโกรธที่เรามี โดยเป็นกุศลจิตของเราที่เกิดขึ้นชนะความโกรธ ขณะนั้นก็ชื่อว่าชนะความโกรธ ด้วยความไม่โกรธ แล้ว, การชนะความไม่ดีด้วยความดี ก็คือในขณะนั้นเป็นกุศลของเราเองที่เจริญขึ้น อบรมขึ้น เพื่อที่จะชนะความไม่ดีที่มีอยู่ในตัวเราเอง ไม่ใช่ไปชนะบุคคลอื่น

ขณะใดที่เกิดความตระหนี่เหนียวแน่น ขณะนั้นเป็นกุศลของเราที่เกิดขึ้น แล้วจะชนะความตระหนี่ที่มีในขณะนั้นได้อย่างไร? มีด้วยวิธีเดียว คือ ชนะด้วยการให้ ให้ทันทีในขณะนั้น ย่อมชนะความตระหนี่ได้ แต่ถ้ายังรีรออยู่ ย่อมไม่ชนะอย่างแน่นอน, ขณะที่พูดเหลาะแหละ พูดไม่ตรง พูดไม่จริง ย่อมรู้ได้ว่าเป็นเพราะกุศลที่เกิดขึ้นจึงพูดอย่างนั้นออกไป การที่จะชนะได้ก็ด้วยการกล่าวคำจริง กล่าวคำสัตย์ เท่านั้น

ถ้าแต่ละบุคคลมีความคิดว่า “ความไม่ดีที่กำลังมีนั้นเป็นความไม่ดีของเราเอง แล้วจะหมดไปได้ จะชนะได้ ก็ด้วยความดีเกิดขึ้นในขณะนั้น ความดีเท่านั้น ที่จะชนะความไม่ดีได้” ถ้าระลึกได้อย่างนี้ ในขณะนั้นความดีก็จะเกิดขึ้นทันที เจริญขึ้นทันที เป็นความเจริญขึ้นแห่งกุศลธรรมอย่างแท้จริง

ดังนั้น พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง เป็นเครื่องอุปการะเกื้อกูลให้ผู้ที่ได้ฟังได้ศึกษาน้อมประพฤติปฏิบัติตามด้วยความจริงใจ เพื่อเป็นผู้มีความประพฤติที่ดีงามทั้งทางกาย  ทางวาจา และทางใจ  อันเป็นความดีตั้งแต่เบื้องต้นที่แต่ละบุคคลควรจะอบรมให้มีขึ้นในชีวิตประจำวัน จนกระทั่งสูงสุด คือ การรู้แจ้งอริยสัจจธรรม ถึงการดับกิเลสทั้งหลายทั้งปวงได้อย่างหมดสิ้น เป็นผู้ที่ชนะอย่างแท้จริง ด้วยการชนะกิเลสของตนเอง กิเลสที่ดับได้แล้ว ไม่สามารถกลับมาเกิดอีกได้  ทำให้เป็นผู้ไม่พ่ายแพ้ให้กับกิเลสอีกต่อไป 

การชนะในทางโลก ไม่ใช่การชนะที่แท้จริง การชนะที่แท้จริง คือ การชนะกิเลสของตนเอง โดยต้องเริ่มที่การอบรมเจริญปัญญา ฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกไปตามลำดับ มีพระธรรมเป็นที่พึ่ง ฝึกตนด้วยพระธรรม พระธรรมเท่านั้นที่จะเกื้อกูลได้จริงๆ


อ่านคำอื่นๆ คลิกที่นี่ ... บาลี ๑ คำ


เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ