[คำที่ ๒๒] อภัยทาน

 
Sudhipong.U
วันที่  26 ม.ค. 2555
หมายเลข  32142
อ่าน  675

ภาษาบาลี ๑ คำ คติธรรมประจำสัปดาห์ อภยทาน

โดย อ.คำปั่น อักษรวิลัย

คำว่า อภยทาน เป็นคำภาษาบาลี มาจากคำ ๒ คำ คือ อภย (ความไม่มีภัย) + ทาน (การให้) รวมกันเป็น อภยทาน อ่านว่า อะ- พะ - ยะ - ทา - นะ เขียนเป็นไทยได้ว่า อภัยทาน แปลว่า การให้ซึ่งความไม่มีภัย, การให้อภัย ดังข้อความบางตอนจากพระสุตตันตปิฎก  ขุททกนิกาย  จริยาปิฎก ว่า  มหาบุรุษ (ในที่นี้ คือ พระโพธิสัตว์ผู้บำเพ็ญบารมี เพื่อจะตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า) ย่อมให้อภัยทานแก่สรรพสัตว์  ด้วยการไม่ประพฤติเบียดเบียน

พระธรรมเทศนาที่เกี่ยวกับอภัยทาน ที่ควรศึกษาเพิ่มเติมจาก ปรมัตถทีปนี  อรรถกถา ขุททกนิกาย  อิติวุตตกะ จวมานสูตร มีดังนี้ 

ด้วยบทว่า ทาเนน (การให้) พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสหมายเอาอภัยทานด้วย ไม่ใช่ตรัสอามิสทานเท่านั้น เพราะฉะนั้น พึงทราบว่า ทรงสงเคราะห์เอาศีลเข้าไว้ด้วย

และจาก ปรมัตถทีปนี อรรถกถา ขุททกนิกาย เถรคาถา สีลวเถรคาถา

บทว่า สญฺญเมน ได้แก่ การสำรวมกายเป็นต้น จริงอยู่ เมื่อสำรวม ไม่เบียดเบียนใครๆ ด้วยกายทุจริตเป็นต้น ให้อภัยทาน ชื่อว่า ย่อมผูกมิตรไว้ได้ เพราะเป็นที่รักและเป็นที่พอใจ

คำว่า อภัยทาน หมายถึงการให้ซึ่งความไม่มีภัย ในคำสอนทางพระพุทธศาสนามีความหมายที่กว้างขวางมาก หมายเอากุศลศีล คือ การงดเว้นจากกายทุจริต วจีทุจริต เป็นต้น เป็นการให้ความไม่มีภัยซึ่งก็คือเป็นการให้ความปลอดภัยแก่ชีวิตและทรัพย์สินของผู้อื่น และในบางแห่งหมายเอาการไม่โกรธตอบเมื่อบุคคลอื่นกระทำสิ่งที่ไม่สมควรให้แก่ตน ถ้าจะเข้าใจโดยทั่วไปในชีวิตประจำวัน การให้อภัย คือ ไม่โกรธ ถ้ายังโกรธผู้อื่นอยู่แสดงว่ายังไม่ให้อภัย เพราะขณะนั้นถูกภัยคือความโกรธทำร้าย ทำให้ขุ่นเคืองใจ ไม่สบายใจ ซึ่งจะเป็นเหตุให้ถ้าสะสมต่อไปเรื่อยๆ ก็อาจจะทำร้ายทำลายทุกอย่าง อย่างที่ไม่เคยคาดคิดว่าจะเป็นถึงอย่างนั้นไปได้ เพราะในขณะนั้นโกรธ ผูกโกรธ และไม่ลืมที่จะโกรธ แต่ถ้าเป็นการให้อภัยแล้ว จะตรงกันข้ามเลย คือ ไม่โกรธ ไม่เป็นภัยในขณะนั้น และไม่ทำให้ภัยเกิดขึ้นจากการที่ไม่โกรธด้วย แล้วยากหรือไม่กับการที่จะให้อภัย? 

แต่ละบุคคลย่อมทราบเป็นอย่างดีถึงความไม่แน่นอนของชีวิต ทุกอย่างที่จะเกิดขึ้นอาจจะเกิดขึ้นอย่างกะทันหัน แม้แต่ความตาย เพราะฉะนั้น จึงไม่ควรที่จะรอคอยวันเวลาที่จะเจริญกุศล  ไม่ว่าจะเป็นวัตถุทาน อภัยทาน ธรรมทาน หรือกุศลอื่นๆ ก็ตาม และเป็นเรื่องที่จะต้องพิจารณาจริงๆ ว่า กุศลที่ควรจะง่าย และสะดวก ไม่ต้องคอยกาลเวลาเลย ก็คือ อภัยทาน กุศลอื่นยังต้องคอยกาลเวลา เช่น การใส่บาตร การทำบุญ ยังต้องคอยกาลเวลาในการตระเตรียม แต่อภัยทาน ไม่ต้องคอยกาลเวลาเลย ควรจะเป็นกุศลที่ง่ายและสะดวกที่สุด แต่สำหรับบางคนก็ยังรอไว้อีกได้ คือ ชาตินี้ยังไม่ให้อภัย จะให้อภัยในชาติหน้า บางคนอาจจะเคยกล่าวอย่างนี้ แต่ตามความเป็นจริงแล้ว ถ้าชาตินี้ยังไม่ให้อภัย ชาติหน้าจะให้อภัยได้หรือ?  ถ้าชาตินี้ไม่ให้อภัย  ชาติหน้าก็ให้อภัยไม่ได้ 

เพราะฉะนั้น ถ้าต้องการจะเป็นบุคคลแบบใดในชาติหน้า ก็ต้องเริ่มตั้งแต่ชาตินี้  เพื่อว่าชาติหน้าจะได้เป็นผู้ที่เหมือนกับที่ได้เคยกระทำมาแล้ว จึงเป็นเครื่องเตือนใจที่ดีว่า สิ่งง่ายๆ ดูเหมือนจะง่ายที่สุด ง่ายกว่าอย่างอื่น ยังทำไม่ได้ แล้วจะทำอะไรได้ ดังนั้น กุศลทุกประการ ควรอบรมเจริญให้มีขึ้นในชาตินี้ ไม่ควรที่จะรอคอยถึงชาติหน้า รวมถึงการให้อภัย ด้วย

 


อ่านคำอื่นๆ คลิกที่นี่ ... บาลี ๑ คำ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
chatchai.k
วันที่ 15 ก.ย. 2563

ขออนุโมทนาครับ 

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ