คัดเลือกหนังสือธรรมะ พิมพ์แจกเป็นธรรมทาน

 
lokiya
วันที่  11 เม.ย. 2563
หมายเลข  31728
อ่าน  602

"การให้ธรรม ย่อมชนะการให้ทั้งปวง" นอกจากข้อความในพระไตรปิฏกและอรรถกถาแล้ว มีหนังสือธรรมะที่เขียนโดยพระและฆราวาสจำนวนมาก มีหลักวิธีจำแนก แยกแยะ ตรวจสอบอย่างไร จึงสมควรให้พิมพ์แจกจ่ายเป็นธรรมทาน ให้บุคคลทั่วไปได้อ่าน ครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 11 เม.ย. 2563

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

การตรวจสอบหนังสือ สำคัญคือ กล่าวสิ่งที่มีจริงในขณะนี้ แสดงว่าเป็นธรรม ว่าไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา และตรงตามพระไตรปิฎกหรือไม่ และ การจะรู้ว่าอะไรถูกหรือผิดด ก็คือ ผู้นั้นก็ต้องมีปัญญาเข้าใจพระธรรมถูกต้องด้วย ครับ สำคัญที่สุดของการได้พบพระพุทธศาสนา คือ ได้มีโอกาสศึกษาพระธรรม ฟังพระธรรมที่ถูกต้อง เพื่อความเจริญขึ้นของปัญญาและกุศลธรรมประการต่างๆ เมื่อเป็นผู้มีความเห็นถูกในพระธรรมแล้ว ก็เห็นคุณค่าของพระธรรม ที่จะรักษาด้วยการคงไว้ซึ่งพระธรรมที่ถูกต้อง ดังนั้นเมื่อเรามีส่วนในการเผยแพร่พระธรรมแล้ว ก็ควรเผยแพร่ในสิ่งที่ถูกต้องตรงตามพระธรรมวินัย สิ่งใดไม่ถูกต้อง ไม่ควรเผยแพร่ เพราะเป็นโทษกับตนเอง รวมทั้งผู้อื่นด้วย ก็จะทำให้พระศาสนาอันตรธานเร็วขึ้น เพราะมีคำสอนที่ไม่ตรงตามพระธรรมวินัย และทำให้ผู้อื่นเข้าใจผิดไปด้วย การถูกตำหนิ การถูกไม่ชอบเป็นเรื่องเล็กน้อย แต่การรักษาพระธรรมเป็นเรื่องที่ประเสริฐสูงสุด หากหลีกเลี่ยงที่จะไม่ทำ งานนี้ได้เป็นการดี แต่ถ้าหลีกเลี่ยงไม่ได้ ควรเป็นผู้ตรง ด้วยเห็นประโยชน์ในการรักษาพระธรรมวินัย ปรึกษาผู้รู้ ตรวจสอบกับพระไตรปิฎก ตัดในสิ่งที่ไม่ถูกต้องออกไปครับ

เพื่ออะไร เพื่อรักษาคนพูดด้วย จะได้ไม่เผยแพร่สิ่งที่ผิดมากขึ้น รักษาตัวผู้ทำหนังสือเอง (ผู้ถาม) และคนอื่นๆ ที่มาร่วมพิมพ์หนังสือเล่มนี้เพราะจะกลายเป็นบาปไป โดยไม่รู้ตัวเพราะเผยแพร่สิ่งที่ผิด ดังนั้น การทำให้ตรงตามพระธรรม ก็รักษาคนที่ทำหนังสือ และร่วมเงินทำหนังสือด้วย และที่สำคัญที่สุด รักษาพระศาสนา รักษาคำสอนของพระพุทธเจ้าให้ดำรงยาวนานขึ้น ซึ่งพระพุทธเจ้าแสดงว่า บุคคลที่มีความเห็นผิดและชักชวนผู้อื่นให้มีความเห็นผิด และผู้ที่ปฏิบัติตาม ก็เป็นบาปมาก ครับ

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต-ทุกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้าที่ ๑๙๒

[๑๙๕] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ผู้ที่ชักชวนเข้าในธรรมวินัยที่กล่าวไว้ชั่ว ๑ ผู้ที่ถูกชักชวนแล้วปฏิบัติเพื่อความเป็นอย่างนั้น ๑ คนทั้งหมดนั้น ย่อมประสบกรรม มิใช่บุญ เป็นอันมาก ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะธรรมท่านกล่าวไว้ชั่ว.


และพระองค์ทรงแสดงต่อไปว่า การที่บุคคลเกียจคร้านในธรรมวินัยที่ไม่ดีย่อมอยู่เป็นสุข เพราะว่าธรรมนั้นกล่าวไว้ไม่ดี ครับ

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต-ทุกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้าที่ 193

[๒๐๑] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ผู้ที่เกียจคร้านในธรรมวินัยที่กล่าวไว้ชั่ว ย่อมอยู่เป็นสุข ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะธรรมท่านกล่าวไว้ชั่ว.


ดังนั้น ไม่ควรขยันไม่ควรเผยแพร่ในสิ่งที่ผิดครับ ไม่ว่ากรณีใดก็ตาม ด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม บางทีเราอาจมองการได้รับสิ่งที่ไม่ดีในชาตินี้ เช่น จะถูกว่ากล่าว ถูกตำหนิ ไม่เป็นที่รัก แต่เราลืมสิ่งที่สำคัญที่จะสะสมต่อไปในอนาคต คือ ความเป็นผู้ตรง ถ้าขาดความเป็นผู้ตรงแล้ว ก็จะทำให้ผิดเพี้ยนไป และก็ยากที่จะบรรลุธรรมได้ครับ และผลในอนาคตที่เราเผยแพร่สิ่งที่ผิด ก็จะทำให้เราบาปมาก และก็จะต้องได้รับทุกข์ในอนาคตที่ไม่ดีมากมาย และยังทำให้ชาติต่อๆ ไป ก็จะพบกับคำสอนที่ผิด เพราะเราทำเหตุคือให้สิ่งที่ผิดกับคนอื่น ทำให้ในอนาคตเรามีความเห็นผิดได้ครับ นี่คืออันตรายที่ยังไม่ถึง มองไม่เห็นในอนาคตครับ เพราะฉะนั้น หากเป็นผู้รักตนจริงๆ ก็ไม่ควรทำสิ่งที่ไม่ดี คือ เผยแพร่ในสิ่งที่ผิด ย่อมตัดในสิ่งที่ไม่ถูกต้อง แม้ตนเองจะต้องถูกว่ากล่าว นั่นเป็นวิบากเพียงเล็กน้อย แต่ไม่คุ้มเลยถ้าจะเผยแพร่สิ่งที่ผิด แล้วทำให้ตัวเองต้องได้รับผลของกรรมที่ไม่ดีในอนาคตและสะสมความไม่ตรงและทำให้ผู้อื่นเห็นผิด และพระศาสนาก็อันตรธานเร็วขึ้นครับ ดังนั้น ที่กล่าวมายากที่จะทำใช่ไหมครับ ยากไม่ใช่เพราะอย่างอื่น หรือ เหตุการณ์แต่ ยากเพราะกิเลสของเราเอง

ขออนุโมทนาครับ

เชิญคลิกอ่านที่นี่ครับ...

พระอาจารย์สอนผิด

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
khampan.a
วันที่ 11 เม.ย. 2563

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จริยาปิฎก เล่ม ๙ ภาค ๓
- หน้าที่ ๖๒๑

ธรรมทาน ได้แก่ การแสดงธรรมไม่วิปริต (คือไม่คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง) แก่ผู้มีจิตไม่เศร้าหมอง และ ได้แก่ การชี้แจงประโยชน์อันสมควร นำผู้ยังไม่เข้าถึงศาสนาให้เข้าถึง นำผู้เข้าถึงแล้วให้เจริญงอกงาม ด้วยทิฏฐธรรมมิกประโยชน์ (ประโยชน์ปัจจุบัน) สัมปรายิกประโยชน์ (ประโยชน์ในภายหน้า) และปรมัตถประโยชน์ (ประโยชน์อย่างยิ่ง คือ การบรรลุมรรคผล)


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๔- หน้าที่ ๓๒๖

เว้นพระพุทธเจ้าและพระปัจเจกพุทธเจ้า แม้พระสาวกทั้งหลายมีพระสารีบุตรเป็นต้น ผู้ประกอบด้วยปัญญา ซึ่งสามารถนับหยาดน้ำได้ ในเมื่อฝนตกตลอดกัปป์ทั้งสิ้น ก็ยังไม่สามารถจะบรรลุโสดาปัตติผล เป็นต้น โดยธรรมดาของตนได้ ต่อเมื่อได้ฟังธรรมที่พระอัสสชิเถระเป็นต้นแสดงแล้ว จึงทำให้แจ้งซึ่งโสดาปัตติผล และทำให้แจ้งซึ่งสาวกบารมีญาณ ด้วยพระธรรมเทศนาของพระศาสดา เพราะเหตุแม้นี้ มหาบพิตร ธรรมทานนั่นแหละจึงประเสริฐที่สุด เพราะเหตุนั้น พระศาสดา จึงตรัสว่า "สพฺพทาน ธมฺมทาน ชินาติ (การให้ธรรม ย่อมชนะการให้ทั้งปวง) "


ธรรมทาน หมายถึง การให้ธรรม การให้ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับธรรม บุคคลผู้ที่จะเกื้อกูลผู้อื่นในทางธรรม ต้องเป็นผู้ที่ศึกษาพระธรรมมีความเข้าใจอย่างถูกต้องตรงตามคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ครับ

ขอเชิญศึกษาเพิ่มเติมได้ที่หัวข้อด้านล่างนี้ครับ

จะรู้ได้อย่างไรว่าคำสอนใดผิด คำสอนใดถูก

...ยินดีในความดีของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
ธนฤทธิ์
วันที่ 13 เม.ย. 2563

กราบอนุโมทนาครับและขอขอบคุณมากครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
chatchai.k
วันที่ 23 ก.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ