พระไตรปิฎก คนนำมาให้ความหมายแตกต่างกัน

 
Kuat639
วันที่  4 เม.ย. 2563
หมายเลข  31695
อ่าน  513

เหตุใดพระไตรปิฎกฉบับเดียวกันแต่คนนำมาให้ความหมายแตกต่างกัน แล้วเราจะเชื่อใครดีหรือมีหลักคิดพิจารณาอย่างไร?


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 4 เม.ย. 2563

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

[เล่มที่ 25] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒[เล่มที่ 25]

ข้อความตอนหนึ่งจาก

อายาจนสูตร

ความปริวิตกแห่งพระหฤทัยบังเกิดขึ้นแก่พระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ธรรมที่เราตรัสรู้แล้วนี้ ลึกซึ้ง เห็นได้ยาก รู้ตามได้ยาก สงบ ประณีต คาคคะเนเอาไม่ได้ ละเอียด รู้ได้เฉพาะบัณฑิต


จากข้อความในพระไตรปิฎกที่ได้ยกมาข้างต้น แสดงถึงพระธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงแสดง (พระไตรปิฎก) นั้นยาก ลึกซึ้งอย่างยิ่ง รู้ได้เฉพาะบัณฑิต คือ รู้ได้เฉพาะผู้ที่สะสมปัญญาความเห็นถูกมา เพราะฉะนั้น สัตว์โลกสะสมปัญญามาต่างกัน จะมาก หรือ น้อยก็แตกต่างกันไปและบางพวกไม่ได้สะสมปัญญาความเห็นถูกมา แต่สะสมความเห็นผิดมา ดังนั้น เมื่อได้อ่านข้อความในพระไตรปิฎก ซึ่งเป็นพระดำรัสของพระพุทธเจ้าที่แต่ละคำออกมาจากพระปัญญาตรัสรู้ที่ลึกซึ้ง ก็ทำให้ผู้ที่สะสมความเห็นผิดมา ก็เข้าใจผิดในสิ่งที่พระองค์ทรงแสดง ผู้ที่สะสมปัญญมาน้อย ก็เข้าใจได้น้อย ผู้ที่สะสมปัญญามามากก็เข้าใจได้มาก นี่คือเหตุที่ทำไมอ่านข้อความในพระไตรปิฎกหรือได้ฟังแล้ว ต่างคนต่างเข้าใจผิดกันไป

ส่วนการจะพิจารณาว่าสิ่งใดถูกสิ่งใดผิด จะเชื่อใครดี ก็เป็นสิ่งที่น่าพิจารณาว่า ธรรมอย่างหนึ่งที่เป็นสภาพธรรมที่รู้ตามความเป็นจริงและแยกแยะออกว่าสิ่งใดถูก สิ่งใดผิด นั่นคือ ปัญญา ดังนั้นถ้าจะตอบตรงๆ ก็คือ ผู้นั้นเองต้องมีปัญญาความเข้าใจถูกแล้ว ก็จะรู้ว่าอะไรถูก อะไรผิด อันเริ่มมาจากการฟัง การอ่านให้เข้าใจว่า พระธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงนั้น ทรงแสดงสิ่งที่มีจริงในขณะนี้ ว่าเป็นธรรมไม่ใช่เรา อนัตตา บังคับบัญชาไม่ได้ เพราะฉะนั้นคำสอนใด สอนให้มีปัญญาเข้าใจถูกในขณะนี้ว่าไม่ใช่เราเป็นธรรม เป็นแต่เพียง ธรรมที่เกิดขึ้นและดับไป สอนให้เข้าใจว่า ธรรมคือ สิ่งที่มีจริง เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น สี เสียง กลิ่น รส โกรธ โลภ เหล่านี้เป็นธรรมไม่ใช่เรา และการจะรู้ธรรมก็รู้ในขณะนี้ในสภาพธรรมที่กำลังปรากฎ การเข้าใจเช่นนี้และคำสอนเช่นนี้ก็ตามคำพระพุทธเจ้า ก็เป็นคำสอนที่ถูกต้อง แต่ผู้ที่อ่าน ผู้ที่ฟัง เมื่อได้ยินคำอธิบายนี้ ถ้าสะสมปัญญาความเห็นถูกมาก็เข้าใจ ถ้าสะสมมาน้อยก็เข้าใจน้อย ถ้าสะสมความเห็นผิด ก็เข้าใจผิดและไม่เข้าใจในสิ่งที่อธิบาย เพราะฉะนั้น พระพุทธเจ้าจึงเป็นเพียงผู้บอกทาง ส่วนแต่ละคนแต่ละท่านก็ตามการสะสมแต่ละคน ปัญญานั้นเองที่จะเป็นเครื่องตัดสินรู้ว่าคำสอนใด ถูกหรือผิด ตามที่กล่าวมาครับ

[เล่มที่ 22] พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ เล่ม ๓ ภาค ๑ - หน้าที่ 149

ข้อความบางตอนจาก..

คณกโมคคัลลานสูตร

[๑๐๓] พ. ดูก่อนพราหมณ์ ฉันนั้นเหมือนกันแล ในเมื่อนิพพาน ก็มีอยู่ ทางไปนิพพานก็มีอยู่ เราผู้ชักชวนก็มีอยู่ แต่ก็สาวกของเราอันเราโอวาทสั่งสอนอยู่อย่างนี้ บางพวกเพียงส่วนน้อย สำเร็จนิพพานอันมีความสำเร็จล่วงส่วน บางพวกก็ไม่สำเร็จ ดูก่อนพราหมณ์ ในเรื่องนี้ เราจะทำอย่างไรได้ ตถาคตเป็นแต่ผู้บอกหนทาง

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
ประสาน
วันที่ 5 เม.ย. 2563

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
lokiya
วันที่ 5 เม.ย. 2563

เป็นหัวข้อที่น่าสนใจ ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
Kuat639
วันที่ 5 เม.ย. 2563

ขอบพระคุณ ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
khampan.a
วันที่ 5 เม.ย. 2563

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค เล่ม ๓ - หน้าที่ ๓๑๔

ปุปผสูตร

“ดูกร ภิกษุทั้งหลายเมื่อพระตถาคตเจ้าบอก แสดง บัญญัติ แต่งตั้ง เปิดเผย จำแนก กระทำให้ตื้นอยู่อย่างนี้ ผู้ใดไม่รู้ ไม่เห็น เราตถาคตจะทำอะไรเขา ผู้ซึ่งเป็นคนพาล เป็นปุถุชน เป็นคนบอด ไม่มีจักษุ ไม่รู้ไม่เห็นอยู่”

(พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค ปุปผสูตร)


พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงทรงแสดงพระธรรมถึง ๔๕ พรรษา ซึ่งเมื่อรวบรวมเป็นหมวดหมู่แล้ว ก็เป็นพระวินัยปิฎกส่วนหนึ่ง เป็นพระสุตตันตปิฎกส่วนหนึ่ง เป็นพระอภิธรรมปิฎกส่วนหนึ่ง และมีอรรถกกถาอธิบาย เพื่อความเข้าใจถูกเห็นถูกตาม พระพุทธพจน์ ยิ่งขึ้น ทุกคำที่เป็นไปเพื่อเข้าใจความจริง เป็นคำของพระองค์ทั้งหมด โดยที่ทุกคำที่พระองค์ทรงแสดง มีคุณค่าสุดที่จะเปรียบ เพราะเหตุว่าถ้าสามารถจะเข้าใจได้จริง จะเกื้อกูลให้แต่ละบุคคลอบรมเจริญปัญญาได้โดยถูกต้อง ไม่ผิดพลาด แต่เพราะพระธรรมละเอียดลึกซึ้งเป็นอย่างยิ่ง จะเห็นได้เลยว่า ผู้ศึกษาพระไตรปิฎก ก็มีมาก แล้วที่มีการเข้าใจผิด ก็มีมาก เพราะเผิน ประมาทพระธรรม ว่าง่าย คิดเอง ตีความเอง ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงที่พระองค์ทรงแสดงในความจริงของธรรมที่เป็นอนัตตา ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน จึงเข้าใจผิด แล้วยังสอนผิดอีกด้วย ทำลายทั้งตนเอง ทำลายทั้งผู้อื่น และทำลายคำจริงของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งมีโทษมาก เพราะฉะนั้น จึงต้องศึกษาด้วยความละเอียดรอบคอบ เรื่องของคนอื่นก็เป็นเรื่องของคนอื่นจริงๆ กิจหน้าที่ของเรา คือ ตั้งใจศึกษาพระธรรมด้วยความไม่ประมาทในแต่ละคำที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกไปตามลำดับ ให้เวลากับสิ่งที่มีค่าที่สุด ครับ

..อนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
chatchai.k
วันที่ 23 ก.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
chatchai.k
วันที่ 23 มิ.ย. 2564
 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ