การแข่งขันแก่งแย่ง

 
Natcharee
วันที่  3 เม.ย. 2563
หมายเลข  31690
อ่าน  758

สวัสดีค่ะ อยากทราบว่าพระพุทธเจ้าเคยตรัสเรื่องของการแข่งขันแก่งแย่งของมนุษย์บ้างมั้ยคะ

ขอบคุณค่ะ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 3 เม.ย. 2563

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

พระพุทธเจ้าทรงตรัสว่า การแก่งแย่ง การแข่งขัน ก็ไม่พ้นจากสภาพธรรมที่มีจริง คือ ความต้องการ ติดข้อง ตัณหา รวมความว่าเพราะกิเลส ความไม่รู้ อวิชชา และ ตัณหา เป็นปัจจัย จึงยึดถือว่ามีเรา มีทรัพย์สมบัติ มีคน มีสัตว์ จึงแก่งแย่ง ต้องการ แข่งขัน เพราะไม่รู้ความจริงว่าเป็นธรรม จึงแสวงหาด้วยความต้องการ ติดข้อง แข่งขันกัน และก็ แก่งแย่ง ทะเลาะกันเพราะกิเลสเป็นปัจจัย สมดังที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ในมหานิทานสูตรว่า เพราะอาศัย การเกิดขึ้นของความรู้สึก เวทนาเป็นปัจจัย ก็เกิดตัณหา และก็แสวงหา เกิดลาภ เกิดลาภแล้วก็ติดข้อง ยึดถือ และก็เกิดความตระหนี่ จนสุดท้ายก็แข่งขัน แก่งแย่ง ก็ทั้งหมดก็ไม่พ้นจาก ความไม่รู้ และความติดข้องตัณหา เป็นปัจจัยนั่นเองครับ ซึ่งเป็นธรรมดาของกิเลส ที่ยังจะต้องมี ต้องเกิด หนทางในการละกิเลสนี้

พระองค์ทรงแสดง อริยมรรคมีองค์ 8 คือ เข้าใจสิ่งที่เกิดแล้วว่าเป็นธรรมไม่ใช่เรา แม้ขณะที่ติดข้อง แก่งแย่ง แข่งขัน ก็ไม่ใช่เราเป็นธรรม ปัญญาที่รู้เช่นนี้คือหนทางเดียวในการละกิเลส ละการแก่งแย่ง ละการแข่งขัน

[เล่มที่ 13] พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค เล่ม ๒ ภาค ๑- หน้าที่ 169
ข้อความบางตอนจาก มหานิทานสูตร
[๕๙] ดูกรอานนท์ ก็ด้วยประการดังนี้แล คำนี้ คือ เพราะอาศัย
เวทนาจึงเกิดตัณหา เพราะอาศัยตัณหาจึงเกิดการแสวงหา เพราะอาศัยการแสวง
หาจึงเกิดลาภ เพราะอาศัยลาภจึงเกิดการตกลงใจ เพราะอาศัยการตกลงใจจึง
เกิดการรักใคร่พึงใจ เพราะอาศัยการรักใคร่พึงใจ จึงเกิดการพะวง เพราะ
อาศัยการพะวงจึงเกิดความยึดถือ เพราะอาศัยความยึดถือจึงเกิดความตระหนี่
เพราะอาศัยความตระหนี่จึงเกิดการป้องกัน เพราะอาศัยการป้องกันจึงเกิดเรื่อง
ในการป้องกันขึ้น อกุศลธรรมอันชั่วช้าลามกมิใช่น้อย คือการถือไม้ ถือมีด
การทะเลาะ การแก่งแย่ง การวิวาท การพูดคำส่อเสียด
และการพูดเท็จ ย่อมเกิดขึ้น

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
khampan.a
วันที่ 3 เม.ย. 2563

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

เป็นเพราะกิเลส เครื่องเศร้าหมองของจิต ทั้งหลายทั้งปวง มีโลภะ ความติดข้องยินดีพอใจ เป็นต้น

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้าที่ ๑๑๗

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย อีกประการหนึ่ง มีกามเป็นเหตุ มีกามเป็นต้นเค้ามีกามเป็นตัวบังคับ เพราะเหตุแห่งกามทั้งหลายนั้นแล แม้พระราชาทั้งหลายก็วิวาทกันกับพระราชา แม้พวกพราหมณ์ก็วิวาทกันกับพวกพราหมณ์ แม้คฤหบดีก็วิวาทกันกับพวกคฤหบดี แม้มารดาก็วิวาทกับบุตร แม้บุตรก็วิวาทกับมารดา แม้บิดาก็วิวาทกับบุตร แม้บุตรก็วิวาทกับบิดา แม้พี่ชายน้องชายก็วิวาทกันกับพี่ชายน้องชาย แม้พี่ชายก็วิวาทกับน้องสาว แม้น้องสาวก็วิวาทกับพี่ชาย แม้สหายก็วิวาทกับสหาย ชนเหล่านั้นต่างถึงการทะเลาะ แก่งแย่ง วิวาทกันในที่นั้นๆ ทำร้ายซึ่งกันและกัน ด้วยฝ่ามือบ้าง ด้วยก้อนดินบ้าง ด้วยท่อนไม้บ้าง ด้วยศัสตราบ้าง ถึงความตายไปตรงนั้นบ้าง ถึงทุกข์ปางตายบ้าง ดูกร ภิกษุทั้งหลาย แม้นี้เล่า ก็เป็นโทษของกามทั้งหลาย เป็นกองทุกข์ที่เห็นกันอยู่ มีกามเป็นเหตุ มีกามเป็นต้นเค้า มีกามเป็นตัวบังคับ เกิดเพราะเหตุแห่งกามทั้งหลายทั้งนั้น.

----------------

เป็นความจริงที่ว่า ตราบใดที่ยังไม่ได้มีปัญญาถึงขั้นที่จะดับความยินดีพอใจ ในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ (สิ่งที่กระทบสัมผัสกาย) ได้อย่างเด็ดขาด บรรลุถึงความเป็นพระอนาคามีบุคคล ความยินดีพอใจในสิ่งเหล่านี้ ย่อมเกิดขึ้นมีเป็นธรรมดา เป็นไปตามเหตุตามปัจจัย ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใคร ติดข้องยินดีพอใจในรูป เสียง กลิ่น รส และ สิ่งที่กระทบสัมผัสกาย ซึ่งเป็นวัตถุกามในชีวิตประจำวัน โลภะย่อมสะสมมากขึ้นทุกครั้งที่โลภมูลจิต (จิตที่มีโลภะเป็นมูล) เกิด เมื่อมีเหตุมีปัจจัยโลภะก็เกิดขึ้นทำกิจหน้าที่ เมื่อสะสมมากขึ้น มีกำลังมากขึ้น ย่อมเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้กระทำทุจริตกรรมประการต่างๆ เบียดเบียนผู้อื่นให้เดือดร้อน ซึ่งในขณะที่กระทำอกุศลกรรม นั้น ตนเองย่อมเดือดร้อนก่อนคนอื่น เพราะขณะนั้นได้สะสมเหตุที่ไม่ดีไว้แล้ว และ เมื่ออกุศลกรรมที่ได้กระทำแล้วถึงคราวให้ผล ก็ทำให้ตนเองประสบกับความทุกข์ ความเดือดร้อน ได้รับสิ่งที่ไม่น่าปรารถนาไม่น่าใคร่ไม่น่าพอใจ เท่านั้น โดยไม่มีใครทำให้เลย ครับ

...อนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
Somporn.H
วันที่ 4 เม.ย. 2563

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
ประสาน
วันที่ 5 เม.ย. 2563

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
chatchai.k
วันที่ 23 ก.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ