สมุฏฐานของโรค

 
joychorelada
วันที่  27 มี.ค. 2563
หมายเลข  31667
อ่าน  1,327

กราบเรียนถามค่ะ

สมุฏฐานของโรค มี ๔ เหมือนสมุฏฐานของรูป คือ กรรม จิต อุตุ และอาหาร หรือคะ ยังสับสนค่ะ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
khampan.a
วันที่ 27 มี.ค. 2563

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

[เล่มที่ 35] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกนิบาต เล่ม ๒ - หน้าที่ ๓๗๓๗.

โรคสูตร

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย โรค ๒ อย่างนี้ โรค ๒ อย่างเป็นไฉน คือ โรคกาย ๑ โรคใจ ๑ ปรากฏอยู่ว่าสัตว์ทั้งหลายผู้ยืนยันว่าไม่มีโรคทางกายตลอดเวลา ๑ ปีก็มี ยืนยันว่าไม่มีโรคทางกายตลอดเวลา ๒ ปีก็มี ๓ ปีก็มี ๔ ปีก็มี ๕ ปีก็มี ๑๐ ปีก็มี ๒๐ ปีก็มี ๓๐ ปีก็มี ๔๐ ปีก็มี ๕๐ ปีก็มี ๑๐๐ ปีก็มี ยิ่งกว่า ๑๐๐ ปีก็มี แต่ว่าผู้ที่จะยืนยันว่าไม่มีโรคทางใจแม้เพียงเวลาครู่เดียวนั้นหาได้ยากในโลก เว้นแต่พระขีณาสพ

([เล่มที่ 35] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกนิบาต โรคสูตร)

สมุฏฐาน คือ ที่ตั้ง ที่ก่อให้เกิด ดังนั้น สมุฏฐานของโรค ก็คือ ที่ตั้งหรือที่ก่อให้เกิดโรค ตามความเป็นจริงแล้ว โรคบางอย่างเกิดเพราะกรรม ก็มี โรคบางอย่างเกิดเพราะจิต ก็มี โรคบางอย่างเกิดเพราะอุตุ ก็มี โรคบางอย่าง เกิดเพราะอาหาร ก็มี ก็แสดงถึงความเป็นจริงของธรรมที่เกิดเพราะเหตุปัจจัย ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครทั้งสิ้น

โรค เป็นสภาพที่เสียดแทง โรคทางกายกาย ก็เสียดแทงกาย ทำให้เกิดความทุกข์ทางกาย ไม่สบาย
ตราบใดทียังมีกาย อันเนื่องมาจากการเกิด ก็ยากที่จะพ้นจากความทุกข์ทางกาย ซึ่งเป็นธรรมที่เกิดเพราะเหตุปัจจัยการเจ็บป่วยหรือโรคภัยไข้เจ็บประการต่างๆ เกิดจากหลายสาเหตุ คือ โรคบางอย่างเกิดจากกรรมที่ได้กระทำแล้วในอดีต โรคบางอย่างเกิดจากจิต โรคบางอย่าง เกิดจากอุตุฤดู โรคบางอย่างเกิดจากอาหาร

ซึ่งจะเห็นได้ว่า เวลาที่ได้ศึกษาข้อความจากพระไตรปิฎกและอรรถกถาจะพบข้อความที่กล่าวถึงบุคคลผู้ที่เกิดโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ อย่างเช่น พระปูติคัตตติสสเถระ เป็นตุ่มขึ้นตามตัว จนแตกไปในที่สุด ทำให้ตัวเน่าทั้งตัวเพราะในอดีตได้ฆ่านกเป็นจำนวนมาก นี้คือตัวอย่างของโรคที่เกิดจากกรรม

ส่วนผู้ใดที่จิตเป็นอกุศล เช่น ประกอบด้วยโทสะ มีความโกรธบ่อยๆ ก็ทำให้เกิดปวดศีรษะได้ หรือผู้ที่มีความเห็นผิด ไปทำในสิ่งผิดๆ เช่นไปนั่งสมาธิ ไปเดินนานๆ นั่งนานๆ ด้วยคิดว่าจะพ้นทุกข์ ก็ทำให้เกิดความไม่สบายได้ เป็นต้น

ส่วนอากาศฤดูกาลเปลี่ยนแปลง ทำให้คนไม่สบายก็เห็นกันอยู่มากทีเดียวสำหรับโรคที่เกิดจากอาหาร ก็คงไม่ต้องสงสัย เพราะอาหารเป็นพิษ ทานของแสลง ได้รับสารพิษต่างๆ ที่ปนเปื้อนกับอาหาร เป็นต้น ก็ทำให้เจ็บป่วยได้

ยังมีโรคอีกอย่างหนึ่ง ที่ควรจะได้ทราบ ก็คือ โรคทางใจ (โรคทางใจ หมายถึง กิเลสที่เสียดแทงใจ) ซึ่งบางคนอาจจะไม่ได้พิจารณาเลยว่า โรคทางใจของตนเองมีอะไรบ้าง ซึ่งมีมากเหลือเกิน ทั้งโลภะ โทสะ โมหะ เป็นต้น ที่พร้อมจะเกิดขึ้นเสียดแทงใจให้เร่าร้อนอยู่ตลอดเวลา และเมื่อไม่ได้สังเกต ไม่ได้สำรวจ ไม่ได้พิจารณาก็ย่อมจะไม่ได้เห็นโทษของโรคทางใจนั้น เพราะโรคทางใจเป็นโรคที่เห็นได้ยาก

เพราะฉะนั้น การที่จะรักษาโรคทางใจ ก็จะต้องรักษายากกว่าโรคทางกาย และจะต้องใช้เวลานานในการเจริญกุศล ซึ่งเป็นยาที่จะรักษาอกุศลซึ่งเป็นโรคทางใจ ซึ่งถ้าผู้ใดพิจารณาเห็นอกุศลธรรมที่ตนมีตามความเป็นจริง แล้วก็รีบแก้ไข คือ พิจารณาเห็นโทษ ก็คงจะดีกว่าการที่จะปล่อยให้โรคนั้นกำเริบหรือว่าทรุดหนัก จนกระทั่งถึงกับเป็นอัมพาตทางใจ คือ ไม่ยอมที่จะขัดเกลากิเลสเลย

ถ้าอกุศลมากมายเพิ่มพูนเหนียวแน่นถึงอย่างนั้นก็ยากที่จะแก้ไขได้ เพราะไม่ยอมแม้แต่คิดที่จะขัดเกลากิเลสของตนเองเลย แล้วกิเลสจะน้อยลงได้อย่างไร? ถ้าเป็นผู้ที่ไม่มีการขัดเกลากิเลส ไม่เป็นโทษของกิเลส ก็กล่าวได้ว่า เป็นผู้ที่ไม่ยอมถูกรักษาด้วยพระธรรม เป็นผู้ไม่เห็นประโยชน์ของพระธรรม ก็ยังจะต้องอยู่ต่อไปในสังสารวัฏฏ์ เต็มไปด้วยทุกข์อย่างไม่มีวันสิ้นสุด ครับ

...อนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
joychorelada
วันที่ 27 มี.ค. 2563

กราบขอบพระคุณค่ะ

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
chatchai.k
วันที่ 27 มี.ค. 2563

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
Somporn.H
วันที่ 5 เม.ย. 2563

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ