ทานบารมี - การให้วัตถุภายนอก ตอนที่ 5-13 [สนทนาธรรมกับชาวต่างชาติ]

 
wittawat
วันที่  25 พ.ค. 2562
หมายเลข  30882
อ่าน  468

ถ้าเราต้องการช่วยเหลือผู้อื่นจริงๆ เช่น ผู้นั้นเป็นไข้ เราก็ควรไตร่ตรองด้วยความเมตตากรุณาในขณะที่ช่วยเหลือเขา เราก็ไม่ควรที่จะแบ่งให้โดยเสมอภาคอย่างเดียวเสมอไป (ของเหมือนกัน แบ่งแบบเท่าๆ กัน) แต่ควรที่จะรู้ว่าขอบเขตของทานที่ให้นั้นเหมาะสมและเป็นประโยชน์แก่ผู้ที่เจ็บไข้หรือไม่ ควรที่จะรู้ว่ากุศลคืออะไรโดยละเอียด ควรที่จะเป็นผู้ไม่เลือกปฏิบัติเฉพาะบุคคล ไม่เป็นผู้ที่สะเพร่าในกุศล เช่นเดียวกับแพทย์ที่ควรรู้จริงๆ ในสภาพของผู้ป่วยไข้ และให้การปริมาณการรักษาที่เหมาะควรกับแต่ละบุคคล แม้กระนั้นควรหรือที่จะแบ่งให้โดยเสมอภาค (ควรเป็นผู้พิจารณาทานที่ให้โดยละเอียดตามความเหมาะควรของผู้รับ) อรรถกถาจารย์กล่าวว่า ([เล่มที่ 74] คัมภีร์อรรถกถา ขุททกนิกาย จริยาปิฎก หน้า 619)

"อนึ่ง คฤหัสถ์ขอก็ให้ของสมควรแก่คฤหัสถ์ บรรพชิตขอก็ให้ของสมควรแก่บรรพชิต ให้โดยที่ไม่ให้เกิดความเบียดเบียนแก่ใครๆ ในบรรดาบุคคลเหล่านี้ คือ มารดาบิดา ญาติสาโลหิต มิตรอํามาตย์ บุตรภรรยา ทาส และกรรมกร อนึ่ง รู้ไทยธรรมดีมาก ไม่ให้ของเศร้าหมอง อนึ่งไม่ให้โดยที่อาศัยลาภสักการะความสรรเสริญ ไม่ให้โดยที่อาศัยการตอบแทน ไม่ให้เพราะหวังผล เว้นแต่สัมมาสัมโพธิญาณ ไม่ให้โดยที่รังเกียจผู้ขอหรือไทยธรรม อนึ่ง ไม่ให้ทานทอดทิ้ง (ของที่จะโยนทิ้ง) ยาจกผู้ไม่สํารวม แม้ผู้ด่าและผู้โกรธ"

แต่ละครั้งที่เราให้ ก็ควรที่จะพิจารณาจิตด้วยความระมัดระวัง จิตควรอ่อนโยนจริงๆ ไม่ควรที่จะดูถูกผู้ขอ หรือให้ในสิ่งของที่เราไม่ชอบ เราไม่ควรให้ของที่เราจะทิ้ง แม้แต่กับขอทานที่ไม่สำรวมผู้ซึ่งด่าว่าและโกรธเราอยู่

สามารถที่จะประพฤติตามได้หรือไม่ ผู้ที่รับทานที่ให้นั้นอาจจะเกิดความรำคาญใจ หรือบางครั้งพฤติกรรมของเขาอาจจะไม่สุภาพอย่างมาก แต่จิตของผู้ที่ให้ยังคงเป็นจิตที่อ่อนโยนได้ ผู้นั้นให้ได้โดยปราศจากความเกลียดชังในตัวผู้รับ อาจเกิดเหตุการณ์ที่ผู้รับไม่สำรวมในกิริยาอาการของเขา ซึ่งความประพฤติของเขาไม่เหมาะสม หรือเขาด่าว่าผู้ที่ให้ เขาอาจจะโกรธ อาจจะบอกว่าผู้อื่นให้น้อยไป หรือไม่ได้อยากได้ในสิ่งที่ให้ แต่ทั้งที่เป็นเช่นนี้ จิตของผู้ให้ก็ควรที่มั่นคงในกุศล ข้อความต่อไปในอรรถกถาแสดงว่า

"ที่แท้มีจิตเลื่อมใสให้อนุเคราะห์ด้วยความเคารพอย่างเดียว (หมายถึง เป็นผู้ให้อยู่เป็นนิจด้วยความมั่นคง ด้วยเมตตากรุณา และความเคารพ) "

ด้วยหนทางนี้ผู้นั้นสามารถที่จะละคลายกิเลสของตนได้ในขณะที่ให้ ข้อความในคัมภีร์อรรถกถาต่อไปแสดงว่า

"ไม่ให้เพราะเชื่อมงคลตื่นข่าว (หรือเชื่อในนิมิตโชคลาง คำทำนาย โดยที่ไม่มีเหตุผล) แต่ให้เพราะเชื่อกรรมและผลแห่งกรรมเท่านั้น ไม่ให้โดยที่ทํายาจกให้เศร้าหมอง ด้วยการให้เข้าไปนั่งใกล้เป็นต้น (คือ ไม่ทรมานผู้รับโดยให้เขาต้องเข้ามาคารวะตนก่อน แล้วจึงให้) ให้โดยที่ไม่ทําให้ยาจกเศร้าหมอง อนึ่ง ไม่ให้โดยที่ประสงค์จะลวงหรือประสงค์จะทําลายผู้อื่น ให้โดยที่มีจิตไม่เศร้าหมองอย่างเดียว ไม่ให้ทานโดยใช้วาจาหยาบ หน้านิ่วคิ้วขมวด ให้โดยใช้คำพูดน่ารัก พูดก่อน พูดพอประมาณ คำพูดที่น่าพอใจ มีใบหน้ายิ้มแย้ม โลภะมีมากในไทยธรรมใด เพราะความพอใจยิ่งก็ดี (ว่าเป็นของสวยงาม สูงค่าราคาแพง ว่าเป็นวัตถุโบราณหายาก) เพราะ (ติดใจที่) สะสมมานานก็ดี เพราะความอยากตามสภาพก็ดี พระโพธิสัตว์รู้อยู่ (ถึงความติดข้องในไทยธรรมนั้น และ) บรรเทา (ความติดข้องใน) ไทยธรรมนั้นโดยเร็ว แล้วแสวงหายาจกให้"

ผู้ที่เข้าใจตนเองอย่างดี ก็จะรู้ถึงขอบเขตของความติดข้องของตน เขาจะรู้ เมื่อตอนที่เขาสามารถที่จะสละวัตถุสิ่งหนึ่งได้ หรือเมื่อตอนที่เขาสละไม่ได้ บางครั้งผู้นั้นอาจจะคิดถึงการให้แต่เขาไม่สามารถที่จะให้ได้ แต่ตามที่ข้อความแสดง กรณีของพระโพธิสัตว์นั้นแตกต่างกัน (พระโพธิสัตว์รู้อยู่ ถึงความติดข้องในไทยธรรมนั้น และบรรเทาความติดข้องในไทยธรรมนั้นโดยเร็ว แล้วแสวงหายาจก แล้วให้) ข้อความที่กล่าวไว้ข้างต้นแสดงถึงการให้ที่เป็นวัตถุสิ่งของ หรือ อามิสทาน

ข้อความนี้แปลจาก...The Perfection of Generosity - Giving of external objects II


เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ