โกสลสูตร และ อกุสลราสิสูตร - ๑๗ มี.ค. ๒๕๕๐ 

 
บ้านธัมมะ
วันที่  8 มี.ค. 2550
หมายเลข  3010
อ่าน  1,657

นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทธสฺส
นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทธสฺส
นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทธสฺส

พุทฺธํ สรณํ คจฺฉามิ
ธมฺมํ สรณํ คจฺฉามิ
สงฺฆํ สรณํ คจฺฉามิ

••• ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย •••

สนทนาธรรมที่มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

พระสูตร ที่นำมาสนทนาที่มูลนิธิฯ

วันเสาร์ที่ ๑๗ มี.ค. ๒๕๕๐

เวลา ๐๙:๐๐ - ๑๒:๐๐ น.

โกสลสูตร

ว่าด้วยการเจริญสติปัฏฐาน ๔

[เล่มที่ 30] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค เล่ม ๕ ภาค ๑ - หน้าที่ 382

๕. อกุสลราสิสูตร

ว่าด้วยกองอกุศล ๕

[เล่มที่ 30] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค เล่ม ๕ ภาค ๑- หน้าที่ 384

นำการสนทนาโดย..

ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ และคณะวิทยากร

ขอเชิญท่านอ่านพระสูตรนี้ได้ในกรอบต่อไป ครับ ...


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 8 มี.ค. 2550

[เล่มที่ 30] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค เล่ม ๕ ภาค ๑ - หน้าที่ 382

๔. โกสลสูตร

ว่าด้วยการเจริญสติปัฏฐาน ๔

[๖๙๑] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ พราหมณคาม ชื่อโกศล ในแคว้นโกศล ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเรียกภิกษุ ทั้งหลาย ฯลฯ แล้วได้ตรัสพระพุทธภาษิตนี้ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุทั้งหลายที่เป็นผู้มาใหม่ บวชยังไม่นาน เพิ่งมาสู่ธรรมวินัยนี้ อันเธอทั้งหลาย พึงให้สมาทาน พึงให้ตั้งอยู่ พึงให้ดำรงมั่นในการเจริญสติปัฏฐาน ๔ สติปัฎฐาน ๔ เป็นไฉน.

[๖๙๒] มาเถิด ผู้มีอายุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงพิจารณาเห็นกาย ในกายอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีธรรมเอกผุดขึ้น มีจิตผ่องใส มีจิตตั้งมั่น มีจิตมีอารมณ์เดียว เพื่อรู้กายตามความเป็นจริง. จงพิจารณา เห็นเวทนาในเวทนาอยู่ เพื่อรู้เวทนาตามความเป็นจริง จงพิจารณาเห็นจิต ในจิตอยู่ เพื่อรู้จิตตามความเป็นจริง จงพิจารณาเห็นธรรมในธรรมอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีธรรมเอกผุดขึ้น มีจิตผ่องใส มีจิตตั้งมั่น มีจิตมีอารมณ์เดียว เพื่อรู้ธรรมตามความเป็นจริง.

[๖๙๓] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย แม้ภิกษุทั้งหลายที่ยังเป็นเสขะ ยังไม่บรรลุอรหัต ปรารถนาความเกษมจากโยคะอันยอดเยี่ยม ก็ย่อมพิจารณาเห็นกายในกายอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีธรรมเอกผุดขึ้น มีจิตผ่องใส มีจิตตั้งมั่น มีจิตมีอารมณ์เดียว เพื่อกำหนดรู้กาย. ย่อมพิจารณาเห็นเวทนา ในเวทนาอยู่ เพื่อกำหนดรู้เวทนา ย่อมพิจารณาเห็นจิตในจิตอยู่ เพื่อกำหนดรู้จิต. ย่อมพิจารณาเห็นธรรมในธรรมอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีธรรมเอกผุดขึ้น มีจิตผ่องใส มีจิตตั้งมั่น มีจิตมีอารมณ์เดียว เพื่อกำหนด รู้ธรรม.

[๖๙๔] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย แม้ภิกษุทั้งหลายที่เป็นอรหันตขีณาสพ อยู่จบพรหมจรรย์ ทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว ปลงภาระลงแล้ว มีประโยชน์ ตนถึงแล้วโดยลำดับ สิ้นสังโยชน์ที่จะนำไปสู่ภพแล้ว หลุดพ้นแล้วเพราะรู้ โดยชอบ ก็ย่อมพิจารณาเห็นกายในกายอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีธรรมเอกผุดขึ้น มีจิตผ่องใส มีจิตตั้งมั่น มีจิตมีอารมณ์เดียว พรากจาก กายแล้ว ย่อมพิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาอยู่ พรากจากเวทนาแล้ว. ย่อมพิจารณาเห็นจิตในจิตอยู่ พรากจากแล้ว ย่อมพิจารณาเห็นธรรม ในธรรมอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีธรรมเอกผุดขึ้น มีจิตผ่องใส มีจิตตั้งมั่น มีจิตมีอารมณ์เดียว พรากจากธรรมแล้ว.

[๖๙๕] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุทั้งหลายที่เป็นผู้มาใหม่ บวชยัง ไม่นาน เพิ่งมาสู่ธรรมวินัยนี้ อันเธอทั้งหลายพึงให้สมาทาน พึงให้ตั้งอยู่ พึงให้ดำรงมั่นในการเจริญสติปัฏฐาน ๘ เหล่านี้.

จบ โกสลสูตรที่ ๔

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 8 มี.ค. 2550

อรถกถาโกสลสูตร

พึงทราบวินิจฉัยในโกสลสูตรที่ ๔.

บทว่า ธมฺมวินโย ความว่า บททั้ง ๒ ว่า ธรรมหรือวินัยนั้น เป็นชื่อของสัตถุศาสน์เท่านั้น.

บทว่า สมาทเปตพฺพา ได้แก่ อันเธอทั้งหลาย พึงให้ถือเอา.

บทว่า เอโกทิภูตา ได้แก่ ความเป็นผู้มีจิตสงบด้วยขณิกสมาธิ.

บทว่า สมาหิตา เอกคฺคจิตฺตา ความว่า มีจิตตั้งมั่นโดยชอบ และมีจิต มีอารมณ์เดียว ด้วยสามารถอุปจาระและอัปปนา ในสูตรนี้ สติปัฏฐาน อันภิกษุใหม่ทั้งหลายและพระขีณาสพทั้งหลายเจริญแล้ว เป็นบุพภาค พระเสขะ ๗ จำพวกเจริญแล้ว เป็นมิสสกะ.

จบอรรถกถาโกสลสูตรที่ ๔

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 8 มี.ค. 2550

[เล่มที่ 30] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค เล่ม ๕ ภาค ๑ - หน้าที่ 384

๕. อกุสลราสิสูตร *

กองอกุศล ๕

[๖๙๖] สาวัตถีนิทาน ณ ที่นั้นแล ฯลฯ พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัส พระพุทธภาษิตนี้ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เมื่อจะกล่าวว่ากองอกุศล จะกล่าว ให้ถูก ต้องกล่าวถึงนิวรณ์ ๕. เพราะว่ากองอกุศลทั้งสิ้นนี้ ได้แก่ นิวรณ์ ๕. นิวรณ์ ๕ เป็นไฉน. คือ กามฉันทนิวรณ์ ๑ พยาบาทนิวรณ์ ๑ ถีนมิทธนิวรณ์ ๑ อุทธัจจกุกกุจจนิวรณ์ ๑ วิจิกิจฉานิวรณ์ ๑

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เมื่อจะกล่าวว่ากองอกุศลจะกล่าวให้ถูก ต้องกล่าวถึงนิวรณ์ ๕ เหล่านี้ เพราะ กองอกุศลทั้งสิ้นนี้ได้แก่นิวรณ์ ๕

[๖๙๗] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เมื่อจะกล่าวว่ากองกุศล จะกล่าวให้ถูก ต้องกล่าวถึงสติปัฏฐาน ๔ เพราะว่ากองกุศลทั้งสิ้นนี้ ได้แก่ สติปัฏฐาน ๔. สติปัฏฐาน ๔ เป็นไฉน. ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมพิจารณาเห็นกายในกายอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ พึงกำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสีย ย่อมพิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาอยู่ ... ย่อมพิจารณาเห็นจิตในจิตอยู่ ย่อมพิจารณาเห็นธรรมในธรรมอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ พึงกำจัด อภิชฌาและโทมนัสในโลกเสีย ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เมื่อจะกล่าวว่ากองกุศล จะกล่าวให้ถูกต้องกล่าวถึงสติปัฏฐาน ๔ เพราะว่ากองกุศลทั้งสิ้นนี้ ได้แก่ สติปัฏฐาน

จบอกุสลราสิสูตรที่ ๕

* สูตรที่ ๕ ไม่มีอรรถกถาแก้

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
TSP
วันที่ 15 มี.ค. 2550

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
ปุถุชนคนหนึ่ง
วันที่ 18 มี.ค. 2550

ขอเรียนถาม ๒ คำถามนะคะ

๑. ธรรมเอกผุดขึ้น ในที่นี้หมายถึงสัมมาสติใช่หรือไม่ค่ะ เพราะในบางแห่งหมายถึงทุติยฌาน

๒. "..สติปัฏฐาน อันภิกษุใหม่ทั้งหลายและพระขีณาสพทั้งหลายเจริญแล้ว เป็นบุพภาค..." ทำไมท่านถึงกล่าวรวมภิกษุใหม่กับพระขีณาสพ ในที่นี้ละคะ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
study
วันที่ 19 มี.ค. 2550

ธรรมเอกผุดขึ้นในที่นี้ หมายถึง สติปัฏฐาน เพราะพระอรหันต์ท่านเจริญเป็นปกติ (มหากิริยาญาณสัมปยุต) เป็นโลกียะ เพราะความหมาย บุพภาค คือ เป็นโลกียะ ท่านไม่ได้เจริญเพื่ออริยมรรคอีกต่อไป

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
chatchai.k
วันที่ 26 พ.ย. 2563

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ