เรื่องภิกษุอาคันตุกะ

 
khampan.a
วันที่  11 ก.ย. 2561
หมายเลข  30076
อ่าน  1,416

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้าที่ ๓๖๐

๑๑. เรื่องภิกษุอาคันตุกะ [๗๐]

ข้อความเบื้องต้น

พระศาสดาเมื่อประทับอยู่ในพระเชตวัน ทรงปรารภพวกภิกษุอาคันคุกะ ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า "กณฺหํ ธมฺมํ วิปฺปหาย" เป็นต้น

พระศาสดาตรัสเหมาะแก่ความประพฤติ

ดังได้ทราบมาว่า ภิกษุประมาณ ๕๐๐ รูป จำพรรษาอยู่ในแคว้นโกศล ออกพรรษาแล้ว ปรึกษากันว่า "จักเฝ้าพระศาสดา" จึงไปยังพระเชตวัน ถวายบังคมพระศาสดาแล้ว นั่งอยู่ ณ ที่สุแห่งหนึ่ง. พระศาสดาทรงพิจารณาธรรมอันเป็นปฏิปักษ์แก่จริยาของพวกเธอ เมื่อจะทรงแสดงธรรม ได้ตรัสพระคาถาเหล่านี้ว่า:-

"บัณฑิตละธรรมดำแล้ว ออกจากอาลัย อาศัยธรรมอันหาอาลัยมิได้แล้ว ควรเจริญธรรมขาว ละกามทั้งหลายแล้ว หมดความกังวล พึงปรารถนา ความยินดียิ่งในวิเวก อันเป็นซึ่งประชายินดีได้ยาก บัณฑิตควรทำตนให้ผ่องแล้ว จากเครื่องเศร้าหมอง

ชนเหล่าใดอบรมจิตดีแล้วโดยชอบ ในองค์ธรรมแห่งความตรัสรู้ (และ) ชนเหล่าใด ไม่ถือมั่นยินดี ในการละเลิกความถือมั่น ชนเหล่านั้นๆ เป็นพระขีณาสพ รุ่งเรื่อง ดับสนิทแล้วในโลก"

แก้อรรถ

บรรดาบทเหล่านั้น สองบทว่า กณฺหํ ธมฺมํ ความว่า ละ คือ สละอกุศลธรรม ต่างโดยเป็นกายทุจริตเป็นต้น.

สองบทว่า สุกฺกํ ภาเวถ ความว่า ภิกษุผู้เป็นบัณฑิต ควรเจริญธรรมขาว ต่างโดยเป็นกายสุจริตเป็นต้น ตั้งแต่ออกบวช จนถึงอรหัตมรรค. เจริญอย่างไร คือออกจากอาลัย ปรารภธรรมอันหาอาลัยมิได้

อธิบายว่า ธรรมเป็นเหตุให้อาลัย ตรัสเรียกว่า โอกะ ธรรมเป็นเหตุให้ไม่มีอาลัย ตรัสเรียกว่า อโนกะ บัณฑิตออกจากธรรมเป็นเหตุให้อาลัยแล้ว เจาะจง คือปรารภพระนิพพาน กล่าวคือธรรมเป็นเหตุไม่มีอาลัย เมื่อปรารถนาพระนิพพานนั้น ควรเจริญธรรมขาว

บาทพระคาถาว่า ตตฺราภิรติมิจฺเฉยฺย ความว่า พึงปรารถนาความยินดียิ่งในวิเวก ที่นับว่าเป็นธรรมอันไม่มีอาลัย คือ พระนิพพานซึ่งสัตว์เหล่านั้นอภิรมย์ได้โดยยาก

สองบทว่า หิตฺวา กาเม ความว่า ละวัตถุกามและกิเลสกามแล้วเป็นผู้หมดความกังวล พึงปรารถนาความยินดียิ่งในวิเวก

บทว่า จิตฺตเกฺลเสหิ ความว่า พึงทำตนให้ขาวผ่อง คือให้บริสุทธิ์จากนิวรณ์ ๕

บทว่า สมฺโพธิยงฺเคสุ ได้แก่ ในธรรมเป็นองค์เครื่องตรัสรู้

บาทพระคาถาว่า สมฺมา จิตฺตํ สุภาวิตํ ความว่า (ชนเหล่าใด) อบรม คือเจริญจิตด้วยดีแล้ว ตามเหตุ คือตามนัย

บาทพระคาถาว่า อาทานปฏินิสฺสคฺเค ความว่า ความยึดถือตรัสเรียกว่า ความถือมั่น ชนเหล่าใด ไม่ถืออะไรๆ ด้วยอุปาทาน ๔ ยินดีแล้วในการไม่ถือมั่น กล่าวคือการเลิกละความยึดถือนั้น

บทว่า ชุติมนฺโต ความว่า ผู้มีอานุภาพ คือผู้ยังธรรมต่างโดยขันธ์เป็นต้นให้รุ่งเรือง แล้วดำรงมั่นอยู่ ด้วยความรุ่งเรืองคือญาณอันกำกับด้วยอรหัตมรรค

สองบทว่า เต โลเก เป็นต้น ความว่า ชนเหล่าชั้นชื่อว่าดับสนิทแล้ว ในขันธาทิโลกนี้ คือ ปรินิพพานแล้ว ด้วยปรินิพพาน ๒ อย่าง คือด้วยปรินิพพานที่ชื่อว่าสอุปาทิเสส เพราะกิเลสวัฏฏ์อันตน ให้สิ้นไปแล้ว ตั้งแต่เวลาที่บรรลุพระอรหัต และด้วยปรินิพพานที่ชื่อว่า อนุปาทิเสส เพราะขันธวัฏฏ์อันตนให้สิ้นไปแล้ว ด้วยดับจริมจิต (จุติจิตของพระอรหันต์) คือ ถึงความหาบัญญัติไม่ได้ ดังประทีปหาเชื้อมิได้ฉะนั้น

ในเวลาจบเทศนา ชนเป็นอันมากบรรลุอริยผลทั้งหลาย มีโสดาปัตติผลเป็นต้น ดังนี้แล.

เรื่องภิกษุอาคันตุกะ จบ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
anuraks168
วันที่ 14 พ.ย. 2561

ขออนุโมทนาครับ 

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
สิริพรรณ
วันที่ 26 มี.ค. 2562

กราบนอบน้อมพระรัตนตรัยด้วยเศียรเกล้า

กราบอนุโมทนาขอบพระคุณอาจารย์คำปั่น อักษรวิลัย และมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนาเป็นอย่างยิ่งค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
chatchai.k
วันที่ 5 มิ.ย. 2564

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ