กรรม วิบากกรรม วิบากจิต

 
วิริยะ
วันที่  6 เม.ย. 2561
หมายเลข  29625
อ่าน  2,325

เรียนถามค่ะ

กรรม คือการกระทำ ที่เกิดจากกุศลจิต หรือ อกุศลจิต เป็นเหตุ

วิบากกรรม คือ ผลของการกระทำที่ต้องได้รับ เช่น เกิดเป็นคนยากจน เกิดเป็นคนที่ไม่ฉลาด หรือ เป็นผู้ที่มักถูกเยาะเย้ยถากถาง เป็นผู้ที่ถูกกระทำให้ได้รับความอับอาย เป็นต้น ซึ่งเป็นผล ส่วน คำสุดท้ายคือ วิบากจิต คือจิตเห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ได้ลิ้มรส ได้กระทบสัมผัส ในสิ่งที่ดีบ้าง ไม่ดีบ้าง แล้วแต่กรรมดีหรือไม่ดี ที่ได้เคยกระทำมาจะให้ผลเช่นไร วิบากจิตนี้ เป็นผล ส่วนจิตที่คิดนี่ เป็นชาติ กุศล อกุศล เท่านั้น คือ คิดดีบ้าง คิดไม่ดีบ้าง เป็นสิ่งที่สะสมอยู่ในดวงจิต ถ้าสะสมมากเข้า จนมีกำลัง ก็ออกมาเป็นการกระทำ ที่เรียกว่า กรรมดี กรรมไม่ดี ซึ่งก็จะเป็นเหตุ ให้ได้รับผล วนเวียนอยู่เช่นนี้ ทั้งหมดนี้ ดิฉันเข้าใจถูกต้องหรือไม่คะ แต่บางครั้ง ดิฉันก็ยังสับสนระหว่าง วิบากกรรม และ วิบากจิต ว่ามันเป็นสิ่งเดียวกันหรือไม่

ขอบพระคุณอย่างสูงค่ะ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 6 เม.ย. 2561

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ธรรมมีความละเอียดลึกซึ้งอย่างยิ่งครับ แม้แต่เรื่อง กรรม และ ผลของกรรม กรรม คือ เจตนาเจตสิก ที่เกิดกับกุศลจิตและอกุศลจิต ส่วนอีกประการหนึ่ง คือ ผลของกรรม คือ นาม และ รูป

ผลของกรรมที่เป็นนาม คือ ปฏิสนธิจิต ภวังคจิต จิตเห็น จิตได้ยิน จิตได้กลิ่น จิตรู้รส จิตรู้กระทบสัมผัส

ส่วนผลของกรรมที่เป็นรูป เช่น กัมมัชชรูป จักขุสาปทรูป (ตา) หู จมูก ลิ้น กาย เป็นต้น ดังนั้น ไม่ได้ใช้คำว่าวิบากกรรม แต่ ใช้คำว่า กรรม และ ผลของกรรม และ ใช้คำว่า วิบาก ไม่ปนเป็น วิบากกรรรม ครับ

ดังนั้นคนที่แกิดมาแล้วแขนขาพิการ ก็เพราะ วิบากจิต และ รูปที่เกิด จากกรรมที่ไม่ดี เป็นต้น เป็นเหตุปัจจัยให้เป็นเช่นนั้นครับ ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
khampan.a
วันที่ 6 เม.ย. 2561

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ความเป็นจริงของสภาพธรรม เป็นอย่างไร ก็เป็นอย่างนั้น ใครๆ ก็ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครทั้งสิ้น สำหรับในเรื่องของกรรมและผลของกรรม ก็เป็นธรรม กรรมเป็นเหตุ ซึ่งมีทั้งเหตุที่ดี และเหตุที่ไม่ดี เมื่อเหตุ
ต่างกัน ผลก็ต้องต่างกัน จะเหมือนกันไม่ได้ เหตุดี ย่อมให้ผลที่ดี ที่น่าปรารถนาน่าใคร่ น่าพอใจ ในทางตรงกันข้าม ถ้าเป็นเหตุไม่ดี ผลก็ย่อมเป็นผลที่ไม่ดี ไม่น่าปรารถนา ไม่น่าใคร่ ไม่น่าพอใจ โดยไม่มีใครทำให้เลย ผลของกรรมมีทั้งนามธรรม (วิบากจิต และเจตสิกที่เกิดร่วมด้วย) และรูปธรรม (รูปที่เกิดจากกรรม) โดยไม่มีใครจัดสรร แต่ความจริงเป็นอย่างนั้น เป็นธรรมที่เกิดเพราะเหตุปัจจัย ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครทั้งสิ้น ครับ
การฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม ในชีวิตประจำวัน ย่อมเป็นไปเพื่อความเจริญขึ้นแห่งปัญญา ความเข้าใจถูกเห็นถูกในสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริง แม้ในเรื่องกรรมและผลของกรรมก็เช่นเดียวกัน ไม่พ้นไปจากธรรมเลย ไม่พ้นจากชีวิตประจำวันด้วย ผู้ที่ได้ศึกษาพระธรรมคำสอนในทางพระพุทธศาสนา ย่อมจะเป็นผู้มีความเข้าใจว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับบุคคลแต่ละคน หรือแม้กระทั่งเกิดกับตัวเองไม่ว่าดีหรือร้าย น่าปรารถนาหรือไม่น่าปรารถนาก็ตาม ล้วนแล้วแต่เป็นเพราะกรรมที่เคยได้กระทำมาแล้วทั้งสิ้น ไม่มีใครทำให้เลย ซึ่งจะเห็นได้ว่า ถ้าไม่มีเหตุคือกรรมที่ได้กระทำมาแล้ว ผลที่จะเกิดย่อมมีไม่ได้ แต่เพราะมีเหตุคือกรรมที่ได้กระทำแล้ว เมื่อได้โอกาสที่กรรมจะให้ผล ผลจึงเกิดขึ้น พระธรรมที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดง เป็นเครื่องเตือนที่ดีสำหรับทุกแง่มุมของชีวิต จึงควรอย่างยิ่งที่ทุกคนจะได้พิจารณาว่า ชีวิตเป็นสิ่งที่ไม่แน่นอน แต่ความตายเป็นสิ่งแน่นอนสำหรับทุกคน ควรที่จะเห็นโทษของอกุศลที่เป็นเหตุให้กระทำอกุศลกรรมแล้วจะเป็นเหตุให้ได้รับผลที่ไม่ดีข้างหน้า โดยไม่เพียงแค่กลัวผลของอกุศลกรรมเท่านั้น ต้องกลัวที่เหตุคืออกุศลกรรม ด้วย ดังนั้นเมื่อจะสะสมกรรมที่จะทำให้เกิดผลในภายหน้า ก็พึงกระทำเฉพาะกรรมอันงาม คือ กุศลกรรม เท่านั้น ส่วน สิ่งที่ไม่ดีคืออกุศลทั้งหลายซึ่งไม่เป็นประโยชน์ทั้งแก่ตนและแก่บุคคลอื่น ไม่ควรที่จะสะสมให้มีมากขึ้น เพราะเหตุว่า อกุศลกรรม เป็นที่พึ่งไม่ได้ แต่สิ่งที่จะเป็นที่พึ่งของสัตว์ทั้งหลาย ทั้งในโลกนี้และในโลกหน้านั้น ก็คือ กุศล ความดีทั้งหลายเท่านั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือปัญญา ซึ่งเป็นความเข้าใจถูกเห็นถูกในลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง ครับ.
...อนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
วิริยะ
วันที่ 8 เม.ย. 2561

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
ประสาน
วันที่ 9 เม.ย. 2561

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ การศึกษาพระธรรมต้องเป็นผู้ละเอียด

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
s_sophon
วันที่ 11 เม.ย. 2561

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
ก.ไก่
วันที่ 23 พ.ค. 2565

สาธุ สาธุ สาธุ อนุโมทามิ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ