สัตว์ทดลอง

 
pdharma
วันที่  24 ก.ค. 2560
หมายเลข  29027
อ่าน  1,898

ปัจจุบันวงการวิทยาศาสตร์มีการนำสัตว์ทดลองมาใช้ในการวิจัยมากขึ้น โดยทางการแพทย์มุ่งหวังว่าจะหาทางรักษาโรคในคน หรือรู้กลไกการเกิดโรคเพื่อนำมาป้องกันการเกิดโรคในคน การนำสัตว์ทดลองอันได้แก่ หนู กระต่าย เป็นต้น มาทำการทดลองนี้ ถือว่าเป็นการเบียดเบียนสัตว์ และหากมีการฆ่าสัตว์ทดลองนั้นผู้ฆ่าหรือผู้บอกให้ฆ่าก็เป็นบาปด้วย เช่นนี้ไม่ต่างอะไรกับผู้ประกอบอาชีพฆ่าและขายเนื้อสัตว์หรือไม่ หากแต่นักวิจัยหรือแพทย์ใช้และฆ่าสัตว์เพื่อประโยชน์ของผู้อื่น เช่น รักษาโรค วิบากกรรมจะเบาลงไปหรือไม่

ขอขอบพระคุณ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 24 ก.ค. 2560

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

การพิจารณาในสิ่งที่เป็นเรื่องราว ต้องกลับมาที่ การพิจารณา ทีละขณะจิต เป็นสำคัญครับเพราะเรื่องราวยาวๆ ก็คือ จิตที่เกิดดับทีละขณะนั่นเอง ซึ่ง บาปไม่บาป สำคัญที่เจตนาที่เกิดกับจิต ว่ามีเจตนาดี หรือ ไม่ดี ในขณะนั้น มีเจตนาทุจริต ประทุษร้ายหรือไม่ประทุษร้ายในขณะนั้นครับ

อย่างกรณี นักวิทยาศาสตร์ทำการทดลองกับหนู ที่กล่าวมาเป็นเรื่องราวยาวๆ ซึ่ง เรื่องราวจะมีได้ ก็เพราะมีการเกิดดับของสภาพธรรมที่เป็น จิตและเจตสิก ดังนั้น จิตที่หวังดีตั้งใจที่จะช่วยรักษาโรคต่างๆ เพื่อประโยชน์กับมนุษย์ทั้งหลาย ขณะที่คิดเช่นนี้ เป็นเจตนาที่ดี หวังดี ด้วยกุศลจิต ขณะนั้นไม่บาป แต่เป็นบุญ กุศลในขณะจิตนั้น แต่ขณะที่คิดที่จะใช้ หนูเป็นตัวทดลอง ซึ่งก็รู้อยู่ว่า การกระทำนั้นจะทำให้หนูเจ็บ ทรมาน หรือ ตายได้ แต่ก็คิดที่จะทำ การคิดเช่นนั้น มีเจตนาทำร้าย ประทุษร้าย เบียดเบียน เมื่อเป็นเจตนาที่ไม่ดี ก็เป็นบาปในขณะนั้นครับ นี่คือ เป็นเพียงความคิดที่จะทำ ยังไม่ลงมือทำก็เป็นบาปที่เป็นอกุศลจิตแล้ว และเมื่อลงมือทำ คือ ฉีดเชื้อโรค ซึ่งก็รู้อยู่แล้วว่า หนูจะต้องได้รับสิ่งที่ไม่ดี เป็นโรคภัยต่างๆ และก็มีการลงมือทำ มีเจตนาไม่ดี และ กระทำกรรมนั้น ก็เป็นบาปแล้วในขณะที่ทำครับ และหากมีเจตนาให้สัตว์นั้นตาย และสัตว์นั้นตายลง กรรมสำเร็จ เป็นปาณาติบาตครับ เมื่อกรรมนี้ให้ผลก็สามารถทำให้เกิดในนรกได้ครับ ดังนั้น บาปไม่บาป สำคัญที่เจตนา แต่ก็ต้องพิจารณาทีละขณะจิต อย่าเอาเรื่องราวยาวๆ มาปนกันครับ จิตคิดช่วยมนุษย์ทั้งหลายมี ขณะนั้นไม่บาป แต่ขณะที่คิดจะทดลองด้วยหนู ด้วยการเบียดเบียนสัตว์อื่น และขณะที่ทดลอง ก็มีเจตนาทำร้าย ประทุษร้ายหนู ก็เป็นบาปครับ

เปรียบเหมือนการที่เราต้องการช่วยเหลือคนหนึ่ง แต่เบียดเบียนสัตว์อื่น เจตนาช่วยคนอื่นมี เป็นเจตนาดี เป็นกุศล แต่ไปเบียดเบียนคนอื่น ในขณะนั้น จะด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม แต่เจตนาไม่ดีในขณะนั้นก็เป็นบาปแล้วครับ

ซึ่งเรื่องในพระไตรปิฎกก็มีเรื่องราวที่แสดงถึง การรักษาชีวิตผู้อื่น โดยงดเว้นไม่ทำร้ายสัตว์อื่นครับ เรื่องราวมีอยู่ว่ามารดาของชายคนหนึ่ง ป่วยเป็นโรคที่รักษาไม่หาย ใกล้ตายหมอได้แนะนำว่า หากจะหายจากโรค มีวิธีเดียว คือ ต้องรับประทานเนื้อกระต่าย โดยการไปจับกระต่ายมาฆ่าและให้มารดารับประทานก็จะหายจากโรค ชายคนนั้นก็ออกไปที่ท้องนา เพื่อจะไปจับกระต่ายมารักษามารดาให้หายจากโรค เมื่อเห็นกระต่าย จับได้ กระต่ายก็ร้อง ชายคนนี้ นึกถึงตนที่รักษาศีล และไม่ปรารถนาจะเบียดเบียนสัตว์อื่น เพื่อรักษาชีวิตของคนอื่น คือ มารดา จึงปล่อยกระต่ายไป และกล่าววาจาสัจ ทำให้มารดาหายจากโรค

จะเห็นนะครับว่า ผู้ที่มีปัญญา จึงทำประโยชน์เพื่อผู้อื่น โดยไม่เบียดเบียนทั้งตนเองและผู้อื่น สัตว์อื่นเลย คือ เป็นกุศล และ งดเว้นอกุศล นั่นเองครับ

เชิญคลิกอ่านเพิ่มเติมที่นี่ครับ

นักศึกษาแพทย์ทำการทดลองกับสัตว์

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
khampan.a
วันที่ 24 ก.ค. 2560

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

จิตเกิดดับสลับกันอย่างรวดเร็ว ไม่ได้เป็นกุศลอยู่ตลอด ไม่ได้เป็นอกุศลอยู่ตลอด ตามความเป็นจริงแล้ว ถ้าจิตไม่ได้เป็นไปในทาน ไม่ได้เป็นไปในการรักษาศีล ไม่ได้เป็นไปในการอบรมเจริญปัญญาแล้ว เป็นอกุศลทั้งหมด ถ้าไม่กล่าวถึงขณะที่เป็นวิบากและกิริยา ขณะที่จิตเป็นอกุศลไม่ใช่บุญ จะเห็นได้ว่าอกุศลจิตเกิดขึ้นมากในชีวิตประจำวัน ถ้าสะสมมากขึ้น มีกำลังมากขึ้น ก็ล่วงเป็นทุจริตกรรม เป็นอกุศลกรรม เป็นบาปที่จะให้ผล คืออกุศลวิบากในภายหน้า สำหรับผู้ที่เป็นนักทดลองทางวิทยาศาสตร์ค้นคว้าวิชาการใหม่ๆ โดยใช้สัตว์เป็นเครื่องทดลอง เพื่อประโยชน์แก่ผู้อื่นนั้น สภาพจิตใจคงจะไม่เหมือนกับผู้ที่ฆ่าสัตว์เป็นประจำ เบียดเบียนสัตว์เป็นประจำ แต่การฆ่า การเบียดเบียนสัตว์อื่น ไม่ว่าจะเป็นใครทำ ก็เป็นบาป เป็นสิ่งที่ไม่ดีเหมือนกันทั้งนั้น ไม่มีการยกเว้น แสดงให้เห็นถึงความเป็นจริงของสภาพธรรมที่ใครๆ ก็เปลี่ยนแปลงไม่ได้ และที่ยังเป็นเช่นนี้ก็เพราะว่ายังมีภพชาติเหลืออยู่ สังสารวัฏฏ์ ยังเป็นไปอยู่อันเนื่องมาจากการมีกิเลส ยังดับกิเลสใดๆ ไม่ได้นั่นเอง บุคคลผู้ที่จะไม่ฆ่าสัตว์ อย่างเด็ดขาด ต้องเป็นพระอริยบุคคลตั้งแต่พระโสดาบันขึ้นไป สำหรับผู้ที่ยังไม่ได้เป็นพระอริยบุคคล โอกาสที่จะล่วงศีล เบียดเบียนผู้อื่นก็อาจจะเกิดขึ้นได้เป็นไปตามเหตุตามปัจจัย ทางที่ดีที่สุดคือ ไม่ประมาทกำลังของกิเลส ไม่ประมาทในการเจริญกุศล สะสมความดี และอบรมเจริญปัญญาในชีวิตประจำวัน ซึ่งจะเป็นไปเพื่อละคลายขัดเกลากิเลสของตนเอง ต่อไป ครับ

...อนุโมทนาในกุศจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
ํํญาณินทร์
วันที่ 25 ก.ค. 2560

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
peem
วันที่ 26 ก.ค. 2560

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
Tommy9
วันที่ 9 ส.ค. 2560

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ ลึกซึ้งครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
kukeart
วันที่ 26 ส.ค. 2560

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
wannee.s
วันที่ 8 ก.ย. 2560

การฆ่าสัตว์ ไม่ว่าจะทำไปเพื่ออะไร การฆ่าก็บาป ศีลข้อที่หนึ่งก็ขาด แต่ก็ต้องฟังธรรมอบรมปัญญาเจริญบารมี 10 เมื่อเหตุปัจจัยพร้อมบรรลุเป็นพระโสดาบันเมื่อไหร่ เมื่อนั้นศีล 5 จึงจะสมบูรณ์ค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ