กูฏทันตสูตร (นำมาบางส่วน) ... วันเสาร์ที่ ๓ ตุลาคม ๒๕๕๘

 
มศพ.
วันที่  28 ก.ย. 2558
หมายเลข  27034
อ่าน  3,208

นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทธสฺส
นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทธสฺส
นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทธสฺส

พุทฺธํ สรณํ คจฺฉามิ
ธมฺมํ สรณํ คจฺฉามิ
สงฺฆํ สรณํ คจฺฉามิ

•••..... ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย .....•••

... สนทนาธรรมที่ ...

มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา (มศพ.)
พระสูตร ที่จะนำมาสนทนาที่มูลนิธิฯ
วันเสาร์ที่ ๓ ตุลาคม ๒๕๕๘ เวลา ๐๙.๐๐ - ๑๒.๐๐ น. คือ

๕. กูฏทันตสูตร (ว่าด้วยเรื่องกูฏทันตพราหมณ์)

[นำมาเพียงบางส่วน]

จาก ... [เล่มที่ 12] พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ หน้าที่ ๔๐

[เล่มที่ 12] พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ หน้าที่ ๔๐ * *

๕. กูฏทันตสูตร (ว่าด้วยเรื่องกูฏทันตพราหมณ์)

[นำมาเพียงบางส่วน]

ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้า เสด็จจาริกไปในมคธชนบท พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ ประมาณ ๕๐๐ รูป ได้เสด็จถึงพราหมณคามของชาวมคธ ชื่อ ขานุมัตตะ. ได้ยินว่าในสมัยนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ในสวนอัมพลัฏฐิกา ใกล้บ้านขานุมัตตะ สมัยนั้นพราหมณ์กูฏทันตะอยู่ครองบ้านขานุมัตตะ อันคับคั่งด้วยประชาชนและหมู่สัตว์ อุดมด้วยหญ้า ด้วยไม้ ด้วยน้ำ สมบูรณ์ด้วยธัญญาหาร ซึ่งเป็นราชสมบัติ อันพระเจ้าแผ่นดินมคธ จอมเสนา พระนามว่า พิมพิสาร พระราชทานปูนบำเหน็จให้เป็นส่วนพรหมไทย.

มหายัญของกูฏทันตพราหมณ์

ก็ในสมัยนั้น พราหมณ์กูฏทันตะได้เตรียมมหายัญ โคผู้ ๗๐๐ ตัว ลูกโคผู้ ๗๐๐ ตัว ลูกโคเมีย ๗๐๐ ตัว แพะ ๗๐๐ ตัว และแกะ ๗๐๐ ตัว ถูกนำเข้าไปผูกไว้ที่หลัก เพื่อบูชายัญ. พราหมณ์และคฤหบดี ชาวบ้านขานุมัตตะ ได้สดับว่า พระสมณโคดมศากยบุตร ทรงผนวชจาก ศากยสกุล เสด็จจาริกไปในมคธชนบท พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ประมาณ ๕๐๐ รูป เสด็จถึงบ้านขานุมัตตะ ประทับอยู่ในสวนอัมพลัฏฐิกา ใกล้บ้านขานุมัตตะ เกียรติศัพท์อันงาม ของพระสมณโคดมพระองค์นั้น ขจรไปแล้วอย่างนี้ว่า

พระพุทธคุณ

แม้เพราะเหตุนี้ๆ พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น เป็นพระอรหันต์

ตรัสรู้ชอบด้วยพระองค์เอง ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ เสด็จไปดีแล้ว ทรงรู้แจ้งโลก เป็นสารถีฝึกบุรุษที่ควรฝึก ไม่มีผู้อื่นยิ่งกว่า เป็นพระศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นผู้เบิกบานแล้ว เป็นผู้จำแนกพระธรรมพระตถาคต พระองค์นั้นทรงทำโลกนี้พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ให้แจ้งด้วยพระปัญญา อันยิ่งของพระองค์แล้ว ทรงสอนหมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณะและพราหมณ์ เทวดาและมนุษย์ ให้รู้ตาม ทรงแสดงธรรมงามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด ทรงประกาศพรหมจรรย์ พร้อมทั้งอรรถ พร้อมทั้งพยัญชนะ บริสุทธิ์บริบูรณ์โดยสิ้นเชิง ก็การเห็นพระอรหันต์ทั้งหลายเห็นปานนั้น ย่อมเป็นการดีแล้ว ดังนี้. ครั้งนั้น พราหมณ์และคฤหบดีชาวบ้านขานุมัตตะ ออกจากบ้านขานุมัตตะเป็นหมู่ๆ พากันไปยังสวนอัมพลัฏฐิกา.

..... เพราะเหตุที่พระสมณโคดมเสด็จถึงบ้านขานุมัตตะ ประทับอยู่ที่สวนอัมพลัฏฐิกา ใกล้บ้านขานุมัตตะจัดว่าเป็นแขกของเรา และเป็นแขกที่เราควรสักการะ เคารพนับถือ บูชานอบน้อม นี้แหละ พระองค์จึงไม่ควรจะเสด็จมาหาเรา ที่ถูก เราต่างหากควรไปเฝ้าพระองค์ ข้าพเจ้าทราบพระคุณของพระโคดมเพียงเท่านี้แต่พระโคดมมิใช่มีพระคุณเพียงเท่านี้ ความจริง พระองค์มีพระคุณหาประมาณมิได้.

เมื่อพราหมณ์กูฏทันตะ กล่าวอย่างนี้แล้ว พวกพราหมณ์ เหล่านั้นได้กล่าวว่า ท่านกูฏทันตะ กล่าวชมพระสมณโคดมถึงเพียงนี้ ถึงหากพระองค์จะประทับอยู่ไกลจากที่นี้ตั้ง ๑๐๐ โยชน์ก็ควรแท้ที่กุลบุตรผู้มีศรัทธาจะไปเฝ้า แม้ต้องนำเสบียงไปก็ควร.

พราหมณ์กูฏทันตะกล่าวว่า ท่านทั้งหลาย ถ้าเช่นนั้น เราทั้งหมดจักเข้าไปเฝ้าพระสมณโคดม. ลำดับนั้น พราหมณ์กูฏทันตะพร้อมด้วยคณะพราหมณ์ผู้ใหญ่ ได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าที่สวนอัมพลัฏฐิกา ได้ปราศรัยกับพระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นผ่านการปราศรัยพอให้ระลึกถึงกันไปแล้ว ได้นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง. ฝ่ายพราหมณ์และคฤหบดีชาวบ้านขานุมัตตะ บางพวกก็ถวายบังคม บางพวกก็ปราศรัย บางพวกก็ประนมอัญชลีไปทางพระผู้มีพระภาคเจ้า บางพวกก็ประกาศชื่อและโคตร บางพวกก็นิ่งอยู่ แล้วต่างพากันนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง. พราหมณ์กูฏทันตะ นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้ว ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ข้าแต่พระสมณโคดมผู้เจริญ ข้าพระองค์ได้สดับมาว่า พระสมณโคดม ทรงทราบยัญสมบัติ ๓ ประการ ซึ่งมีบริวาร ๑๖ ส่วนข้าพระองค์ไม่ทราบ แต่ปรารถนาจะบูชามหายัญ ขอประทานพระวโรกาส ขอพระโคดมผู้เจริญโปรดแสดงยัญสมบัติ ๓ ประการซึ่งมีบริวาร ๑๖ แก่ข้าพระองค์เถิด พระเจ้าข้า

ยัญของพระเจ้ามหาวิชิตราช

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ดูกร พราหมณ์ ถ้าเช่นนั้นท่านจงฟัง จงตั้งใจให้ดีเราจักบอก. เมื่อพราหมณ์กูฏทันตะทูลรับแล้ว จึงตรัสว่า ดูกร พราหมณ์ เรื่องเคยมีมาแล้ว พระเจ้ามหาวิชิตราช เป็นผู้มั่งคั่งมีทรัพย์มาก มีโภคสมบัติมาก มีทองและเงินมาก มีเครื่องใช้สอยอันน่าปลื้มใจมาก มีทรัพย์และข้าวเปลือกมาก มีท้องพระคลัง และฉางบริบูรณ์ ดูกร พราหมณ์ ครั้งนั้น พระเจ้ามหาวิชิตราชได้เสด็จเข้าไปสู่ที่ลับเร้นอยู่ ได้เกิดพระปริวิตก อย่างนี้ว่า เราได้ครอบครองสมบัติมนุษย์อย่างไพบูลย์แล้วได้ชนะปกครองดินแดนมากมาย ถ้ากระไร เราพึงบูชามหายัญ ที่จะเป็นประโยชน์และความสุขแก่เราตลอดกาลนาน ดูกร พราหมณ์ พระเจ้ามหาวิชิตราชรับสั่งให้เรียกพราหมณ์ปุโรหิตมาแล้วตรัสว่า วันนี้เราได้เข้าสู่ที่ลับเร้นอยู่ ได้เกิดปริวิตกอย่างนี้ว่า เราได้ครอบครองสมบัติมนุษย์อย่างไพบูลย์แล้ว ได้ชนะปกครองดินแดนมากมาย ถ้ากระไร เราพึงบูชามหายัญที่จะเป็นไปเพื่อประโยชน์และความสุขแก่เราตลอดกาลนาน ดูกร พราหมณ์ เราปรารถนาจะบูชามหายัญ ขอท่านจงชี้แจงวิธีบูชามหายัญ ที่จะเป็นประโยชน์และความสุขแก่เราตลอดกาลนาน.

ดูกร พราหมณ์ เมื่อพระเจ้ามหาวิชิตราช รับสั่งอย่างนี้แล้ว พราหมณ์ปุโรหิตกราบทูลว่า ชนบทของพระองค์ยังมีเสี้ยนหนาม ยังมีการเบียดเบียนกัน โจรปล้นบ้านก็ดี ปล้นนิคมก็ดี ปล้นเมืองก็ดีทำร้ายในหนทางเปลี่ยวก็ดี ยังปรากฏอยู่ พระองค์จะโปรดยกเรื่องการทำพลีกรรมขึ้นมาในเมื่อบ้านเมืองยังมีเสี้ยนหนาม ยังมีการเบียดเบียนกัน ด้วยเหตุที่ยกเรื่องการทำพลีกรรมขึ้นมา นั้น จะพึงชื่อว่าทรงกระทำการมิสมควร บางคราวพระองค์จะทรงดำริอย่างนี้ว่า เราจักปราบปรามเสี้ยนหนามคือโจรด้วยการประหาร ด้วยการจองจำ ด้วยการปรับไหม ด้วยการตำหนิ หรือเนรเทศ ก็การปราบ ปรามด้วยวิธีเช่นนี้ ไม่ชื่อว่าเป็นการปราบปรามโดยชอบ เพราะว่าโจรบางพวกที่เหลือจากถูกกำจัดจักยังมีอยู่ ภายหลังมันก็จักเบียดเบียนบ้านเมืองของพระองค์. แต่ว่าการปราบปรามเสี้ยนหนามคือโจรนั้น จะชื่อว่าเป็นการปราบปรามโดยชอบ เพราะอาศัยว่าการดังต่อไปนี้

พลเมืองเหล่าใดในบ้านเมืองของพระองค์ ขะมักเขม้นในกสิกรรมและโครักขกรรม ขอพระองค์จงเพิ่มข้าวปลูกและข้าวกินให้แก่พลเมืองเหล่านั้นในโอกาสอันสมควร พลเมืองเหล่าใดในบ้านเมืองของพระองค์ ขะมักเขม้นในพาณิชยกรรม ขอพระองค์จงเพิ่มทุนให้แก่พลเมืองเหล่านั้นในโอกาสอันสมควร ข้าราชการเหล่าใด ในบ้านเมืองของพระองค์ขยัน ขอพระองค์จงพระราชทานเบี้ยเลี้ยง และเงินเดือนแก่ข้าราชการเหล่านั้น ในโอกาสอันสมควร พลเมืองเหล่านั้นนั่นแหละ จักเป็นผู้ขวนขวายในการงานของตนๆ จักไม่เบียดเบียนบ้านเมืองของพระองค์ อนึ่ง กองพระราชทรัพย์ มีจำนวนมาก จักเกิดแก่พระองค์ บ้านเมืองก็จะตั้งมั่นอยู่ในความเกษม หาเสี้ยนหนามมิได้ ไม่มีการเบียดเบียนกัน พลเมืองจักชื่นชมยินดีต่อกัน ยังบุตรให้ฟ้อนอยู่บนอก จักไม่ต้องปิดประตูเรือนอยู่ ดูกรพราหมณ์ พระเจ้ามหาวิชิตราชทรงรับคำพราหมณ์ปุโรหิตแล้ว ก็ได้พระราชทานข้าวปลูกและข้าวกินแก่พลเมืองในบ้านเมืองของพระองค์ที่ขะมักเขม้นในกสิกรรมและโครักขกรรม พระราชทานต้นทุนแก่พลเมืองในบ้านเมืองของพระองค์ที่ขะมักเขม้นในพาณิชยกรรม พระราชทานเบี้ยเลี้ยง และเงินเดือนแก่ข้าราชการในเมืองของพระองค์ที่ขยัน พลเมืองเหล่านั้นนั่นแหละ ได้เป็นผู้ขวนขวายในการงานตามหน้าที่ของตนๆ ไม่ได้เบียดเบียนบ้านเมืองของพระองค์ อนึ่ง กองพระราชทรัพย์มีจำนวนมาก ได้เกิดมีแล้วแก่พระองค์ บ้านเมืองได้ดำรงอยู่ในความเกษม หาเสี้ยนหนามมิได้ ไม่มีการเบียดเบียนกัน พลเมืองชื่นชมยินดีต่อกัน ยังบุตรให้ฟ้อนอยู่บนอก ไม่ต้องปิดประตูเรือนอยู่แล้ว.

ดูกร พราหมณ์ ครั้งนั้นแล พระเจ้ามหาวิชิตราชได้ทรงรับสั่งให้พราหมณ์ปุโรหิตมาเฝ้าแล้วตรัสว่า ท่านผู้เจริญ โจรที่เป็นเสี้ยนหนามนั้น เราได้ปราบปรามดีแล้ว เพราะอาศัยวิธีการของท่าน และกองพระราชทรัพย์ใหญ่ได้บังเกิดแก่เรา บ้านเมืองก็ได้ดำรงอยู่ในความเกษม หาเสี้ยนหนามมิได้ ไม่มีการเบียดเบียนกัน พลเมืองชื่นชมยินดีต่อกัน ยังบุตรให้ฟ้อนอยู่บนอก ไม่ต้องปิดประตูเรือนอยู่ ดูกร พราหมณ์ เราปรารถนาจะบูชามหายัญ ขอท่านจงชี้แจงวิธีบูชามหายัญ ที่จะเป็นประโยชน์และความสุขแก่เราตลอดกาลนาน.

พราหมณ์ปุโรหิตกราบทูลว่า ขอเดชะ ถ้าเช่นนั้น อนุยนตกษัตริย์เหล่าใด (กษัตริย์ที่ขึ้นตรงกับพระองค์) ซึ่งเป็นชาวนิคมและชาวชนบท ในพระราชอาณาเขตของพระองค์ ขอพระองค์จงเรียกอนุยนตกษัตริย์เหล่านั้นมาปรึกษาว่า ท่านทั้งหลาย เราปรารถนาจะบูชายัญ ขอท่านจงร่วมมือกับเรา เพื่อประโยชน์เพื่อความสุขแก่เราตลอดกาลนาน, อำมาตย์ราชบริพารเหล่าใด ซึ่งเป็นชาวนิคมและชาวชนบท ในพระราชอาณาเขตของพระองค์ ขอพระองค์จงเรียกอำมาตย์ราชบริพารเหล่านั้นมาปรึกษาว่า ท่าน ทั้งหลายเราปรารถนาจะบูชามหายัญ ท่านจงร่วมมือกับเรา เพื่อประโยชน์เพื่อความสุขแก่เราตลอดกาลนาน, พราหมณ์มหาศาลเหล่าใด ซึ่งเป็นชาวนิคมและชาวชนบท ในพระราชอาณาเขตของพระองค์ ขอพระองค์จงเรียกพราหมณ์มหาศาลเหล่านั้นมาปรึกษาว่า ท่านทั้งหลาย เราปรารถนาจะบูชามหายัญ ท่านจงร่วมมือกับเรา เพื่อประโยชน์เพื่อความสุขแก่เราตลอดกาลนาน, คฤหบดีผู้มั่งคั่งเหล่าใด ซึ่งเป็นชาวนิคมและชาวชนบท ในพระราชอาณาเขตของพระองค์ ขอพระองค์จงเรียกคฤหบดีผู้มั่งคั่งเหล่านั้นมาปรึกษาว่า ท่านทั้งหลาย เราปรารถนาจะบูชามหายัญ ขอท่านจงร่วมมือกับเรา เพื่อประโยชน์เพื่อความสุขแก่เราตลอดกาลนาน. ดูกรพราหมณ์พระเจ้ามหาวิชิตราช ทรงรับคำปุโรหิตแล้ว ทรงเรียกอนุยนตกษัตริย์ ซึ่งเป็นชาวนิคมและชาวชนบทในพระราชอาณาเขตของพระองค์มาปรึกษา ว่าท่านทั้งหลาย เราปรารถนาจะบูชามหายัญ ขอท่านจงร่วมมือกับเรา เพื่อประโยชน์ เพื่อความสุขแก่เราตลอดกาลนาน. อนุยนตกษัตริย์เหล่านั้นกราบทูลว่า ขอพระองค์จงบูชายัญเถิด ขอเดชะ บัดนี้เป็นการสมควรที่ จะบูชายัญ ทรงเรียกอำมาตย์ราชบริพาร ซึ่งเป็นชาวนิคมและชาวชนบทในพระราชอาณาเขตของพระองค์มาปรึกษาว่า ท่านทั้งหลาย เราปรารถนาจะบูชามหายัญ ขอท่านจงร่วมมือกับเรา เพื่อประโยชน์เพื่อความสุขแต่เราตลอดกาลนาน อำมาตย์ราชบริพารเหล่านั้นกราบทูลว่าขอพระองค์จงทรงบูชายัญเถิด ขอเดชะ บัดนี้เป็นการสมควรที่จะบูชายัญ ทรงเรียกพราหมณ์มหาศาล ซึ่งเป็นชาวนิคมและชาวชนบทในพระราชอาณาเขตของพระองค์มาปรึกษาว่า ท่านทั้งหลาย เราปรารถนาจะบูชามหายัญ ขอท่านจงร่วมมือกับเรา เพื่อประโยชน์ เพื่อความสุขแก่เราตลอดกาลนาน พราหมณ์มหาศาลเหล่านั้นกราบทูลว่า ขอพระองค์จงทรงบูชายัญเถิด ขอเดชะ บัดนี้ เป็นการสมควรที่จะบูชายัญ ทรงเรียกคฤหบดีผู้มั่งคั่ง ซึ่งเป็นชาวนิคมและชาวชนบทในพระราชอาณาเขตของพระองค์ มาปรึกษาว่า ท่านทั้งหลายเราปรารถนาจะบูชามหายัญ ขอท่านจงร่วมมือกับเรา เพื่อประโยชน์เพื่อความสุขแก่เราตลอดกาลนาน คฤหบดีผู้มั่งคั่งเหล่านั้นกราบทูลว่า ขอพระองค์จงทรงบูชายัญเถิด ขอเดชะ บัดนี้เป็นการสมควรที่จะบูชายัญ. ชนผู้เห็นชอบตามพระราชดำรัส ๔ เหล่านี้จัดเป็นบริวารของยัญนั้น ดังนี้แล. ……..

...... ดูกร พราหมณ์ ยัญแม้นี้แล ใช้ทรัพย์น้อยกว่า มีการตระเตรียมน้อยกว่า มีผลมากกว่า และมีอานิสงส์มากกว่า กว่ายัญทั้งหลายข้างต้น เธอย่อมโน้มน้อมจิตไป เพื่อญาณทัสนะ ย่อมรู้ชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำได้ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี. ดูกร พราหมณ์ ยัญนี้แลใช้ทรัพย์น้อยกว่า มีการตระเตรียมน้อยกว่า มีผลมากกว่า และมีอานิสงส์มากกว่า ว่ายัญก่อนๆ ดูก่อนพราหมณ์ ยัญสมบัติอื่นที่ดีกว่า หรือประณีตกว่า กว่ายัญสมบัตินี้ไม่มี.

กูฏทันตพราหมณ์แสดงตนเป็นอุบาสก

เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสพระธรรมเทศนาอย่างนี้แล้วกูฏทันตพราหมณ์ได้กราบทูลคำนี้กะพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก เปรียบเหมือนหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางแก่คนหลงทาง หรือส่องประทีปในที่มืดด้วยคิดว่า ผู้มีจักษุจักเห็นรูป ดังนี้ ฉันใด พระโคดมผู้เจริญทรงประกาศพระธรรม โดยอเนกปริยายฉันนั้นเหมือนกัน ข้าพระองค์นี้ขอถึงพระโคดมผู้เจริญ ทั้งพระธรรมและพระสงฆ์ว่าเป็นสรณะ ขอพระโคดมผู้เจริญจงทรงจำข้าพระองค์ว่า เป็นอุบาสกผู้ถึงสรณะอย่างมอบกายถวายชีวิต ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ข้าพระองค์นี้ ได้ปล่อยโคผู้ ๗๐๐ ตัว ลูกโคผู้ ๗๐๐ ตัวลูกโคเมีย ๗๐๐ ตัว แพะ ๗๐๐ ตัว แกะ ๗๐๐ ตัว ได้ให้ชีวิตแก่สัตว์เหล่านั้น ขอสัตว์เหล่านั้นจงได้กินหญ้าเขียวสด จงได้ดื่มน้ำเย็น ขอลมที่เย็นจงพัดถูกสัตว์เหล่านั้นเถิด.

กูฏทันตพราหมณ์บรรลุโสดาปัตติผล

ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสอนุปุพพิกถาแก่กูฏทันตพราหมณ์ คือ ทรงประกาศทานกถา สีลกถา สัคคกถา โทษของกามที่ต่ำช้า เศร้าหมอง และอานิสงส์การออกจากกาม เมื่อทรงทราบว่ากูฏทันตพราหมณ์ มีจิตควร มีจิตอ่อน มีจิตปราศจากนิวรณ์ มีจิตร่า เริงมีจิตผ่องใสแล้ว จึงทรงประกาศ พระธรรมเทศนา ที่พระพุทธเจ้าทั้งหลายทรงยกขึ้นแสดงด้วยพระองค์เอง คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค โปรดกูฏทันตพราหมณ์ เปรียบเหมือนผ้าที่สะอาด ปราศจากสีดำ ควรรับน้ำย้อมได้เป็นอย่างดี ฉันใด กูฏทันตพราหมณ์ฉันนั้น ได้ดวงตาเห็นธรรมอันปราศจากธุลี ปราศจากมลทินว่า สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดาสิ่งนั้นทั้งปวงมีความดับไปเป็นธรรมดา ณ ที่นั้นนั่นเอง. ลำดับนั้น กูฏทันตพราหมณ์เห็นธรรมแล้ว บรรลุธรรมแล้ว รู้ธรรมแล้ว หยั่งทราบถึงธรรมทั่วถึงแล้ว ข้ามพ้นความสงสัย ปราศจากความเคลือบแคลง ถึงความแกล้วกล้า ไม่ต้องเชื่อผู้อื่นในคำสอนของพระศาสดา ได้กราบทูลกะพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ขอพระโคดมผู้เจริญกับพระภิกษุสงฆ์จงทรงรับภัตตาหารของข้าพระองค์ในวันพรุ่งนี้.

พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงรับนิมนต์โดยดุษณีภาพ.เมื่อกูฏทันตพราหมณ์ทราบว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงรับนิมนต์แล้ว จึงลุกจากที่นั่งถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้า กระทำประทักษิณหลีกไป.
ครั้งนั้น พอถึงเวลารุ่งเช้า กูฏทันตพราหมณ์ได้สั่งให้คนแต่งของเคี้ยวและของฉันอย่างประณีตในสถานที่บูชายัญของตน แล้วให้คนไปกราบทูลเวลาเสด็จแด่พระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ถึงเวลาแล้ว ภัตตาหารเสร็จแล้ว. ลำดับนั้นเป็นเวลาเช้า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงนุ่งแล้ว ทรงถือบาตร และจีวร พร้อมด้วยพระภิกษุสงฆ์ เสด็จไปสู่สถานที่บูชายัญ ของกูฏทันตพราหมณ์ ครั้นเสด็จไปถึงแล้วประทับนั่งบนอาสนะที่เขาปูไว้แล้ว. ลำดับนั้นแลกูฏทันตพราหมณ์ ได้อังคาสพระภิกษุสงฆ์ มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข ให้อิ่มหนำเพียงพอ ด้วยของขบเคี้ยวและของฉันอันประณีต ด้วยมือของตนเอง. เมื่อทราบว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าเสวยเสร็จแล้ว ทรงลดพระหัตถ์ลงจากบาตรแล้ว จึงได้ถือเอาอาสนะที่ต่ำแห่งหนึ่งนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง. พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงยังกูฏทันตพราหมณ์ ผู้นั่ง ณ ที่ควร ส่วนข้างหนึ่งนั้นแล ให้เห็นแจ้ง ให้สมาทานให้อาจหาญ ให้ร่าเริง ด้วยธรรมีกถาแล้ว เสด็จลุกจากอาสนะหลีกไป.

จบกูฏทันตสูตรที่ ๕.

หมายเหตุ ขอเชิญอ่านข้อความจากพระสูตรนี้พร้อมทั้งอรรถกถาได้ตามที่มาข้างต้น


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
khampan.a
วันที่ 28 ก.ย. 2558

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

กูฏทันตสูตร

(ว่าด้วยเรื่องกูฏทันตพราหมณ์)

กูฎทันตพราหมณ์ ประสงค์จะบูชายัญ ซึ่งจะต้องฆ่าสัตว์อย่างมาก แต่เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จมาประทับอยู่ใกล้ๆ ที่พักของตน จึงคิดว่า ควรที่จะได้เข้าไปเฝ้าและกราบทูลถามพระองค์ในเรื่องการบูชายัญ จึงเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า ทูลถามถึงการบูชายัญ พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงได้แสดงถึงการบูชายัญของบุคคลในอดีตที่เป็นไปตามธรรม คือ พระเจ้ามหาวิชิตราช ที่จะทำการบูชายัญเพื่อความสุขของพระองค์ ซึ่งได้รับการแนะนำจากพราหมณ์ปุโรหิตผู้มีปัญญา (คือพระโพธิสัตว์) ว่า ในเมื่อบ้านเมืองมีเสี้ยนหนาม มากไปด้วยโจร มีการเบียดเบียนกัน นั้น การที่จะปราบโจรแบบมิให้กลับมาเป็นโจรได้อีก ด้วยวิธีการ ๓ อย่าง คือ

๑ ให้พระราชทานพืชพันธุ์และอาหารแก่เกษตรกรผู้ขยันในการทำเกษตร

๒ ให้พระราชทานต้นทุนแก่ราษฎรผู้ขยันในการค้าขาย

๓ ให้พระราชทานอาหารและเงินเดือนแก่ข้าราชการผู้ขยันในหน้าที่ราชการ

ในตอนท้ายของพระสูตร กูฏทันตพราหณ์ได้ถามถึงความมีผลมากของยัญแต่ละประเภท พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงตามลำดับ จนถึงการรู้แจ้งอริยสัจจธรรมถึงความเป็นพระอรหันต์ เป็นยัญที่ประเสริฐกว่ายัญทั้งหลาย ผลของการฟังพระธรรมในครั้งนี้ ทำให้กูฏทันตพราหมณ์ เป็นผู้เลื่อมใสในพระรัตนตรัย และได้รู้แจ้งอริยสัจจธรรมถึงความเป็นพระโสดาบัน และได้ปล่อยสัตว์ที่จะฆ่าบูชายัญทั้งหมด.

ขอเชิญคลิกศึกษาเพิ่มเติมได้ที่นี่ครับ

คำพูดพลิกชีวิต

เรียนถามความหมายคำว่า ภาวนา ยัญ บูชา

ยัญ

พลิกชีวิต

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
jirat wen
วันที่ 28 ก.ย. 2558

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
chatchai.k
วันที่ 28 ก.ย. 2558

ขอบคุณ และขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
orawan.c
วันที่ 29 ก.ย. 2558

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
ใหญ่ราชบุรี
วันที่ 29 ก.ย. 2558

สาธุ อนุโมทนา และขอบพระคุณเป็นอย่างยิ่งค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
เมตตา
วันที่ 1 ต.ค. 2558

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาในกุศลจิตของ อ.คำปั่น ด้วยค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
one_someone
วันที่ 1 ต.ค. 2558

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
สิริพรรณ
วันที่ 3 ต.ค. 2558

กราบอนุโมทนา ขอบพระคุณกุศลจิต ท่าน อ.คำปั่น อักษรวิลัย ด้วยค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ