“จิตคิดนึก” กับ “วิตกเจตสิก”

 
ใหญ่ราชบุรี
วันที่  12 ก.ค. 2558
หมายเลข  26770
อ่าน  2,657

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

เรียนขอคำอธิบายค่ะ

๑. กิจหน้าที่และขั้นตอนการเกิดขึ้นของ “จิตคิดนึก” กับ “วิตกเจตสิก”

๒. ความสัมพันธ์ของธรรมสองอย่างนี้

ขอบพระคุณเป็นอย่างยิ่งสำหรับความอนุเคราะห์ให้ได้รับความรู้ค่ะ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 12 ก.ค. 2558

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ความคิดนึก เป็นสภาพธรรมที่มีจริง ที่เป็นนามธรรม คือ เป็นสภาพธรรมที่รู้อารมณ์ หมายถึงว่า เมื่อความคิดเกิดขึ้น จะต้องรู้อะไรบางอย่าง นั่นคือขณะที่มีความคิดนึกเกิดขึ้น จะต้องมีสิ่งที่ถูกคิด สิ่งที่ถูกคิด เรียกว่า อารมณ์ เพราะฉะนั้น ความคิดนึกจึงเป็นนามธรรม เป็นสภาพธรรมที่รู้อารมณ์ ซึ่งความคิดนึก ก็ไม่พ้นจากนามธรรม คือ จิตเจตสิก อาศัยจิตที่เป็นใหญ่ในการรู้ ก็ทำให้มีการคิดนึก เพราะอาศัยจิต และอีกนัยหนึ่ง วิตกเจตสิกก็ทำหน้าที่ ตรึกนึกคิดได้ พระพุทธเจ้าทรงแสดงว่า วิตกเจตสิก ที่เป็นสภาพธรรมที่ตรึก นึกคิด และอาศัยจิตด้วยนั้น ท่านเปรียบเหมือนเท้าของโลก คือ ก้าวไปทุกที่ ทุกเวลาได้ คิดเรื่องต่างๆ อย่างรวดเร็ว เพราะฉะนั้น จิตและเจตสิกเป็นสภาพธรรมที่เกิดขึ้นและดับไปอย่างรวดเร็ว และ จิต เมื่อเกิดขึ้น ก็ย่อมคิดนึก ไปในเรื่องราวต่างๆ ตามความทรงจำไว้ ที่เคยจำไว้ จำไว้ในเรื่องอะไร ก็คิดไปในเรื่องนั้น เพียงแต่ว่าจะคิดด้วยกุศล หรืออกุศล ซึ่งเพราะอาศัยกิเลสเป็นปัจจัย ก็ทำให้คิดไปในเรื่องราวต่างๆ ที่อยู่รอบตัว และคิดเรื่องตนเองก็ได้ แต่คิดด้วยจิตที่เป็นอกุศล ด้วยความฟุ้งซ่าน เพราะอาศัยเหตุ คือ กิเลสเป็นสำคัญ ครับ

ซึ่งกระบวนการ การเกิดการคิดนึก ก็อาศัยการเกิดขึ้นของจิต เจตสิก ทางมโนทวารวิถี ที่นึกคิดเป็นไปในเรื่องราวต่างๆ ตามความทรงจำ สัญญาที่จำไว้ โดยมี วิตกเจตสิกทำหน้าที่ตรึก นึกถึง ครับ

ซึ่งตามที่กล่าวแล้ว จิตและเจตสิก ทำหน้าที่คิด แต่การคิดก็ต้องมีเจตสิกเกิดร่วมด้วยคือ เจตสิกที่ดี เช่น ศรัทธา สติ เป็นต้น หรือ มีเจตสิกที่ไม่ดี มี โลภะ โทสะ เป็นต้น เพราะฉะนั้น การคิด ก็คิดด้วย กุศล คือ เป็นกุศลจิตที่คิดด้วยกุศลนั่นเอง เพราะมีเจตสิกที่ดีเกิดร่วมด้วยกับจิตที่คิด และบางครั้งก็คิดด้วยอกุศล คือ อกุศลจิตที่คิดเช่น คิดโกรธ คิดพยาบาท คิดชอบ ติดข้อง อันมีเจตสิกที่ไม่ดี เกิดร่วมด้วย คือ โลภะ โทสะครับ นี่ก็คือ คิดด้วย อกุศล ครับ

ซึ่งโดยมาก สัตว์โลกก็คิดด้วยกุศล อกุศลโดยมาก แต่การคิดที่ดี จะมีได้ ก็ด้วยการฟัง ศึกษาพระธรรม อันเกิดจากความเห็นถูก คือ ปัญญา เป็นปัจจัย เพราะมีความเห็นถูก ความคิดก็ถูกต้องตามความเป็นจริง และ ความคิดที่ประเสริฐสูงสุดที่จะเป็นหนทางการละกิเลสแท้จริง คือ การคิดถูกที่เข้าใจว่าเป็นแต่เพียงธรรมไม่ใช่เรา ครับ

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
khampan.a
วันที่ 12 ก.ค. 2558

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ประโยชน์ของการมีโอกาสได้ฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม ก็คือ ความเข้าใจถูกเห็นถูก เป็นการสะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกไปทีละเล็กทีละน้อย และสิ่งที่จะศึกษาให้เข้าใจนั้น ก็ไม่พ้นไปจากสภาพธรรมที่มีจริงๆ ในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะกล่าวถึงเรื่องใดก็ตาม ก็ไม่พ้นไปจากธรรมเลย แต่ก็ไม่รู้ว่าเป็นธรรม จนกว่าจะได้ฟังพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง

วิตักกเจตสิก เป็นธรรมที่มีจริง เป็นสภาพธรรมที่ตรึกหรือจรดในอารมณ์ เกิดกับกุศลก็ได้ หรือ อกุศลก็ได้ ถ้าตรึกไปในทางที่เป็นกุศล ก็เป็นกุศลวิตก ในทางตรงกันข้าม ถ้าตรึกไปในทางอกุศล ก็เป็นอกุศลวิตก เป็นธรรมที่มีจริง ที่เกิดเพราะเหตุปัจจัย และเกิดเองเพียงลำพังไม่ได้ ก็ต้องเกิดร่วมกับจิต และเจตสิกที่เกิดร่วมด้วย แม้แต่ที่กล่าวถึง คิดนึก ก็ไม่พ้นจากจิต และเจตสิกธรรมที่เกิดร่วมด้วย รวมถึงวิตักกเจตสิกด้วย แม้ไม่ได้เห็น ไม่ได้ยิน เป็นต้น ก็คิดนึกได้ ครับ

... ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ ...

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
thilda
วันที่ 12 ก.ค. 2558

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
j.jim
วันที่ 13 ก.ค. 2558

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
wannee.s
วันที่ 13 ก.ค. 2558

จิต และ เจตสิกเกิดพร้อมกัน ดับพร้อมกัน อาศัยที่เดียวกันเกิด และรู้อารมณ์เดียวกัน แม้จิต เจตสิกก็เป็นนามธรรม เป็นธาตุรู้ อาการรู้ จิตเป็นใหญ่ในการรู้แจ้งอารมณ์ เจตสิกก็ปรุงแต่งจิตให้เป็นกุศล หรือ อกุศล หรือ วิบาก หรือกิริยา ตามการสะสมของแต่ละคน ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
peem
วันที่ 13 ก.ค. 2558

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
Phutporn
วันที่ 13 ก.ค. 2558

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
papon
วันที่ 14 ก.ค. 2558

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
chatchai.k
วันที่ 23 ต.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
Jarunee.A
วันที่ 16 ต.ค. 2566

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ