สอบถามหน่อยครับ ผมได้ทำผิดสังฆาทิเสสข้อ1ตอนนี้เป็นพระ

 
surapon41
วันที่  11 ก.ค. 2558
หมายเลข  26764
อ่าน  1,054

ผมพอจะมีวิธีไหนที่จะแก้กับสิ่งที่ผมทำลงไปได้มั่งครับ. สังฆาทิเสสข้อ1ครับ

ซึ่งตอนทำเสร็จผมก็ได้สำนึกผิดทันที

แล้วมากราบพระพุทธรูปในกุฎิบอกกล่าวท่านไปทั้งหมด. กับสิ่งที่ผมทำลงไปโดยพลั้งเผลอไป

แล้วผมจะต้องอย่างไรต่อไปอีกดีครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 11 ก.ค. 2558

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

อาบัติสังฆาทิเสส แม้จะเป็นอาบัติหนัก แต่ก็เป็นอาบัติที่สามารถแก้ไขให้ถูกต้อง ตามพระวินัย ซึ่งการประพฤติที่จะทำให้พ้นจากอาบัติดังกล่าวได้เรียกตามพระวินัยว่า "ประพฤติวุฏฐานวิธี" หรือ การอยู่กรรม (หรือ ที่คุ้นกันในคำว่า อยู่ปริวาสกรรม) ซึ่งจะต้องอาศัยสงฆ์เป็นหลัก เมื่อต้องอาบัติสังฆาทิเสสแล้ว ไม่ควรปกปิดไว้ ต้องบอกแก่พระภิกษุด้วยกันว่า ตนเองต้องอาบัติสังฆาทิเสส เพราะถ้าปกปิดไว้กี่วัน หรือเป็นเดือน เป็นปี ก็ต้องอยู่ปริวาสตามวันที่ตนเองได้ปกปิดอาบัติไว้ อย่างไรก็ตาม ตราบใดที่ยังปฏิญาณตนว่าเป็นพระภิกษุเมื่อต้องอาบัติแล้ว ก็จะต้องกระทำคืนแก้ไขให้ถูกต้อง ตามพระวินัย เห็นโทษ พร้อมทั้งมีความจริงใจที่จะไม่ล่วงละเมิดอีก เพื่อให้ตนเองพ้นจากอาบัตินั้นๆ เพราะถ้าไม่แก้ไข ยังเป็นผู้มีอาบัติอยู่ย่อมเป็นเครื่องกั้นสวรรค์ กั้นการบรรลุ มรรค ผล นิพพาน ถ้ามรณภาพลงในขณะที่ยังมีอาบัติอยู่ ก็เป็นผู้มีอบายภูมิเป็นที่ไปในเบื้องหน้า [แต่ถ้าได้ลาสิกขา (คือ สึกไป) เป็นคฤหัสถ์ โดยที่ยังไม่ได้อยู่ปริวาสกรรม ก็ไม่มีอาบัติติดตัวอีกต่อไป เพราะไม่ได้เป็นพระภิกษุแล้ว] ก็ขอให้พระคุณเจ้าได้สอบถามกับพระอุปัชฌาย์อาจารย์ว่า มีการอยู่ปริวาสกรรมที่ไหนบ้างเพื่อจะได้ไปอยู่ปริวาสกรรม ซึ่งจะทำให้พ้นจากอาบัติดังกล่าวได้ ครับ

ชีวิตของเพศบรรพชิต เป็นชีวิตที่รักษายาก เพราะยากด้วยการสละ ความยินดีพอใจและความประพฤติในชีวิตคฤหัสถ์ซึ่งยังมีความผูกพันเกี่ยวข้องด้วยกามโดยสิ้นเชิง จึงควรสำรวมระวังรักษาข้อประพฤติปฏิบัติตามพระวินัยด้วยสติ และปัญญาที่เกิดจากความเข้าใจพระธรรม ซึ่งสำหรับการต้องอาบัติสังฆาทิเสส ก็สามารถรักษาให้พ้นไปได้โดยทำตามพระวินัยบัญญัติที่พระพุทธเจ้าแสดงไว้ โดยการอยู่กรรม แสดงโทษกับผู้อื่น เป็นต้น ซึ่งเมื่อได้แก้ไขแล้ว สิ่งที่สำคัญ คือ ไม่ใช่เพียงแก้ไขในเหตุการณ์เฉพาะหน้า แต่ควรศึกษาพระวินัยให้กระจ่างเพื่อประพฤติตาม และศึกษาพระธรรมให้มากขึ้นกว่าเดิม เพื่อประโยชน์ คือ จะได้รู้ว่าอะไรควร อะไรไม่ควร และจะได้น้อมประพฤติปฏิบัติตามพระธรรมได้ดียิ่งขึ้นซึ่งก็จะเป็นประโยชน์กับตนเอง ต้องอาบัติน้อยลง และกุศลธรรมเจริญขึ้น และที่สำคัญที่สุด การรักษาพระวินัย ก็จะทำให้ละอาสวะกิเลสที่มีอยู่ได้ และก็ยังเป็นประโยชน์กับผู้อื่นด้วย คือ ทำให้ผู้ที่ทำกุศลกับพระภิกษุ ผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ ทำให้กุศลผลบุญของผู้ทำ มีมาก และเอื้อต่อองค์รวม คือ เป็นการรักษาพระธรรมวินัยให้ถูกต้อง ธำรงพระพุทธศาสนาให้เจริญสืบต่อไป เพราะพุทธบริษัทที่เป็นประธาน คือ พระภิกษุ ประพฤติถูกต้องเหมาะสม ครับ

ดังนั้น ไม่ควรประมาทในการศึกษาพระธรรมวินัยซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญ เพราะกิจของพระภิกษุ คือ ศึกษาพระธรรมและอบรมปัญญา ส่วนอาบัติที่เกิดขึ้น ก็สามารถแก้ได้ หากไม่ใช่ปาราชิก ซึ่งก็ต้องเห็นโทษตามความเป็นจริง และสำคัญที่สุด คือ สำรวมระวังต่อไป ด้วยการศึกษาและเข้าใจในพระธรรม ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
khampan.a
วันที่ 11 ก.ค. 2558

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ถ้าไม่มีอัธยาศัยน้อมไปในการขัดเกลากิเลสในเพศที่สูงยิ่งจริงๆ ไม่มีจุดประสงค์ที่ถูกต้องในการบวช ย่อมเป็นโทษกับผู้นั้น เมื่อมีการล่วงละเมิดสิกขาบทต่างๆ แม้จะเป็นอาบัติที่ไม่ใช่อาบัติหนักก็ยังมีโทษ ถ้าไม่ได้กระทำคืนให้ถูกต้องตามพระธรรมวินัย ถ้าหากว่ายังปฏิญาณตนว่ายังเป็นพระภิกษุอยู่ เมื่อต้องอาบัติดังที่ปรากฏในคำถาม หรืออาบัติชนิดใดๆ ก็ตาม ก็จะต้องกระทำคืนให้ถูกต้องตามพระธรรมวินัย เพราะไม่รู้ว่าความตายจะมาถึงเมื่อใด ถ้ามรณภาพลงในขณะที่ต้องอาบัติอยู่ ชาติถัดไป ต้องเกิดในอบายภูมิ เท่านั้น ครับ
...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
wannee.s
วันที่ 13 ก.ค. 2558

ในครั้งพุทธกาล การบวชเป็นพระภิกษุจุดประสงค์เพื่อการบรรลุ มรรค ผล นิพพาน เพื่อการพ้นทุกข์จากสังสารวัฏฏ์ คือ การไม่อีกเลย สมัยนี้การบวชต่างกับสมัยก่อน บางคนก็บวชตามประเพณี ยังไม่มีความเข้าใจในเรื่องของพระธรรมวินัย บวชแล้วก็ต้องอาบัติถ้าไม่ปลงอาบัติ ก็เป็นเครื่องกั้นมรรค ผล นิพพาน และที่สำคัญเป็นเหตุให้ไปเกิดในอบายภูมิ ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
Jarunee.A
วันที่ 18 ต.ค. 2566

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ