จะให้อภัยได้อย่างไร

 
karnrawee
วันที่  13 มิ.ย. 2558
หมายเลข  26630
อ่าน  1,370

กราบเรียนท่านอาจารย์ที่เคารพค่ะ

ท่านอาจารย์ดิฉันมีเรื่องเรียนถามว่า จะวางจิตให้อภัยคนใกล้ตัวที่ทำไม่ดี มักสร้างความเดือดร้อนให้ครอบครัวของเราได้อย่างไรคะ ยอมรับว่าโกรธ และไม่เชื่อในข้อแก้ตัวของเค้า ถึงแม้เค้าจะบอกว่าสำนึก และขอแก้ตัว แต่มันยากที่จะทำใจรับได้ จนทำให้เราทะเลาะกับคนใกล้ชิดอีกคนหนึ่ง และเราเองก็เป็นทุกข์ แต่ถ้าเรายอมให้เค้าเข้ามายุ่งเกี่ยวกับชีวิตเรา เราต้องเจอกับปัญหาในอนาคตอย่างแน่นอน

ขอกราบขอบพระคุณท่านอาจารย์ที่เมตตาตอบคำถามค่ะ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 13 มิ.ย. 2558

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ถ้ารู้ว่าสร้างปัญหา เกิดปัญหา ก็ไม่ควรคบ ควรเสพคุ้น เพราะเป็นคนพาล ทำให้เกิดปัญหาตามมาได้ เพราะฉะนั้น การไม่คบ เป็นสิ่งที่สมควรที่สุด แต่ก็สามารถอนุเคราะห์ช่วยเหลือได้ ตามสมควรเท่านั้น การรักษาใจ สำคัญที่อาศัยการฟัง ศึกษาพระธรรม เมื่อมีความเข้าใจถูก กาย วาจาก็น้อมไปในทางที่ถูก และ งดเว้น จากสิ่งที่ไม่ควรคบได้ ครับ

พระธรรมพระพุทธเจ้ามีความละเอียดลึกซึ้ง แม้แต่การคบ ไม่คบ และ การให้อภัยซึ่งในความเป็นจริง ทุกคนก็ยังมากด้วยกิเลส ซึ่งต้องยอมรับในประเด็นนี้ และมีเหตุปัจจัยก็เกิดกิเลส ความโกรธ ความไม่ชอบอยู่ได้เป็นธรรมดา และกำลังของกุศล เมตตา ก็แล้วแต่ระดับปัญญา หากยังมีน้อย ไม่มาก ก็ทำให้เมื่อมีเหตุปัจจัย ที่ได้เจอ หรือ คบก็ทำให้เกิดอกุศล เกิดความโกรธ ไม่ชอบขึ้นมาได้อีก เพราะฉะนั้น การหลีกเลี่ยง ไม่คบ คือ การไม่เข้าไปคุ้นเคย พูดคุย ย่อมเป็นสิ่งที่สมควร เพราะไม่ทำให้อกุศลเจริญขึ้นเพราะการคบบุคคลใดที่ทำให้อกุศลของตนเองเจริญ ก็ไม่ควรคบในบุคคลนั้น

ซึ่งการไม่คบ ไม่คุ้นเคย ไม่ได้หมายถึงการแสดงว่า ไม่ให้อภัย แต่เพราะมีความเข้าใจถูกว่า เพราะอาศัยบุคคลนี้ ย่อมนำมาซึ่งอกุศลธรรมที่เจริญขึ้น และการคบคนพาล ย่อมมีโทษโดยฝ่ายเดียว จึงไม่คบ ไม่คุ้นเคย สนิทด้วย หากแต่ว่าสามารถจะอนุเคราะห์ ได้เมื่อถึงคราวจำเป็นจริงๆ ตามสถานการณ์และความเหมาะสม เพราะฉะนั้น ผู้ที่ตรง คือ อกุศลก็ต้องเป็นอกุศล ยังไม่ชอบ ก็คือไม่ชอบ จะฝืนให้ชอบ ให้มีเมตตา ก็เป็นไปไม่ได้ จึงไม่คบเพราะจะทำให้อกุศลของตนเองเจริญเป็นสำคัญ การไม่คบคนพาล เป็นมงคลข้อที่หนึ่ง ซึ่งสำคัญมาก สำหรับการจะได้ความเจริญ ที่เป็นมงคล หรือความเสื่อม เพราะเมื่อได้เข้าไปคบ คนที่เป็นคนพาล คนที่เป็นศัตรู ไม่หวังดี มากไปด้วยอกุศล และเป็นผู้ที่มีความเห็นผิด เป็นต้น สมดังที่พระโพธิสัตว์เมื่อเป็น อกิตติดาบส กล่าวไว้ในเรื่องนี้ว่า

ข้าแต่ท่านกัสสปะ เพราะอะไร ท่านจึงไม่ชอบคนพาล ขอจงบอกเหตุ เพราะเหตุไรพระคุณเจ้าจึงไม่ปราถนาที่จะเห็นคนพาล

คนพาลย่อมแนะนำสี่งไม่ควรแนะนำ ย่อมขวนขวายในกิจอันไม่ใช่ธุระ คนพาลแนะนำให้ดีได้ยาก พูดดีหวังจะให้เขาเป็นคนประเสริฐกลับโกรธ คนพาลนั้นไม่รู้วินัย การไม่เห็นคนพาลได้เป็นความดี

ดังนั้น หากคบกับบุคคลที่เป็นคนพาล ก็ย่อมนำมาซึ่งความเสื่อมประการต่างๆ อันเป็นมงคลข้อที่ หนึ่ง คือ การไม่คบคนพาล ย่อมนำมาซึ่งความเจริญ และในชาดกอื่นอีก พระโพธิสัตว์ ก็กล่าวว่า ไม่ควรอยู่ในสำนักของศัตรู แม้คราวเดียว เพราะศัตรูย่อมนำภัยมาให้

การไม่คบ จึงไม่ได้หมายถึง การไม่ให้อภัยไม่มีเมตตา แต่การไม่คบ เพื่อประโยชน์ของตนที่จะไม่นำความเสื่อมมาให้กับตนเอง แต่แม้ไม่คบกับบุคคลนั้น ก็สามารถมีเมตตา ด้วยการอนุเคราะห์ ช่วยเหลือแต่ไม่เสพคุ้นได้ ครับ สมดังบัณฑิตทั้งหลายกล่าวว่าคนพาล ไม่คบ แต่อนุเคราะห์บุคคลเหล่านั้นได้ ครับ

เปรียบดังเช่น งูเห่า เมื่อยามเจ็บป่วยก็สามารถช่วยเหลือ เกื้อกูลได้ ทั้งๆ ที่รู้ว่าเป็นสัตว์ไม่ซื่อ พร้อมที่จะทำร้ายทุกเมื่อ แต่ก็ช่วยเหลือ อนุเคราะห์เมื่อสัตว์นั้นประสบภัย และเมื่อช่วยเหลือแล้ว ก็ไม่เสพคุ้น คือ ไม่ได้หมายความว่า จะต้องเอางูเห่ามาอยู่ด้วย มาเสพคุ้น เพราะจะนำมาซึ่งภัยกับตนเอง แต่ก็หลีกไป ปล่อยงูเห่าไป เพราะได้ทำหน้าที่ของมิตร คือ ความหวังดีด้วยกาย วาจาแล้วในขณะนั้น ฉันใด บุคคลที่เป็นคนพาล ไม่ได้หมายความว่า จะทำให้ขันติเจริญ โดยการไปคบคนพาล เพราะต้องไม่ลืมว่าปุถุชนหนาด้วยกิเลส โดยมากแล้วก็ย่อมไหลไปตามกิเลสได้ง่ายเป็นธรรมดา เพราะยังไม่มีปัญญาที่มั่นคงเพียงพอ เพราะฉะนั้น บุคคลคบคนเช่นไรก็ย่อมเป็นคนเช่นนั้น

ปรมัตถธรรมสี่ ๐๒- หน้าที่ 217

ข้อความบางตอนจาก....

มหานารทกัสสปชาดก

[๘๖๒] ข้าแต่พระราชบิดา บุคคลคบคนเช่นใดๆ เป็นบุรุษผู้มีศีลหรืออสัตบุรุษผู้ไม่มีศีล เขาย่อมตกอยู่ในอำนาจของผู้นั้น บุคคลกระทำคนเช่นใดให้เป็นมิตร และเข้าไปคบหาคนเช่นใด แม้เขาก็ย่อมเป็นเช่นคนนั้น เพราะการอยู่ร่วมกันย่อมเป็นเช่นนั้นได้ ผู้เสพย่อมติดนิสัยผู้ที่ตนเสพ ผู้ติดต่อย่อมติดนิสัยผู้ที่ตนติดต่อ เหมือนลูกศรอาบยาพิษย่อมเปื้อนแล่ง ฉะนั้น.

------------------------------------

อย่างไรก็ดี ก็ขอนำพระธรรมให้พิจารณา เพื่อที่จะค่อยๆ ขัดเกลาเพิ่มขึ้น เมื่อได้อ่าน ครับเมื่อมีการกระทำที่ไม่ดีของผู้อื่นทางกายและวาจา การพิจารณาด้วยความเห็นถูก ย่อมพิจารณาว่า

1. เพราะสัตว์มีกรรมเป็นของๆ ตน คือตัวเราเองย่อมเคยกระทำกรรมที่ไม่ดีเอาไว้ จึงทำให้ได้ยินเสียงที่ไม่ดีได้กระทบสัมผัสสิ่งที่ไม่ดีทางกาย เป็นต้น ดังนั้นเมื่อเป็นผลของกรรมที่ไม่ดีแล้วที่เกิดจากการกระทำกรรมที่ไม่ดีของเราเอง จะโทษใครได้ เพราะเป็นเราเองที่ทำกรรมไว้ จึงไม่ควรทำกรรมใหม่ที่ไม่ดีอีกครับ

2. ความเป็นผู้มีขันติ ประโยชน์ตนคือความอดทนเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด ดังนั้น ผู้ที่โกรธย่อมเป็นอกุศลของบุคคลนั้นเอง ส่วนใจของผู้ที่ได้ยิน ได้รับการกระทำที่ไม่ดี ก็ไม่ขึ้นอยู่กับใจของผู้อื่นที่ผูกโกรธ ดังนั้น ควรรักษาประโยชน์ตนด้วยความไม่โกรธ มีขันติครับ

เชิญคลิกอ่านที่นี่ครับ... ประโยชน์ยิ่งกว่าขันติไม่มี [เวปจิตติสูตร]

3. พิจารณาด้วยความเข้าใจบุคคลที่มีกิเลสเหมือนกัน เข้าใจถูกครับว่า ตราบใดที่ยังมีกิเลส เป็นปุถุชน ก็ยังเป็นผู้หนาด้วยกิเลส จึงควรเห็นใจและเข้าใจว่าเมื่อเป็นเช่นนั้นจึงเป็นธรรมดาที่จะยังมีความโกรธและผูกโกรธ เพราะมีความไม่รู้ที่สะสมมามากนั่นเองครับ และสะสมกิเลสมามาก จึงทำให้เป็นผู้มักโกรธ อาศัยความเข้าใจถูกว่าทุกคนยังมีกิเลสและเป็นปุถุชน ก็ย่อมเป็นธรรมจึงเป็นอย่างนั้น จึงไม่ควรโกรธในสิ่งที่เป็นธรรมดาอย่างนั้นครับ

4. มีเมตตา กรุณาในบุคคลนั้น คือ สงสารเห็นใจ คนที่ทำไม่ดี ผลที่ไม่ดีย่อมมีกับเขาเมื่อบุคคลนั้นย่อมได้รับสิ่งที่ไม่ดี เพียงแค่ความโกรธเกิดขึ้นก็เผาจิตใจเขาเอง และเมื่อมีการกระทำทางกาย ทางวาจาที่ไม่ดี ก็ทำให้เขาต้องได้รับกรรมที่ไม่ดี ตามสมควรแก่กรรม จึงควรเห็นใจ มีเมตตา และสงสารด้วยกรุณา กับบุคคลที่อาฆาต ผูกโกรธครับ

5. พิจารณาส่วนที่ดีของบุคคลนั้นแม้จะมีเล็กน้อย ทุกคนก็ต้องมีส่วนที่ดีหรือไม่ดี เป็นธรรมดา แม้จะมีไม่ดีมาก แต่ก็อาจจะมีความดีบ้าง ก็พิจารณาส่วนที่ดีของเขาในขณะนั้น ก็ทำให้เห็นใจ เข้าใจบุคคลที่มักโกรธ ผูกโกรธได้ครับ

6. พิจารณาโดยเป็นสภาพธรรม ไม่ใช่เรา ไม่ใช่เขา ในความเป็นจริงไม่มีสัตว์ บุคคล มีแต่ธรรม ดังนั้น จึงมีแต่จิต เจตสิกที่เกิดขึ้น ขณะที่อาฆาต โกรธ ก็เป็นเพียงจิต เจตสิกที่ไม่ดีที่เกิดขึ้น ไม่มีคนนั้นที่โกรธ ที่อาฆาต ดังนั้นจะโกรธ จิต เจตสิกที่ไม่ดีได้อย่างไร เพราะเป็นแต่เพียงสภาพธรรมที่เกิดขึ้นและดับไปแต่ละขณะเท่านั้นครับ ขออนุโมทนา

เชิญคลิกอ่านที่นี่ครับ... ปฐมอาฆาตวินยสูตร - ทุติยอาฆาตสูตร

ขออนุโมทนา ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
khampan.a
วันที่ 13 มิ.ย. 2558

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

การให้อภัย หมายถึง การให้ความไม่มีภัยอย่างหนึ่งอย่างใดแก่บุคคลอื่น เว้นภัยทางกาย ทางวาจา แก่บุคคลอื่น จนกระทั่งไม่เบียดเบียนแม้ด้วยใจ ขณะที่ให้อภัยนั้นเป็นกุศล เป็นความดี ดูเหมือนว่าจะเป็นเรื่องง่ายๆ แต่ก็ยากมากสำหรับผู้ที่ไม่ได้สะสมมาที่จะให้อภัย พระธรรมเท่านั้นที่จะช่วยเกื้อกูลได้

โดยปกติแล้ว บุคคลมีอัธยาศัยที่แตกต่างกัน ย่อมจะมีบ้างที่ทำในสิ่งที่ไม่ดี สร้างความเดือดร้อนให้แก่ผู้อื่น แต่ก็ไม่ใช่ว่าความดีของบุคคลนั้นจะไม่มีเอาเสียเลย ย่อมมีทั้งดีบ้าง ไม่ดีบ้าง แม้แต่ตัวเราเอง ก็มีดีบ้าง ไม่ดีบ้าง เหมือนกัน ดังนั้น จึงไม่ควรคำนึงถึงส่วนที่ไม่ดีของผู้อื่น เพราะขณะนั้นจิตย่อมเศร้าหมอง ไม่ผ่องใส ควรนึกถึงเฉพาะส่วนที่ดีของเขาเท่านั้น และถ้าเป็นโอกาสที่จะได้กล่าวตักเตือนกัน แนะนำในสิ่งที่เป็นประโยชน์ ก็เป็นสิ่งที่ควรทำ

อีกประการหนึ่งที่ควรพิจารณาอย่างยิ่ง คือ “บุคคลผู้ที่เราควรจะโกรธ ไม่มีเลย” แม้ว่าบุคคลนั้นจะคิดร้าย มุ่งร้าย ประทุษร้าย ต่อเราก็ตาม เพราะว่า บุคคลใด ที่คิดร้ายมุ่งร้าย ประทุษร้ายต่อเรา ก็เป็นอกุศลของเขา ไม่ใช่ของเรา หน้าที่ของเราคือ อดทนไม่โกรธ ไม่รับเอาความชั่วของบุคคลอื่น แต่จะเป็นผู้ที่เข้าใจความจริง และพร้อมที่จะให้อภัยเสมอ ขณะที่ให้อภัย เป็นกุศลของเรา ไม่ทำให้เดือดร้อนใจ และไม่ทำให้ผู้อื่นเดือดร้อนด้วย ดังประโยคที่ควรเก็บไว้ในหทัย ที่ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ได้กล่าวเตือนไว้ว่า "ขณะที่ให้อภัย ใครได้ประโยชน์?" ควรที่จะได้พิจารณาเป็นอย่างยิ่ง ครับ.

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
tanrat
วันที่ 14 มิ.ย. 2558

เช่นท่านอาจารย์สุจินต์เคยกล่าวว่า"โกรธๆ อยู่แล้วให้เจริญเมตตา ท่องให้ตายคงยากที่จะเกิด ธรรมะเป็นเรื่องธรรมดา ผู้ที่เป็นทุกข์เพราะขาดการพิจารณา เป็นมาแล้วในแสนโกฎฎ์กัปป์ นี่นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณยิ่งที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง ยากมาก จนเกือบไม่ทรงแสดง ทรงขึ้นต้นว่า"ขันติเป็นตะบะอย่างยิ่ง" "สัพเพสัตตาธัมมา สัพเพธัมมาอนัตตา"

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
karnrawee
วันที่ 14 มิ.ย. 2558

ขอกราบขอบพระคุณท่านอาจารย์ทุกท่านและขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
abhirak
วันที่ 14 มิ.ย. 2558

เมื่อได้ศึกษาดีแล้ว มีความเห็นถูก เห็นตรงแล้ว และได้เข้าใจพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงขึ้นเป็นลำดับๆ แล้ว เพราะเหตุนั้นจึงจะเข้าใจได้ว่า “บุคคลผู้ที่เราควรจะโกรธ ไม่มีเลย”

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
peem
วันที่ 14 มิ.ย. 2558

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
thilda
วันที่ 14 มิ.ย. 2558

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
thilda
วันที่ 14 มิ.ย. 2558

ไม่ใช่ว่า "ความรู้สึก" เป็นของเราหรือไม่ใช่ของเรา แต่แท้จริงแล้วไม่มี "เรา" แต่แรก ไม่มีสัตว์ บุคคล ตัวตน คือคำสอนขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
nong
วันที่ 15 มิ.ย. 2558

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
j.jim
วันที่ 15 มิ.ย. 2558

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 13  
 
chatchai.k
วันที่ 18 มิ.ย. 2558

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 14  
 
wannee.s
วันที่ 19 มิ.ย. 2558

เมตตาตรงข้ามกับโทสะ ต้องเห็นโทษของความโกรธไม่ดี เห็นคุณของการเจริญเมตตา เพราะเมตตาเป็นกุศล ไม่ทำให้ตนเองและคนอื่นเดือดร้อน ถ้าเขาทำไม่ดีกับเรา เราก็พิจารณาว่าเป็นวิบากของเราที่ได้เห็นไม่ดี ได้ยินเสียงไม่ดี และให้คิดถึงความดีของเขา ถ้าเขาไม่มีคุณความดี ก็ให้คิดถึงกรรมของเขา ถ้าเขาทำไม่ดีเขาก็ต้องได้รับอกุศลวิบากที่ไม่ดีในอนาคต ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 15  
 
Jarunee.A
วันที่ 1 พ.ย. 2566

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ