อัปปเมยยสูตรที่ ๓ - บุคคล ๓ จำพวก

 
ใหญ่ราชบุรี
วันที่  13 ม.ค. 2558
หมายเลข  26035
อ่าน  1,103

อัปปเมยยสูตร

พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๐ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๒ อังคุตตรนิกาย เอก-ทุก-ติกนิบาต

[๕๕๕] ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๓ จำพวกนี้ มีปรากฏอยู่ในโลก ๓ จำพวกเป็นไฉน คือ สุปปเมยยบุคคล ๑ ทุปปเมยยบุคคล ๑ อัปปเมยยบุคคล ๑

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ สุปปเมยยบุคคล เป็นไฉน คือ บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้ฟุ้งซ่าน ถือตัว โลเล ปากกล้า พูดพร่ำเพรื่อ หลงลืมสติ ไม่มีสัมปชัญญะ มีจิตไม่ตั้งมั่น มีจิตไม่แน่นอน ไม่สำรวมอินทรีย์

ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่า สุปปเมยยบุคคล ผู้พึงประมาณได้โดยง่าย

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ ทุปปเมยยบุคคล เป็นไฉน คือ บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้ไม่ฟุ้งซ่าน ไม่ถือตัว ไม่โลเล ปากไม่กล้า ไม่พูดพร่ำเพรื่อ ดำรงสติมั่น มีสัมปชัญญะ มีจิตตั้งมั่น มีจิตแน่วแน่ สำรวมอินทรีย์

ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่า ทุปปเมยยบุคคล ผู้พึงประมาณได้โดยยาก

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ อัปปเมยยบุคคล เป็นไฉนคือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นพระอรหันตขีณาสพ นี้เรียกว่า อัปปเมยยบุคคล ผู้พึงประมาณไม่ได้

ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๓ จำพวกนี้แล มีปรากฏ อยู่ในโลก ฯ

อรรถกถา อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต ตติยปัณณาสก์ อาปายิกวรรคที่ ๒

อรรถกถา อัปปเมยยสูตรที่ ๓

พึงทราบวินิจฉัยใน อัปปเมยยสูตรที่ ๓ ดังต่อไปนี้ :-

๑. บุคคล ชื่อว่า สุปฺปเมยฺโย เพราะประมาณได้ โดยง่าย.

๒. ชื่อว่า ทุปฺปเมยฺโย เพราะประมาณได้ โดยยาก.

๓. ชื่อว่า อปฺปเมยฺโย เพราะไม่อาจประมาณได้.

๔. บทว่า อนฺนโฬ ได้แก่ บุคคล ผู้เป็นเหมือน ไม้อ้อที่พุ่งขึ้น อธิบายว่า ยกมานะ ที่ว่างเปล่า ขึ้นตั้งไว้

๕. บทว่า จปโล ได้แก่ ผู้ประกอบด้วยความหลุกหลิก มีการตกแต่งบาตร เป็นต้น

๖. บทว่า มุขโร ได้แก่ คนปากจัด

๗. บทว่า วิกิณฺณวาโจ ได้แก่ คนผู้ไม่สำรวมถ้อยคำ

๘. บทว่า อสมาหิโต ได้แก่ ผู้ไม่มีจิตเป็นสมาธิ.

๙. บทว่า วิพฺภนฺตจิตฺโต ได้แก่ ผู้มีจิตเปลี่ยว เปรียบเหมือน แม่โคและเนื้อป่า ตัวตื่นเตลิด

๑๐. บทว่า ปากตินทฺริโย ได้แก่ ผู้มีอินทรีย์อันเปิดเผย

๑๑. บทที่เหลือ ในพระสูตรนี้ ง่ายทั้งนั้น ฉะนี้แล

จบอรรถกถาอัปปเมยยสูตรที่ ๓

อรรถกถา อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต ตติยปัณณาสก์ อาปายิกวรรคที่ ๒

๓. อัปปเมยยสูตร (จบ)

หอมดอกไม้ละมุนละไมสายลมอ่อน ขานคำสอนอ่อนหวานสำราญหู ใสสายน้ำสะอาดเย็นเห็นความรู้ ท่านกูรูผู้เบิกบานอาจารย์สุจินต์ด้วยจิตโสมนัสยินดีที่มีโอกาสเป็นลูกศิษย์ท่านอาจารย์สุจินต์ฯ

วันคล้ายวันเกิดท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์

ใหญ่ราชบุรี ธิดารัตน์ เดื่อมขันมณี


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
ใหญ่ราชบุรี
วันที่ 13 ม.ค. 2558

ขออนุญาต เรียนถาม ความละเอียด ใน “อัปปเมยยสูตรดังนี้ค่ะ

(เป็น คำถามชุดแรกก่อน นะคะ เพราะไม่รู้ ไม่เข้าใจ มากมาย)

๑. เพราะประมาณได้ โดยง่าย เพราะประมาณได้ โดยยาก เพราะไม่อาจประมาณได้ หมายความว่าอย่างไรคะ

๒. บุคคล ผู้เป็นเหมือน ไม้อ้อ ที่พุ่งขึ้น อธิบายว่า ยกมานะ ที่ว่างเปล่า ขึ้นตั้งไว้ หมายความว่าอย่างไรคะ (ว่างเปล่า-ไม่ว่างเปล่า คืออะไร)

(ไม้อ้อ หมายถึงอะไร ที่พุ่งขึ้น - ไม่พุ่งขึ้น คืออะไร)

๓. ผู้ประกอบด้วยความหลุกหลิก มีการตกแต่งบาตร เป็นต้น

หลุกหลิก หมายถึง ธรรมะอะไรคะ

ตกแต่งบาตร เป็นอย่างไร กรุณายกตัวอย่างด้วยค่ะ

๔. คนปากจัด หมายถึง ธรรมะอะไรคะ กรุณายกตัวอย่างด้วยค่ะ

๕. คนผู้ไม่สำรวมถ้อยคำ หมายถึง ธรรมะอะไรคะ กรุณายกตัวอย่างด้วยค่ะ

๖. ผู้ไม่มีจิตเป็นสมาธิ ผู้มีจิตเป็นสมาธิ หมายถึง ธรรมะอะไรคะ กรุณายกตัวอย่างด้วยค่ะ

๗. ผู้มีจิตเปลี่ยว เปรียบเหมือน แม่โคและเนื้อป่า ตัวตื่นเตลิด จิตเปลี่ยว หมายถึง ธรรมะอะไรคะ

๘. ผู้มีอินทรีย์อันเปิดเผย เป็นธรรมะอะไร หมายความว่าอย่างไรคะ

ขอบพระคุณเป็นอย่างยิ่งสำหรับคำอธิบายนะคะ

สาธุ อนุโมทนาในกุศลจิตค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
paderm
วันที่ 13 ม.ค. 2558

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

๑. เพราะประมาณได้ โดยง่าย เพราะประมาณได้ โดยยาก เพราะไม่อาจประมาณได้ หมายความว่าอย่างไรคะ

- บุคคลผู้ประมาณได้โดยง่าย คือ บุคคลที่ไม่มีคุณธรรม พูดเพ้อเจ้อ ไม่มีสติ กาย วาจา ก็แสดงออกมาที่ไม่ดี คนอื่นก็เห็นได้ง่าย รู้ได้ง่าย ด้วยกาย วาจา ไม่ดี ก็ประมาณได้โดยง่ายว่าคนไม่ดี ครับ

- บุคคลประมาณได้โดยยาก คือ บุคคลที่มีปัญญา มีสติ สำรวมกาย วาจา คนอื่นก็ดูได้โดยยาก ประมาณได้โดยยาก เพราะคนพาลโดยมาก ย่อมประมาณ หรือ ไม่รู้ว่า บัณฑิตเป็นอย่างไร เพราะเป็นผู้มีคุณธรรม สำรวมกาย วาจา ครับ

- บุคคลไม่มีประมาณ คือ พระอรหันต์ เพราะมีคุณธรรมที่ใครประมาณ คือ คนพาลประมาณไม่ได้เลย และสิ้นกิเลสแล้ว ที่จะประมาณได้ว่ามีกิเลสเท่าใด เป็นต้น ครับ

๒. บุคคล ผู้เป็นเหมือน ไม้อ้อ ที่พุ่งขึ้น อธิบายว่า ยกมานะ ที่ว่างเปล่า ขึ้นตั้งไว้ หมายความว่าอย่างไรคะ (ว่างเปล่า-ไม่ว่างเปล่า คืออะไร)

(ไม้อ้อ หมายถึงอะไร ที่พุ่งขึ้น - ไม่พุ่งขึ้น คืออะไร)

- คือ คิดว่าตนเองสูง แท้ที่จริง ก็เพียงคิด ไม่มีอะไรเลย ว่างเปล่า จากสิ่งนั้น เพราะเป็นเพียงเรื่องราวที่คิดว่าตนเองดีกว่าคนอื่น สูงส่งเหมือนไม้อ้อที่ยกขึ้นสูง ครับ

๓. ผู้ประกอบด้วยความหลุกหลิก มีการตกแต่งบาตร เป็นต้น หลุกหลิก หมายถึง ธรรมะอะไรคะตกแต่งบาตร เป็นอย่างไร กรุณายกตัวอย่างด้วยค่ะ

- ด้วยโลภะ ที่ยินดีพอใจ ที่ตกแต่งบาตร ไม่สำรวม หลุกหลิก ครับ

๔. คนปากจัด หมายถึง ธรรมะอะไรคะ กรุณายกตัวอย่างด้วยค่ะ

- มากไปด้วย วาจาหยาบ ที่เป็นโทสะมูลจิต ครับ

๕. คนผู้ไม่สำรวมถ้อยคำ หมายถึง ธรรมะอะไรคะ กรุณายกตัวอย่างด้วยค่ะ

- อกุศลธรรมทั้งหลาย ทั้งโลภะ โทสะ โมหะ ที่เป็น วาจาเพ้อเจ้อ และวาจาหยาบ เท็จ และส่อเสียด เป็นต้น ครับ

๖. ผู้ไม่มีจิตเป็นสมาธิ ผู้มีจิตเป็นสมาธิ หมายถึง ธรรมะอะไรคะ กรุณายกตัวอย่างด้วยค่ะ

- ผู้มีจิตเป็นสมาธิ ที่ประกอบด้วยปัญญา ที่สำรวมกาย วาจา ไม่ฟุ้งซ่าน เพ้อเจ้อ ส่วนผู้มีจิตไม่เป็นสมาธิก็ตรงกันข้าม ครับ

๗. ผู้มีจิตเปลี่ยว เปรียบเหมือน แม่โคและเนื้อป่า ตัวตื่นเตลิด จิตเปลี่ยว หมายถึง ธรรมะอะไรคะ

- คือ จิตวอกแวกซัดส่ายตลอดเวลา เหมือนสัตว์ที่เป็นเนื้อ ที่ขึ้ตกใจกลัว จิตวอกแวกตลอด ซึ่งก็ด้วยอกุศลธรรมนั่นเอง ครับ

๘. ผู้มีอินทรีย์อันเปิดเผย เป็นธรรมะอะไร หมายความว่าอย่างไรคะ

- คือ ผู้ไม่สำรวมอินทรีย์ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เปิดเผยไปด้วยอำนาจกิเลสทางตา หู จมูก ลิ้น กาย และ ใจ ครับ

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
ธนฤทธิ์
วันที่ 13 ม.ค. 2558

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
khampan.a
วันที่ 13 ม.ค. 2558

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ก็เพื่อความเข้าใจถูกตามความเป็นจริง แม้จะทรงแสดงโดยประเภทเป็นบุคคลต่างๆ ก็เพราะมีธรรมเกิดขึ้นเป็นไป เมื่อได้ฟังได้ศึกษาแล้วเป็นเครื่องเตือนที่ดี เตือนให้รู้จักตัวเองตามความเป็นจริง เป็นประโยชน์เกื้อกูลต่อการขัดเกลากิเลส และน้อมประพฤติในสิ่งที่ถูกต้องดีงามต่อไป

จะเห็นได้ว่าบุคลลผู้มากไปด้วยอกุศลเพราะได้สะสมมาอย่างเนิ่นนานในสังสารวัฏฏ์ เมื่อได้เหตุปัจจัยก็เกิดขึ้นทำกิจหน้าที่ และมีความประพฤติในทางที่ไม่เหมาะไม่ควรประการต่างๆ เหมือนอย่างที่ปรากฏในพระสูตร เช่น ถือตัว โลเล ฟุ้งซ่าน พูดพร่ำเพรื่อ หลงลืมสติ ไม่สำรวมตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เป็นต้น ก็เพราะอกุศล ถ้าเป็นกุศลแล้ว จะเป็นอย่างนั้นไม่ได้เลย ดังนั้น ความเกิดขึ้นเป็นไปของอกุศล กับ กุศล ย่อมแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง เพราะถ้ากุศลเกิดแล้ว คิดก็คิดดี พูดก็พูดในสิ่งที่เป็นประโยชน์ ทำก็ทำในสิ่งที่เป็นประโยชน์ มีเมตตาต่อผู้อื่น เป็นต้น ซึ่งก็คือธรรมที่เกิดขึ้นทำกิจหน้าที่ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน

และบุคคลผู้ประเสริฐอย่างแท้จริง คือ ผู้ห่างไกลแสนไกลจากกิเลส เป็นพระอรหันต์ ไม่มีกิเลสใดๆ เกิดขึ้นอีกเลย เป็นผลอันสูงสุดของการอบรมเจริญปัญญา ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
wannee.s
วันที่ 13 ม.ค. 2558

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
ผู้ร่วมเดินทาง
วันที่ 14 ม.ค. 2558

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
peem
วันที่ 14 ม.ค. 2558

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
nong
วันที่ 14 ม.ค. 2558

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
pulit
วันที่ 15 ม.ค. 2558

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาในกุศลจิตค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
ประสาน
วันที่ 15 ม.ค. 2558

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
พรรณี
วันที่ 15 ม.ค. 2558

กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ และสุขสันต์วันคล้ายวันเกิดท่านอาจารย์ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 12  
 
นิตยา
วันที่ 16 ม.ค. 2558

ขอแสดงความน้อบน้อมค่ะสาธ สาธุ สาธุ

 
  ความคิดเห็นที่ 13  
 
chatchai.k
วันที่ 19 ก.พ. 2564

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ