บุคคลกระทำความเคารพผู้ที่ควรเคารพสักการะ [มงคลสูตร]

 
เมตตา
วันที่  23 ธ.ค. 2557
หมายเลข  25951
อ่าน  1,819

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้าที่ 197

ข้อความบางตอนจาก

มงคลสูตร

พรรณนาคาถาว่า คารโว

บัดนี้ จะพรรณนาในคาถาว่า คารโว นี้.

บทว่า คารโว ได้แก่ ความเป็นผู้หนัก [การณ์].

บทว่า นิวาโต ได้แก่ ความประพฤติถ่อมตน.

บทว่า สนฺตุฏฺฐิ แปลว่า ความสันโดษ. ความรู้อุปการะคุณที่ท่านทำไว้ชื่อว่า กตัญญุตา.

บทว่า กาเลน แปลว่า ขณะสมัย. การฟังธรรมชื่อว่า ธัมมัสสวนะ. คำที่เหลือมีนัยที่กล่าวมาแล้วทั้งนั้นแล นี้เป็นการพรรณนาบท.

ส่วนการพรรณนาความพึงทราบดังนี้. ความเคารพ การทำความเคารพ ความเป็นผู้มีความเคารพตามสมควรในพระพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า พระสาวกของพระตถาคต อาจารย์ อุปัชฌาย์ มารดาบิดา พี่ชาย พี่สาว เป็นต้น เป็นผู้ควรประกอบความเคารพ ชื่อว่า คารวะ. คารวะนี้นั้น เพราะเหตุที่เป็นเหตุแห่งการไปสุคติเป็นต้น เหมือนอย่างที่ตรัสไว้ว่า

บุคคลกระทำความเคารพผู้ที่ควรเคารพสักการะ ผู้ที่ควรสักการะ นับถือผู้ที่ควรนับถือ บูชาผู้ที่ควรบูชา. เพราะธรรมนั้นที่ยึดถือไว้บริบูรณ์อย่างนี้ เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก เขาย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์. ถ้าเขาไม่เข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ หากเขามาเกิดเป็นมนุษย์ ก็จะเป็นผู้มีตระกุลสูงในประเทศที่กลับมาเกิด ดังนี้.

และเหมือนอย่างที่ตรัสไว้อย่างนี้ว่า

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ธรรมเป็นที่ตั้งแห่งความไม่เสื่อม ๗ ประการเหล่านี้. ๗ ประการเป็นไฉน ๗ ประการมี ความเป็นผู้มีความเคารพในพระศาสดา ดังนี้เป็นต้น ฉะนั้นจึงตรัสว่าเป็นมงคล

ความเป็นผู้มีใจลดต่ำ ความเป็นผู้มีความประพฤติไม่ลำพอง ชื่อว่าความถ่อมตน. บุคคลประกอบด้วยความเป็นผู้ถ่อมตนอันใด กำจัดมานะได้ กำจัดความกระด้างได้ เป็นเสมือนผ้าเช้ดเท้า เสมอด้วยโคอุสุภะเขาขาด และเสมอด้วยงูที่ถูกถอนเขี้ยวแล้ว ย่อมเป็นผู้ละเอียดอ่อนละมุนละไม ผ่อง แผ้วด้วยสุข ความเป็นผู้ถ่อมตนอันนี้ เป็นนิวาตะ นิวาตะนี้นั้น ตรัสว่าเป็นมงคล เพราะ

[เล่มที่ 39] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้าที่ 199

เป็นเหตุได้คุณ มียศเป็นต้น. อนึ่ง ตรัสไว้ว่า ผู้มีความถ่อมตนไม่กระด้าง คนเช่นนั้นย่อมได้ยศดังนี้ เป็นต้น.

ความสันโดษด้วยปัจจัยตามมีตามได้ ชื่อว่า สันตุฏฐี. สันโดษนั้นมี ๑๒ อย่าง คือ ในจีวร ๓ อย่าง คือ ยถาลาภสันโดษ สันโดษตามที่ได้. ยถาพลสันโดษ สันโดษตามกำลัง ยถาสารุปปสันโดษ สันโดษตามสมควร. ในบิณฑบาตเป็นต้นก็อย่างนี้. จะพรรณนาประเภทแห่งสันโดษนั้น ดังนี้.

ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ได้จีวรดีหรือไม่ดี ภิกษุนั้น ก็ยังอัตภาพให้เป็นไปด้วยจีวรนั้นเท่านั้น ไม่ประสงค์จีวรอื่น เมื่อได้ก็ไม่รับ นี้ชื่อว่า ยถาลาภสันโดษในจีวรของภิกษุนั้น.

อนึ่งเล่า ภิกษุอาพาธเมื่อห่มจีวรหนักย่อมต้องค้อมตัวลง หรือลำบาก เธอจึงเปลี่ยนจีวรนั้นกับภิกษุที่ชอบกัน ยังอัตภาพให้เป็นไปด้วยจีวรนั้น ก็ยังเป็นผู้สันโดษอยู่ นี้ชื่อว่า ยถาพลสันโดษในจีวรของภิกษุนั้น.

ภิกษุอีกรูปหนึ่ง เป็นผู้ได้ปัจจัยอันประณีต เธอได้จีวร บรรดาจีวรชั้นดี เป็นต้น อย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งมีค่ามาก คิดว่าจีวรนี้เหมาะแก่พระเถระ พระผู้บวชมานานและพระพหูสูต จึงถวายแก่พระภิกษุเหล่านั้น ตนเองก็เลือกเอาเศษผ้าจากกองขยะ หรือจากที่ไรๆ อื่น ทำสังฆาฎิครอง ก็ยังเป็นผู้สันโดษอยู่นั่นเอง นี้ชื่อว่า ยถาสารุปปสันโดษในจีวรของภิกษุนั้น.

อนึ่ง ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ได้บิณฑบาต ปอนหรือประณีต ยังอัตภาพให้เป็นไปด้วยบิณฑบาตนั้น ไม่ประสงค์บิณฑบาตอื่น. แม้เมื่อได้ก็ไม่รับ นี้ชือว่า ยถาลาภสันโดษในบิณฑบาตของภิกษุนั้น.

อนึ่งเล่า ภิกษุอาพาธ ฉันบิณฑบาตเศร้าหมอง โรคจะกำเริบหนัก เธอจึงถวายบิณฑบาตนั้นแก่ภิกษุที่ชอบกัน ฉันเนยใส น้ำผึ้ง และนนสดเป็นต้น จากมือของภิกษุนั้น แม้ทำสมณธรรมอยู่ ก็ยังเป็นผู้สันโดษ นี้เป็น ยถาพลสันโดษในบิณฑบาตของภิกษุนั้น.

ภิกษุอีกรูปหนึ่ง ได้บิณฑบาตอันประณีต เธอคิดว่า บิณฑบาตนี้เหมาะแก่พระเถระ พระผู้บวชมานาน และแม้เเก่สพรหมจารีอื่น ผู้เว้น บิณฑบาตอันประณีตเสีย ก็ยังอัตภาพให้เป็นไปไม่ได้ จึงได้ถวายแก่ภิกษุเหล่านั้น ตนเองเทียวบิณฑบาต แม้ฉันอาหารที่ปนกันก็ยังเป็นผู้สันโดษอยู่ นี้ชื่อว่า ยถาสารุปปสันโดษในบิณฑบาตของภิกษุนั้น.

อนึ่ง เสนาสนะมาถึงภิกษุในธรรมวินัยนี้ เธอก็สันโดษด้วยเสนาสนะนั้นนั่นแหละ ไม่ยอมรับเสนาสนะอื่น แม้ดีกว่าที่มาถึงอีก นี้ชื่อว่า ยถาลาภสันโดษในเสนาสนะของภิกษุนั้น.

อนึ่งเล่า ภิกษุอาพาธอยู่ในเสนาสนะที่อับลม ย่อมจะทุรนทุรายอย่างเหลือเกิน ด้วยโรคดีเป็นต้น เธอจึงถวายเสนาสนะแก่ภิกษุที่ชอบกัน แล้วอยู่เสียในเสนาสนะอันเย็น มีลม ที่ถึงแก่ภิกษุนั้น แม้กระ ทำสมณธรรม ก็ยังเป็นผู้สันโดษอยู่ นี้ชื่อว่า ยถาพลสันโดษในเสนาสนะของภิกษุนั้น.

ภิกษุอีกรูปหนึ่ง ไม่ยอมรับเสนาสนะที่ดีแม้มาถึง คิดว่าเสนาสนะดีเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท เมื่อภิกษุนั่งในเสนาสนะนั้น ถีนมิทธะย่อมครอบงำ เมือหลับแล้วตื่นขึ้นมาอีก กามวิตกย่อมฟุ้งขึ้น เธอ จึงปฏิเสธเสนาสนะนั้นเสีย อยู่แต่ในที่แจ้ง โคนไม้และกุฏิมุงบังด้วยใบไม้ แห่งใดแห่งหนึ่ง ก็ยิ่งเป็นผู้สันโดษอยู่ นี้ชื่อว่า ยถาสารุปปสันโดษในเสนาสนะของภิกษุ

อนึ่ง ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ได้เภสัช ไม่ว่าผลสมอหรือมะขามป้อม เธอก็ยังอัตภาพให้เป็นไปด้วยเภสัชนั้น. ไม่ประสงค์เภสัชอย่างอื่น มีเนยใส น้ำผึ้ง น้ำอ้อยเป็นต้น ที่ได้แล้ว แม้เมื่อได้ก็ไม่รับ นี้ชื่อว่า ยถาลาภสันโดษในคิลานปัจจัยของภิกษุนั้น.

อนึ่ง ภิกษุอาพาธต้องการน้ำมัน แต่ได้น้ำอ้อย เธอก็ถวายน้ำอ้อยนั้นแก่ภิกษุที่ชอบกัน แต่ทำยาด้วยน้ำมันจากมือของภิกษุนั้น แม้กระทำสมณธรรม ก็ยังเป็นผู้สันโดษอยู่ นี้ชื่อว่า ยถาพลสันโดษในด้านปัจจัยของภิกษุนั้น.

ภิกษุอีกรูปหนึ่ง ใส่สมอดองกับมูตรเน่าลงในภาชนะใบหนึ่ง ใส่ของมีรสอร่อย ๔ อย่างลงในภาชนะใบหนึ่ง เมื่อถูกเพื่อนภิกษุบอกว่า ท่านต้องการสิ่งใด ก็ถือเอาเถิดท่าน ถ้าว่า อาพาธของภิกษุนั้น ระงับไปด้วยสมอดองน้ำมูตรเน่าและของรสอร่อยทั้งสองนั้น อย่างใดอย่างหนึ่งไซร้ เมื่อเป็นดังนั้นเธอคิดว่า ธรรมดาว่าสมอดองด้วยมูตรเน่า พระพุทธเจ้าเป็นต้นทรงสรรเสริญแล้ว และพระพุทธเจ้าตรัสว่า บรรพชาอาศัยมูตรเน่าเป็นเภสัช พึงทำความอุตสาหะในมูตรเน่าเป็นเภสัชนั้น จนตลอดชีวิต ปฏิเสธของมีรสอร่อยเป็นเภสัช แม้กระทำเภสัชด้วยสมอดองด้วยมูตรเน่า ก็เป็นผู้สันโดษอย่างยิ่ง นี้ชื่อว่า ยถาสารุปปสันโดษในคิลานปัจจัยของภิกษุนั้น.

สันโดษแม้ทั้งหมดนั้น มีประเภทอย่างนี้ ก็เรียกว่า สันตุฏฐีสันตุฏฐี นั้น พึงทราบว่าเป็นมงคลเพราะเป็นเหตุประสบการละบาปธรรมทั้งหลาย มีความปรารถนาเกินส่วน ความมักมาก และความปรารถนาลามกเป็นต้น

เพราะเป็นเหตุแห่งสุคติ เพราะเป็นเครื่องอบรมอริยมรรค และเพราะเป็นเหตุแห่งความเป็นผู้อยู่ได้สบายในทิศทั้ง ๘ ดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า

จาตุทฺทิโสอปฺปฏิโฆจโหติ สนฺตุสฺสมาดนอิตรีตเรน.

ผู้สันโดษด้วยปัจจัย ตามมี ตามได้ ย่อมเป็นผู้อยู่สบายในทิศทั้ง และ ไม่มีปฏิฆะเลย ดังนี้เป็นต้น

ความรู้จักอุปการคุณที่ผู้ใดผู้หนึ่งทำมาแล้ว ไม่ว่ามากหรือน้อย โดยการระลึกถึงเนืองๆ ชื่อว่ากตัญญุตา. อนึ่ง บุญทั้งหลายนั่นแล มีอุปการะมากแก่สัตว์ทั้งหลาย เพราะป้องกันทุกข์ มีทุกข์ในนรกเป็นต้นได้. ดังนั้น การระลึกถึงอุปการะของบุญแม้เหล่านั้น ก็พึงทราบว่าเป็น กตัญญุตา. กตัญ ญุตานั้น ตรัสว่าเป็นมงคล เพราะเป็นเหตุประสบผลวิเศษ มีประการต่างๆ มีเป็นผู้อันสัตบุรุษทั้งหลายพึงสรรเสริญเป็นต้น. ทั้งพระผู้มีพระภาคเจ้าก็ตรัสไว้ว่า

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๒ จำพวกเหล่านี้ หาได้ยากในโลก คือ บุพพการี กตัญญูกตเวที

การฟังธรรม เพื่อบรรเทาความวิตกในกาลที่จิตประกอบด้วยอุทธัจจะหรือจิตถูกวิตกทั้งหลาย มีกามวิตกเป็นต้น อย่างใดอย่างหนึ่งครอบงำ ชื่อว่าการฟังธรรมตามกาล. อาจารย์อีกพวกหนึ่งกล่าวว่า การฟังธรรมทุกๆ ๕ วัน ชื่อว่า การฟังธรรมตามกาล เหมือนอย่างที่ท่านกล่าวว่า ท่านพระอนุรุทธะ กราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พวกข้าพระองค์นั่งประชุมกันด้วยธรรมมีกถา คืนยังรุ่ง ทุก ๕ วันแล.

อนึ่ง ในกาลใด ภิกษุเข้าไปหากัลยาณมิตร แล้วอาจฟังธรรมบรรเทาความสงสัยของตนเสียได้ การฟังธรรมแม้ในกาลนั้น ก็พึงทราบว่าการฟังธรรมตามกาล เหมือนอย่างที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า ภิกษุเข้าไปหากัลยาณมิตรเหล่านั้น สอบถามไล่เลียงตลอดกาล ตามกาล. การฟังธรรมตามกาลนั้นนั้น พึงทราบว่าเป็นมงคล เพราะเป็นเหตุประสบผลวิเศษนานาประการ มีการละนิวรณ์ได้อานิสงส์ ๔ และบรรลุธรรมเป็นที่สิ้นอาสวะ เป็นต้น. สมจริงดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ดังนี้ว่า.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ในสมัยใด พระอริยสาวกใส่ใจทำให้เป็นประโยชน์ รวบรวมทุกอย่างไว้ด้วยใจ เงี่ยโสตฟังธรรม ในสมัยนั้นิวรณ์ของพระอริยสาวกนั้นย่อมไม่มี และว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พึงหวังอานิสงส์ ๔ ประการแห่งธรรมทั้งหลาย ที่คุ้นโสฯลฯ ที่แทงตลอดด้วยดีแล้ว และว่า

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๔ เหล่านี้ อันภิกษุอบรมโดยชอบ หมุนเวียนไปโดยชอบ ตลอดกาล ตามกาล ย่อมให้ถึงธรรมเป็นที่สิ้นอาสวะโดยลำดับ ธรรม ๔ ประการ คือ การฟังธรรมตามกาล อย่างนี้เป็นต้น

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสมงคลแห่งคาถานี้ไว้ ๕ มงคล คือ ความเคารพ ๑ การถ่อมตน ๑ สันโดษ ๑ กตัญญุตา ๑ และการฟังธรรมตามกาล ๑ ด้วยประการฉะนี้. ความที่มงคลเหล่านั้นเป็นมงคล ที่ได้ชี้แจงไว้ในมงคลนั้นๆ แล้วทั้งนั้นแล

จบพรรณนาความแห่งคาถานี้ว่า คารโว จ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
chatchai.k
วันที่ 6 มิ.ย. 2564

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ