ณ กาลครั้งหนึ่ง ที่ โรงพยาบาลพระมงกุฏเกล้าฯ ๕ ธันวาคม ๒๕๕๗

 
วันชัย๒๕๐๔
วันที่  9 ธ.ค. 2557
หมายเลข  25885
อ่าน  1,794

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

เมื่อวันที่ ๕ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๕๗ ที่ผ่านมา

ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ประธานมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

และ คณะวิทยากร อาจารย์ธนิต ชื่นสกุล ผู้ช่วยศาสตราจารย์อรรณพ หอมจันทร์

และ อาจารย์คำปั่น อักษรวิลัย ได้รับเชิญจากชมรมพุทธศาสน์ วังพญาไท

โดยท่านพลโทนายแพทย์กฤษฎา ดวงอุไร ประธานชมรมฯ

เพื่อไปสนทนาธรรม เนื่องในโอกาสวันพ่อแห่งชาติ

ณ ห้องประชุม พลโทผ่อง-จำลอง มีคุณเอี่ยม ชั้น ๑๐ อาคารพัชรกิตติยาภา

โรงพยาบาลพระมงกุฏเกล้าฯ ถนนราชวิถี กรุงเทพมหานคร

ระหว่างเวลา ๑๓.๐๐ - ๑๕.๐๐ น.

ตลอดเวลาสองชั่วโมงเต็มของการสนทนาธรรม

ที่มีผู้สนใจเข้าร่วมฟังการสนทนาธรรมเกือบเต็มห้องประชุม ซึ่งมีที่นั่งราว ๓๐๐ ที่นั่ง

เป็นไปด้วยความรู้ความเข้าใจ จากการถามปัญหาต่างๆ ที่ผู้เข้าร่วมสนทนา

เขียนขึ้นไปถามท่านวิทยากร โดยมีน้องๆ จากวิทยาลัยพยาบาลกองทัพบกจำนวนมาก

ยืนคอยให้บริการรับส่งคำถาม โดยรอบห้องประชุม ตลอดเวลาสองชั่วโมง ไม่นั่งพักเลย

ขออนุโมทนาในกุศลจิตของน้องๆ ทุกคนด้วยครับ

อันดับต่อไป ขออนุญาตนำความบางตอนของการสนทนา

เป็นตอนที่ท่านอาจารย์กล่าวถึง ความหมายของคำว่า

ธรรมะ ปรมัตถธรรม บัญญัติ และ สมมุติ ด้วยความละเอียดอย่างยิ่ง

มาให้ทุกๆ ท่าน ได้พิจารณา ไตร่ตรอง เพื่อประโยชน์คือความเข้าใจ โดยทั่วกัน ดังนี้ครับ

นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมา สัมพุทธัสสะ

นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมา สัมพุทธัสสะ

นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมา สัมพุทธัสสะ

อารัมภกถา

(โดยอาจารย์ธนิต ชื่นสกุล)

ขณะนี้ เป็นช่วงหนึ่งของสังสารวัฏฏ์ เป็นเวลาที่มีค่า ที่ประเสริฐ

เพราะได้ยินเสียง ที่ทำให้เข้าใจธรรมะ ตามความเป็นจริง

ธรรมะ เป็นสิ่งที่ลึกซึ้ง และ ยากที่จะเข้าใจได้

ผู้ฟัง ต้องไตร่ตรอง พิจารณา

ประโยชน์ของการฟังทุกครั้ง อยู่ที่เข้าใจความจริง

เวลาที่ได้ฟัง ต้องมีศรัทธาที่จะฟังและฟังด้วยความเคารพ

ก็จะทำให้ประจักษ์ความจริงของสิ่งที่ได้ฟัง

ทุกครั้งที่มีโอกาสได้ฟังธรรมะ ต้องไม่ลืมว่าเป็นธรรมะ ไม่ใช่เรา

เป็นสภาวธรรม เป็นธาตุ เป็นเรื่องเฉพาะตัว

พุทธศาสนิกชน ต้องสะสมความรู้ถูก

ผู้ศึกษาธรรมะ ต้องคิดพิจารณาตาม เพื่อให้เข้าใจ

ความเข้าใจซึ่งเริ่มจากการฟังตามลำดับ

สะสมไป ทีละเล็ก ทีละน้อย

ต้องเข้าใจความหมาย ของทุกคำ ที่ได้ยิน

ท่านอาจารย์ ความละเอียดของพระธรรม อยู่ที่

เมื่อฟังแล้วก็รู้ว่า มีพระธรรมจริงๆ ขณะนี้ ที่จะให้เข้าใจ

ไม่ใช่เพียงแต่ว่า กล่าวถึงคำอะไร แล้วก็ไปหาว่า อยู่ที่ไหน?

ในหนังสือเล่มไหน ได้ยิน ได้ฟังเมื่อไหร่

แต่ว่า ธรรมะ มีทุกขณะ ไม่ขาดธรรมะเลย

แต่เป็นความละเอียดที่ว่า เมื่อได้เข้าใจจริงๆ แล้ว ก็ไม่ต้องไปดูที่ไหนเลย

ไม่ต้องไปค้นคว้าอะไรอีก

แต่อาศัยสภาพธรรมะ ที่กำลังปรากฏในขณะนี้

ทำให้เราได้รู้ว่า เราได้ฟังธรรมะ และ เราก็เข้าใจธรรมะ

ขอกล่าวถึงแต่ละคำ ซึ่งหลายคำเลย ที่วิทยากรท่านกล่าวถึงแล้ว

แต่ว่า เราก็ยังไม่ได้เข้าใจ จนกระทั่งว่า ไม่สงสัยอีกต่อไป

เช่น คำว่า "ธรรมะ"

ธรรมะ คือ สิ่งที่มีจริงเดี๋ยวนี้

แต่ก็มากเหลือเกิน แล้วก็มีตั้งหลายอย่าง แต่ก็เริ่มได้ ทีละเล็ก ทีละน้อย

ขณะนี้ มีสิ่งที่มีจริง ซึ่งแม้ไม่ต้องเรียกชื่อ ก็มี

นี่คือ การเริ่มต้น ที่จะเข้าใจ

แม้แต่คำว่า ธรรมะ บัญญัติ สมมุติ และ สภาพธรรมะอื่นๆ ซึ่งก็มีในขณะนี้ด้วย

แต่ว่า มีมากจนกระทั่ง ถ้าเราไม่ค่อยๆ เข้าใจ พิจารณาอย่างละเอียด

เราก็เมือนต้องฟังแล้ว ฟังอีก

ฟังแล้วก็ลืม

แต่ถ้าขณะที่กำลังฟัง แล้วก็มีสภาพธรรมะปรากฏให้เข้าใจด้วย

เราก็เริ่มเข้าใจ

ไม่ลืม

เพราะเหตุว่า ได้เข้าใจแล้ว

เพราะฉะนั้น ก่อนอื่น

ธรรมะ คือ สิ่งที่มีจริง

ขณะนี้ ก็มี

เมื่อไหร่ๆ ก็มี เมื่อปรากฏ

แต่ถ้าสภาพธรรมะนั้น ไม่ปรากฏ จะกล่าวว่าสภาพธรรมะนั้นมี ได้ไหม?

แต่เพราะเหตุว่า ขณะนี้ มีสภาพธรรมะที่ปรากฏ

"สิ่งที่ปรากฏ" มีจริง

เมื่อมีจริง "สิ่งนั้นๆ " เป็น "ธรรมะ"

คือ เป็นสิ่งซึ่งมีลักษณะเฉพาะ แต่ละอย่างๆ ซึ่งไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา

และ ไม่มีใครเป็นเจ้าของ

ถ้าจะฟัง "ชื่อของธรรมะ" ไม่ยากใช่ไหม?

คำนี้แปลว่าอะไร ก็เข้าใจแล้ว

แต่ว่า ถ้าจะเข้าใจธรรมะจริงๆ ต้องอาศัยกาลเวลา

แล้วก็ต้องพิจารณา ไตร่ตรองจริงๆ

อย่างละเอียดด้วย

เพราะฉะนั้น ถ้าเป็นคนที่ใจร้อน

อยากจะรู้เรื่อง อยากจะฟัง "ชื่อ" ต่างๆ มากๆ

ก็อ่านหนังสือหลายๆ เล่ม

แต่ว่า เข้าใจจริงๆ หรือเปล่า?

ที่สำคัญที่สุด คือ เข้าใจจริงๆ ไม่ใช่เพียงฟัง แล้วก็คิดว่า เข้าใจ

เพราะเหตุว่า บางคน บอกว่ารู้จักแล้วทั้งหมด

"ตา" ก็รู้จัก "เห็น" ก็รู้จัก "สิ่งที่ปรากฏให้เห็น" ก็รู้จัก

แต่จริงๆ แล้ว ไม่รู้จักเลยสักอย่าง จนกว่าจะได้ฟังพระธรรม

เพราะฉะนั้น ขณะนี้ แม้สิ่งที่กำลังมีจริง ก็ไม่รู้จัก

เห็นใครคะ? เวลานี้!!!

เห็นอะไรบ้าง?

ไม่รู้จักเลย ว่าสิ่งที่เห็น ไม่ใช่สิ่งนั้นที่เราคิด ว่าเป็นคน หรือเป็นโต๊ะ หรือว่าเป็นเก้าอี้

แต่ว่า เป็นสิ่งที่มีจริง ในขณะนี้

เพราะ "กำลังปรากฏให้เห็น" ว่า "สิ่งนั้น" มีจริงๆ

เพราะฉะนั้น สิ่งที่มีจริงแต่ละหนึ่ง

กว่าจะเข้าถึงพระปัญญาคุณ ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

ที่ได้ทรงแสดงไว้โดยละเอียดยิ่ง ให้เข้าใจจริงๆ ไม่หลงผิด

จนกระทั่ง สามารถประจักษ์ความจริง สามารถละคลายกุศลธรรมทั้งหลายได้

ก็ต้องอาศัยการฟังอีกนาน

ไม่ใช่เพีงครั้งเดียว

เพราะฉะนั้น ก่อนอื่น ธรรมะ คือ สิ่งที่มีจริง

"สิ่งที่ปรากฏให้เห็น" มีจริงๆ

และ "จิตเห็น" ก็มีจริงๆ

ทั้งสองอย่าง เป็นธรรมะ

แค่นี้ รู้สึกว่า ลืม

ขณะที่ฟังเข้าใจ

แล้วก็ ลืม

ลืม คือ ไม่ตรงตามที่ได้ฟัง

พอฟัง รู้ว่า มี "สิ่งที่ปรากฏให้เห็น" แล้วก็มี "เห็น"

แต่พอลืม ก็เห็นคน เห็นสิ่งนั้น สิ่งนี้ ทันที

ลืมแม้แต่คำที่ตรัสไว้ ซึ่งเปลี่ยนไม่ได้เลย

"เห็น" ไม่มีในภาษาบาลี แต่ใช้คำว่า "จักขุวิญญาณ"

หมายความถึง สภาพรู้ ที่อาศัยตา เกิดขึ้น "เห็น" เมื่อเห็น ก็ต้องมี สิ่งที่ถูกเห็น

ภาษาไทย บอกว่า กำลังเห็น แล้วก็มีสิ่งที่ปรากฏให้เห็น ด้วย

แต่ภาษาบาลี สิ่งที่ถูกเห็น พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกว่า "รูปารมณ์"

หมายความว่า สิ่งที่ถูกรู้ เป็นอารมณ์

และ สิ่งที่ปรากฏทางตา เป็นสิ่งที่ไม่สามารถที่จะรู้อะไรได้

เป็นรูปชนิดหนึ่ง ซึ่งคนตาบอด ไม่เห็น

เพราะฉะนั้น ขณะใดที่เห็น ขณะนั้น ต้องเห็นสิ่งที่เป็นรูปารมณ์

คือ รูปๆ หนึ่ง ไม่ใช่แข็ง ไม่ใช่เสียง ไม่ใช่กลิ่น

แต่เป็นรูปที่กำลังปรากฏให้เห็น ขณะนี้

นี่คือ การฟังธรรมะ

ในครั้งพุทธกาล ก็มีสิ่งที่ปรากฏ

และ ผู้ที่ไปเฝ้าฟังพระธรรม ก็สามารถค่อยๆ พิจารณา ไตร่ตรอง เข้าใจธรรมะ

ความจริงที่ว่า

ขณะนี้มี "สิ่งที่ปรากฏให้เห็น" กับ "เห็น"

เพราะฉะนั้น กว่าจะเข้าใจธรรมะ ก็ลองคิดดู

อีกนานไหม?

กว่าจะจำได้ไม่ลืมว่า

สิ่งที่ปรากฏให้เห็นขณะนี้ ไม่ได้ปรากฏตลอดไป

เพียงปรากฏ ในขณะที่จิตเห็นเกิดขึ้นเห็นเท่านั้น

ในขณะที่เสียงปรากฏ จิตเห็นไม่มีแล้ว มีเสียง กับจิตที่รู้เสียง

ถ้าฟังอย่างนี้ เริ่มเห็นความลึกซึ้ง

แต่ว่า น่าเบื่อไหม?

บางคนบอกว่า ไม่มีอะไรใหม่ พูดแต่สิ่งซ้ำๆ

พูดถึงเรื่อง "เห็น" พูดถึงเรื่อง "ได้ยิน"

แต่ ใครเป็นผู้ที่ตรัสไว้ดีแล้ว ในเรื่องสิ่งที่มีจริงๆ ที่กำลังปรากฏในขณะนี้

เพราะเหตุนี้ การฟังพระธรรม

ลึกซึ้ง

ไม่ใช่ว่า เรารู้ว่า มี ปรมัตถธรรม มีบัญญัติ มีสมมุติ

เข้าใจแล้ว บอกเดี๋ยวนี้ ก็เข้าใจ

แต่ไม่ใช่ให้เข้าใจ "ชื่อ"

ให้เข้าใจ "ความจริง"

ว่า เดี๋ยวนี้ สิ่งใดที่เป็นธรรมะที่มีจริง มีลักษณะเฉพาะสิ่งนั้น

เช่น สิ่งที่กำลังปรากฏทางตา มีจริง

เปลี่ยนให้เป็นอย่างอื่นไม่ได้เลย

ในขณะที่เสียงปรากฏ เสียงมีจริง เปลี่ยนให้เป็นอย่างอื่นไม่ได้เลย

จะเรียกว่าอะไรก็ได้ ไม่เรียกว่าอะไรเลย ก็ได้

นั่นคือ ปรมัตถธรรม ธรรมะซึ่งมีลักษณะเฉพาะตน ไม่เปลี่ยนเป็นอย่างอื่น

ถ้าไม่เข้าใจอย่างนี้ จะเข้าใจคำว่า สมมุติบัญญัติ ได้ไหม?

ถ้าไม่รู้ก่อน ว่า ธรรมะ คือ อะไร?

ธรรมะ คือ สิ่งที่มีจริง ไม่ต้องเรียก ก็มีจริง

"คิด" มีจริงไหม?

ไม่ต้องเรียกคิด "คิด" ก็มี

เพราะฉะนั้น "คิด" ก็เป็นธรรมะ ซึ่งมีจริงๆ ไม่มีใครสามารถที่จะเปลี่ยน "ลักษณะนั้น" ได้

แต่ว่า ไม่ได้มีแต่เฉพาะเพียงสิ่งที่เป็นธรรมะอย่างเดียว

เพราะเหตุว่า แม้ว่าธรรมะปรากฏก็จริง

แต่ปรากฏ กับ ความไม่รู้

เพราะฉะนั้น เวลาที่ไม่รู้ความจริง

ว่าขณะนี้ สิ่งที่ปรากฏทางตา เป็นแต่เพียงสิ่งที่ปรากฏให้เห็นได้ "ชั่วขณะ" แล้วก็ดับไป

ฟังธรรมะ ต้องค่อยๆ เข้าใจจริงๆ

แล้วรู้ว่า จริงอย่างที่ได้ฟังหรือเปล่า?

เช่น สิ่งหนึ่ง สิ่งใดก็ตาม ที่มีความเกิดขึ้น เป็นธรรมดา "สิ่งนั้น" มีความดับไป เป็นธรรมดา

คำนี้ ไม่เปลี่ยน

"เห็น" เกิดขึ้น "เห็น" แล้วดับ

"สิ่งที่ปรากฏทางตา" เกิดขึ้น ปรากฏให้เห็น แล้วก็ดับ

เริ่มไตร่ตรอง จริงหรือเปล่า?

ถ้าเข้าใจว่าจริง ศึกษาธรรมต่อไปอีก

เพราะว่า แค่นี้ ไม่พอเลย

เพียงแต่ได้ยิน ได้ฟัง แล้วก็ลืมทุกที

แต่ว่า ฟังต่อไปอีก ฟังต่อไปอีก จนกระทั่ง มีความเข้าใจจริงๆ

ว่า พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ตรัสรู้ความจริง ที่กำลังปรากฏ

แต่ผู้ฟัง ยังไม่สามารถที่จะรู้อย่างนี้ได้

แล้วก็มี "ความไม่รู้" มาก

เช่น กำลังเห็น "คน"

เพราะ "สิ่งที่ปรากฏทางตา" ไม่ปรากฏว่าดับ

และ "เห็น" ก็ไม่ปรากฏว่าดับ

แล้วทำไมจึงมีความจำว่า สิ่งที่ปรากฏ เป็นคน และ เป็นเรา ที่กำลังเห็น

ก็เพราะเหตุว่า สภาพธรรมะ เกิดดับ สืบต่ออย่างเร็ว สุดที่จะประมาณได้

ทำให้ปรากฏเป็นรูปร่างสัณฐาน

ซึ่งรวม ให้จำอย่างมั่นคง ว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด ที่เที่ยง

อุปมา เหมือนเวลาที่เราจุดธูปหนึ่งดอก แล้วก็แกว่งให้เร็วเป็นวงกลม

ดูเหมือนกับว่า มีแสงไฟเป็นวงกลม

แต่ความจริง จากธูปหนึ่งดอกที่ปรากฏตรงจุดหนึ่ง

แต่เวลาที่แกว่งเร็วๆ เข้า ก็สามารถที่จะสืบต่อ จนกระทั่งเห็นเป็นวงกลมได้ ฉันใด

สิ่งที่ปรากฏทางตาเวลานี้ ก็เป็นอย่างนั้น

"เห็น" ก็เป็นอย่างนั้น

เพราะฉะนั้น อยู่ในโลกของการไม่รู้ความจริง ด้วยการลวง

ทันทีที่เห็น จำสิ่งที่ปรากฏสืบต่ออย่างรวดเร็ว

เพราะว่า ไม่ปรากฏการเกิดดับของอะไรเลย

ขณะนั้น จึงมี "ปัญ-ญัต-ติ" ที่คนไทย ใช้คำว่า "บัญญัติ"

หมายความว่า สิ่งที่ปรากฏให้รู้ได้โดยอาการนั้นๆ

อย่างถ้าไม่มีรูปร่างสัณฐาน จะรู้ไม่ได้เลย ว่าเป็นดอกไม้

แต่เพียงสีสันวรรณะ ซึ่งเกิดดับ สืบต่ออย่างรวดเร็ว ก็ปรากฏให้รู้ได้โดยอาการ

คือ รูปร่างสัณฐาน นั้นๆ

จึงมี "อรรถบัญญัติ" การรู้ความหมายของสิ่งที่ปรากฏ สืบต่อ ว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด

สำหรับ "ทางหู" ก็เช่นเดียวกัน มีเสียง

แต่ "เสียง" ก็หลากหลายมาก และ "เสียง" ก็เกิด ดับ ด้วย

ถ้าใครคิดว่า เสียงไม่เกิดดับ ก็เป็นความคิดของผู้ที่ยังไม่รู้ความจริง

แต่ผู้ที่ฟังพระธรรม จนกระทั่งค่อยๆ สะสม ความเห็นถูก ความเข้าใจถูก

สามารถที่จะรู้ความจริงนี้ ตามที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง

บรรลุอริยสัจจธรรม เป็นผู้ที่ดับกิเลส ตามลำดับขั้น

คือ เป็นพระโสดาบัน เป็นพระสกทาคามี เป็นพระอนาคามี

และที่สุด ก็คือ ถึงความเป็นพระอรหันต์ คือ ไม่มีกิเลสเหลือเลย

จากการที่เข้าใจความจริง ของสิ่งที่กำลังปรากฏในขณะนี้

ทีละเล็ก ทีละน้อย

แต่ว่า บุคคลในสมัยนี้ ลืมที่จะศึกษาพระธรรม

ลืมที่จะฟังพระธรรม

แล้วก็ ลืมประโยชน์ ของการสนทนาธรรม

สำหรับผู้ที่ไม่ฟังเลย มีเป็นจำนวนมาก

แต่ผู้ที่เห็นประโยชน์ว่า มีพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ ทรงแสดงพระธรรม

แล้วก็ทรงปรินิพพานไปแล้ว

แต่พระธรรมะยังมี ให้ศึกษา ให้ค่อยๆ เข้าใจได้

แต่ต้องเป็นผู้ที่ละเอียดที่ว่า ไม่ฟังเผิน

เพราะฉะนั้น เดี๋ยวนี้ มีสภาพธรรมะ

เปลี่ยนแปลงไม่ได้เลย

จะเรียกหรือไม่เรียกก็ตาม เป็นธรรมะทั้งหมด เป็นปรมัตถธรรม

แต่เพราะการเกิดดับสืบต่ออย่างรวดเร็ว

จึงทำให้หลงเข้าใจสิ่งที่ปรากฏให้รู้ได้ ให้เข้าใจได้ ว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด

ขณะนั้น เป็นบัญญัติ

เพราะฉะนั้น "เห็น" เป็นปรมัตถธรรม

เพียงเห็นเกิดขึ้น "เห็น" นิดเดียว แล้วก็ดับไป

เหมือนก้านธูปหนึ่งดอก ซึ่งจุดแล้วยังไม่ได้แกว่ง

แต่พอแกว่ง เกิดดับสืบต่ออย่างเร็วมาก ก็เห็นเป็นสัณฐานต่างๆ

ทำให้เกิดบัญญัติ รู้ได้โดยอาการนั้นๆ

จะทำให้เป็นรูปวงกลมก็ได้ จะทำให้เป็นรูปอะไรก็ได้

ก็ปรากฏให้รู้ได้ โดยอาการนั้นๆ

เพราะฉะนั้น ขณะใดก็ตาม ที่มีสภาพธรรมะปรากฏ

แต่รู้ได้โดยอาการที่สภาพธรรมะนั้นปรากฏสืบต่อ เหมือนเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด

นั่นคือ "บัญญัติ"

"เห็นพระภิกษุ" เป็นบัญญัติ หรือ เป็นปรมัตถ์

"เห็นดอกไม้" เป็นบัญญัติ หรือ เป็นปรมัตถ์

"เห็น" เป็น ปรมัตถ์

"สิ่งที่ปรากฏทางตา" ให้เห็น ยังไม่เป็นอะไรเลยทั้งสิ้น

เป็นแต่เพียงสิ่งที่มีจริง สามารถกระทบตา ปรากฏแล้วดับ

แต่สืบต่อ จนเป็นคน เป็นสัตว์ เป็นวัตถุ เป็นสิ่งต่างๆ นั่นคือ เป็น "บัญญัติ"

ขณะใดก็ตาม ที่รู้บัญญัติ ขณะนั้น เป็น "อรรถบัญญัติ"

ไม่มีเสียงใดๆ แต่สัณฐานปรากฏแล้ว เพียงเห็น ก็รู้ว่าเป็นอะไร

"เห็นเก้าอี้"

เห็นไหม?

เก้าอี้ พอเห็น ก็ "เห็นเก้าอี้"

ลืมว่า "เห็น" เป็น "เห็น"

แล้วก็ "บัญญัติ" สิ่งที่ปรากฏ ว่าเป็น "เก้าอี้"

ถ้าจะเกิดใหม่ ไม่มีบัญญัติเลย มีเห็น แต่ก็มีการทรงจำ

ค่อยๆ สะสมความจำ ทีละเล็ก ทีละน้อย

จนกระทั่ง จำได้ว่า เป็นพ่อ เป็นแม่ หรือว่า เป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด

แต่ก็ยังพูดไม่ได้

จนกว่าจะได้ยินเสียง พอได้ยินเสียง ก็ยังจำเสียงไม่ได้เลย

แต่พอคุ้นกับเสียง ไม่ว่าจะเป็นภาษาอะไร

เด็กไทย ก็พูดภาษาไทย เด็กจีน ก็พูดภาษาจีน

แล้วแต่ ว่าจะคุ้นเคยกับเสียงใด ก็ค่อยๆ จำเสียงนั้น

เพราะฉะนั้น ขณะที่ได้ยินเสียง ขณะนั้น "เสียง" เป็นธรรมะ "ได้ยิน" ก็เป็นธรรมะ เกิดดับ

แต่การรู้ การจำ ความหมายของเสียง เป็น "บัญญัติ"

รู้ได้โดยอาการที่เสียงสูงๆ ต่ำๆ

เป็น "สัทบัญญัติ"

เพราะฉะนั้น แต่ละคำในขณะนี้

ถ้าเป็นคนที่ไม่ใช้ภาษาไทย ไม่รู้เลย หมายความว่าอะไร?

แต่ละคำ

ไม่รู้ในสัทบัญญัติ

เพียงแค่ ได้ยินเสียง

แต่ก็ "จำ"

"จำ" จนกว่าเมื่อไหร่คุ้น ก็เริ่มรู้ความหมายของเสียงนั้น ในภาษานั้น

ด้วยเหตุนี้ ก็มีการศึกษาภาษาต่างๆ ตามเสียงที่ปรากฏ สูงๆ ต่ำๆ

แล้วก็เข้าใจกันได้ ด้วยความคุ้นเคย

เพราะฉะนั้น ก็คงจะเข้าใจธรรมะ

มีจริงๆ

ถ้าไม่มีธรรมะ บัญญัติก็ไม่มี

เพราะบัญญัติ หรือ ปัญ-ญัต-ติ คือ รู้ได้ โดยอาการนั้นๆ

ไม่ว่า "ทางตา" เป็น สีสันวรรณะต่างๆ

"ทางหู" เป็น เสียงต่างๆ

"ทางจมูก" ก็มีกลิ่นดอกไม้บ้าง กลิ่นขนมบ้าง ก็แล้วแต่กลิ่น

ก็มีคำว่า กลิ่นดอกไม้ หรือว่า กลิ่นขนม

เมื่อมีคำว่า ดอกไม้ หรือ ขนม ขณะนั้น เป็นบัญญัติ

ปัญ-ญัต-ติ รู้ได้ โดยอาการของกลิ่น กลิ่นแกง ก็รู้ได้ แกงมีหลายกลิ่น

เพราะฉะนั้น ก็จะเห็นได้ว่า อยู่ในโลก ซึ่งเป็นปรมัตถธรรม

แต่ก็มีบัญญัติ โดยอาการของปรมัตถธรรม ซึ่งเกิดดับอย่างรวดเร็ว ทำให้จำได้

ทางตาบ้าง ทางหูบ้าง จมูกบ้าง ลิ้นบ้าง กายบ้าง

และ ทางใจ ก็คิดนึกแต่เรื่องของสิ่งที่เป็นบัญญัติ

ไม่เข้าใจเลย ถึงสภาพของความจริง ซึ่งเป็นปรมัตถธรรม

เพราะ เข้าใจเมื่อไหร่ว่าเป็นธรรมะ

เมื่อนั้น จะไม่มีการยึดถือสภาพธรรมะ ด้วยการหลงเข้าใจผิดว่า เป็นเรา

หรือว่า เป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด ที่เที่ยง

ถ้าได้ฟังอย่างนี้ นี่คือ คำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งทรงตรัสรู้ความจริง

แต่ ตราบใดที่ยังไม่ได้ยิน ได้ฟังเลย ในเรื่องของธรรมะ ในเรื่องของบัญญัติ

และยังอีกคำหนึ่ง "สมมุติ"

คนนั้นเป็นใคร?

เป็นสามเณร หรือ ภิกษุ?

นี่สมมุติแล้ว ใช่ไหม?

เขาชื่ออะไร? ก็เป็นธรรมะที่ปรากฏทางตา แต่ "ชื่ออะไร?"

ต้องมีการสมมุติ เพื่อให้รู้ว่า หมายความถึงอะไร

เพราะฉะนั้น ก็มีทั้ง ปรมัตถธรรม แล้วก็มีบัญญัติ แล้วก็มีการที่จะรู้ โดยการสมมุติ

คนนั้นเป็นเด็ก หรือว่า ชาติอะไร?

ก็เป็นเรื่องสมมุติทั้งนั้น

เพราะฉะนั้น การศึกษาธรรมะ ถ้าไม่เริ่มอย่างนี้

ไม่มีทางที่จะเข้าใจธรรมะ ที่พระผู้มีพระภาคฯ ทรงตรัสรู้

แต่เราก็พูดทุกวัน ใช่ไหม?

พุทธัง สรณัง คัจฉามิ

ธัมมัง สรณัง คัจฉามิ

สังฆัง สรณัง คัจฉามิ

แต่ถ้าไม่ศึกษาพระธรรม ไม่รู้จักพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

เพราะฉะนั้น จะรู้จักพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ เมื่อเริ่มเข้าใจธรรมะอย่างละเอียด

ตามลำดับด้วย

กราบเท้าบูชาคุณ ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่เคารพยิ่ง

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาในกุศลศรัทธาของสมาชิกชมรมพุทธศาสน์ วังพญาไท

และขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่าน ครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 9 ธ.ค. 2557

ขอบพระคุณ และ ขออนุโมทนาพี่วันชัยเป็นอย่างยิ่ง ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
ch.
วันที่ 9 ธ.ค. 2557

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
khampan.a
วันที่ 9 ธ.ค. 2557

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

กราบเท้าบูชาคุณ ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่เคารพยิ่ง

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาในกุศลศรัทธาของสมาชิกชมรมพุทธศาสน์ วังพญาไท

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาในกุศลวิริยะของพี่วันชัย ภู่งาม

และขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่าน ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
thassanee
วันที่ 10 ธ.ค. 2557

ขอขอบคุณและขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกท่านค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
pulit
วันที่ 10 ธ.ค. 2557

กราบเท้าบูชาคุณ ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่เคารพยิ่ง ขอบพระคุณและขออนุโมทนาบุญกับทุกๆ ท่านค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
isme404
วันที่ 10 ธ.ค. 2557

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
peem
วันที่ 10 ธ.ค. 2557

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
ใหญ่ราชบุรี
วันที่ 10 ธ.ค. 2557

สาธุ อนุโมทนา และขอบพระคุณเป็นอย่างยิ่งค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
siraya
วันที่ 10 ธ.ค. 2557

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
สิริพรรณ
วันที่ 10 ธ.ค. 2557

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้นด้วยเศียรเกล้า

กราบแทบเท้าบูชาพระคุณ ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่เคารพยิ่ง

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาในกุศลจิตท่านวิทยากร

และ ชมรมพุทธศาสน์ วังพญาไท

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาในกุศลฺฉันทะ วิริยะ ของคุณวันชัย ภู่งาม

อนุโมทนาในกุศลจิตทุกท่านที่เห็นประโยชน์ของการศึกษาพระธรรม

การศึกษาพระธรรมต้องเป็นผู้ละเอียดจริง

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
Boonyavee
วันที่ 10 ธ.ค. 2557

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ด้วยความเคารพยิ่ง

ขอกราบอนุโมทนาในกุศลจิตของคุณวันชัย ภู่งาม ด้วยค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 12  
 
thilda
วันที่ 10 ธ.ค. 2557

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 13  
 
เมตตา
วันที่ 10 ธ.ค. 2557

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 14  
 
wannee.s
วันที่ 11 ธ.ค. 2557

อนุโมทนาในกุศลจิตทุกๆ ท่าน ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 15  
 
raynu.p
วันที่ 11 ธ.ค. 2557

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 16  
 
papon
วันที่ 11 ธ.ค. 2557

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 17  
 
tusaneenui
วันที่ 11 ธ.ค. 2557

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 18  
 
orawan.c
วันที่ 11 ธ.ค. 2557

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 19  
 
isme404
วันที่ 12 ธ.ค. 2557

กราบเท้าบูชาคุณ ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่เคารพยิ่ง ขอบพระคุณและขออนุโมทนาบุญกับทุกๆ ท่านค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 20  
 
napachant
วันที่ 13 ธ.ค. 2557

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ