กฐินเดาะ

 
water
วันที่  14 ก.ย. 2557
หมายเลข  25528
อ่าน  20,874

กราบนมัสการครับ

คือ ผมได้ไปถ่ายรูปกำหนดการถอดกฐินของวัด ไปโพสในเฟสบุค โดยเขียนว่างานบุญ แบบนี้จะเป็นกฐินเดาะไหมครับ มีวิธีแก้อย่างไรไหมครับ เป็นกฐินสามัคคี


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
khampan.a
วันที่ 14 ก.ย. 2557

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระุภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

"กฐินเดาะ คือ อะไร?"

คำว่า กฐินเดาะ นั้น เป็นภาษาของพระวินัย ซึ่งเมื่อจะถอดความหรือแปลให้ชัดเจนแล้ว หมายถึง การรื้อกฐิน ซึ่งสามารถพิจารณาเป็น ๒ ประเด็น คือ

๑. เพราะเป็นกฐินที่ไม่ถูกต้องตามพระวินัย เช่น ผ้าที่นำมาถวายเป็นผ้าที่ไม่ได้มาอย่างถูกต้องตามพระธรรมวินัย เช่น เป็นผ้าที่ภิกษุขอเขามา เป็นผ้าที่พูดเลียบเคียงเขาได้มา เป็นต้น หรือ มีการถวายผ้าดังกล่าวในช่วงเวลาที่เลยฤดูกฐินไปแล้ว ซึ่งก็ไม่เป็นกฐินโดยประการทั้งปวง

๒. เป็นกฐินที่ถูกต้องตามพระวินัย แต่ก็ยกเลิกเสีย เช่น มีการถวายผ้าที่ถูกต้องตามพระวินัย เป็นผ้าที่ได้มาด้วยความบริสุทธิ์ แต่พระภิกษุที่อยู่จำพรรษาครบ ๓ เดือนในอาวาสนั้น ไม่มีความสามารถในสังฆกรรมที่เป็นวิธีกรานกฐิน ตั้งแต่ต้นจนจบ การกรานกฐิน หรือ การรับกฐิน ก็เกิดขึ้นไม่ได้

ดังนั้น ถ้ามีการเรี่ยไรเกี่ยวกับเงินทองต่างๆ นั่นไม่ใช่กฐิน เรื่องกฐินเป็นเรื่องที่ละเอียดอย่างยิ่ง เป็นสังฆกรรมอย่างหนึ่ง ที่เกี่ยวกับเรื่องผ้าเท่านั้น ไม่ใช่เรื่องของเงินทองแต่อย่างใด ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
paderm
วันที่ 14 ก.ย. 2557

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
tanrat
วันที่ 15 ก.ย. 2557

ส่วนมาก ตามวัดวาอารามชอบประกาศเชิญชวนให้บริจาคเงิน โดยอ้างว่าเป็นการได้กุศลสูง เพราะปีหนึ่งจะมีการทอดผ้ากฐินเพียงครั้งเดียว บางวัดมีการประมูลราคาของการทอดผ้ากฐิน มักจะเลือกเอาผู้ที่ให้เงินมากๆ แต่จากการศึกษาขั้นการฟังพระธรรมที่บรรยายโดยท่านผู้รู้ ทราบว่าเป็นการปฎิบัติที่ผิดพระวินัย

อยากจะกราบเรียนถามท่านอาจารย์ว่า เป็นการประพฤติผิดตามพระวินัยหรือไม่ ถ้าผิดๆ อย่างไรค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
paderm
วันที่ 15 ก.ย. 2557

เรียนความเห็นที่ 3 ครับ

เรื่องของกฐินเป็นเรื่องที่ละเอียดและพระภิกษุและคฤหัสถ์ควรปฏิบัติอย่างถูกต้องในเรื่องของกฐินด้วยการศึกษาพระธรรมทีวินัย เพื่อเป็นการดำรงรักษาพระศาสนาไว้ครับ

คำว่า กฐิน มี ๒ ความหมาย คือ กฐินเป็นชื่อไม้สะดึงสำหรับขึงผ้าให้ตึง เป็นอุปกรณ์ที่ช่วยในการเย็บผ้า และ กฐินตามพระวินัยหมายถึงผ้า ซึ่งเป็นผ้าสำหรับครองของพระภิกษุ เป็นผ้าผืนใดผืนหนึ่งในบรรดา ๓ ผืน

กฐิน เป็นการทำสังฆกรรมของพระภิกษุสงฆ์ทั้งหลาย ที่มาของกฐินนั้น คือ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงปรารภภิกษุชาวเมืองปาฐา ๓๐ รูป ซึ่งมีความประสงค์จะมาเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าที่วิหารพระเชตวัน ตอนนั้นจวนเข้าสู่ช่วงเข้าพรรษา ไม่สามารถเดินทางให้ทันวันเข้าพรรษาในพระนครสาวัตถี ก็เลยอยู่จำพรรษาตามพระวินัย ณ เมืองสาเกต เมื่อออกพรรษาแล้ว ท่านเหล่านั้นก็เดินทางต่อทันที ในช่วงนั้นฝนยังไม่หมด ทำให้จีวรเปียกชุ่มด้วยน้ำ เกิดความลำบาก พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงปรารภในเรื่องนี้ จึงทรงอนุญาตให้ภิกษุที่อยู่จำพรรษาครบ ๓ เดือนแล้ว ทำการกรานกฐิน เพื่อเปลี่ยนผ้าในช่วงจีวรกาล ระยะเวลา ในการถวายกฐินนั้น มีระยะเวลา ๑ เดือน คือ หลังออกพรรษาแล้ว ตั้งแต่วันแรม ๑ ค่ำเดือน ๑๑ ถึง วันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒

จะเห็นนะครับว่า เรื่อง กฐินเป็นเรื่องของผ้าเท่านั้น ไม่เกี่ยวกับเงินทองเลย เพราะเหตุว่า เงินทองเป็นสิ่งที่เป็นอกัปปิยะ คือ สิ่งไม่เหมาะสมกับเพศบรรพชิตครับ

กฐิน เป็นสังฆกรรมของพระภิกษุทั้งหลาย โดย บริษัททั้ง 4 หรือ แม้แต่เทวดา ก็ถวายผ้ากับสงฆ์และก็มีการทำกรานกฐิน โดยเป็นวินัยของสงฆ์ครับ

ดังนั้น การแจกซองกฐิน จึงไม่ถูกต้องตามกฐินในพระธรรมวินัย ที่เป็นเรื่องของการถวายผ้ากับพระภิกษุเท่านั้นครับ ไม่มีเงินและทองมาร่วมด้วย ไม่มีบริวารกฐินที่เป็นเงินทองเลยครับ และการสร้างศาสนาวัตถุ ก็ไม่ควรนำกฐินมาเกี่ยวข้อง เพราะกฐินเป็นเรื่องของผ้าเท่านั้น ดังนั้น ถ้าจะให้สร้างศาสนาวัตถุ ก็บอกไปโดยตรงว่า ร่วมเรี่ยไรกันสร้างศาสนาวัตถุ แต่ไม่ใช่นำเอาเรื่องกฐิน มาปนโดยการเรี่ยไรเงิน ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับกฐินและไม่ตรงเลยครับ ดังนั้น เมื่อคฤหัสถ์มีการเรี่ยไรด้วยการอ้างกฐินก็เท่ากับมีความเข้าใจผิดในพระธรรม พระศาสนาก็เสื่อมไปเรื่อยๆ เพราะผิดพระวินัยที่พระองค์บัญญัติไว้นั่นเองครับ และหากพระภิกษุในวัด ขอให้การทำกฐิน โดยไปบอกกับคฤหัสถ์ก็ผิดเช่นกัน ไม่เป็นกฐิน เพราะกฐินไม่ใช่การรวบรวมเงินมาทำที่วัด เพราะเงินไม่ใช่สิ่งที่สมควรกับพระภิกษุ

ดังนั้น ที่ถูกต้องต่อไปที่ควรจะทำ คือ ไม่ควรเอาคำว่ากฐิน มาเกี่ยวข้องในการเรี่ยไรเงินในการสร้างศาสนาวัตถุ เพราะไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องกฐิน การศึกษาพระธรรมที่ถูกต้อง และเปลี่ยนตามสิ่งที่ถูกต้อง ย่อมจะรักษาพระศาสนา รักษาพระภิกษุไม่ให้ต้องอาบัติ และรักษาจิตใจของเราเอง คือ รักษาให้ตั้งมั่นในสัจจะ ความจริง ความตรง และความถูกต้อง ไม่เปลี่ยนไปตามความเข้าใจผิดที่เป็นค่านิยมใหม่ และเมื่อสะสมความตรงอย่างนี้ ที่จะเปลี่ยนแปลงไปสิ่งที่ถูก สิ่งที่มีค่าที่ได้ คือ การสะสมสิ่งที่ดี คือ ความเป็นผู้ตรง เมื่อเกิดในชาติหน้า ในยุคสมัยใด ก็จะไม่เอนเอียงตามสิ่งที่ไม่ถูกต้อง เพราะเป็นผู้ที่ได้สะสมความเห็นถูก และ ความเป็นผู้ตรงมา นี่คือประโยชน์ของการศึกษาพระธรรม ครับ

เชิญคลิกอ่านที่นี่ครับ

กฐิน ในพระพุทธศาสนา [ตอนที่ ๑]

กฐิน ในพระพุทธศาสนา [ตอนที่ ๒]

กฐิน ในพระพุทธศาสนา [ตอนที่ ๓]

กฐิน ในพระพุทธศาสนา [ตอนที่ ๔]

กฐิน ในพระพุทธศาสนา [ตอนจบ]

ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
tanrat
วันที่ 16 ก.ย. 2557

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
thilda
วันที่ 22 ต.ค. 2557

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
pornchai
วันที่ 28 เม.ย. 2561

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
อนุโมทนา
วันที่ 20 ต.ค. 2563

กราบอนุโมทนาคะ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
chatchai.k
วันที่ 21 ต.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ