ตั้งจิตไว้ชอบ

 
papon
วันที่  18 ก.ค. 2557
หมายเลข  25125
อ่าน  2,564

เรียนอาจารย์ทั้งสองท่าน

"ตั้งจิตไว้ชอบ" คำบรรยายตอนหนึ่งของท่านอาจารย์ในพระอภิธรรมพื้นฐาน โดยชี้แนะว่าให้ตั้งใจฟังธรรมโดยไม่คิดถึงเรื่องอื่น กระผมยังไม่เข้าใจในกรณีนี้ เพราะความคิดก็บังคับบัญชาไม่ได้ ขอความอนุเคราะห์อาจารย์ช่วยกรุณาอธิบายด้วยครับ

ขอบคุณและขออนุโมทนาครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 18 ก.ค. 2557

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

- ความเห็นจากคุณเมตตา

"...พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ลักษณะสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามปกติตามความเป็นจริงในชีวิตประจำวัน การฟังพระธรรมก็เพื่อเข้าใจสิ่งที่มีจริงๆ ที่กำลังปรากฏ ดังนั้น ขณะที่ตั้งใจฟังสิ่งที่กำลังฟังด้วยดี แล้วเข้าใจ ขณะนั้นตั้งจิตไว้ชอบ ฟังอะไรก็เข้าใจในสิ่งที่ฟัง การฟังพระธรรมไม่มีเราที่จะไปทำหรือไปตั้งจิตไว้ชอบได้ เพราะนั่นเป็นความต้องการ เป็นความหวัง เป็นกิเลส เป็นอกุศลจิต การตั้งจิตไว้ชอบเป็นไปในกุศลเท่านั้น และเพื่อขัดเกลากิเลส ท่านอาจารย์เคยกล่าวไว้ว่า ฟังแล้วคิดเรื่องอื่น ก็ไม่มีทางเข้าใจสิ่งที่มีจริงที่กำลังปรากฏ เพราะขณะนั้นเฉไปจากสิ่งที่มีจริงไปคิดเรื่องอื่น จะตั้งจิตไว้ชอบได้อย่างไร จุดประสงค์ของการฟังก็เพื่อเข้าใจ บางขณะฟังแล้วเข้าใจ ก็ตั้งจิตไว้ชอบแล้ว บางขณะฟังแล้วไม่เข้าใจก็ไม่ใช่ตั้งจิตไว้ชอบ การฟังพระธรรมอยู่เสมอๆ ค่อยๆ พิจารณาตามสิ่งที่ได้ฟังจนเข้าใจ ขณะที่เข้าใจเป็นปัญญา มีสติเกิดร่วมด้วย สติและปัญญาเป็นโสภณเจตสิก เป็นสังขารขันธ์ค่อยๆ ปรุงแต่งให้สติเกิดระลึกตรงลักษณะสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามปกติ ไม่มีเราที่จะใช้สติใช้ปัญญาได้เลย

ท่านอาจารย์ เคยกล่าวไว้ว่า...กว่าจะหมดกิเลส ต้องเป็นผู้ที่ตั้งจิตไว้ชอบ ไม่ได้ปรารถนาสิ่งอื่น แม้ในขณะที่เจริญกุศลก็เพื่อขัดเกลากิเลส..."

[เล่มที่ 32] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๑ หน้าที่ 97

ข้อความตอนหนึ่งจาก...

อรรถกถา ปณิหิตอัจฉวรรค สูตรที่ ๒

กุศลมีจำนวนน้อย ไม่ว่าจะเป็นการให้ใบไม้ประมาณกำมือหนึ่ง หรือ กุศลใหญ่ๆ เช่น การให้ของเวลามพราหมณ์เป็นต้น ก็ตามเถิด ถ้าปรารถนาวัฏฏสมบัติ จิต ชื่อว่าตั้งไว้ผิดด้วยอำนาจอิงวัฏฏะ สามารถนำวัฏฏะเท่านั้นมาให้ หาสามารถนำวิวัฏฏะมาให้ไม่.

แต่เมื่อบุคคลปรารถนาวิวัฏฏะอย่างนี้ว่า.. "ขอทานของเรานี้ จงนำมาซึ่งความสิ้นอาสวะ" จิตชื่อว่าตั้งไว้ชอบด้วยอำนาจวิวัฏฏะ ย่อมสามารถให้ทั้งพระอรหัตต์ ย่อมสามารถให้ทั้งปัจเจกโพธิญาณทีเดียว.

...ขออนุโมทนา ครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
khampan.a
วันที่ 18 ก.ค. 2557

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

เมื่อได้ศึกษาพระธรรมไปตามลำดับ ก็จะเข้าใจว่า มีแต่ธรรมเท่านั้น ที่เกิดขึ้นทำกิจหน้าที่ ไม่มีเรา ไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล ไม่มีตัวตน แม้แต่การสะสมสิ่งที่ดี หรือ ไม่ดี ก็เป็นธรรมที่มีจริง ที่เกิดขึ้นเป็นไป ตามเหตุปัจจัย ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครทั้งสิ้น

อรรถของจิตประการหนึ่ง คือ จิตเป็นสภาพธรรมที่สะสม ดังนั้น จิต จึงสะสมทั้งฝ่ายที่ดีและไม่ดี กล่าวคือสะสมทั้งกุศล และ อกุศล ซึ่งสามารถพิสูจน์ได้ในชีวิตประจำวันของแต่ละบุคคล เมื่ออกุศลจิตเกิดขึ้นแล้วดับไปก็สะสมสิ่งที่ไม่ดี (อกุศล) ต่อไปอีกในจิตขณะต่อไป แม้ในทางฝ่ายกุศลก็เช่นเดียวกัน เมื่อกุศลจิตเกิดขึ้นแล้วดับไปก็สะสมสิ่งที่ดี (กุศล) ในจิตขณะต่อไปโดยไม่ปะปนกัน

เป็นความจริงที่ว่า ธรรมดาปุถุชนผู้หนาแน่นไปด้วยกิเลส ย่อมสะสมอกุศลเป็นส่วนมาก แต่เมื่อมีโอกาสได้ฟังพระธรรม ได้ศึกษาพระธรรมในแนวทางที่ถูกต้อง มีความเข้าใจไปตามลำดับ ขณะที่ปัญญาความเข้าใจถูกเห็นถูก เกิดขึ้น ขณะนั้นกุศลจิตเกิด ก็สะสมความเห็นถูก สะสมกุศลธรรม สะสมอุปนิสัยฝ่ายดีมากขึ้น นั่นก็หมายความว่า ค่อยๆ เปลี่ยนไปในทางที่ดีมากยิ่งขึ้นด้วยความเข้าใจพระธรรม

จากที่ไม่รู้ ก็เริ่มค่อยๆ รู้ขึ้น เริ่มสะสมสิ่งที่ดีมากยิ่งขึ้น ซึ่งจะเห็นได้ว่า พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงนั้น เป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูลสำหรับผู้ที่ได้ฟัง ได้ศึกษาอย่างแท้จริง สามารถเปลี่ยนจากบุคคลที่เป็นปุถุชนผู้หนาแน่นไปด้วยกิเลส ค่อยๆ มีการขัดเกลากิเลสยิ่งขึ้น จนกระทั่งดำเนินไปถึงความเป็นพระอริยบุคคล ดับกิเลสตามลำดับขั้นได้ ขึ้นอยู่กับการสะสมความเข้าใจถูกเห็นถูก ซึ่งเป็นธรรมฝ่ายดีเป็นสำคัญ

ความเข้าใจถูก เห็นถูก อันเกิดจากการฟังพระธรรม ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ย่อมสามารถเปลี่ยนจากที่เคยเป็นผู้มีความเข้าใจผิด มีความไม่รู้ ตลอดจนถึงกิเลสประการต่างๆ ที่เคยสะสมมาอย่างเนิ่นนานในสังสารวัฏฏ์ ให้เป็นผู้มีความเข้าใจที่ถูกต้อง มีกุศลธรรมประการต่างๆ เกิดขึ้นเป็นไปได้

ดังนั้น การได้ฟังพระธรรม ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง น้อมรับฟังด้วยความเคารพ ค่อยๆ สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกไปตามลำดับ ทีละเล็กทีละน้อย จึงเป็นปัจจัยสำคัญที่สามารถเปลี่ยนจากความเป็นผู้มากไปด้วยอกุศลให้เป็นกุศลยิ่งขึ้นได้ ซึ่งเป็นการตั้งตนไว้ชอบ โดยที่ไม่ใช่ตัวตนที่ไปตั้ง แต่เป็นความเกิดขึ้นเป็นไปของสภาพธรรม คือ จิต และ เจตสิก (สภาพธรรมที่เกิดร่วมกับจิต) น้อมไปในทางฝ่ายกุศลมากยิ่งขึ้น ตามระดับขั้นของความเข้าใจถูกเห็นถูก ครับ.

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
j.jim
วันที่ 19 ก.ค. 2557

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
peem
วันที่ 19 ก.ค. 2557

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
mild
วันที่ 22 ก.ค. 2557

ฟังแล้วเข้าใจ คือตั้งจิตไว้ชอบ ฟังแล้วไม่เข้าใจคือไม่ตั้งจิตไว้ชอบ เข้าใจถูกคือตั้งจิตไว้ชอบ เข้าใจผิดคือตั้งจิตไว้ไม่ชอบ,ฟังธรรมทั้งหมดสำคัญที่ความเข้าใจครับ ตั้งจิตไว้ชอบเป็นกุศล ตั้งจิตโดยไม่ชอบเป็นอกุศล ธรรมะละเอียดลึกซึ้งมากจึงต้องฟังมากขึ้นเพื่อเข้าใจมากขึ้น มีวิริยะความเพียรที่จะอดทนฟังเป็นปัญญา ไม่อดทนฟังก็เป็นอวิชชา ถ้าไม่ประมาทก็คือเห็นคุณ ถ้าไม่เห็นคุณก็เป็นผู้ประมาทครับ

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
wannee.s
วันที่ 23 ก.ค. 2557

ตั้งจิตไว้ชอบคือมีความตั้งใจแน่วแน่ไม่เปลี่ยนในการเจริญกุศลทุกประการค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
chatchai.k
วันที่ 23 ก.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
ก.ไก่
วันที่ 9 มี.ค. 2564

สาธุ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
สิริพรรณ
วันที่ 24 เม.ย. 2565

กราบขอบพระคุณยินดีในกุศลทุกท่านค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ