รอยขีดบนพื้นดินและพื้นน้ำ

 
papon
วันที่  16 ก.ค. 2557
หมายเลข  25117
อ่าน  3,093

เรียนอาจารย์ทั้งสองท่าน

"รอยขีดบนพื้นดินและพื้นน้ำ" ในพระอภิธรรมพื้นฐาน 507 มีในพระสูตรไหน และมีความหมายในอรรถว่าอย่างไรครับ ขอความอนุเคราะห์ด้วยครับ ขอบคุณและขออนุโมทนาครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 16 ก.ค. 2557

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ขอแสดงโดยหลายนัย ในเรื่องรอยขีดในพื้นดิน และ พื้นน้ำดังนี้

โดยนัยแรก แสดงถึง สัตว์ที่มีกิเลสมาก เหมือนรอยขีดในพื้นน้ำ

[เล่มที่ 73] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย พุทธวงศ์ เล่ม ๙ ภาค ๒ - หน้าที่ 694

แม้กาลที่อายุคนต่ำกว่าร้อยปี ก็ยังไม่ใช่กาลอันสมควร. เพราะเหตุไร

เพราะว่าในกาลนั้น [กาลที่มนุษย์มีอายุต่ำกว่าร้อยปี] สัตว์ทั้งหลายมีกิเลสหนาแน่นและโอวาทที่ประทานแก่สัตว์ที่มีกิเลสหนาแน่น จะไม่คงอยู่ในฐานะควรโอวาท จะขาดหายไปเร็ว เหมือนรอยไม้ที่ขีดในน้ำ เพราะฉะนั้น จึงไม่ใช่กาลอันสมควร

แต่กาลแห่งอายุต่ำกว่าแสนปีลงมา สูงเกินร้อยปีขึ้นไป ชื่อว่ากาลอันสมควร

-- ความหมายคือ เมื่อสัตว์อายุต่ำกว่าร้อยปี กิเลสมาก อวิชชามาก ปัญญาน้อยการฟังพระธรรมก็เข้าใจยาก ฟังแล้วก็ลืมทันทีเหมือนกับรอยไม้ที่ขีดในน้ำหายไปรวดเร็วอย่างนั้นครับ

* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

นัยที่ 2 แสดงถึงชีวิตที่แสนสั้น เหมือนรอยไม้ที่ขีดในน้ำ หายไปอย่างรวดเร็ว

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต เล่ม ๔ - หน้าที่ 273

๑๐. อรกานุสาสนีสูตร

ดูก่อนพราหมณ์ รอยไม้ที่ขีดลงไปในน้ำ ย่อมกลับเข้าหากันเร็ว ไม่ตั้งอยู่นาน แม้ฉันใด ชีวิตของมนุษย์ทั้งหลาย เปรียบเหมือนรอยไม้ที่ขีดลงไปในน้ำ ฉันนั้นเหมือนกัน นิดหน่อย รวดเร็ว มีทุกข์มากมีความคับแค้นมาก จะพึงถูกต้องได้ด้วยปัญญา ควรกระทำกุศล ควรประพฤติพรหมจรรย์ เพราะสัตว์ที่เกิดมาแล้วจะไม่ตายไม่มี.

* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

--การเกิดมาในภพหนึ่งชาติหนึ่งนั้น สั้นมาก ชีวิตที่ดําเนินไปในแตละวันนั้นก้าวไปใกล้ความตายเข้าไปทุกทีๆ ในพระไตรปิฎก พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงพระธรรมด้วยข้ออุปมาให้เห็นถึงความเล็กน้อยของชีวิตไว้มากมาย เพื่อให้ผู้ศึกษาได้เข้าใจตามความเป็นจริง เพื่อจะได้เป็นผู้ไม่ประมาทในชีวิตอันมีประมาณน้อยนี้ เช่น ชีวิตเปรียบเหมือนนํ้าค้างที่อยูบนยอดหญ้า พอพระอาทิตย์ขึ้นมาก็เหือดแห้งไป ชีวิตมนุษยก็เป็นเช่นนั้น ชีวิตเปรียบเหมือนรอยไม้ที่ขีดลงไปในนํ้า ที่กลับเข้าหากันเร็ว ไม่ตั้งอยู่นาน ชีวิตมนุษย์ก็เป็นเช่นนั้น หรือแม้กระทั่ง อุปมาเหมือนกับการทอผ้าของช่างทอผ้า ขณะที่ทอผ้า แผ่นผาก็จะค่อยๆ เต็มขึ้น ส่วนที่ยังทอไม่เสร็จก็จะเหลือน้อยลงเรื่อยๆ จนกระทั่งเต็มผืนในที่สุด ชีวิตมนุษย์ก็เป็นเช่นนั้น ซึ่งในที่สุดก็จะต้องละจากโลกนี้ไปด้วยกันทั้งนั้น แต่จะตายที่ไหน เมื่อใด ด้วยโรคอะไร และหลังจากที่ตายแล้วจะไปเกิด ณ ที่ใด ไม่สามารถทราบได้

* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

รอยไม้ที่ขีดในน้ำ และในดิน ในหิน

ก็แสดงถึง บุคคล สามประเภทที่แตกต่างกันไปดังนี้ ครับ

๑๐. เลขสูตร

ว่าด้วยบุคคล ๓ จำพวก

[๕๗๒] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๓ นี้มีปรากฏอยู่ในโลกบุคคล ๓ คือใคร คือบุคคลเหมือนรอยขีดในหิน บุคคลเหมือนรอยขีดในดิน บุคคลเหมือนรอยขีดในน้ำ

บุคคลเหมือนรอยขีดในหินเป็นอย่างไร? บุคคลบางคนในโลกนี้โกรธเนืองๆ และความโกรธของเขานั้นติดกรุ่นในใจ ไปนานๆ เหมือนรอยขีดในหิน ย่อมไม่ลบง่ายๆ ด้วยลมพัดหรือน้ำเซาะ ย่อมติดอยู่นานฉันใด บุคคลบางคนในโลกนี้โกรธเนืองๆ และความโกรธของเขานั้นติดกรุ่นอยู่ในใจไปนานๆ ฉันนั้น นี่เรียกว่าบุคคลเหมือนรอยขีดในหิน

บุคคลเหมือนรอยขีดในดินเป็นอย่างไร? บุคคลบางคนในโลกนี้โกรธเนืองๆ แต่ความโกรธของเขานั้น ไม่ติดกรุ่นอยู่ในใจนาน เหมือนรอยขีดในดิน ย่อมลบง่ายด้วยลมพัดหรือน้ำเซาะ หาติดอยู่นานไม่ ฉันใดบุคคลบางคนในโลกนี้โกรธเนืองๆ แต่ความโกรธของเขานั้นไม่ติดกรุ่นอยู่ในใจนานฉันนั้น นี่เรียกว่าบุคคลเหมือนรอยขีดในดิน

บุคคลเหมือนรอยขีดในน้ำเป็นอย่างไร? บุคคลบางคนในโลกนี้ถูกว่าแม้ด้วยคำเลว คำหยาบ คำไม่เจริญใจ ก็ยังสมานไว้ได้ ยังประสานไว้ได้ยังพูดจาดีอยู่ได้ เหมือนรอยขีดในน้ำย่อมพลันหาย ไม่ติดอยู่นานเลยฉันใด บุคคลบางคนในโลกนี้ถูกว่าแม้ด้วยคำเลว คำหยาบ คำไม่เจริญใจ ก็ยังสมานไว้ได้ ยังประสานไว้ได้ ยังพูดจาดีอยู่ได้ฉันนั้น นี่เรียกว่าบุคคลเหมือนรอยขีดในน้ำ.

* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

อีกนัยหนึ่ง รอยไม้ที่ขีดบนหิน

แสดงถึงปัญญาที่ทรงจำพระธรรมได้เป็นอย่างดี ดั่งเช่นพระอานนท์

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้าที่ 294

พระอานนทเถระ ท่านยืนบนก้าวที่กำลังยกก้าวเดียวได้ ฟังครั้งเดียวเท่านั้น ไม่ถามซ้าอีก ก็รับเอาได้ตั้งหกหมื่นบท ตั้งหนึ่งหมื่นห้าพันคาถา ในขณะเดียวกันนั่นเอง, เหมือนเอาเถาวัลย์ดึงเอาดอกไม้มาถือไว้, และที่ท่านได้เล่าเรียนมาแล้ว ก็ตั้งอยู่โดยอาการที่ได้รับไว้ เหมือนรอยขีดบนแผ่นหิน

* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

และ นัยสุดท้ายที่ลึกซึ้ง คือ รอยไม้ที่ขีดในน้ำ

ที่แสดงถึงสภาพธรรมที่เป็นสังขารธรรม

คือ นามธรรม รูปธรรม ที่เป็น จิต เจตสิก รูปที่เกิดดับอย่างรวดเร็วอย่างยิ่ง ครับ

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค เล่ม ๗ ภาค ๑ - หน้าที่ 690

สังขารทั้งหลายใหม่เป็นนิจ ย่อมปรากฏแก่ประเภทของสัจจะ ปฏิจจสมุปปาทนัย และลักษณะที่มีความปรากฏแล้วนั้นว่า ธรรมเหล่านี้ที่ยังไม่เคยเกิดก็เกิด ที่เกิดแล้วก็ดับไป ดังนี้. สังขารทั้งหลายมิใช่ใหม่เป็นนิจอย่างเดียว, สังขารทั้งหลายย่อมปรากฏ ดุจหยาดน้ำค้างในเวลาพระอาทิตย์ขึ้น ดุจฟองน้ำ ดุจรอยไม้ขีดในน้ำ

* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

นี่คือความละเอียดลึกซึ้ง ของ คำว่า รอยไม้ที่ขีดในน้ำ ในพื้นดิน และในหิน ครับ

...ขออนุโมทนา ครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
papon
วันที่ 17 ก.ค. 2557

เรียนอาจารย์ทั้งสองท่าน

ในนัยของความโกรธที่เหมือนรอยขีดบนพื้นน้ำและพื้นดิน ความเข้าใจว่าความโกรธก็เป็นโทสะธาตุที่เป็นธรรม ไม่ใช่เราจะทำให้โทสะไม่สะสมในจิตได้หรือครับ?ขอความอนุเคราะห์ด้วยครับ ขอบคุณและขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
paderm
วันที่ 17 ก.ค. 2557

เรียนความเห็นที่ 2 ครับ

ขณะที่โกรธเกิดขึ้น สะสมแล้วในขณะนั้น หากแต่ว่าเมื่อเข้าใจถูกว่า โกรธเป็นธรรม

ไม่ใช่เรา ขณะนั้น สะสมปัญญา ความเห็นถูก ไม่ได้สะสมความโกรธในขณะนั้น ครับ

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
papon
วันที่ 17 ก.ค. 2557

ขอบคุณมากครับอาจารย์ที่ให้ปัญญา ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
khampan.a
วันที่ 17 ก.ค. 2557

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ข้อความจากการสนทนาในชุดพื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ ๕๐๗

อ. อรรณพ อย่างที่พระองค์ท่านทรงเปรียบเทียบเหมือนรอยขีดบนพื้นน้ำ พื้นดิน หรือว่าบนแผ่นหิน ก็หมายถึงแม้ความโกรธจะเกิดขึ้น ดับแล้วก็ดับไป เหมือนรอยขีดบนพื้นน้ำ กับการฝังลึกเหมือนการผูกโกรธเหมือนรอยขีดบนแผ่นหิน ต่างกันตรงที่ว่า จะมีปัญญารู้ว่าเป็นธรรมะหรือเปล่า ใช่ไหมครับ

อ. สุจินต์ ถ้าขณะนั้นไม่เห็นโทษก็ผูกเอาไว้อีก ผูกไปเรื่อยๆ เพราะฉะนั้น ที่จะไม่ผูก ก็เพราะปัญญา ทั้งหมดนี้ขึ้นอยู่กับปัญญา อกุศลทั้งหลายที่จะค่อยๆ ละคลายจางลงไปได้จนกระทั่งดับหมดไม่เหลือเลย ก็เพราะปัญญา

------------------------------------------------------

พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ที่มีข้ออุปมาต่างๆ ก็ไม่ใช่ให้ไปติดที่คำอุปมา แต่เพื่ออุปการะเกื้อกูลให้ได้มีความเข้าใจถูกเห็นถูกในธรรมตามความเป็นจริง เป็นประโยชน์สำหรับผู้ได้ฟังได้ศึกษาอย่างแท้จริง

การได้ฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมในภพนี้ชาตินี้ ก็แสดงว่า ต้องเป็นผู้เคยได้สะสมเหตุที่ดีมาแล้ว เคยได้ฟังพระธรรม เคยเห็นประโยชน์ของพระธรรมมาแล้ว จึงสนใจที่จะฟัง ที่จะได้ศึกษาสะสมความเข้าใจถูก เห็นถูกต่อไป ถ้าเป็นผู้ที่ไม่ได้สะสมเหตุที่ดีมา แม้เสียงของพระธรรมจะอยู่ใกล้ๆ ก็ไม่ฟัง เพราะเป็นผู้ไม่มีศรัทธา ไม่หลั่งศรัทธามาที่จะรองรับพระธรรม แต่ผู้ที่เห็นประโยชน์ของพระธรรม แม้ว่าจะไหลไปด้วยอำนาจของกิเลสบ้าง แต่ก็ยังมีโอกาสที่จะได้ยินได้ฟังบ้างในวันหนึ่งๆ มากบ้าง น้อยบ้าง ตามโอกาสที่มี เป็นไปตามการสะสมของแต่ละบุคคล แม้เพียงเล็กน้อย ก็มีประโยชน์ เป็นประโยชน์แล้วที่ได้ยินได้ฟังในแต่ละครั้ง ซึ่งถ้าไม่เคยสะสมเหตุที่ดีอย่างนี้มาเลย ก็คงจะไม่ฟังอย่างแน่นอน แต่ที่ฟังก็เพราะเห็นประโยชน์ เคยได้ยินได้ฟังพระธรรมมาแล้ว และความเข้าใจถูกเห็นถูกก็ไม่สูญหายไปไหน สะสมสืบต่ออยู่ในจิตทุกขณะ

บุคคลผู้เป็นบัณฑิต ย่อมรู้ว่า การที่ปัญญาจะเจริญขึ้นได้นั้น ต้องอาศัยการฟัง การศึกษาพระธรรมเป็นปกติในชีวิตประจำวัน จะขาดการฟังพระธรรมไม่ได้เลยทีเดียว

ทุกคนเกิดมาแล้วต้องแก่ ต้องเจ็บ ต้องตาย ไม่ว่าจะไปไหนหนีไปอยู่ ณ ที่ใดก็ไม่พ้น เพราะสัตว์โลกถูกความตายครองงำไว้และจะต้องพลัดพรากจากสิ่งที่เป็นที่รักทั้งปวงอย่างหนีไม่พ้น นี้คือ สัจจธรรม (ความจริง) ที่ทุกคนควรรู้

ความจริงเป็นอย่างไรก็ต้องเป็นอย่างนั้น จะไปเปลี่ยนแปลงความจริงให้เป็นอย่างอื่นก็ไม่สามารถที่จะเป็นไปได้เลย จึงควรที่จะได้พิจารณาว่า ไม่มีอะไรที่จะเป็นที่พึ่งสำหรับชีวิตอย่างแท้จริง นอกจากปัญญา ความรู้ความเข้าใจซึ่งความจริงเท่านั้น

ถึงแม้ว่าชีวิตประจำวัน อาจจะมีพ่อแม่ พี่น้อง ได้คอยช่วยเหลือในกิจการงานต่างๆ บ้าง แต่ในที่สุดแล้ว ก็จะต้องทิ้งกันและกันอยู่ดี ด้วยความตายที่เกิดขึ้น ท่านเหล่านั้นไม่สามารถติดตามไปช่วยเหลืออะไรในภพหน้าได้ แต่ความดีที่ได้สะสมไว้ในขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คือ ปัญญาที่เกิดจากการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมในแต่ละครั้งในชีวิตประจำวันนั้น ไม่สูญหายไปไหน สะสมสืบต่ออยู่ในจิตทุกขณะ และจะเป็นที่พึ่งที่แท้จริงสำหรับชีวิต

ขณะที่โกรธ ขณะที่ไม่พอใจ ขณะที่ขุ่นเคืองใจนั้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องใดๆ ก็ตาม เช่น เพราะมีบุคคลอื่นมาทำความเสียหายให้กับตนหรือกับบุคคลที่ตนเองรัก เป็นต้น ขณะนั้นเป็นการสะสมโทสะไว้ในจิตแล้ว เมื่อสะสมมากขึ้นๆ จนโทสะ ความโกรธความขุ่นเคืองใจมีกำลังมากขึ้น วันหนึ่งวันใดข้างหน้าอาจจะถึงกับฆ่าคนก็เป็นได้ เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว จึงไม่ควรเห็นว่า ความโกรธเป็นเรื่องดี ไม่ควรอย่างยิ่งที่จะยินดีในความโกรธ เพราะเหตุว่า การสอนให้โกรธ การสอนให้ทำร้ายต่อบุคคลอื่นนั้น ไม่มีในคำสอนทางพระพุทธศาสนา เพราะพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาแห่งปัญญา ที่ทำให้ผู้ที่ศึกษา มีความเข้าใจถูก เห็นถูก เป็นไปเพื่อ ละอกุศล ละความไม่รู้ จนกระทั่งสูงสุดเพื่อความเป็นผู้ดับกิเลสได้หมด พ้นจากทุกข์ทั้งปวงได้ในที่สุด

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงพระธรรม เพื่อให้ผู้ฟังได้พิจารณาไตร่ตรองเป็นความเข้าใจของผู้ฟังเอง ขอเพียงเป็นผู้เห็นประโยชน์ของการเข้าใจธรรม ซึ่งก็หมายถึงสิ่งที่มีจริงอยู่ในขณะนี้ ซึ่งไม่เคยรู้มาก่อนเลยว่าเป็นธรรม เพราะในการฟังการศึกษาพระธรรมนั้น เป็นการศึกษาเพื่อให้เข้าใจสิ่งที่มีจริงที่กำลังมีในขณะนี้จริงๆ ซึ่งตัวสภาพธรรมจริงๆ นั้น มีลักษณะเฉพาะของตนๆ สิ่งสำคัญ คือ การฟังแล้ว เข้าใจในสิ่งที่กำลังฟัง ขอเพียงฟังให้เข้าใจจริงๆ ฟังพระธรรมให้เข้าใจ เป็นปัญญาของตนเอง สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกไปตามลำดับ ฟังแล้ว เข้าใจ นี้แหละ คือ สิ่งที่เป็นประโยชน์ ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
wannee.s
วันที่ 17 ก.ค. 2557

รอยไม้ที่ขีดในน้ำ เหมือนการฟังธรรมแล้วลืมง่าย หรือ โกรธก็หายเร็ว ค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ