การเบียดเบียน

 
tmangkon
วันที่  17 ก.ค. 2557
หมายเลข  25119
อ่าน  2,475

มีการกล่าวว่าคนไทย ไม่ (ค่อย) มีจิตสาธารณะ คือ ไม่คิดถึงประโยชน์หรือผลกระทบของส่วนรวม เช่น จอดรถในที่ไม่ควรจอด (เพื่อลงไปซื้อของทาน) แล้วทำให้รถติดบริเวณนั้น การกระทำแบบนี้ เป็นอกุศลอย่างไรคะ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 17 ก.ค. 2557

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

โดยทั่วไปแล้ว จิตของปุถุชนก็มากไปด้วยกิเลส เกิดอกุศลโดยมาก จะรู้ หรือ ไม่รู้ ก็ตาม ไม่ต้องกล่าวถึงการจอดรถในที่ไม่ควรจอด แม้ขณะนี้เห็น ก็เป็นอกุศลแล้ว รับประทานอาหาร เข้าห้องน้ำ ทำกิจวัตรประจำวัน ก็ล้วนแล้วแต่ด้วยอกุศลโดยมากเพราะสะสมอกุศลมามากนั่นเอง เพราะฉะนั้น แม้แต่การกระทำ เช่น การจอดรถในที่ไม่ควรจอดโดยมากก็ด้วยอกุศลจิตที่ทำไป เพราะไม่ได้นึกถึงคนอื่น และจิตขณะนั้น ไม่ได้เป็นไปในทาน ศีล ภาวนาในกุศล ก็ต้องเป็นอกุศลที่เป็นปกติในชีวิตประจำวัน ซึ่งก็เป็นการเห็นแก่ตัวด้วยกิเลส ด้วยอกุศลในขณะนั้น

ความเห็นแก่ตัวเป็นอกุศลธรรม ใครก็ตามที่ยังมีกิเลสอยู่ก็ยังมีความเห็นแก่ตัวแน่นอน เมื่อมีความรู้สึกว่าเป็น เรา หรือว่า เป็นตัวตน ก็ย่อมมี ความเห็นแก่ตัว มากกว่าที่จะเห็นแก่บุคคลอื่น เพราะฉะนั้นชีวิตประจำวันจึงมีความรักตัว และก็ทำทุกอย่างเพื่อตัวเองด้วยความเห็นแก่ตัวในขณะใด ในขณะนั้นเป็นอกุศลทั้งหมด

ดังนั้น สภาพธรรมที่จะเป็นเครื่องขัดเกลา ความเห็นแก่ตัว ขัดเกลากิเลสที่มีในชีวิตประจำวัน ก็คือ กุศลธรรมประการต่างๆ ทั้ง เมตตา กรุณา ทาน ศีล ภาวนา ซึ่งกุศลเหล่านี้จะเกิดได้ ก็ด้วยการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมเป็นสำคัญ ซึ่งเมื่อมีปัญญา ความเห็นถูก ก็จะคิดถึงคนอื่นก่อนเสมอ คิดถึงด้วยความเป็นมิตร สละความเห็นแก่ตัว นึกถึงส่วนรวมเป็นสำคัญ

แต่ประการที่สำคัญ คือ ทุกคนล้วนสะสมมาต่างๆ กันไป เป็นแต่ละคน แต่ละหนึ่ง จึงไม่สามารถเปลี่ยนแปลงใครได้เลย สำคัญที่ตัวเรา ที่จะอบรมความดีประการต่างๆ สละความเห็นแก่ตัวของตนเอง เช่น การให้ทาน ขณะนั้นก็ละความเห็นแก่ตัว เห็นประโยชน์สุขของบุคคลอื่น ถ้าไม่มีประโยชน์สุขของบุคคลอื่นให้ระลึกหรือให้คิดถึง ทานกุศลในขณะนั้นก็เป็นไปไม่ได้ ก็ยังคงคิดถึงแต่ประโยชน์สุขของตนเอง แต่ขณะใดที่มองเห็นบุคคลอื่นที่มีความจำเป็น ที่ควรที่จะได้รับวัตถุปัจจัย เป็นการช่วยเหลือเพื่อประโยชน์สุขของบุคคลนั้น ในขณะที่สละวัตถุเพื่อประโยชน์สุขของบุคคลอื่น กุศลขั้นทาน ก็ละความเห็นแก่ตัว โดยเห็นประโยชน์สุขของบุคคลอื่น

การรักษาศีล วิรัติงดเว้นทุจริตเบียดเบียนผู้อื่นทางกาย ทางวาจา ขณะนั้น ก็เป็นการละความเห็นแก่ตัว คือ ไม่คิดถึงแต่ประโยชน์สุขของตนเอง เนื่องจากในขณะที่วิรัติทุจริตกรรมนั้น ก็ต้องคิดถึงประโยชน์สุขของผู้นั้นด้วย มิฉะนั้นก็จะเบียดเบียนผู้นั้นได้ แต่ขณะใดที่เว้นการเบียดเบียน ด้วยกายบ้าง วาจาบ้าง ในขณะนั้นก็ละความเห็นแก่ตัว โดยเห็นประโยชน์สุขของบุคคลอื่น รวมถึงการกระทำในสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่ผู้อื่นด้วย ไม่ใช่เพียงแค่งดเว้นจากทุจริต เท่านั้น

การอบรมเจริญปัญญา เป็นการสละความเห็นแก่ตัวได้จริงๆ เพราะสามารถที่จะดับอกุศลได้ในที่สุด และความเข้าใจถูกเห็นถูกของตนเอง ยังสามารถเป็นไปเพื่อประโยชน์แก่ผู้อื่นได้ ด้วยการเกื้อกูลให้ผู้อื่นได้มีโอกาสเข้าใจความจริงด้วย ขออนุโมทนา ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
Rajatoon
วันที่ 17 ก.ค. 2557

เรียนถามต่อกรณีที่ว่า ถ้าเราก็เห็นแล้วว่า ป้ายห้ามจอด, ทางเท้าขาวแดง หรือ ที่จอดรถผู้พิการ มีอยู่ แต่ก็ยังขับเข้าไปจอด ดังนี้แล้ว จะเข้าขั้นล่วงอกุศลกรรมบถ 10 แล้วหรือไม่ครับ?

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
paderm
วันที่ 17 ก.ค. 2557

เรียนความเห็นที่ 2 ครับ

อกุศลกรรมบถ จะต้องถึงการฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ประพฤติผิดในกาม เป็นต้น แต่ เพียงการไปจอดรถในที่ห้ามจอด ทั้งๆ ที่รู้อยู่ ไม่ชื่อว่า ล่วงอกุศลกรรมบถ เป็นแต่เพียง ทุจริตทางกาย แต่ ไม่ถึงอกุศลกรรมบถ ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
khampan.a
วันที่ 17 ก.ค. 2557

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ควรอย่างยิ่งที่จะได้ฝึกในความเป็นผู้ตรง เพราะถ้าอย่างไหนที่ผิดกฎระเบียบ ไม่ได้เป็นไปเพื่อประโยชน์แก่ผู้อื่น ก็ไม่ควรทำ เพราะการกระทำอะไรก็ตามที่ผิด หรือ ไม่ตรงตามความเป็นจริง ก็มาจากอกุศลจิตทั้งหมด เพราะโดยปกติก็มีอกุศลมากด้วยกันทั้งนั้น บุคคลผู้ที่มีปัญญา ท่านจึงเป็นผู้เห็นภัยในอกุศลแม้เพียงเล็กน้อย เพราะฉะนั้นแล้ว การกระทำในสิ่งที่เหมาะควร แล้วเว้นในสิ่งที่ไม่ควร จึงเป็นสิ่งที่ดี

การที่จะได้รู้ถึงความควร และ ไม่ควร ก็เพราะได้ฟังพระธรรม แต่ก่อนอาจจะคิดว่าการกระทำบางอย่างไม่น่าจะผิดอะไร แต่พอได้ศึกษาพระธรรมแล้วจะเห็นได้ว่า ถ้าไม่ได้เป็นไปในทางที่เป็นกุศลอย่างหนึ่งอย่างใดแล้ว ทั้งในเรื่องของทาน ศีล การอบรมเจริญปัญญา เป็นต้น ที่เหลือนอกจากนั้นเป็นอกุศลทั้งหมด แต่ก็จะต้องพิจารณาอีกว่า อกุศลที่ว่านั้น มีกำลังถึงขั้นที่เป็นการประทุษร้ายเบียดเบียนผู้อื่นให้เดือดร้อนที่เป็นอกุศลกรรมบถหรือไม่? แต่ถึงอย่างไรก็ตามขึ้นชื่อว่าอกุศลแล้ว ไม่เคยนำคุณประโยชน์มาให้ใครเลย อกุศล เป็นที่พึ่งไม่ได้ แต่สิ่งที่จะเป็นที่พึ่งของสัตว์ทั้งหลายทั้งในโลกนี้และในโลกหน้านั้น ก็คือ กุศลธรรม เท่านั้น เพราะฉะนั้นแล้วการน้อมประพฤติในสิ่งที่ดีงาม สะสมเป็นอุปนิสัยที่ดีให้กับตนเอง ย่อมเป็นสิ่งที่สมควร และสิ่งที่จะเป็นเครื่องนำทางชีวิตที่ดี ก็คือ ความเข้าใจถูกเห็นถูก เพราะขึ้นชื่อว่าปัญญาแล้ว จะไม่นำพาไปในทางที่ผิดเลยแม้แต่น้อย ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
wannee.s
วันที่ 17 ก.ค. 2557

จอดรถในที่ห้ามจอด ไม่บาป ถึงอกุศลกรรมบถ แต่ เบียดเบียนคนอื่น ไม่ควร ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
tmangkon
วันที่ 17 ก.ค. 2557

ขอบพระคุณต่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
Rajatoon
วันที่ 17 ก.ค. 2557

ขอบพระคุณผู้ช่วยแก้และทุกท่านครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ