ตึง ไหว

 
papon
วันที่  7 ก.ค. 2557
หมายเลข  25068
อ่าน  941

เรียนอาจารย์ทั้งสองท่าน

ตึงไหว เป็นรูปที่ปรากฏต่อกายปสาทะ มีลักษณะเป็นอย่างไรครับ และถ้าสภาพธรรมที่ตึงไหวมากน้อยเกินไปเป็นอย่างไรครับ ขอความอนุเคราะห์ด้วยครับ ขอบคุณและขออนุโมทนาครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 7 ก.ค. 2557

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

สภาพธรรมที่เป็นสิ่งที่มีจริง มี 2 อย่าง คือ นามธรรม และ รูปธรรม นามธรรมได้แก่จิต เจตสิก ที่เป็นสภาพรู้ ส่วน รูปธรรม เป็นสภาพธรรมที่ไม่รู้อะไรเลย ซึ่ง การรับรู้ทางกาย เป็นกิจหน้าที่ของจิต ที่เรียกว่า กายวิญญาณจิต ซึ่งการรับรู้ทางกายนั้น มีอารมณ์ได้ ทั้งสภาพธรรมที่เป็นรูปธรรม ที่เป็นลักษณะของธาตุดินคือ แข็ง อ่อน ธาตุไฟ คือ เย็น ร้อน และ ลักษณะของธาตุลม คือ ตึง หรือ ไหว ซึ่งลักษณะ ตึงไหว เป็นลักษณะของสภาพธรรมที่มีจริง ที่แสดงลักษณะของธาตุลม ที่สามารถเกิดมีได้ในชีวิตประจำวัน ที่เป็นการรับรู้ทางกาย ซึ่งการขยับร่างกาย เคลื่อนไหว ในอิริยาบถต่างๆ ก็อาจปรากฏลักษณะของสภาพธรรมที่ ตึง หรือ ขณะใดที่เคลื่อนไหว แขน ขา ก็สามารถปรากฏลักษณะที่ไหวไป ซึ่งเป็นลักษณะของธาตุลม

สามารถอ่านกระทู้เพิ่มเติมได้ที่นี่ ครับ

ลักษณะ ตึง ไหว

เชิญฟังธรรมได้ที่นี่ ครับ

รูปที่จะไหวได้ คือ ธาตุลม

กายปสาทรูป กับ เย็น ร้อน อ่อน แข็ง ตึง ไหว

ซึ่งลักษณะของตึงและไหวที่เป็นธาตุลม ก็มีลักษณะตึงมาก ตึงน้อย ไหวมาก ไหวน้อย เช่นเดียว กับรูปอื่นๆ ที่เป็น ธาตุไฟ เป็นต้น ที่เย็นมาก เย็นน้อย เป็นต้น ครับ

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
papon
วันที่ 7 ก.ค. 2557

เรียนอาจารย์ทั้งสองท่าน

เย็นร้อน อ่อนแข็ง ที่มากน้อยเกินไป ทำให้เกิดทุกข์ทางกาย แต่ตึงไหวที่มากน้อยเกินไปทำให้เกิดทุกข์อย่างไรครับ ขอความอนุเคราะห์ด้วยครับ ขอบคุณและขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
paderm
วันที่ 7 ก.ค. 2557

เรียนความเห็นที่ 2 ครับ

การที่ตึงเกินไป เช่น ร่างกายของคนที่เคล็ดขัดยอก ก็ตึงเกินไป ก็ปวด เกิดทุกขเวทนาทางกาย เป็นต้น ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
khampan.a
วันที่ 7 ก.ค. 2557

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

แสดงถึงความเป็นจริงของสถาพธรรมซึ่งเป็นจริงแต่ละอย่างโดยไม่ปะปนกัน รูปธรรมเป็นรูปธรรม นามธรรมเป็นนามธรรม รูปธรรมมีจริงๆ ไม่ใช่สภาพรู้ ไม่ใช่ธาตุรู้ ส่วนนามธรรมที่เป็นจิตกับเจตสิกนั้น เป็นสภาพธรรมที่รู้อารมณ์ เป็นสภาพรู้เป็นธาตุรู้ ซึ่งจะแตกต่างกับรูปธรรมอย่างสิ้นเชิง สำหรับสภาพธรรมที่เป็นเย็น ร้อน อ่อน แข็ง ตึง ไหว นั้น เป็นสภาพธรรมที่กระทบกายปสาทะ เป็นธรรมที่เกิดเพราะเหตุปัจจัยไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครทั้งสิ้น เพราะมีกายปสาทะ และมีรูปที่กระทบกับกายปสาทะ จึงเป็นเหตุให้จิตเกิดขึ้นรู้อารมณ์ดังกล่าวนั้น ซึ่งทั้งหมดล้วนเป็นธรรมที่เกิดเพราะเหตุปัจจัยทั้งสิ้น ไม่มีใครทำให้เกิดขึ้นเลย ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
wannee.s
วันที่ 7 ก.ค. 2557

ลักษณะตึง ไหว เป็นธาตุ เป็นวาโยธาตุ รู้ว่าเป็นเพียงธรรมที่มีจริง ไม่ใช่เรา ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
papon
วันที่ 7 ก.ค. 2557

เรียนอาจารย์ทั้งสองท่าน

ขอบคุณอาจารย์มากครับที่ให้ปัญญา แต่รูปที่กระทบกายปสาทะที่ทำให้มีความตึงมากเกินไปแล้วเกิดการปวดซึ่งอาจเป็นปัจจัยต่อการรู้อารมณ์ทางกายปสาทะเช่นการฉีดยา โคยมีวิบากปัจจัยเป็นปัจจัยหลักใช่หรือไม่อย่างไรครับ? ขอบคุณและขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
paderm
วันที่ 7 ก.ค. 2557

เรียนความเห็นที่ 6 ครับ

การปวด มีกรรมปัจจัย เป็นหลัก ครับ ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
papon
วันที่ 7 ก.ค. 2557

เรียนอาจารย์ทั้งสองท่าน

เป็นนานักขนิกกรรมปัจจัยใช่หรือไม่อย่างไรครับ? ขอบคุณและขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
paderm
วันที่ 8 ก.ค. 2557

เรียนความเห็นที่ 8 ครับ

ถูกต้อง ครับ ขออนุโมทนา

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ