บุคคลที่สอนธรรมะผิดเพราะเข้าใจผิด และบุคคลที่อาจเข้าใจผิดว่าตนบรรลุธรรม

 
thilda
วันที่  30 มิ.ย. 2557
หมายเลข  25043
อ่าน  2,480

เรียนถามอาจารย์ดังนี้ค่ะ

1) บุคคลที่มีความตั้งใจดีและหวังดีจริงๆ และเข้าใจว่าตนเองทราบธรรมะแล้ว และได้นำมาเผยแพร่หรือสอนบุคคลอื่นๆ ถือว่าเป็นอกุศลกรรมที่หนักมากไหมคะ ในเมื่อเขามีความตั้งใจดีและหวังดีมากๆ กับคนอื่น ไม่ได้หวังร้ายเลย แต่ว่าเขามีความเข้าใจผิดค่ะ ความตั้งใจและความหวังดีนี้จะช่วยเป็นเครื่องกั้นให้เขาไม่ต้องประสบอกุศลวิบากบ้างไหมคะ และเราควรจะทำอะไรบ้างไหมคะ เพราะเราก็เคยเรียนธรรมะจากเขา

2) บุคคลที่เข้าใจว่าตนบรรลุธรรมขั้นต้น (โสดาบัน) แล้ว แต่ไม่ได้มาสอนธรรมนะคะ และเราทราบเพราะเขาแจ้งให้เราทราบ เราควรจะสอบถามอะไรเขาบ้างไหมคะ เพื่อให้เขาลองคิดว่าเขาบรรลุธรรมนั้นจริงไหม ถ้าเขาเข้าใจผิด เขาจะได้เข้าใจถูก และถ้าเขาบรรลุธรรมนั้นจริง จะมีโทษอะไรกับเราไหมคะ

ขอบพระคุณอาจารย์ทุกท่านมากๆ ค่ะ เป็นบุญของดิฉันมากๆ ที่ได้มารู้จักและศึกษาจากทางมูลนิธิฯ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 30 มิ.ย. 2557

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

1) บุคคลที่มีความตั้งใจดีและหวังดีจริงๆ และเข้าใจว่าตนเองทราบธรรมะแล้วและได้นำมาเผยแพร่หรือสอนบุคคลอื่นๆ ถือว่าเป็นอกุศลกรรมที่หนักมากไหมคะในเมื่อเขามีความตั้งใจดีและหวังดีมากๆ กับคนอื่น ไม่ได้หวังร้ายเลย แต่ว่าเขามีความเข้าใจผิดค่ะ ความตั้งใจและความหวังดีนี้จะช่วยเป็นเครื่องกั้นให้เขาไม่ต้องประสบอกุศลวิบากบ้างไหมคะ และเราควรจะทำอะไรบ้างไหมคะ เพราะเราก็เคยเรียนธรรมะจากเขา

@ ขณะใดมีเจตนาที่ดี ให้ผู้อื่นเข้าใจธรรม เป็นจิตที่เป็นกุศลในขณะหนึ่ง แต่ขณะที่สอนผิด ขณะนั้นก็ต้องเป็นความเห็นผิด ในขณะนั้น เป็นอกุศลในขณะนั้น เพราะขณะนั้นมีความไม่รู้เกิดร่วมด้วย เพราะไม่รู้จึงเห็นผิด แม้ไม่มีเจตนาที่จะบิดเบือนคำสอน แต่ขณะนั้นเข้าใจผิด และสอนในสิ่งที่ผิด ก็เป็นอกุศลในขณะนั้น ดังนั้นจึงไม่สามารถที่จะเอากุศล กับ อกุศลมาปนกัน หักล้างกันได้เลย เจตนาหวังดีมี เป็นกุศล แต่ สอนผิด ก็เป็นอกุศลในขณะนั้น ครับ ซึ่งการสอนผิด ทำให้ผู้อื่นเข้าใจผิด ก็มีโทษมาก เป็นบาป ดังข้อความในพระไตรปิฎกที่ว่า

[เล่มที่ 35] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกนิบาต เล่ม ๒ - หน้าที่ 558

อสัตบุรุษยิ่งกว่าอัสตบุรุษ เป็นไฉน? บุคคลบางคนเป็นผู้มีความเห็นผิด ฯลฯ มีวิมุตติผิดด้วยตนเองด้วย ชักชวนผู้อื่นให้เป็นอย่างนั้นด้วย

นี้เรียกว่า อสัตบุรุษยิ่งกว่าอสัตบุรุษ.

[เล่มที่ 33] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต-ทุกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้าที่ 192

[๑๙๕] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ผู้ที่ชักชวนเข้าในธรรมวินัยที่กล่าวไว้ชั่ว ๑ ผู้ที่ถูกชักชวนแล้วปฏิบัติเพื่อความเป็นอย่างนั้น ๑ คนทั้งหมดนั้น ย่อมประสบกรรม มิใช่บุญ เป็นอันมาก ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะธรรมท่านกล่าวไว้ชั่ว.

เชิญคลิกอ่านที่นี่ ครับ

อาจารย์สอนผิด

* * * * * * * * * * * * * * * * * *

2) บุคคลที่เข้าใจว่าตนบรรลุธรรมขั้นต้น (โสดาบัน) แล้ว แต่ไม่ได้มาสอนธรรมนะคะ และเราทราบเพราะเขาแจ้งให้เราทราบ เราควรจะสอบถามอะไรเขาบ้างไหมคะเพื่อให้เขาลองคิดว่าเขาบรรลุธรรมนั้นจริงไหม ถ้าเขาเข้าใจผิด เขาจะได้เข้าใจถูก และถ้าเขาบรรลุธรรมนั้นจริง จะมีโทษอะไรกับเราไหมคะ

@ ก็คุยสนทนา ตามความเข้าใจ เพราะ ต้องไม่ลืมว่า ผู้ที่สำคัญว่าบรรลุ ย่อมไม่มีความเข้าใจพื้นฐาน เพราะฉะนั้น การสนทนาให้เกิดความเข้าใจตั้งแต่ต้น ก็ต้องอาศัยเวลา การสนทนา โดยไม่คาดหวังว่าเขาจะเข้าใจถูก หรือ เห็นถูก แต่ค่อยๆ สนทนา ทีละน้อย เช่น ธรรม คือ อะไร และ ปัญญาที่ควรรู้ รู้อะไรเป็นต้น ขณะนี้รู้ความจริงของสภาพธรรมว่าเป็นธรรมไม่ใช่เราหรือไม่ และ ก็ให้ สื่อธรรม ส่วนเขาจะสะสมมาที่จะเข้าใจ หรือ ไม่เข้าใจก็ตามการสะสมของแต่ละคน ซึ่งเป็นเรื่องของเหตุปัจจัยของแต่ละคน ไม่สามารถบังคับกันได้เลย ครับ ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
khampan.a
วันที่ 30 มิ.ย. 2557

ขอบนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

-การแสดงธรรมที่ผิดจากพระธรรมคำสอนที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง เป็นอันตรายมาก เพราะเหตุว่า ตนเองเห็นผิดแล้วยังเผยแพร่ความเห็นผิดให้กับคนอื่นด้วย เป็นการกล่าวตู่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นการทำลายพระศาสนา ทำให้คนเข้าใจผิด นำผู้คนออกจากสัทธรรม หันหลังให้คำสอนที่แท้จริง ดังนั้น เครื่องป้องกันความเห็นผิด ก็ต้องเป็นผู้ฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมด้วยความละเอียดรอบคอบ อาศัยพระธรรมคำสอน เป็นที่พึ่ง ไม่คิดธรรมเอาเอง เมื่อเข้าใจอย่างถูกต้อง ก็จะสามารถเกื้อกูลให้ผู้อื่นได้เข้าใจอย่างถูกต้องตามไปด้วย ครับ

-ที่น่าพิจารณา คือ ยากที่จะรู้ว่าใครเป็นพระโสดาบัน การเป็นพระโสดาบันดูจากภายนอกไม่ได้ ไม่มีประโยชน์ที่จะไปเสาะแสวงหาว่า ใครเป็นพระโสดาบัน แต่สำหรับผู้ได้ฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมอบรมเจริญปัญญา ก็จะเข้าใจได้ว่า หนทางที่จะนำไปสู่การรู้แจ้งอริยสัจจธรรมถึงความเป็นพระอริยบุคคลนั้น คือ อะไร? คือ หนทางแห่งการอบรมเจริญปัญญา ถ้าไปทำอย่างอื่น หนทางอื่น ย่อมไม่มีทางถึงความเป็นพระอริยบุคคลได้ ถ้ามีใครมีความประพฤติที่นอกทางจากพระธรรมคำสอน ประพฤติปฏิบัติผิด ก็ไม่ใช่พระอริยบุคคลอย่างแน่นอน,สำหรับกัลยาณมิตรแล้ว ถ้ามีทางใดที่จะช่วยเหลือให้เขาได้ออกจากหนทางที่ผิด แล้วดำเนินในทางที่ถูกที่ควรตรงตามพระธรรมคำสอนที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ก็เป็นสิ่งที่ควรทำ เพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่ผู้นั้นอย่างแท้จริง ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
wannee.s
วันที่ 30 มิ.ย. 2557

คนที่สอนธรรมผิดมีโทษ ตัวเองเห็นผิดแล้วยังชักชวนให้คนอื่นเห็นผิด ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
ดวงทิพย์
วันที่ 1 ก.ค. 2557

ขอบคุณและอนุโมทนาสำหรับทั้งผู้ถามและผู้ตอบคะ.....

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
ประสาน
วันที่ 3 ก.ค. 2557

การศึกษาพระธรรมต้องเป็นผู้ละเอียด

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
orawan.c
วันที่ 3 ก.ค. 2557

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
halohalo
วันที่ 11 ก.ย. 2559

สาธุ อนุโมทนาค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ