เรียนถามเกี่ยวกับอบายมุข 6

 
natural
วันที่  24 พ.ค. 2557
หมายเลข  24902
อ่าน  23,689

เรียนถามเกี่ยวกับอบายมุข 6 ว่า

1. อบายมุข หมายความว่าอย่างไร

2. การซื้อสลากกินแบ่งรัฐบาล การเล่นหวยที่ไม่ถูกกฎหมาย การซื้อหุ้นเพื่อเสี่ยงโชค การซื้อหุ้นเพื่อลงทุนในกิจการ ซึ่งทั้งหมดต่างก็คาดหวังจะได้ผลตอบแทนจากที่ลงทุนไป ถือ เป็นอบายมุขในข้อการเล่นพนันหรือไม่ อย่างไรคะ

3. ความมุ่งหมายในการกล่าวถึงอบายมุข 6 และศีล 5 ต่างกันอย่างไร เนื่องจากมีบางข้อเหมือนกันค่ะ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 24 พ.ค. 2557

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
สิงคาลกสูตร เป็นพระธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงถึงข้อประพฤติปฏิบัติที่ดีที่เหมาะสม และข้อที่ควรเว้น อันเหมือนเข็มทิศ และทางดำเนินชีวิต ของผู้ที่เป็นคฤหัสถ์ครับพระธรรม ที่พระองค์ทรงแสดง ย่อมเป็นไปเพื่อละคลายอกุศล และความเจริญขึ้นของกุศลธรรม การได้รับประโยชน์ในโลกนี้ คือการดำรงชีวิตด้วยความสุข ในปัจจุบัน และประโยชน์ในโลกหน้า คือ ย่อมนำมาซึ่งความสุขในโลกหน้า และประโยชน์อย่างยิ่ง คือ ถึงการดับกิเลส แม้ในเรื่อง อบายมุข 6

คำว่า อบายมุข หมายถึง ทางแห่งความเสื่อม ทางแห่งความพินาศ
สำหรับอบายมุข 6 นั้น พระองค์ทรงแสดงถึง ความเสื่อมโภคทรัพย์ ทรัพย์สิน แต่ในความเป็นจริง พระธรรมมีนัยและอรรถลึกซึ้ง พระสูตร จึงลึกซึ้งด้วยอรรถ ไม่ใช่เพียงแค่ความเสื่อมในโภคทรัพย์เท่านั้น แม้ความเสื่อมในประโยชน์สุขในโลกนี้ เช่น เสื่อมเสียชื่อเสียง อายุ เสื่อมญาติ ฯลฯ ความเสื่อมประการต่างๆ ก็เพราะ อบายมุข 6 ประการ และที่สำคัญที่สุด ทำให้เสื่อมจากคุณธรรม เสื่อมจากคุณความดี และเสื่อมจากปัญญา ในขณะที่เจริญอบายมุข 6 ครับ

เมื่อเสื่อมจากคุณความดี สิ่งที่เจริญขึ้น คือ อกุศลกรรมธรรม และ สิ่งที่ชั่วร้ายประการต่างๆ รวมทั้ง ผลของกรรมที่ไม่ดี ก็มีโอกาสให้ผลมากขึ้น เพราะการกระทำที่ไม่ดีใน ปัจจุบันด้วย.

อบายมุข ทางแห่งความเสื่อม ความพินาศของโภคทรัพย์และความเสื่อมประการอื่นๆ ได้แก่ เสื่อมจากกุศลธรรม และ เสื่อมปัญญา มี 6 ประการ คือ

1. การเสพน้ำเมา คือ สุราเมรัย อันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท เป็นทางเสื่อมแห่งโภคะทั้งหลาย และ เสื่อมจากคุณธรรมและปัญญา โทษของการดื่มสุรา อันนำมาซึ่งความเสื่อม มีประการต่างๆ ดังนี้

1.1 ความเสื่อมทรัพย์ อันผู้ดื่มพึงเห็นเอง การดื่มสุรา นำมาซึ่งความเสื่อมทรัพย์ เพราะไม่รู้จักพอ ย่อมใช้จ่ายทรัพย์ในการดื่มสุรา เมื่อมีการเมาสุรา ก็อาจทำทรัพย์สินของผู้อื่นให้เสียหาย และ ต้องจะชดใช้ทรัพย์ หรือเป็นหนี้ ทำให้เสื่อมจากทรัพย์ ดังนั้น จากคำถาม คือ อะไรเจริญ อะไรเสื่อม.? จากอบายมุข ได้แก่การดื่มสุรา คือ หนี้เจริญ แต่เสื่อมทรัพย์ ครับ

1.2 ก่อการทะเลาะวิวาท เมื่อดื่มสุรา ย่อมขาดความยั้งคิด ก็ย่อมทำให้เกิดการทะเลาะวิวาท จากคำถาม ว่าอะไรที่เจริญขึ้น อะไรเสื่อม การทะเลาะวิวาท ทำให้อกุศลเจริญขึ้น เพราะการทะเลาะวิวาท เจริญการแตกความสามัคคี กุศลธรรมเสื่อม เพราะการดื่มสุรา และการทะเลาะวิวาท ครับ

1.3 เป็นบ่อเกิดแห่งโรค การดื่มสุรา ทำให้เกิดโรคต่างๆ ดังนั้น จากคำถาม อะไรเจริญ อะไรเสื่อมจากอบายมุข คือ การดื่มสุรา โรคเจริญขึ้น เพิ่มขึ้น ความไม่มีโรคเสื่อม สุขภาพเสื่อม ครับ

1.4 เป็นเหตุให้เสื่อมเสียชื่อเสียง การดื่มสุรา ย่อมทำให้ประพฤติไม่ดี และเป็นการกระทำที่ไม่สมควร ก็มีแต่คนว่า เสีย ชื่อเสียง ดังนั้นจากคำถาม สิ่งที่เจริญเมื่อมีการดื่มสุรามากขึ้น คือ เจริญด้วย ชื่อเสียงที่ไม่ดี เสื่อมเสียจากชื่อเสียงที่ดี

1.5 เป็นเหตุไม่รู้จักละอาย การดื่มสุรา เป็นเหตุให้หลงลืมสติ กล้าในสิ่งที่ไม่ควรกล้า เพราะฉะนั้น สิ่งที่เจริญ คือ อกุศลธรรม คือ ไม่มีหิริ โอตตัปปะ สิ่งที่เสื่อม คือ คุณธรรมความดี คือ เสื่อมจาก หิริ โอตตัปปะ

1.6 ทอนกำลังปัญญา ผู้ที่ดื่มสุรา ย่อมทำให้หลงลืมสติได้ง่าย ปัญญาที่จะเกิด ก็ไม่เกิด และก็ทำให้เสื่อม จากปัญญาด้วยครับ เพราะฉะนั้น จากคำถามที่ว่า สิ่งใดเจริญขึ้นเมื่อประพฤติอบายมุข คือ ดื่มสุรา ได้แก่ การเจริญความไม่มีสติ เจริญอกุศลธรรม คือ ความหลงลืมสติ ส่วนคำถามที่สองที่ว่า อะไรเสื่อมไปจากการประพฤติอบายมุข คือ ดื่มสุรา สิ่งที่เสื่อม คือ ปัญญาที่จะเกิด ก็ไม่เกิดในขณะนั้นครับ

2.การเที่ยวไปในตรอกต่างๆ ในเวลากลางคืน มีโทษ 6 อย่าง คือ
- ผู้นั้นชื่อว่าไม่คุ้มครอง ไม่รักษาตัว
- ผู้นั้นชื่อว่าไม่คุ้มครอง ไม่รักษาบุตรภรรยา
- ผู้นั้นชื่อว่าไม่รักษาทรัพย์สมบัติ
- ผู้นั้นเป็นที่ระแวงของคนอื่น
- คำพูดอันไม่เป็นจริงในที่นั้นๆ ย่อมปรากฏในผู้นั้น
- อันเหตุแห่งทุกข์เป็นอันมากแวดล้อม
ดังนั้นการเที่ยวไปในกลางคืน ก็ทำให้เจริญอกุศลธรรม เช่นกัน และนำมาซึ่งความเสื่อมของกุศลธรรม และจากโทษ 6 ประการที่กล่าวมา ก็นำมาซึ่งความเจริญคือสิ่งที่ไม่ดีกับตนและครอบครัว และทำให้เสื่อมจากความปลอดภัยกับตนและครอบครัว ครับ ทำเสื่อมโภคทรัพย์ เมื่อมีการเที่ยวกลางคืน และสิ่งที่เจริญ คือ ความเป็นหนี้เพราะ การใช้จ่ายในการเที่ยวกลางคืน ครับ

3. การเที่ยวดูมหรสพ
รำที่ไหนไปที่นั่น ขับร้องที่ไหนไปที่นั่น ดนตรีที่ไหนไปที่นั่น เสภาที่ไหนไปที่นั่นเพลงที่ไหนไปที่นั่น เถิดเทิงที่ไหนไปที่นั่น จากข้อความในอรรถกถา อธิบายว่าเมื่อรู้ว่ามีการแสดงที่ไหนก็รีบไปที่นั่น โดยละทิ้งการงานที่ควรจะทำ แทนที่งานจะเสร็จก็ทิ้งงานไป ทำให้งานนั้นเสียหายครับ เพราะความเป็นผู้ติดในการดูมหรสพ การดูการแสดง เป็นต้น ซึ่งความเจริญที่ได้จากการดู มหรสพ คือ เจริญด้วยอกุศล เจริญในสิ่งที่ไม่ดีกับตน ในความหมกมุ่นกับการละเล่น ส่วนความเสื่อมที่เกิดจากการดูมหรสพ คือ การเสื่อมจากโภคทรัพย์ ทรัพย์สมบัติเพราะต้องมีการใช้เงินในการดูการแสดง ถึงไม่มีการใช้เงิน แต่ก็ทิ้งการงาน ที่ควรทำอันเป็นงานที่จะเป็นรายได้ ก็ไม่ได้ทำ เพราะทิ้งไปดูการละเล่นเสีย ก็ทำให้เสื่อมจาก โภคทรัพย์เพราะไม่ทำการงาน และความเสื่อมที่สำคัญ คือ เจริญอกุศลเพิ่มขึ้น ด้วยความหมกมุ่นที่มีมากนั่นเองครับ นี่คือ สิ่งที่เจริญและเสื่อมจากการดูมหรสพ หรือการละเล่นครับ

4.การเล่นการพนัน มีโทษ 6 ประการคือ
- ผู้ชนะย่อมก่อเวร
- ผู้แพ้ย่อมเสียดายทรัพย์ที่เสียไป
- ความเสื่อมทรัพย์ในปัจจุบัน
- ถ้อยคำของคนเล่นการพนัน ซึ่งไปพูดในที่ประชุมฟังไม่ขึ้น
- ถูกมิตรอมาตย์หมิ่นประมาท
- ไม่มีใครประสงค์จะแต่งงานด้วย เพราะเห็นว่า ชายนักเลงเล่นการพนันไม่สามารถจะเลี้ยงภรรยา การเล่นการพนันก็ทำให้เจริญความเป็นหนี้ เจริญศัตรู (ผู้ชนะก่อเวร) เจริญชื่อเสียงไม่ดี และเจริญอกุศล และทำให้เสื่อมทรัพย์ เสื่อมจากคำพูดที่น่าเชื่อถือ เสื่อมจากการได้คู่ครองที่ดี เป็นต้นครับ

5. การคบคนชั่วเป็นมิตร
โทษของการคบมิตรชั่ว คือ ตัวเองก็ไม่ดีตามไปด้วย เช่นทำให้เป็นนักเลงสุรา เล่นการพนัน ทำสิ่งที่ไม่ดีต่างๆ ตามไปด้วย เพราะฉะนั้นสิ่งที่เจริญของการคบมิตรชั่ว คือ อกุศลธรรมเจริญขึ้น เพราะมิตรชั่วย่อมแนะนำสิ่งที่ไม่ดี สิ่งที่เป็นอกุศลธรรม และมิตรที่ไม่ดี ที่เข้าใจธรรมผิด ก็อาจทำให้คนเสพคุ้น เจริญความเห็นผิดตามไปด้วย เป็นโทษมาก พระองค์ถึงตรัสมงคลข้อที่ 1 ไว้ก่อนครับว่า ไม่คบคนพาลนั่นเอง

ทำให้เจริญ ชื่อเสียงที่ไม่ดี่ ถ้ามีเพื่อนไม่ดี แม้เราจะไม่เป็นอย่างนั้น คนอื่นก็ต้องคิดว่าเราก็เป็นอย่างเขา อยู่ในวงสุรา เราไม่ดื่ม แต่มีเพื่อนที่ดื่ม คนก็ต้องเข้าใจว่าเราก็เป็นนักดื่มสุราเช่นกัน ก็ทำให้เจริญในชื่อเสียงที่ไม่ดี

ส่วนที่ทำให้เสื่อมจากการคบมิตรชั่ว คือ เสื่อมจากความดี จากกุศลธรรม เสื่อมจากปัญญา เสื่อมจากความเห็นถูก เสื่อมจากการเกิดในสุคติ เพราะมีการทำบาป เป็นต้น

6.ความเกียจคร้าน
ความเกียจคร้าน ไม่ทำในสิ่งที่ควรทำ โดยหาเหตุผลต่างๆ ที่จะไม่ทำการงาน ย่อมทำให้เสื่อมจากการงาน และก็ทำให้เสื่อมจากโภคทรัพย์ด้วย เพราะงานนั้นไม่สำเร็จ
* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

2. การซื้อสลากกินแบ่งรัฐบาล การเล่นหวยที่ไม่ถูกกฎหมาย การซื้อหุ้นเพื่อเสี่ยงโชคการซื้อหุ้นเพื่อลงทุนในกิจการ ซึ่งทั้งหมดต่างก็คาดหวังจะได้ผลตอบแทนจากที่ลงทุนไป ถือเป็นอบายมุขในข้อการเล่นพนันหรือไม่ อย่างไรคะ

ถ้าเป็นการเสี่ยงที่จะต้องมีผู้หนึ่งผู้ใดแพ้ และ ที่สำคัญ ทำให้เสื่อมทรัพย์เป็นอันมากเช่น เล่นหวยเถื่อน ต่างๆ เล่นหุ้นแบบรายวัน เล่นทอง โกลด์ฟิวเจอร์ อย่างนี้เข้าข่ายอบายมุข แต่ ถ้าเป็นการลงทุนในกองทุน ที่ได้ผลระยะยาว ไม่ได้เกิดความเสี่ยงมากมาย ไม่ได้ทำให้เกิดทุกข์ตลอดเวลาที่เสียงอย่างนี้ ก็ไม่ใช่อบายมุข ครับ
* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

3. ความมุ่งหมายในการกล่าวถึงอบายมุข 6 และศีล 5 ต่างกันอย่างไร เนื่องจากมีบางข้อเหมือนกันค่ะ

อบายมุข หมายถึง ความเสื่อม เป็นการแสดงคนละนัยกับศีล 5 คือ อบายมุข เป็นการแสดงที่ละเอียดกว่า คือ แม้ไม่ล่วงศีล ที่จะไปอบายภูมิ แต่ ก็ทำให้เสื่อมประโยชน์ในโลกนี้ เช่น การเล่นการพนัน ก็ทำให้เสียทรัพย์ เป็นทุกข์ แม้การเล่นการพนันจะไม่ผิดศีล 5 แต่ ก็เป็นหนทางเสื่อม และ มีโอกาสที่จะทำให้ล่วงศีล 5 ได้ง่ายขึ้น ครับ หรือ การเที่ยวดูมหรสพ แม้ไม่ล่วงศีล 5 แต่ ก็เสื่อมกุศลธรรม เป็นต้น เพราะฉะนั้นอบายมุข จึงแสดงถึงความละเอียดของการเสื่อมประโยชน์ที่ละเอียดกว่า ครับ ที่แสดงกันคนละนัย ส่วน ศีล 5 เป็นส่วนหยาบ ที่เป็นข้อประพฤติ ข้องดเว้นที่ควรมี

ขออนุโมทนา ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
khampan.a
วันที่ 24 พ.ค. 2557

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงแสดงตลอด ๔๕ พรรษา ไม่ว่าจะเป็นส่วนใดของคำสอน ก็เป็นไปเพื่อความเข้าใจถูก เห็นถูก เป็นไปเพื่อความเจริญยิ่งขึ้นในกุศลธรรม เพื่อถอยกลับ จากอกุศลทั้งหลายทั้งปวง บุคคลผู้ที่ได้ฟัง ได้ศึกษาและน้อม ประพฤติปฏิบัติตามด้วยความจริงใจ ย่อมได้รับประโยชน์จากพระธรรม ตามระดับขั้นของความเข้าใจ

สำหรับ อบายมุข ทั้ง ๖ ประการนี้ คือ การดื่มสุราเมรัยอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท, การเที่ยวกลางคืน, การเที่ยวดูมหรสพ, การเล่นการพนัน, การคบคนชั่วเป็นมิตร และ ความเกียจคร้านในการทำงาน พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงแสดงไว้ เพื่อให้พุทธบริษัทได้เห็นโทษ ว่า
เป็นไปเพื่อความเสื่อมจากประโยชน์มากมาย เนื่องจากว่าอบายมุขทั้ง ๖ เป็นทางเสื่อมแห่งโภคทรัพย์ เสื่อมจากกุศลธรรม และขณะใดที่จิตเป็นไปกับสิ่งเหล่านี้ จิตย่อมเป็นอกุศล ถ้าหมกมุ่นกับสิ่งเหล่านี้มากเข้าๆ อกุศลย่อมเกิดมากขึ้น ทำให้เป็นผู้เหินห่างหรือเบือนหน้าหนีจากกุศลธรรมฃ จึงเป็นเหตุให้เสื่อมจากประโยชน์ในทางโลก และเสื่อมจากคุณธรรมความดีงาม อย่างสิ้นเชิง

เหตุแห่งอบายมุข ไม่พ้นไปจากอกุศลธรรม ไม่พ้นไปจากกิเลสที่เกิดขึ้นพอกพูนขึ้นในชีวิตประจำวัน ไม่เห็นโทษของความเสื่อมจากกุศลธรรมในชีวิตประจำวัน

ส่วนการดับอบายมุข ต้องเป็นเรื่องของปัญญา ความเข้าใจถูกเห็นถูก เริ่มเห็นโทษตั้งแต่ต้น ซึ่งจะเห็นได้ว่า พระอริยเจ้าทั้งหลายท่านเว้นจากอบายมุข ซึ่งเป็นทางเสื่อมโดยประการทั้งปวง

-การซื้อสลากกินแบ่งรัฐบาล การเล่นหวยที่ไม่ถูกกฎหมาย การซื้อหุ้นเพื่อเสี่ยงโชค การซื้อหุ้นเพื่อลงทุนในกิจการ ซึ่งทั้งหมด ต่างก็คาดหวังจะได้ผลตอบแทนจากที่ลงทุนไป ถือเป็นอบายมุขใน ข้อการเล่นพนันหรือไม่ อย่างไร

ต้องเข้าใจถึงความหมายของ การพนัน ว่า หมายถึง การเล่นชนิดหนึ่ง เพื่อเอาเงินหรือสิ่งอื่นใดด้วยการเสี่ยงโชค โดยการทำนายหรือคาดเดาผลที่เกิดขึ้นในอนาคต การพนันอาจแบ่งได้หลายอย่าง เช่น การพนันในการแข่งขันตัวอย่างเช่น เกมไพ่ เกมลูกเต๋า การพนันโดยการทำนายผลที่คาดว่าเกิดขึ้นในอนาคตเช่น การแทงบอล การแทงม้า และการพนันที่ไม่มีการแข่งขันโดยขึ้นกับความน่าจะเป็นของเหตุการณ์ที่เกิดเช่น หวย ดังนั้น ซื้อหวย เป็นอบายมุข ข้อเล่นการพนัน

ส่วน การซื้อหุ้น การซื้อกองทุน ก็เสี่ยงมากกับการขาดทุน และทำให้หมกมุ่นมากพอสมควร ขณะนั้น วุ่นวายไม่สงบ ถ้าไม่ประสงค์ความเดือดร้อนใจ ก็ไม่ควรเข้าไปใกล้ ครับ

------------------------------------

อบายมุข ๖ มีเพียงข้อดื่มสุราเท่านั้นที่ผิดศีล ๕ แต่ก็จะประมาทไม่ได้ เพราะอบายมุขเมื่อเสพมากๆ ก็อาจจะล่วงศีล ๕ ข้อต่างๆ ได้ เช่น คบคนชั่วเป็นมิตร พาไปในทางที่ผิด สามารถทำผิดได้มากมาย หรือ แม้แต่เล่นพนัน เสียแล้ว อาจจะขโมยของของคนอื่น ก็ได้ ทำทุจริตกรรมประการต่างๆ ได้ เป็นต้น

เพราะฉะนั้น ผู้ที่หวังความเจริญในชีวิต หวังความเจริญในกุศลธรรม ก็ควรเว้นจากอบายมุข เหมือนอย่างพระอริยเจ้า ด้วย และควรอย่างยิ่งที่จะเป็นผู้น้อมประพฤติปฏิบัติตามพระธรรมคำสอนของพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ด้วยความจริงใจ ครับ .

[ปล. สมัยเป็นสามเณร ข้าพเจ้าเคยจำบทกลอน (หรือคำผูก? ง่ายแก่การจำ และการถ่ายทอดแก่เด็ก,เยาวชน) เกี่ยวกับอบายมุข ๖ เตือนใจดีมาก เหมาะสำหรับทุกคน ซึ่งคงจะเป็นประโยชน์บ้าง ไม่มากก็น้อย ดังนี้
อบายมุข ๖
หนึ่ง ชอบสุราเป็นอาจิณ ไม่ชอบกินข้าวปลาเป็นอาหาร
สอง ชอบเที่ยวยามวิกาล ไม่รักบ้าน รักลูก รักภรรยาตน
สาม ชอบเที่ยวดูการละเล่น ไม่ละเว้น บาร์คลับ ละคร โขน
สี่ ชอบคบคนชั่ว มั่วกับโจร ย่อมไม่พ้นอาญาตราแผ่นดิน
ห้า ชอบเล่นม้า กีฬาบัตร สารพัด ถั่วไพ่ไฮโล สิ้น
หก ชอบเกียจคร้านการทำกิน มีทั้งสิ้น หกอย่างนี้ ไม่ดีเลย]
...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
wannee.s
วันที่ 24 พ.ค. 2557

อบายมุข เป็นทางเสื่อม คฤหัสถ์ที่ดี ไม่ควรประพฤติอบายมุข ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
natural
วันที่ 24 พ.ค. 2557

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
ใหญ่ราชบุรี
วันที่ 29 พ.ค. 2557

ขอขอบพระคุณและขออนุโมทนากุศลทุกประการของทุกๆ ท่านค่ะ

ด้วยความเคารพยิ่ง จาก ธิดารัตน์ เดื่อมขันมณี (ใหญ่ราชบุรี)

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
orawan.c
วันที่ 7 ส.ค. 2557

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
worrasak
วันที่ 7 ก.ค. 2558

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ