การออกบวชเพื่อปฏิบัติธรรมตามคำสอนของพระพุทธเจ้า

 
เจริญในธรรม
วันที่  20 พ.ค. 2557
หมายเลข  24887
อ่าน  4,025

1.การออกบวชโดยละทิ้งบ้านเรือน และครอบครัว ลูก เมีย โดยการออกบวชมีจิตศรัทธาในคำสอนของพระพุทธเจ้า เช่นนี้แล้วเป็นอกุศล บาปหรือไม่ที่ทิ้งลูกเมีย

2.หากบาปกรณีถ้าท่านบอกว่าทิ้งโดยไม่มีทรัพย์สิน เงินทองให้เลี้ยงชีพเลย แต่เราศรัทธาตามคำสอนจริงๆ โดยพิจารณาแล้วถ้าอยู่ในเพศฆราวาสไม่สามารถที่จะปฏิบัติให้ถึงหรือให้นิพพานได้ ต้องเพศบรรพชิศเท่านั้น เมื่อพิจารณาจึงออกบวช และถ้าเราปฏิบัติให้ถึงซึ่งพระนิพพาน กรรมก็ตามไม่ทันใช่หรือไม่


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
khampan.a
วันที่ 20 พ.ค. 2557

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

การบวช ไม่ใช่เรื่องง่าย นอกจากจะเป็นเรื่องของการสะสมอัธยาศัยมาของผู้นั้นแล้ว ก็ต้องกระทำให้ถูกต้องตามพระธรรมวินัยด้วย ในประเด็นที่กล่าวมาในคำถามนั้น ไม่ได้เป็นการกระทำบาปกรรม ไม่ได้เป็นอกุศลกรรม แต่ก็คงจะไม่สบายใจไม่น้อยทีเดียวที่จะต้องทำอย่างนั้น เพราะยังมากไปด้วยอกุศล ยากที่พ้นไปจากความหวั่นไหวไปด้วยอกุศลธรรม และที่สำคัญ การอบรมเจริญปัญญา แม้ไม่ได้บวชก็สามารถที่จะอบรมเจริญปัญญาได้ (อย่างเช่นพระอริยบุคคลในอดีตที่เป็นคฤหัสถ์ ก็มีมาก เช่น ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี นางวิสาขามหาอุบาสิกา เป็นต้น แสดงให้เห็นว่า แม้ไม่ได้ออกบวช ก็สามารถประจักษ์แจ้งพระนิพพานดับกิเลสได้) และยังสามารถทำหน้าที่ของการเป็นหัวหน้าครอบครัวที่ดีได้ด้วยโดยไม่ต้องไปบวช เป็นคนดี ทำหน้าที่ของตนเองให้ดีที่สุด และไม่ประมาทในการฟังพระธรรมศึกษาพระธรรมอบรบเจริญปัญญา ต่อไป และที่จะต้องพิจารณา เพิ่มเติม คือ บวช คือ อะไร? บวชเป็นภาษาไทย มาจากภาษาบาลีว่า ปวช แปลว่า การเว้นโดยทั่ว กล่าวคือ เว้นจากอกุศล เว้นจากบาปธรรม เว้นจากกิเลสทั้งหลายทั้งปวง เป็นเรื่องของปัญญาที่เห็นโทษเห็นภัยของอกุศล เห็นโทษของการอยู่ครองเรือนว่า เป็นที่หลั่งไหลมาแห่งอกุศลธรรมทั้งหลายทั้งปวง จึงสละเพศคฤหัสถ์ มุ่งสู่เพศที่สูงยิ่ง คือ เพศบรรพชิต ด้วยความจริงใจ เพื่อประโยชน์ในการขัดเกลากิเลสของตนเองให้ยิ่งขึ้น จุดประสงค์ของการบวชที่แท้จริง คือ การขัดเกลากิเลส จนกระทั่งถึงสามารถดับกิเลสได้จนหมดสิ้นถึงความเป็นพระอรหันต์ ขึ้นอยู่กับการสะสมของแต่ละบุคคลอย่างแท้จริง

พระอริยบุคคลทั้งหลายในอดีต มีทั้งผู้ที่เป็นบรรพชิต และ เป็นคฤหัสถ์ การศึกษาพระธรรมอบรมเจริญปัญญาขัดเกลากิเลสของตนเอง ไม่ได้จำกัดที่เพศหนึ่งเพศใดโดยเฉพาะ ผู้ที่เห็นประโยชน์ของพระธรรม มีศรัทธาที่จะฟังที่จะศึกษา ก็ย่อมได้ประโยชน์ตามกำลังปัญญาของแต่ละบุคคล ไม่ว่าจะเป็นเพศใดก็ตาม ในทางตรงกันข้าม ถ้าไม่ได้มีความสนใจที่จะฟังพระธรรมและไม่น้อมที่จะประพฤติตามพระธรรมไม่ว่าจะอยู่ในเพศใด ก็เป็นสิ่งที่ไม่สมควรทั้งนั้น

การบวชเป็นเรื่องของการสะสมของแต่ละบุคคลจริงๆ และไม่ใช่เป็นการหนีเอาตัวรอด แต่เป็นเรื่องของการเห็นโทษของการอยู่ครองเรือนจริงๆ ยกตัวอย่าง พระเถระท่านหนึ่ง ชื่อว่า พระปุณณะ เดิมทีท่านเป็นพ่อค้าชาวสุนาปรันตะ ออกเดินทางจากถิ่นของตนไปยังชนบทต่างๆ เพื่อไปรับสินค้ามาขาย วันหนึ่งเดินทางไปถึงพระนครสาวัตถีก็พักกองเกวียน ๕๐๐ เล่ม ไว้ไม่ไกลจากพระวิหารเชตวัน เห็นผู้คนเดินทางไปในพระวิหารเชตวัน ก็ถามว่าคนเหล่านี้จะไปไหนกัน คนเหล่านั้นตอบว่าจะเดินทางไปฟังพระธรรมที่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ขณะนี้พระรัตนตรัยเกิดขึ้นแล้วในโลก เพราะเหตุที่ดีที่ท่านเคยสะสมมา เกิดความปีติเมื่อได้ยินคำว่าพระรัตนตรัย จึงเดินทางไปฟังพระธรรมด้วย และมีความเข้าใจถูกเห็นถูก มีศรัทธาน้อมไปในบวช ก็เลยมอบสินค้าทั้งหมดให้กับน้องชายที่ชื่อ จุลลปุณณะ ได้ดำเนินการต่อไป ท่านสละทุกสิ่งทุกอย่าง แล้วบวชในพระพุทธศาสนา และผลของการอบรมเจริญปัญญาก็ทำให้ท่านสามารถรู้แจ้งอริยสัจจธรรมบรรลุเป็นพระอรหันต์ได้ในที่สุด

ดังนั้น บุคคลผู้ที่จะบวชในพระพุทธศาสนา จึงเป็นผู้ที่มีความเข้าใจในพระธรรมวินัยที่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง มีอัธยาศัยน้อมไปในความเป็นบรรพชิตเห็นประโยชน์ของการขัดเกลากิเลสที่มีเป็นอย่างมาก ในเพศของบรรพชิตซึ่งเป็นเพศที่สูงกว่าคฤหัสถ์ โดยเห็นว่าอยู่ครองเรือนของคฤหัสถ์เป็นที่หลั่งไหลมาของอกุศลธรรมทั้งหลาย แล้วจึงสละทุกสิ่งทุกอย่างมุ่งสู่ความเป็นบรรพชิต ซึ่งเป็นอัธยาศัยของบุคคลนั้นจริงๆ ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
paderm
วันที่ 20 พ.ค. 2557

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

บุคคลผู้ที่จะบวชในพระพุทธศาสนา จะต้องเป็นผู้ที่มีความเข้าใจในพระธรรมวินัยที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดง มีอัธยาศัยน้อมไปในความเป็นบรรพชิต เห็นประโยชน์ของการขัดเกลากิเลสที่มีเป็นอย่างมาก ในเพศของบรรพชิตซึ่งเป็นเพศที่สูงกว่าคฤหัสถ์ โดยเห็นว่าอยู่ครองเรือนของคฤหัสถ์เป็นที่หลั่งไหลมาของอกุศลธรรมทั้งหลาย แล้วจึงสละทุกสิ่งทุกอย่างมุ่งสู่ความเป็นบรรพชิต ซึ่งเป็นอัธยาศัยของบุคคลนั้นจริงๆ ถ้าเป็นอย่างนี้ได้ เป็นไปเพื่อประโยชน์อย่างแน่นอน เป็นที่ชื่นชมอนุโมทนาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เพราะความเป็นบรรพชิตไม่ได้อยู่ที่เพศ หรือ เครื่องแต่งกาย แต่อยู่ที่ความเป็นผู้จริงใจในการขัดเกลากิเลส บุคคลผู้เห็นโทษของการอยู่ครองเรือน ว่า คับแคบ (คับแคบด้วยอกุศล คับแคบด้วยกิเลส) มีแต่จะเป็นเครื่องพอกพูนกิเลส ให้หนาแน่นขึ้น แล้วมีอัธยาศัยน้อมไปที่จะขัดเกลากิเลสให้ยิ่งกว่าเพศคฤหัสถ์ จึงสละทุกสิ่งทุกอย่าง สละทรัพย์สมบัติสละวงศาคณาญาติแล้วออกบวชเป็นบรรพชิต ด้วยความจริงใจ ด้วยความตั้งใจที่จะขัดเกลากิเลสจริงๆ ไม่ใช่บวชด้วยความไม่รู้ ไม่ใช่บวชตามๆ กัน ที่สำคัญการบวชไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะเป็นเรื่องของอัธยาศัยที่ได้สะสมมาจริงๆ ที่จะมีชีวิตที่ขัดเกลายิ่งกว่าเพศคฤหัสถ์ ชีวิตความเป็นอยู่ ย่อมแตกต่างไปจากคฤหัสถ์ที่เคยเป็นอย่างสิ้นเชิง

ซึ่งถ้าบวชด้วยจุดประสงค์อย่างนี้และเห็นโทษของกิเลสและการครองเรือนจริงก็เป็นกุศลจิตที่คิดถูก แม้จะสละ บุตร ภรรยา ก็ตามครับ แต่ถ้าบวชอยากถึงนิพพาน แต่ไม่ได้เห็นโทษของการครองเรือนจริงๆ ก็เป็นความอยาก แต่ไม่ใช่ปัญญา แต่เป็นอกุศลในขณะนั้นครับ จึงต้องพิจารณาจิตเป็นสำคัญ ครับ

ดังนั้น ขึ้นอยู่กับความเข้าใจเป็นสำคัญ ถ้าบวชไปแล้วประพฤติผิดประการต่างๆ ล่วงละเมิดสิกขาบทที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงบัญญัติไว้ นั่น เป็นอันตรายมาก มีแต่จะคร่าไปสู่อบายภูมิ, ถึงแม้ว่าจะไม่ได้บวช แต่เป็นคฤหัสถ์ผู้ดำรงตนอยู่ในศีลธรรมอันดีงาม ไม่ประมาทในการเจริญกุศลทุกประการ และมีโอกาสศึกษาพระธรรม ฟังพระธรรม อบรมเจริญปัญญา สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกไปทีละเล็กทีละน้อย กล่าวได้ว่า ชีวิตในชาตินี้ย่อมไม่เปล่าประโยชน์อย่างแน่นอน ถ้าเป็นอย่างนี้ได้ ย่อมดีกว่าบวชไปแล้วเป็นบรรพชิตที่ไม่ดี ไม่มีความรู้ความเข้าใจพระธรรม ครับ

สิ่งที่ควรพิจารณาเป็นอย่างยิ่ง คือ สำคัญ ความเป็นบรรพชิต รักษายาก ถ้าหากว่ารักษาไม่ดี มีการประพฤติปฏบัติตนไม่สมควรแก่ความเป็นบรรพชิตแล้ว มีแต่จะเป็นโทษแก่ตนเองเพียงอย่างเดียว ในยุคนี้สมัยนี้ จึงเป็นเรื่องที่ยากจริงๆ สำหรับความเป็นบรรพชิตที่บริสุทธิ์บริบูรณ์

ควรที่จะพิจารณาว่า ทำไมถึงบวช? เพราะถึงแม้ว่าไม่ได้บวช ก็สามารถที่จะอบรมเจริญปัญญาและกุศลประการต่างๆ ได้ ซึ่งถ้ากล่าวถึงจุดมุ่งหมายที่แท้จริงของการบวชแล้ว คือ เพื่ออบรมเจริญปัญญา จนกระทั่งสามารถรู้แจ้งอริยสัจจธรรม ดับกิเลสได้ตามลำดับขั้น

ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ได้กล่าวถึงความต่างระหว่างเพศบรรพชิตกับคฤหัสถ์ ไว้ น่าพิจารณาทีเดียว ว่า

ความต่างกันของผู้ที่เป็นพุทธศาสนิกชน พุทธบริษัท ระหว่างผู้ที่บวชกับผู้ที่ไม่บวช คือว่าพุทธบริษัทที่ไม่บวช เพราะว่าไม่ได้สะสมอัธยาศัยที่จะบวช ไม่มีอัธยาศัยใหญ่ถึงกับสละเพศคฤหัสถ์สู่เพศบรรพชิตได้ แต่ว่าคฤหัสถ์ผู้นั้นก็เป็นพุทธบริษัทที่ดี สามารถอบรมเจริญปัญญารู้แจ้งอริยสัจจธรรมได้ เช่น ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี มหาอุบาสิกาวิสาขา และท่านอื่นๆ อีกมาก ท่านก็เป็นผู้ที่เป็นพุทธบริษัทที่อบรมเจริญปัญญาในเพศคฤหัสถ์แล้วก็รู้แจ้งอริยสัจจธรรมได้

--------------------------------------------------------

เพราะฉะนั้นการจะบวชจึงเป็นเรื่องของแต่ละบุคคลจริงๆ และจุดประสงค์ของการบวชต้องตรงด้วย เพื่อศึกษาพระธรรม อบรมเจริญปัญญาขัดเกลากิเลสของตนเองเป็นสำคัญ ถ้าหากว่าจุดประสงค์ไม่ตรงแล้ว แทนที่จะได้ประโยชน์จากการเป็นผู้ทรงเพศอันสูงสุด ก็จะทำให้นำพาตนเองลงสู่ที่ต่ำ ก็เป็นได้ เพราะความเป็นบรรพชิตถ้ารักษาพระวินัยไม่ดี มีแต่จะคร่าไปสู่อบายภูมิโดยส่วนเดียว

ประการที่สำคัญ คือ เพศไหน ก็สามารถที่จะอบรมเจริญปัญญาได้ สามารถที่จะฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม และน้อมที่จะประพฤติปฏิบัติตามได้ทั้งนั้น ที่สำคัญคือ จะเห็นประโยชน์ จะเห็นคุณค่าของพระธรรมหรือไม่? เป็นคฤหัสถ์ที่ดี โดยที่ไม่ประมาทในการเจริญกุศลประการต่างๆ ไม่ขาดการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม สะสมปัญญาไปตามลำดับเป็นปกติในชีวิตประจำวัน ก็ย่อมเป็นสิ่งที่ดี โดยไม่จำเป็นต้องถือเพศเป็นบรรพชิตก็ได้ การเดินทางในสังสารวัฏฏ์ยังไม่จบสิ้น ก็ต้องจะต้องอบรมเจริญปัญญาต่อไป ครับ ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
เทวดา
วันที่ 21 พ.ค. 2557

การบรรพชาอุปสมบท ในทางพุทธศาสนานั้น

ผู้ที่จะบวชต้องได้รับความยินยอมจาก บิดามารดา หรือ ภรรยา บุตร ธิดา ก่อนนะขอรับ (ถ้าข้าพเจ้าจำไม่ผิด)

ถ้าไม่ได้รับความยินยอมจาก บุคคลเหล่านั้น บวชไม่ได้ขอรับ

ถ้าคุณมี ภรรยา บุตร ธิดา แต่คุณศรัทธาในคำสอน ก็ไม่จำเป็นต้องบวชก็ได้ขอรับ ปฏิบัติธรรม ปฏิบัติตนตามหลักธรรมคำสอน เลี้ยง ภรรยา บุตร ธิดาไปด้วย ก็ยิ่งจะเป็นบุญกุศลขอรับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ